เล่าความถึงศิลปะการแสดง ที่เป็นมรดกวัฒธรรมทางภาคใต้ เป็นที่รู้จักกันดีว่า หนังตะลุง เป็นความบันเทิงพื้นบ้าน ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา การใช้ภาษาในการเล่าเรื่องที่ให้ข้อคิด คำสอน ผ่านมุมมองวิถีชีวิตของผู้คน นับเป็นเสน่ห์ของศิลปะการแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ยากจะลอกเลียนแบบได้ ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหนังตะลุง โดยเฉพาะการศึกษาถึงประเภทของตัวตลกหนังตะลุง ซึ่งเป็นตัวประกอบชูโรงใน การแสดงหนังตะลุง ที่นายหนังตะลุงแต่ละคณะ มีการนำมาใช้ให้เป็นสไตล์ของตนเอง (เครดิตภาพจาก ชมรมคนรักหนังฉิ้น ที่มาจาก https://www.facebook.com/nangathacosit) เรื่องราวของหนังตะลุง โดยเฉพาะตัวตลกหนังตะลุง จึงได้รวมรวม ตัวตลกหนังตะลุง ที่ใช้เป็นสื่อเพื่อการเรียนการสอนสำหรับการศึกษาวิจัย ซึ่งตัวตลกหนังตะลุงที่สำคัญ และใช้กันในแต่ละคณะหนังตะลุง ก็จะมี อ้ายเท่ง บังสะหม้อ หนูนุ้ย สีแก้ว นายโถ และนายยอดทอง ซึ่งตัวตลกหนังตะลุงแต่ละตัว จะมีบุคลิกลักษณะและเอกลักษณ์ต่างกัน ซึ่งผู้เขียนประทับใจทุกครั้งที่ได้ชมการแสดงหนังตะลุง (เครดิตภาพของ ชมรมคนรักหนังฉิ้น ที่มาจาก https://www.facebook.com/nangathacosit) ความประทับใจต่อตัวตลกหนังตะลุงแต่ละตัว จะอยู่ที่รูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน นิสัยของตัวตลกและการพูดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยนายหนังตะลุงแต่ละคณะ จะนำไปใช้ตามที่ตนเองถนัดในการเล่าเรื่อง ซึ่งผู้เขียนขอบอกเล่าความประทับใจต่อตัวตลกหนังตะลุงที่สำคัญ ๆ ไว้ดังนี้ ตัวตลกแรก คือ อ้ายเท่ง มีลักษณการพูดจาแบบโผงผาง ตรงไปตรงมา นุ่งผ้าโสร่งลายหมากรุก และชอบพูดตลกแบบหักมุมและชอบพูดล้อเลียนคนอื่น ซึ่งนายหนังตะลุงแต่ละคน จะใช้สำเนียงการพูดที่แตกต่างกัน ตัวตลกที่สอง คือ อ้ายโถ จะพูดเรื่องราวทุกอย่าง แล้ววกเข้าไปสู่เรื่องการกิน เพราะอ้ายโถ เป็นตัวตลกที่ชอบกิน โดยรูปร่างหน้าตา จะมีส่วนท้องนูนใหญ่ พุงยื่น ไม่สู้รบกับใคร และไม่มีนิสัยโกรธใครไม่เป็น ตัวตลกที่สาม คือ บังสะหม้อ หรือบังหม้อ เป็นตัวตลกที่ชอบพูดล้อเลียน นุ่งผ้าโสร่งแบบปักษ์ใต้ ไม่ชอบใส่เสื้อ พุงพลุ้ย เวลาพูดสำเนียงตัว ร เรือ จะระรัว ในลักษณะการใช้คำพูดทุกครั้ง มีเอกลักษณ์ตรงที่ผ้าคาดผมบนศรีษะแบบชาวมุสลิม ตัวตลกที่สี่ คือ หนูนุ้ย หรืออ้ายหนูนุ้ย ซึ่งเป็นตัวตลกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยนายหนังตะลุงทุกเกือบคณะ จะใช้หนูนุ้ย คู่กับนายเท่ง เป็นตัวตลกชูโรงในการแสดง โดยหนูนุ้ย จะมีเอกลักษณ์ตรงที่ตัวเล็ก พูดเสียงขึ้นจมูง มีนิสัยบ้ายอ เป็นคนซื่อ ไม่ค่อยทันคน ตัวตลกที่ห้า คือ นายยอดทอง หรือนายทอง โดยผู้เขียนชอบมากที่สุด เพราะนายทอง เป็นตัวตลก ที่มีอารมณ์ดี คารมดีเมื่อต้องจีบสาว และมีนิสัยเจ้าชอบ นิสัยบ้ายอ ชอบร้องเพลง และหลงตัวเองว่า มีคนรักมาก (เครดิตภาพของชมรมคนรักหนังฉิ้น ที่มาจาก https://www.facebook.com/nangathacosit) วิถีชีวิตของคนปักษ์ใต้ ผูกพันกับความบันเทิงจากหนังตะลุง ที่มีการแสดงละเล่นอยู่ในทุกเทศกาล เพราะการแสดงหนังตะลุงของนายหนังตะลุงแต่ละคณะ มีเอกลักษณ์การแสดงต่างกัน และใช้ตัวตลกหนังตะลุงแต่ละตัวแตกต่างกันไป แต่หนังตะลุงก็เป็นสิ่งที่บอกเล่าวิถีชีวิตชาวปักษ์ใต้ ผ่านมุมมองของนายหนัง ที่ใช้สายตาและหัวใจในการมองโลกและชีวิตอย่างเข้าใจ พร้อมทั้งให้คำสอน ข้อคิด คติธรรมในการแสดงหนังตะลุง ความสุขอย่างหนึ่งของผู้เขียน คือความบันเทิงที่ได้รับจากการพักผ่อนด้วยการชมการแสดงหนังตะลุงแบบขนบโบราณ ที่มีการใช้ตัวตลกหนังตะลุงหลาย ๆ ตัว ในแต่ละคณะ ได้ออกมาวาดลวยลาย แสดงมุขขำขัน เพื่อทำให้การแสดงส่งอารมณ์ร่วมต่อผู้คนชมให้มีความตลกขบขัน แต่สาระนั้นได้ แฝงไปด้วยข้อคิดที่สะท้อนความเป็นจริงของชีวิต (เครดิตภาพของชมรักคนรักหนังฉิ้น ที่มาจาก https://www.facebook.com/nangathacosit) แม้ปัจจุบันนี้ การแสดงหนังตะลุงจะได้รับความนิยมลดน้อยลงตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้เขียนยังเชื่อมั่นว่า ศิลปะการแสดงที่ให้ความบันเทิงในรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เหล่านี้ จะยังคงควรได้รับการศึกษา เพื่อสืบสานให้คงอยู่ต่อไป แม้จะต้องเปลี่ยนรูปแบบประยุกต์ไปบ้าง นั่นก็เป็นเพราะอำนาจของความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป