รีเซต

‘สา’ผันตัวเป็นครูฝึกสุนัข หารายได้เสริมในยุคโควิด-19

‘สา’ผันตัวเป็นครูฝึกสุนัข หารายได้เสริมในยุคโควิด-19
ข่าวสด
3 พฤศจิกายน 2564 ( 10:45 )
329

‘สา’ผันตัวเป็นครูฝึกสุนัข - ดาราสาว ‘สา’ มาริสา อานิต้า ค้นพบอาชีพใหม่ รับจ๊อบฝึกสุนัขตามบ้านหารายได้เสริม หลังจากที่เจอพิษโควิด-19 ทำงานในวงการบันเทิงหดหาย

ไปยังไงมายังไงถึงรับฝึกสุนัขตามบ้าน?

สา - “จริงๆ สามีอาชีพ 2-3 อย่าง ปกติจะเป็นนักแสดง อาชีพเสริมอีกอันเป็นสุนัขบำบัดที่เราทำเป็น จิตอาสาทำมาก่อนมีโควิดแล้ว ทั้งเรียนและฝึกปฏิบัติ จะไปทำงานตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่เขาต้องการสุนัขบำบัดเข้าไป ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิเศษผู้สูงอายุ”

“พอมาหลังโควิด เรากำลังจะเปิดเป็นศูนย์สุนัขบำบัดโดยเฉพาะ เพื่อรับฝึกน้องหมาที่จะไปเป็นสุนัขบำบัดด้วย อีกส่วนหนึ่งสาทำช่วงโควิดนี่แหละ งานละครงานอีเวนต์ไม่มีเลยรับฝึกน้องหมาให้กับเพื่อน สุดท้ายก็มาทำจริงจังช่วงโควิด สร้างรายได้เพิ่มให้ตัวเอง”

เห็นในละครร้ายๆ ไม่คิดว่าตัวจริง จะเป็นคนใจบุญรักสัตว์?

สา - “จริงๆ ชอบน้องหมามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ด้วยเราฝึกน้องหมาของตัวเองให้เป็นสุนัขบำบัด เลยรู้สึกว่าการฝึกน้องหมา ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของเขา ใครๆ ก็ฝึกได้ จริงๆ สาว่าน้องหมาไม่ว่าพันธุ์ไหน ฉลาด ทุกตัว เพียงแต่เราจะเข้าใจเขามากแค่ไหน สาจะเน้นสอนให้เจ้าของเข้าใจน้องหมามากขึ้น แล้วสามารถเอาทริกหรือเทคนิคที่สาสอน ไปฝึกได้ ซึ่งสาจะสอนเบสิกพื้นฐานให้ น้องหมานั่ง หมอบ เดินสายจูง หรือการห้ามไม่ให้กัดแทะสิ่งของ สำหรับน้องหมาวัยเด็กไม่เกิน 1 ขวบนอกจากนี้ก็จะสอนวิธีการ อาบน้ำ ตัดเล็บ แปรงขน หรือบางบ้านที่มี ลูกเล็ก เราจะสอนให้เด็กกับน้องหมาเล่น ด้วยกันได้อย่างไร โดยต่างคนต่างไม่บาดเจ็บ”

เรารู้สิ่งเหล่านี้มาจากที่ไหน?

สา - “เริ่มแรกมาจากสุนัขบำบัดล้วนๆ ข้อมูลทั้งหมดและวิธีการสอน ที่เหลือก็จะเรียนออนไลน์ อ่านเองและทดลองเอง เทคนิคต่างๆ ที่สาได้มาจะเอามาปรับให้เป็นเทคนิคเฉพาะในแบบของสา ซึ่งสาเรียนค่อนข้างเยอะและหลากหลาย เรียนทั้งพฤติกรรมน้องหมา จิตวิทยาน้องหมา วิธีการเทรนน้องหมาแบบเบื้องต้น หรือวิธีการเทรนน้องหมาแบบสุนัขบำบัด ส่วนที่เหลือและเทคนิคอื่นๆ เราใช้ น้องหมาของเราเป็นเหยื่อทดลองว่าถ้าเรา ปรับตรงนี้หน่อยจะเป็นอะไรไหม”

เรียนมานานหรือยัง?

สา - “ตั้งแต่โควิดยังไม่เริ่ม แล้วมาเรียนหนักๆ ในช่วงโควิด”

การฝึกสุนัขบำบัดจะช่วยในเรื่องอะไรบ้าง?

สา - “ช่วยเรื่องของการที่เราไปดูแลผู้ป่วยหรือเด็กพิเศษ เช่น เด็กออทิสติกหรือเด็กพิการเราจะฝึกให้น้องหมาของเราอดทนกับความเจ็บปวดได้ระดับหนึ่ง และอดทนกับความตกใจเมื่อน้องจะได้ยินเสียงที่ดัง หรือพฤติกรรมบางอย่างของเด็กพิเศษที่ไม่ปกติ ได้ค่ะ เด็กพิเศษบางคนเวลาตื่นเต้นเขาจะ ปรบมือ หรือบางทีจะจับน้องหมาแบบแรงๆ พวกนี้เราจะฝึกน้องหมาของเราให้อยู่นิ่งๆ ให้ได้ แล้วเราก็จะค่อยๆ สอนเด็กพิเศษว่าวิธี การสัมผัสหมาที่ดี ควรจะจับแบบนี้นะคะ”

“ซึ่งการที่เขาฝึกมันจะช่วยให้เขาเรียนรู้ในสังคมปกติ เวลาที่เขาเจอเพื่อน ผู้ปกครอง ถ้าเขาดีใจมากๆ เขาจะต้องระวัง ไม่ออกอาการรุนแรง จะจับน้องหมาเบาๆ ก็จะไปช่วยตรงนี้ได้ค่ะ หรือวิธีการฝึกอีกอันหนึ่งที่เราสามารถเอาไปปรับใช้กับคนปกติทั่วไปได้ คือบ้านไหนมีเด็กเล็ก เวลาที่เขาจับเขาจะจับแรงก็จะมีสอนว่าคุณจะฝึกน้องหมายังไง ฝึกเด็กยังไง”

สุนัขบำบัดมีกี่ตัว?

สา - “ถ้าสุนัขบำบัดมีตัวเดียวค่ะ น้องซันเดย์ พันธุ์บอร์เดอร์ คอลลี่ เพศเมีย อายุ 3 ขวบ น้องซันเดย์จะมีเพจด้วย ชื่อเพจ sundaythebordercollie ในเพจสาจะลงในเรื่องการรีวิวต่างๆ กับน้องหมา ทริก การฝึกน้องหมา คือถ้าไม่ได้ลงเรียนกับสาไปดูในเพจก็ได้ค่ะ ที่สารับฝึกน้องหมาตามบ้านคือสาไปฝึกให้ถึงบ้านราคาไม่ได้แพง สาตั้งใจอยากช่วยให้คนที่มีน้องหมาเข้าใจเขามากขึ้น”

“ไม่อยากให้คนเลี้ยงน้องหมาทิ้งเขา เพราะไม่เข้าใจหรือควบคุมเขาไม่ได้ ถ้าเราจับเทคนิคได้ จับจุดน้องหมาได้ น้องหมาก็จะน่ารัก เจ้าของก็ไม่รู้สึกเหนื่อยหรือปวดหัวกับการที่จะเลี้ยงเขา หรือเลี้ยง ไม่ไหวแล้วทิ้ง สาเลยตั้งใจจะไปสอนตามบ้าน เพราะวัตถุประสงค์ เราไม่ได้ทำเพราะจะได้เงินเยอะ หรือจะได้รายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช่ค่ะ เพราะรายได้หลักของสาคือยังรับงานละครอยู่”

สุนัขที่จะสามารถไปบำบัดได้ ต้องมีคุณลักษณะอะไรพิเศษ?

สา - “ไม่มีเลยค่ะ เป็นน้องหมาสายพันธุ์ไหนก็ได้ขอให้มีอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป และอยู่กับเจ้าของ แต่การที่คนจะเข้ามาร่วมทีมกับสุนัขบำบัดของเราได้ ต้องไปสอบก่อน สอบทั้งเจ้าของและน้องหมา ถ้าใครสนใจเรื่องสุนัขบำบัดก็เข้าไปในเพจ Therapy Dog Thailand ในนั้นจะมีรายละเอียดอยู่ หรือส่งข้อความมาในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กของสาก็ได้ ไอจีก็ได้ค่ะ”

สอบยากไหม?

สา - “หลักๆ แล้ว สำหรับตัวเจ้าของจะทดสอบในเรื่องจิตวิทยา เป็นไปในลักษณะ คุยกันมากกว่าว่าคุยแล้วคนนี้เป็นยังไง เพราะเราจะต้องไปคุยกับผู้ป่วยด้วย อันที่สองสำหรับน้องหมาจะต้องทำคำสั่งพื้นฐานได้ คือนั่งได้ หมอบได้ คอยได้ เดินสายจูงเป็น คณะกรรมการที่เป็นต่างชาติจะเข้ามาดูเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างน้องหมากับเจ้าของ อันนี้ค่อนข้างสำคัญ ซึ่งการเรียนคลาสตรงนี้เราจะได้ใบประกาศนียบัตรจากต่างประเทศ หลักสูตรมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็มีใบ มีเลขประจำตัวเรียบร้อยว่าสุนัขบำบัดเบอร์นี้ ลงทะเบียนเรียบร้อยค่ะ”

สามารถนำมาต่อยอด สร้างรายได้ไหม?

