เมื่อหลายเดือนมานี้เราได้มีโอกาสไปแวะซื้อหนังสือในงานแห่งหนึ่งและได้เจอกับหนังสือที่มีชื่อสุดแนวว่า ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง เขียนโดย โจ้บองโก้ ซึ่งแค่เห็นหน้าปกก็ทำให้นักอ่านอย่างเราเอะใจว่า เอ๊ะ นี่มันหนังสือประเภทไหนเนี่ย แต่ด้วยความที่เราเป็นแฟนสำนักพิมพ์ a book อยู่แล้ว เลยคิดว่าน่าจะเป็นหนังสือที่ดีแน่ ๆ แหละว้าา เมื่อได้อ่านไปแค่ไม่กี่หน้าก็ตัดสินใจซื้อแบบไม่ต้องคิดเยอะเลยเพราะมันตรงกับงานที่เราต้องทำ และความสนใจส่วนตัวของเรามาก เอาล่ะเดี๋ยวเราจะลงภาพปกให้ทุกคนได้ดูแล้วมาทายกันหน่อยว่านี่มันหนังสือประเภทไหน?รูปโดย Chachii01. เอาล่ะพร้อมจะฟังเฉลยกันรึยัง หนังสือเล่มนี้เขียนโดย นักพิสูจน์อักษรมือฉมังที่เขาได้บอกไว้ในเล่มว่า เขาต้องการให้ภาษาไทยเป็นมากกว่ายานอนหลับชั้นดีในห้องเรียน โอโห แต่ละคำมันโดนใจนักเขียนอย่างเราเว้ยเห้ย มันกระตุ้นให้คนไทยอย่างเรานี่อยากจะหยิบขึ้นมาอ่านมาก ๆ ว่าจะสนุกขนาดไหน หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่จะพาเราไปค้นหาต้นตอความหมายของคำไทยต่าง ๆ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง ทำไมเราถึงเรียกสิ่งนี้ว่าแบบนี้ สิ่งนั้นว่าอย่างงั้น เป็นภาษาดั้งเดิมของเราหรือไม่ หรือเกิดจากการยืมคำจากภาษาไหนมา ซึ่งวันนี้เราจะรีวิวแค่บางส่วนเท่านั้นเพื่อให้คนที่สนใจอยากอ่านต่อไปหาซื้ออุดหนุนกันต่อนะคะรูปโดย Chachii02. เนื้อหาที่ส่วนตัวแล้วโดนใจคนช่างสงสัยแบบเราสุด ๆ เลยก็คือพวกคำต่าง ๆ ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันเช่น เด็กซิ่ว, ขึ้นคาน, ขนมปัง, บู๊ และอื่น ๆ อีกมากมาย ไอ้คำพวกนี้เนี่ยมันมีที่มาที่ไปยังไง ทำไมถึงเรียกว่าแบบนี้ ขอยกตัวอย่างอันที่เราชอบอย่างคำว่า ขึ้นคาน ที่เรามักจะได้ยินเวลาที่ผู้หญิงไม่มีคู่และอายุเริ่มเยอะ คนอื่น ๆ ก็มักจะแซวว่า เดี๋ยวก็ขึ้นคานหรอกทำไมยังไม่มีแฟน ซึ่งคำว่า คาน เนี่ย ไม่ได้แปลว่า ขื่อคานตามบ้าน แต่ที่มามันมาจากว่าในอดีตคนไทยมีวิถีชีวิตที่ต้องเดินทางด้วยเรือ และเวลาที่เรือชำรุดก็ต้องเอาไปซ่อม วิธีการซ่อมคือการนำเรือมาบนบกและใช้ไม้รองเรือไว้ ไม้รองเรือเหล่านี้เขาเรียกว่า คาน และการที่เรือพังก็แปลว่า เรือต้องอยู่แบบนั้น ใช้งานไม่ได้ ไปไหนไม่ได้ วางทิ้งไว้บนคานแบบนั้น เราเลยเรียกเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานว่า ขึ้นคาน นั่นเอง เป็นไงคะ ภาษาไทยสนุกอะไรขนาดนี้เนี่ยรูปโดย Chachii03. ต่อไปเรามาดูคำที่คนไทยเขียนผิดกันบ่อยที่สุดบ้างดีกว่า คือคุณคนเขียนเนี่ยแกก็เป็นพิสูจน์อักษรที่น่าสนใจทีเดียว เพราะไม่ว่าเจอป้าย เจอคำอะไรก็จะมานั่งตรวจ คิดวิเคราะห์ จนกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้อย่างที่เราได้อ่าน ป้ายร้านค้าต่าง ๆ ที่แปะกันตามร้านอาหารก็มีความน่าสนใจที่คนไทยมักจะสะกดคำผิดบ่อย ๆ ขอยกตัวอย่างคร่าว ๆ อาทิในร้านทำผม คำว่า 'ม้วนเกียว' เขียนให้ถูกต้องคือ 'ม้วนเกลียว' ในร้านอาหาร คำว่า 'รสชาด' เขียนให้ถูกต้องคือ 'รสชาติ'ในเมนูอาหารคำว่า 'ก๋วยเตี๋ยวแคระ' เขียนให้ถูกคือ 'ก๋วยเตี๋ยวแคะ' ไหนใครที่เขียนถูกหมดทั้ง 3 คำนี้ตบมือดัง ๆ ให้ตัวเองหน่อยค่ะ แสดงว่าเก่งภาษาไทยใช้ได้เลยนะเนี่ย ส่วนเราเองแอบมีเขียนผิดในคำสุดท้ายเหมือนกัน สำหรับใครที่คิดว่าไม่สำคัญ แต่เราคิดว่าภาษาไทยเป็นภาษาบ้านเกิดของพวกเราเอง เป็นภาษาแม่ที่พวกเราใช้ตั้งแต่เกิดจนโต เราคิดว่าการทีจะให้ความสำคัญ และเรียนรู้แบบถึงรากเหง้าก็สิ่งที่ดีไม่น้อยนะคะ ก่อนจะไปเริ่มเรียนภาษาอื่น ภาษาเราก็ต้องแข็งแรงเช่นกัน และการเขียน การสะกด ยังเป็นสิ่งที่วัดระดับการศึกษาของคนคนนั้นได้ดีอีกด้วยนะเป็นอย่างไรกันบ้างคะกับหนังสือ ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง ที่เรานำมารีวิวให้อ่านกันวันนี้ ใครที่ชื่นชอบสนใจก็ลองไปหาซื้อมาอ่านกันได้ ภาษานับเป็นคุณค่าที่ถูกถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก็ไม่แปลกที่ภาษาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง บางคำก็ตายไปบ้างเพราะเกิดจากการที่คนไม่นิยมใช้ หรือเกิดคำใหม่ ๆ ขึ้นตามเทรนด์ของโลกปัจจุบัน แต่สิ่งที่พวกเราควรเรียนรู้คือการอัพเดทและเรียนรู้เสมอ เพื่อที่จะได้อนุรักษ์การใช้ภาษาให้ถูกต้องไปนาน ๆ นะคะ :)ชื่อหนังสือ: ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่งสำนักพิมพ์: a bookราคา: 195 บาท