รีเซต

ทอม ครูซ เป็นนักแสดงคนแรกของโลกที่แตะต้องป้าย Hollywood ถูกต้องตามกฎหมาย ในพิธีปิดกีฬาโอลิมปิก

ทอม ครูซ เป็นนักแสดงคนแรกของโลกที่แตะต้องป้าย Hollywood ถูกต้องตามกฎหมาย ในพิธีปิดกีฬาโอลิมปิก
แบไต๋
18 สิงหาคม 2567 ( 11:00 )
43

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา (หรือวันที่ 12 สิงหาคม ตามเวลาประเทศไทย) ดวงไฟจากตะเกียงที่ เลอง มาร์ช็อง (Léon Marchand) นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติฝรั่งเศส ถือมาในพิธีดับไฟ ในระหว่างพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ประจำปี 2024 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ดับลง เป็นสัญญาณการปิดฉากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกประจำปีนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ก่อนที่เรื่องราวประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสจะถูกบอกเล่าผ่านการแสดงในชุดต่าง ๆ ภายใต้ธีมที่มีความเป็นไซไฟและดิสโทเปีย ที่ออกแบบโดย โธมัส จอลลี (Thomas Jolly) อาร์ตไดเรกเตอร์ชาวฝรั่งเศส รวมทั้งแสดงแสนยานุภาพด้านวัฒนธรรมป็อป ด้วยการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินทั้งในและต่างประเทศ อาทิวงดนตรีสัญชาติฝรั่งเศส Phoenix และ Air และอีกมากมาย

และเช่นเดียวกับธรรมเนียมในพิธีปิดโอลิมปิกทุกครั้ง จะมีพิธีการส่งต่อธงโอลิมปิกให้กับประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไป ซึ่งนั่นก็คือเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2028 หรือ ‘LA28’ ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งในครั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญก็คือ ทอม ครูซ (Tom Cruise) นักแสดงซูเปอร์สตาร์วัย 62 ปี ที่โรยตัวลงมายังสนามสตาด เดอ ฟร็องส์ (Stade de France) เพื่อรับธงโอลิมปิกด้วยตัวเอง

ก่อนจะซิ่งออกจากสนามด้วยรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า LiveWire Del Mar ของ Harley-Davidson ผ่านจุดแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงปารีส ตั้งแต่หอไอเฟล และประตูชัยที่ตั้งอยู่บนถนนช็องเซลีเซ (Champs-Élysées) วิ่งตรงไปยังสนามบินเพื่อเทกออฟไปยังลอสแอนเจลิส พร้อมกับบทเพลง “By the Way” ของวง Red Hot Chili Peppers ก่อนจะทำการดิ่งพสุธาตรงดิ่งมายังป้ายฮอลลีวูด (Hollywood Sign) แลนด์มาร์กสำคัญของเมืองลอสแอนเจลิส ที่ครูซลงมือดัดแปลงให้กลายเป็นสัญลักษณ์ 5 ห่วง ก่อนจะทำการส่งต่อธงให้กับเหล่านักกีฬาต่อไป

REUTERS

แม้การขึ้นไปปีนป้ายฮอลลีวูดของครูซจะเท่สุด ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าใครที่เดินทางไปเยือนลอสแอนเจลิส จะสามารถบุกขึ้นเขาไปปีนป้ายอายุ 101 ปีนี้โดยพลการได้ง่าย ๆ แต่ครูซคือคนที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากทางการ หมายความว่า ครูซคือนักแสดงคนแรกในโลกที่ได้รับอนุญาตให้ปีนขึ้นป้ายฮอลลีวูดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เจฟฟ์ ซาร์รินนัม (Jeff Zarrinnam) ประธานคณะกรรมการของ Hollywood Sign Trust องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากหน่วยงานของรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อทำการดูแลรักษา ซ่อมแซม รักษาความปลอดภัย และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของป้าย Hollywood ได้ให้สัมภาษณ์ในสกูปพิเศษของ NBC 4 Los Angeles

โดยเขาได้เปิดเผยว่า การพูดคุยเพื่อขออนุญาตในครั้งนี้เกิดขึ้นมายาวนานมากกว่า 1 ปีแล้ว และต้องทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเห็นด้วยและยินยอม ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ครูซดิ่งพสุธาลงยังสถานที่สำคัญที่ได้รับการคุ้มกันอย่างแน่นหนา และมีการบันทึกเทปเอาไว้ล่วงหน้าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“พวกเขาแค่อยากทำอะไรบางอย่างกับป้ายฮอลลีวูด อยากทำอะไรบางอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะป้ายฮอลลีวูดนั้นเป็นตัวแทนของลอสแอนเจลิส เมื่อเราพูดถึงป้ายฮอลลีวูดนี้ มีคนที่เกี่ยวข้องในการดูแลเยอะมาก ๆ ซึ่งต้องทำให้พวกเขายินยอมร่วมกันให้ได้” ซาร์รินนัมกล่าว