สา - “ถ้าสำหรับการฝึกสุนัขบำบัด ตอนนี้ยังไม่มีค่ะ ทั้งหมดที่ทำกัน ทีมสุนัขบำบัดทั้งหมด 20 ทีม คือ 20 ตัว เป็นจิตอาสาทั้งหมด เราไม่ได้เงิน แต่ที่รับฝึกน้องหมาตามบ้านอันนี้ได้เงินค่ะ เป็นคนละส่วนกันสำหรับ Therapy Dog กับ Dog Trainer”

อาชีพครูฝึกสุนัข ฟีดแบ็กไปได้ดี?

สา - “ค่อนข้างดีนะคะ คิวของสาเดือนพฤศจิกายนเต็มหมดแล้ว ธันวาคมก็ใกล้เต็มแล้ว จริงๆ สาเริ่มทำมาช่วงมิถุนายน ทำแบบจริงจัง 4 วัน วันพฤหัสฯ-วันอาทิตย์ เต็มหมดแล้วค่ะ เนื่องจากสมัยนี้คนสนใจให้ครูไป ฝึกให้ถึงบ้านดีกว่า จะได้เห็นปัญหาชัดเจน คุยกันตัวต่อตัว บางคนก็ไม่อยากจะส่งลูก ไปโรงเรียน ฝึกทิ้งลูกไว้ 1-2 เดือน บางคน เป็นห่วง เขาก็สบายใจกว่าที่จะให้ครูมาสอนที่บ้านค่ะ”

ยังจะได้เห็นลุกส์แซ่บๆ ร้ายๆบนจอ?

สา - “ก็มีแหละ จริงๆ ยังรับละครอยู่ เพราะการฝึกน้องหมาเหมือนเป็นแค่อาชีพเสริมค่ะ ทำในช่วงที่ว่าง โดยเฉพาะช่วงโควิด 2 ปี ที่ผ่านมา งานมันเงียบมาก เราก็หาอะไรทำที่มันจะมีรายได้เข้ามา แล้วเป็นอะไรที่เราชอบ เราถนัด เรามีความรู้ ก็รับทำค่ะ ส่วนงานละคร ถ้ามีคนจ้างไปค่ะ สู้ตาย ยังอยากเล่นอยู่ ไม่ได้ทิ้ง เข้าใจสถานการณ์ โควิด และโปรเจ็กต์หลายอย่างที่เคยเข้ามาก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์แต่เชื่อว่าถ้าทุกอย่างเข้าที่เข้าทางมันน่าจะดีขึ้น แต่ระหว่างที่มันยังไม่ดีขึ้น เราก็ทำอันนี้ไปก่อนได้ค่ะ”

ตอนนี้มีสุนัขที่บ้านกี่ตัว?

สา - “2 ตัวค่ะ ชิวาวา 1 ตัว และบอร์เดอร์คอลลี่ 1 ตัว คือ ไอติม กับ ซันเดย์ ค่ะ ส่วนตัวอื่นๆ ที่เห็นโพสต์เป็นลูกศิษย์หมดเลย”

อยากแนะนำอะไรสำหรับคนรักสัตว์?

สา - “อย่างแรกเลยเวลาจะซื้อน้องหมา อยากให้ดูสายพันธุ์นิดนึงย้อนไปดูถึงต้นกำเนิดว่าน้องหมาพันธุ์นี้เพาะมาสำหรับกิจกรรม แบบไหน จะได้รู้ว่าน้องหมาตัวนี้จะมีลักษณะนิสัยแบบไหน พลังงานประมาณไหน เหมาะกับไลฟ์สไตล์หรือชีวิตประจำวันของเราหรือเปล่า”

“เช่นน้องหมาบางตัวเป็นตระกูลที่ใช้สำหรับต้อนสัตว์ในฟาร์ม ก็ต้องเข้าใจว่าต้อนสัตว์ในฟาร์มพลังงานเขาค่อนข้างเยอะ คุณมีเวลามากพอไหมที่จะพาเขาไปทำกิจกรรมที่เขาจะปล่อยพลังงานของเขาได้เต็มที่ ถ้าเป็นสายชิลไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ชอบทำกิจกรรมก็อาจ จะต้องเลือกน้องหมาสายพันธุ์อื่นที่มีความนิ่ง ไม่ค่อยแอ๊กทีฟมาก แล้วการเลี้ยงน้องหมาต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจเขาค่ะ”

สุชาวดี อภิสัมภินวงค์