เคยมีโอกาสอ่านข้อความหนึ่งที่บอกว่า “การฟังเพลงมีสองประเภทถ้าไม่ใช่เพื่อความบันเทิง ก็เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ” อันแรกก็พวกเพลงฟังง่าย ๆ รักประโลมโลกทั่วไป เพลงวัยรุ่น เป็นอาทิ ส่วนประการหลังคือเพลงที่ขับเน้นมิติดนตรีถ่ายทอดผ่านอารมณ์ เพื่อสะท้อนเรื่องราวบางอย่าง เช่น Progressive Rock, World Music, Gospel Music เป็นต้น แตกย่อยอีกมากมาย (ซึ่งถ้าผู้อ่านสนใจอยากให้ลองศึกษา เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางดนตรี) ใกล้ตัวคนไทยขึ้นมานิดก็เพลงเพื่อชีวิต เพลงกวีที่คนฟังต้องใช้ความคิดตรึกตรอง ค้นหาความหมาย ตีความ เป็นต้น เมื่อหน้าตาของธุรกิจดนตรีได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหลังเข้าสู่ยุค Digital ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่ศิลปินเล็ก ๆ ได้มีโอกาสผุดพรายเหมือนบัวเหนือน้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับโลกดนตรี ไม่ว่ายุคสมัยใด คือแนวเพลงแบบ Bubble Gum ไม่รู้ว่าใครเป็นคนบัญญัติคำนี้ขึ้นมา แต่มันใช้เรียกเพลงที่ฟังแค่เอาฉาบฉวย เหมือนหมากฝรั่ง แค่ชิมลิ้มรสความหวานแล้วคายทิ้ง เพื่อกินชิ้นต่อไป โดยเฉพาะในยุค 4g ที่ทุกอย่างมาเร็วไปเร็ว อย่าว่าแต่เป็นหมากฝรั่งเลย แค่จ่อปากก็เปลี่ยนไปอันอื่นแล้ว แต่ละเพลงมีเวลาวัดใจคนฟังไม่ถึง 10 วินาที ก่อนถูกเลื่อนผ่านโดยไว นักร้องมากมายจึงเกิดและดับในเวลาอันรวดเร็ว (ปานสายฟ้า) บางคนอาจจะรู้จุดนี้เลยทำเพลงเน้นท่อนฮุคติดหูเรียกยอด Sub Scribe อย่างเดียว สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้างปนกันไป ในท่ามกลางความหลากหลายนั่นเอง ทำให้เมื่อ 1-2 ปีก่อนได้รู้จักวงดนตรี (ผู้เขียนเป็นประเภทชอบค้นหาวงใหม่ ๆ แนวเพลงใหม่ อาจจะเป็นผลมาจากยุคเทป และ CD มันรู้สึกเหมือนเจอขุมทรัพย์ทางดนตรี) ชื่อ “Taitosmith ไททศมิตร” อันหมายถึง การรวมตัวของเพื่อนสิบคน ที่ต้องการอิสรภาพ ไม่ว่าจะเป็นในแนวทางดนตรี หรือการเป็นกระบอกเสียงแทนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นวิถีคิดแบบดนตรีเพื่อชีวิต พร้อมกับที่พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็น “เพื่อชีวิตยุคใหม่” ไททศมิตรประกอบด้วย สมาชิก 6 คน (ทำไมไม่ชื่อ ไทฉัฐมิตร นะ !!)จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี (Frontman ร้องนำ/กีตาร์)โมส-ตฤณสิษฐ์ สิริพัชญาษานต์ (ร้อง/กีตาร์)เจ-ธนกฤต สองเมือง (คีย์บอร์ด)มีน-ปัณณสิทธิ์ สุขโหตุ (กีตาร์โซโล)ตุ๊ก-พัฒนภูมิ ชอุ่มผล (กลอง) (เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านเชิญคลิกตามเพลงได้เลยครับ) เพลงแรกที่ได้ฟังคือ “Pattaya Lover” เพลงสนุก ๆ ที่เล่าถึงการจีบสาวฝรั่ง ด้วยภาษาอีสานคำฝรั่งคำ ตามด้วย “ตาลิโตนเด้” กลิ่นอายดนตรีโซลและสำเนียงอีสานที่ชัดเจนขึ้น “Hello Mama” บลูส์รสชาติอีสานเหมือนกินเบียร์ฝรั่งขม ๆ แกล้มลาบ เรื่องราวความในใจ ของชนชั้นกรรมาชีพในกรุงที่แบกความฝันและภาระ อันเป็นเนื้อแก่นแท้ที่เพลงเพื่อชีวิตใช้สื่อสารมาทุกยุค ทุกสมัย ถูกปรุงรสชาติใหม่ให้ถูกปากคนยุคนี้ Trackต่อมา "คางคก" Folk/Country/Rock ที่คลุกเคล้าจนนัวเหมือนตำซั่ว มีเปียโน กับไวโอลินเป็นผักแนม การเปรียบตัวเองเป็นคางคกถึงต่ำต้อยแต่ก็มีความสุข จนมาถึงเพลงที่กำลังฮิตอีกเพลงของพวกเขาตอนนี้ คือ “แดงกับเขียว” ด้วยท่วงทำนองอันหนักหน่วงบวกกับเสียงร้องที่แผดกร้าวของโมส เนื้อหาที่คมคาย ใช้คู่สีตรงข้ามแทนนัยความขัดแย้งของวัยรุ่นสองกลุ่ม สุดท้ายคนที่เจ็บปวดคือพ่อกับแม่ ซึ่งมีให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบในสังคมไทย เพลงนี้จึงเข้าไปแทงใจใครหลาย ๆ คนจนกลายเป็นเพลงฮิต ยังมีอีกหลายเพลงอยากให้พวกคุณได้ลิ้มลอง ถ้าคุณชอบรสชาติแบบอีสานอินเตอร์ อยากลองอะไรที่แตกต่างไม่ผิดหวังแน่นอนครับ หลังจากได้ฟัง ติดตามทั้งเพจและช่องยูทูบ สิ่งที่เห็นคือความมุ่งมั่น ชัดเจนในสิ่งที่ทำ (การแสดงสดแบบสุดพลัง) ความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ระเบิดออกมา อารมณ์เหมือนได้ฟังพี่ปูพงษ์สิทธิ์สมัยหนุ่มกระทง ที่มีหลายอย่างพลุ่งพล่านอยู่ข้างในในเส้นทางดนตรียุคนี้ที่รสนิยมคนฟังคาดเดายาก คนทำเพลงดีอาจไม่มียอดSub ส่วนเพลงแบบฉาบฉวยยอดเป็นล้าน ไททศมิตรยังต้องพิสูจน์ตัวเองบนถนนที่ทอดยาว แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อตั้งแต่ครั้งแรกที่รู้จัก คือ "พวกเขาทำเพลงด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่หมากฝรั่งเคี้ยวแล้วคาย" ภาพประกอบทั้งหมดโดย ชาตรี แก้วบุญเพิ่ม ผู้เขียน