ป้าย Hollywood ขนาดใหญ่สีขาว ความสูง 13.7 เมตร (45 ฟุต) และยาว 106.7 เมตร (350 ฟุต) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 481 เมตร (1,578 ฟุต) ด้านทิศใต้ของยอดเขาลี (Mount Lee) ทางตอนเหนือของถนนมัลฮอลแลนด์ (Mulholland Highway) สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1923 ออกแบบโดย โธมัส ฟิสก์ กอฟฟ์ (Thomas Fisk Goff) เจ้าของบริษัทโฆษณาชาวอังกฤษ เพื่อใช้เป็นป้ายโฆษณาหมู่บ้านจัดสรร Hollywoodland เป็นระยะเวลา 18 เดือน ก่อนจะถูกตัดเหลือเพียง Hollywood ในปี 1949 จนกระทั่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่อยู่คู่กับลอสแอนเจลิส และได้รับการซ่อมแซมบูรณะมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลา 101 ปี ป้าย Hollywood กลายเป็นแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวต้องการไปเยี่ยมชมให้เห็นกับตาสักครั้ง รวมทั้งมีคนที่ต้องการจะเข้าใกล้ป้ายด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ ตั้งแต่การพยายามลักลอบเปลี่ยนป้ายให้เป็นคำต่าง ๆ เช่น คำว่า ‘HOLLYWEED’ หลังมีการลงมติให้รัฐแคลิฟอร์เนียผ่านกฎหมายการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการอย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี 2017

หรือ ‘HOLLYBOOB’ เพื่อท้าทายระบบเซนเซอร์ของแพลตฟอร์ม Instagram ในปี 2021 หรือแม้แต่เคยเกิดเหตุที่นักแสดงหญิงคนหนึ่งก่อเหตุอัตวินิบาตกรรมด้วยการกระโดดลงมาจากป้ายตัวอักษร H จนเสียชีวิตในปี 1932

Stephen Schafer/The Hollywood Sign

ด้วยความที่ป้ายแห่งนี้มีความสูงมากกว่า 45 ฟุต และตั้งอยู่ในบริเวณที่ลาดชัน ซึ่งมีความเสี่ยงที่ป้ายอาจล้มและหักลงมาได้ รวมถึงความเสี่ยงที่จะมีผู้ทำลายป้ายจนเสียหาย รัฐแคลิฟอร์เนียผู้เป็นเจ้าของป้ายนี้ จึงต้องมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนเข้าใกล้ป้ายที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในปี 2000 กรมตำรวจของลอสแอนเจลิสได้ทำการติดตั้งระบบความรักษาความปลอดภัย และการเฝ้าระวังอย่างแน่นหนาตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการติดกล้องวงจรปิด เซนเซอร์อินฟราเรดตรวจจับการเคลื่อนไหว ที่จะส่งสัญญาณไปยังสถานีตำรวจในกรณีที่มีผู้บุกรุก รั้วลวดหนาม และมีการบินลาดตระเวนโดยเฮลิคอปเตอร์

ซาร์รินนัมกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการถ่ายทำ 2 วันที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม ครูซผู้ทำการแสดงผาดโผนด้วยตัวเองทั้งหมดไม่ได้ขับรถไปที่นั่น “เขาใช้วิธีบินเฮลิคอปเตอร์ของตัวเอง ไปยังจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ของเรา ซึ่งตั้งอยู่บนยอดของป้ายฮอลลีวูดตรงนี้ครับ”

ด้วยความที่การบันทึกเทปการดิ่งพสุธาเหนือป้ายฮอลลีวูดของครูซในครั้งนี้ถูกเก็บเป็นความลับสุดยอด นี่จึงเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ต้องมีการปิดระบบการรักษาความปลอดภัยเป็นการชั่วคราว “แม้แต่กล้องที่ใช้รักษาความปลอดภัยของเราก็ต้องถูกปิด เพื่อไม่ให้มีการบันทึกในระหว่างการแสดงผาดโผนครั้งนี้”

วงแหวน 5 ห่วงที่กลมกลืนกับป้ายสัญลักษณ์ฮอลลีวูด ไม่ได้มีความหมายแค่เป็นสัญลักษณ์การกลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิสอีกครั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นหมุดหมายสำคัญของความฝันแบบอเมริกา ที่ได้รับเกียรติจากซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูด มาอยู่เคียงข้างสัญลักษณ์สำคัญของความเป็นอเมริกันอย่างแท้จริง ตามที่ซาร์รินนัมกล่าวไว้

“มันเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์สำหรับทุกคนที่มีความหวัง และความฝันที่ต้องการจะมาที่อเมริกา และทำตามความฝันเหล่านั้น โดยปกติแล้ว เมื่อมีการถ่ายทำที่นี่ จะไม่มีใครที่ได้รับอนุญาตให้สัมผัสป้ายฮอลลีวูดครับ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ป้ายฮอลลีวูดได้ถูกสัมผัสจริง ๆ ฮอลลีวูดมีความหมายกับเขามาก ถ้าคนที่เป็นตัวแทนของฮอลลีวูดไม่มีสิทธิ์ได้แตะต้องป้าย แล้วใครล่ะครับที่จะมีสิทธิ์ ?”

ที่มา : NBC 4 Los Angeles The Hollywood Sign Wikipedia Sign.com

พิสูจน์อักษร : รัชนี สังข์แก้ว