‘หลายชีวิต’ วรรณกรรมสอนใจฉบับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปัจจุบัน มีงานเขียนเกิดขึ้นมากมายหลากหลายชนิด แม้จะสวนกระแสกับเส้นทางรายได้ที่เกิดขึ้นในงานเขียนแต่ละเรื่อง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในทุกสังคม ยังมีคนที่มีใจรักทั้งการเขียนและการอ่าน ทั้งหมดทั้งมวลวนเวียนเกิดขึ้นเสมอจนงานเขียนไม่เคยสาบสูญไปจากความรับรู้ของผู้คน นอกจากงานเขียนดี ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในยุคปัจจุบัน เราก็ยังคงไม่เคยหลงลืมผลงานของนักเขียนเก่า ๆ อย่างเช่น งานของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักคิดนักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของไทย แนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นอีกหนึ่งแนวความคิดที่นักเขียนท่านนี้มักสอดแทรกเข้าไปในงาน เช่น วรรณกรรมเรื่อง หลายชีวิต ที่นำเสนอแก่นของเรื่อง กรรม อันเป็นสิ่งกำหนดชีวิตของมนุษย์ให้เป็นไป ไม่ว่าจะเกิดด้วยชนชั้นวรรณะไหน ร่ำรวย สวย หล่อ ฯ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีกรรมเป็นเครื่องนำพา หรือกล่าวอย่างธรรมดาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม นั่นเองตัวละครในเรื่อง หลายชีวิต ต่างดำเนินชีวิตไปในทิศทางของตัวเอง บางคนดำรงเพศบรรพชิต เป็นหมอ เป็นหม่อมเจ้า เป็นโจร ไปจนถึงเป็นหญิงขายบริการ ทั้งหมดเสมือนไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกันในเรื่องของเส้นทางการใช้ชีวิต แต่นั่นไม่ได้แสดงถึงการตัดขาดจากกรรม หรือการกระทำ ที่ไม่ว่าคนจะยากดีมีจน ล้วนทำดี และทำเรื่องเลวร้ายได้เช่นเดียวกัน กรรมนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำและไม่เลือกผู้รากมากดี การนำเสนอแง่มุมชีวิตของคนจากตัวแทนสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน มาพบจุดจบร่วมกันโดยต่างคนต่างที่มา จึงแฝงด้วยน้ำเสียงสั่งสอนเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ สุดท้ายไม่ว่าเราจะเคยทำดี มีคนยกย่องสรรเสริญ หรือมีทรัพย์สินมหาศาล แม้กระทั่งเคยเป็นบุคคลสำคัญ เมื่อสิ้นชีวิตเราก็เป็นเพียงร่างร่างหนึ่งซึ่งไร้ลมหายใจเท่านั้น พระศพท่านชายเล็ก นอนอยู่ข้างตลิ่งอย่างไม่มีใครเหลียวแล ไม่มีสนมกรมวัง ไม่มีปี่กลองเครื่องประโคมพระศพ สิ่งที่เป็นอุปสรรคมาตลอดชีวิตที่ยังเป็น ๆ อยู่นั้น มิได้ติดตามมาอำนวยประโยชน์เป็นเกียรติยศเมื่อตาย เสียงใครพูดขึ้นว่า “ตาแก่คนนี้ท่าจะมาจากต่างถิ่น ถามใครก็ไม่มีใครรู้จัก”...(หลายชีวิต, 2553)หลายชีวิต เป็นวรรณกรรมที่อธิบายหลักใหญ่ใจความของพระพุทธศาสนาได้อย่างเรียบง่ายและเห็นตัวอย่าง ทั้งยังได้รับความสนุกสนานในแบบฉบับคนยุคสมัยแรกเริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่ยังคงไร้ซึ่งแสงสีแห่งความเจริญและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัย แต่เมื่ออ่านวรรณกรรมเล่มนี้กลับยังคงมีเนื้อหาที่สามารถสอนใจคนได้ทุกยุคทุกสมัย ความเจริญทางวัตถุไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรม ไม่อาจหลบซ่อนพฤติกรรมดีชั่วของคนที่ยังคงวนเวียนอยู่เช่นเดิม วรรณกรรม หลายชีวิต จึงเป็นอีกหนึ่งงานเขียนของไทย ที่ทุกคนสามารถหยิบยกขึ้นมาอ่านได้อีกหนึ่งเล่ม ทั้งได้ความบันเทิงในรสชาติของเนื้อหา ทั้งยังแฝงข้อคิดในเชิงคติธรรม ซึ่งเป็นสารที่ผู้แต่งได้สอดแทรกเข้ามาเป็นแก่นนำของเรื่องนั่นเองคึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. (2553). หลายชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า. ภาพปก, ภาพที่ 1, ภาพที่ 2 โดย K.N.ภาพที่ 3 pieonane จาก Pixabay