รีเซต

ครอบครัวแจ้งข่าวเศร้า อดีตพระเอก "ทม วิศวชาติ" เสียชีวิตอย่างสงบ

ครอบครัวแจ้งข่าวเศร้า อดีตพระเอก "ทม วิศวชาติ"  เสียชีวิตอย่างสงบ
TNN ช่อง16
23 ธันวาคม 2565 ( 18:36 )
246

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการบันเทิง หลัง "หนึ่ง มาฬิศร์ เชยโสภณ" อดีตพระเอกละครจักรๆวงศ์ๆ ได้แจ้งข่าวเศร้า อดีตพระเอกดัง "ทม วิศวชาติ" หรือชื่อจริง "ชาญ เชยโสภณ" เสียชีวิตลงอย่างสงบ 

โดย หนึ่ง โพสต์ข้อความผ่านไอจี 1_malys พร้อมกับมีข้อความว่า “กลับมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อรับข่าวร้าย การจากไปของนักแสดงในอดีต พี่ชายพ่อคนสุดท้าย ลาก่อนครับลุงชาญ 🖤”

ภาพจาก IG : 1_malys

พร้อมเผยกำหนดการพิธีกรรมทางศาสนา โดยระบุว่า "เจ้าภาพมีกำหนดการสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศล นายชาญ เชยโสภณ (ทม วิศวชาติ) ที่ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ศาลาพิสิษฐ์กุล (ศาลา 18)

วันที่ 23 ธันวาคม 2565

เวลา 16.30 น. รดน้ำศพ

เวลา 19:00 น. เริ่มสวดพระอภิธรรม

 

วันที่ 24 ธันวาคม 2565 – วันที่ 25 ธันวาคม 2565

เวลา 19:00 น. สวดพระอภิธรรม

 

วันที่ 26 ธันวาคม 2565

เวลา 10:00 น. เลี้ยงพระเพล

เวลา 14:00 น. เริ่มพิธีฌาปนกิจ

**งดรับพวงหรีดทุกชนิดค่ะ

**ขอเชิญรับประทานอาหาร ที่โรงทานของวัด เวลา 15:00 น. ถึง 18:30 น.

ภาพจาก IG : 1_malys

สำหรับ "ทม วิศวชาติ" มีชื่อจริงว่า "ชาญ เชยโสภณ"  เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2478 จบการศึกษาจากแผนกภาษาต่างประเทศที่โรงเรียนบพิตรพิมุขวิทยาลัย (ชื่อในขณะนั้น) โดย ส.อาสนจินดา เป็นผู้ค้นพบ “ดาว”ดวงนี้ และให้รับบทพระเอกในหนังเรื่อง “ยอดรักคนยาก” แสดงคู่กับมิส ยูไมซิน นางเอกฮ่องกง และส.ได้ตั้งชื่อในการแสดงให้ชาญว่า “ทม วิศวชาติ” หนังเรื่อง “ยอดรักคนยาก” ออกฉายในปี 2498 จึงเป็นหนังเรื่องแรกของ ทม วิศวชาติ ส่วน หนังที่สร้างชื่อให้ทม คือ หนึ่งต่อเจ็ด (2501) หนังของส.อีกเช่นกัน 

ภาพจาก Facebook Thai Movie Posters

จากนั้นชื่อของทมก็เป็นที่รู้จักของแฟนภาพยนตร์ โดยแสดงภาพยนตร์เรื่อง ขวัญใจคนจน (2498 ส.อาสนจินดา-ยูไมซิน) ทุรบุรุษทุย (2500 ส.อาสนจินดา-วิภา-ทม) ประดู่ไม่รู้โรย (2500 ทม-เลิศลักษณ์) ทรชนคนดี (2500 ทัศนาภรณ์-ดนัย-ทม) ชาติอาชาไนย (2500 รัตนาภรณ์-เชาว์-ทม) หนึ่งต่อเจ็ด (2501 สุรสิทธิ์-วิไลวรรณ) สามสิงห์ (2501 ทม-แน่งน้อย) เกล็ดแก้ว (2501 รัตนาภรณ์-แมน-ทม) งูเห่าไฟ (2502 ทม-แน่งน้อย) มนุษย์ผีสิง (2503 ทม-ทิพย์มณี) สายสวาทยังไม่สิ้น (2503 ทม-อมรา) แพรดำ (2504 รัตนาวดี-ทม) สลักจิต (2504 ชนะ-รสริน-ทม) มหาเวสสันดร (2504 รุจน์-ไชยา) คีรีมาศ (2505 ทม-บุศรา) ปัทมานางแก้ว (2505 รสริน-ทม) ฯลฯ

ต่อมาในช่วงที่วงการโทรทัศน์ไทยเริ่มตื่นตัว ผู้สร้างและดาราหลายคนต่างหันไปเอาดีทางงานแสดงโทรทัศน์ พฤหัส บุญ-หลง จึงชักชวนทมเข้าสู่วงการโทรทัศน์ที่วิกสนามเป้า (ทีวี ช่อง 5) ทำให้เดือนหนึ่ง ๆ ทมจะมีงานแสดงละครโทรทัศน์มากถึง 25 วัน โดยจะแสดงคู่กับนางเอกดังหลายคนเช่น สุพรรณ บูรณะพิมพ์

หลังจากทมเก็บเงินจากการแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ได้พักหนึ่ง ทมก็เดินทางตามฝันไปเรียนต่อวิชาธุรกิจการบันเทิงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปีและกลับมาเริ่มงานบันเทิงใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ นอกจากทมจะรับแสดงละครโทรทัศน์ แสดงภาพยนตร์แล้วยังรับเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์หลายเรื่องเช่น ฉุยฉาย ทางไทยทีวีสี ช่อง 3 และเคยสร้าง-กำกับภาพยนตร์ เช่นเรื่อง ปลาร้าหอม (2524 สรพงศ์-คนางค์) เขยสี่ทิศ (สรพงศ์-ปิยะมาศ)

ภาพจาก เว็บไซต์ หอภาพยนตร์(องค์กรมหาชน)

ภายหลังเมื่อพ้นยุคการเป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยแล้ว ทมยังรับงานแสดงภาพยนตร์ในบทบาทอื่น ๆ ติดต่อกันอีกหลายเรื่องทั้งระบบ 16 มม.และ 35 มม. เช่น รุ่งทิพย์ (2505 มิตร-รัชนี) สิงห์สันติภาพ (2509 ลือชัย-โสภา) โนห์รา (2509  สมบัติ-พิศมัย) ดาวพระศุกร์ (2509 มิตร-พิศมัย) นักเลงสี่แคว (2510 มิตร-เนาวรัตน์) ลูกปลา (2512 มิตร-เพชรา) ไอ้สู้ (2513 สมบัติ-เพชรา) ไอ้เบี้ยว (2513 มิตร-ลือชัย) พุดตาน (2514 สมบัติ-เพชรา) สุดสายป่าน (2515 ครรชิต-เพชรา) คุ้มนางฟ้า (2515 ครรชิต-เพชรา) รักคืนเรือน (2515 สมบัติ-เพชรา) และอีกมากมาย 

ภาพจาก Facebook Thai Movie Posters

ภาพจาก เว็บไซต์ หอภาพยนตร์(องค์กรมหาชน)