The Third Murder (2017) กับดักฆาตรกรรมครั้งที่ 3ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นที่มีกลุ่มแฟนหนังติดตามอย่างเหนียวแน่น หนึ่งในนั้นคงต้องมี ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Koreeda) ที่สร้างผลงานเป็นที่จดจำของคนรักหนังอย่าง Our Little Sister (2015), Like Father, Like Son (2013), Shoplifters (2018) เป็นต้น ส่วนตัวผมสารภาพตามตรงว่าเพิ่งได้ดูผลงานของเขาเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และถึงแม้จะไม่ใช่แฟนคลับของผู้กำกับคนนี้แต่ยอมรับเลยว่าของเขาดีจริงชิเกโมริ (Masaharu Fukuyama) ทนายความที่ถูกเรียกตัวมาแทน เซ็ตสึ ไดสุเกะ (Kôtarô Yoshida) ทนายความรุ่นพี่ เพื่อรับว่าความแทนในคดีของ มิสุมิ (Kôji Yakusho) จำเลยในคดีฆาตกรรมและเผาทำลายศพ แนวโน้มของโทษที่ มิสุมิ จะได้รับแทบจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากประหารชีวิต เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเคยต้องโทษในคดีลักษณะเดียวกันมาก่อน ทั้งเพิ่งพ้นโทษออกมาได้ไม่เท่าไหร่กลับมาก่อเหตุซ้ำอีกแต่สุดท้ายแล้วทนายหนุ่มมากความสามารถอย่าง ชิเกโมริ ก็หาช่องโหว่เพื่อแก้ต่างในชั้นพิจารณาคดีได้สำเร็จ เพียงแต่ช่องโหว่ที่ว่ามันอาจจะกระทบไปถึงชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับคดี แล้วมันจะคุ้มกันหรือกับการทำลายชีวิตอื่น เพียงเพื่อจะช่วยให้ฆาตกรอย่าง มิสุมิ รอดพ้นจากโทษประหารชีวิต***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ***ออกจะลังเลเหมือนกันนะกับการเขียนรีวิวหนังเรื่องนี้ ว่าจะเปิดเผยเนื้อหาดีไหม แต่เห็นว่าหนังก็ผ่านมาสองปีได้ แล้วหากไม่เปิดเผยเนื้อหามันก็ยากที่จะเขียนถึงประเด็นที่หนังนำเสนอได้ เอาเป็นว่าใครยังไม่ได้ดูแล้วไม่อยากทราบเนื้อหา ประเด็นต่าง ๆ ที่หนังพูดถึง ก็ขอให้ข้ามบทความนี้ไปก่อนก็แล้วกันนะครับหากให้ผมสรุปว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงแง่มุมไหน คงบอกได้ว่าเป็นเรื่องของ Just vs. Unjust ความยุติธรรมตามกฎหมาย ซึ่งมันอาจไม่ถูกต้องโดยความรู้สึกสามัญสำนึกของมนุษย์ กับความยุติธรรมบนความรู้สึกสามัญสำนึกของมนุษย์ แต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อการหาความยุติธรรมตามกฎหมาย ถูกเปรียบเทียบจากหนังเรื่องนี้เหมือนกับสำนวนที่ว่า “ตาบอดคลำช้าง” ที่แต่ละฝ่ายก็รู้แต่แง่มุมที่ตนเองมองเห็นสัมผัสได้ แล้วก็ยืนกรานคิดว่านั้นแหละคือข้อเท็จจริงทั้งหมดที่มี ทั้งที่อาจยังมีแง่มุมอื่นที่ไม่ได้ถูกนำเสนอเป็นหลักฐาน หรือนำมากล่าวในชั้นพิจารณาคดีด้วยซ้ำไปทนายอย่าง ชิเกโมริ ในทีแรกก็มองเห็นแต่สิ่งที่จะทำให้ตนเองพลิกคดีได้ เขาไม่สนด้วยซ้ำว่าเรื่องที่ มิสุมิ เล่านั้นจะจริงหรือไม่ จำเลยกลับคำให้การกี่ครั้งก็ไม่สน ฝ่ายศาล อัยการ ก็มองเห็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นหลักฐาน แล้วก็มองว่านั่นแหละคือ ข้อเท็จจริง เรื่องราวทั้งหมด แล้วพยานที่ขึ้นให้การในชั้นศาลต่างก็พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรืออย่างน้อยก็ไม่พูดในสิ่งที่จะทำให้เกิดผลเสียตามมาภาพภายในห้องพิจารณาคดีในศาล สำหรับหนังเรื่องนี้จึงไม่ต่างจากสำนวน “ตาบอดคลำช้าง” ที่ต่างฝ่ายต่างนำเสนอ ข้อเท็จจริง แง่มุม จากสิ่งที่ตัวเองรับรู้มาเท่านั้น ซึ่งคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้จนจบจะเห็นเลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีมันไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงแม้หนังจะตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมก็จริง ถึงเสี้ยวหนึ่งในความคิดผม อาจจะรู้สึกสนับสนุน เห็นด้วย กับการกระทำของตัวละคร มิสุมิ แต่หากเราทุกคนพิพากษาความผิดคนอื่นได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ต้องมีหลักฐาน ไม่ต้องพึ่งกฎหมาย สังคมมันก็คงวุ่นวายน่าดู เพราะจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์วัดว่าความผิดไหน สมควรได้รับโทษอย่างไร เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละคนไม่เท่ากันหนังกำกับโดย ฮิโรคาซุ โคเรเอดะ ขวัญใจของหลาย ๆ คน ซึ่งผมเพิ่งเคยดูผลงานเป็นเรื่องแรก สารภาพว่างานของผู้กำกับอย่าง โคเรเอดะ หรือ ชุนจิ อิวาอิ ไม่ใช่แนวผมเท่าไหร่ ฮ่าฮ่า เพราะใช้พลังงานในการรับชมค่อนข้างเยอะสำหรับการดำเนินเรื่องของ The Third Murder (2017) ก็ไปแบบเรื่อย ๆ ค่อย ๆ เปิดเผยปมประเด็นของตัวละครออกมา ให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละการตัดสินใจ ซึ่งเอาจริงตัวผมเองจากหน้าหนังทีแรกคิดว่า จะมีจุดพลิกผันเรื่องราวอะไรรึเปล่า หรือความพีคหักมุมชวนช็อกอะไรแบบนั้น แต่สุดท้ายมันกลับกลายเป็นดราม่าชีวิตกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแทนเสียได้สรุปแล้ว The Third Murder (2017) กับดักฆาตรกรรมครั้งที่ 3 เป็นหนังดราม่าวิพากษ์กระบวนการทางกฎหมาย ที่ขอใช้คำว่า "ในบางกรณี" มันก็ห่างไกลกับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด สุดท้ายแล้วทุกอย่างตัดสินกันที่ข้อมูลที่ถูกนำเสนอไปขึ้นเท่านั้น ซึ่งเราก็ต้องทำใจยอมรับกับ กับดักฆาตกรรมครั้งที่ 3 อย่างไม่มีทางเลี่ยงDirector: Hirokazu Koreedaขอบคุณเครดิตรูปภาพประกอบบทความจากภาพยนตร์ The Third Murder (2017) ที่มา : Linkเขียนโดยแอดมิน เพจ ปีนรั้วดูหนัง