"อาจินต์......เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ" ประโยคสั้นๆประโยคนี้ภายในหนัง "มหา'ลัย เหมืองแร่" ที่กำกับโดย "จิระ มะลิกุล" ทำเอาผมเกือบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ มันเป็นน้ำตาของความซาบซึ้ง และเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ให้อะไรทิ้งไว้....ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2548 ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในโรงภาพยนตร์ ผมเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นที่กำลังสนใจเรื่องการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้สนใจอะไรในตัวภาพยนต์เรื่องนี้มากเท่าไหร่นัก ผ่านมาอีกหลายปี มีโอกาสได้ผ่านตาจากโทรทัศน์ ที่นำมาฉายย้อนหลังในรายการโทรทํศน์ เมื่อดูด้วยความไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้ปะติดปะต่อ อีกทั้งเป็นช่วงที่กำลังสนุกกับเรื่องบันเทิงเริงใจ การดูหนังจึงเป็นไปในทิศทางเพื่อผ่อนคลายและเอาแต่ใจตัวเองเข้าว่า ทำให้ไม่ค่อยเข้าใจ และพลาดบทเรียน สัจธรรมหลายๆเรื่องของหนังเรื่องนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่การได้ดูหนังเรื่องนี้ในช่วงเวลานั้น อาจเปลี่ยนแนวคิดและพลิกชีวิตให้เกิดจุดเปลี่ยนบางอย่างเลยก็เป็นไปได้ผมมีโอกาสได้กลับมาเปิดหนังเรื่องนี้ดูอีกครั้งในวัยอายุสามสิบต้นๆ ชีวิตที่เริ่มตกผลึกและเริ่มหาสาระจากการฟัง พูด คิด อ่าน และดูภาพยนตร์ เริ่มทำให้ผมเสาะหาหนังที่สร้างแรงบันดาลใจหลายๆเรื่อง อย่าง The Forest Gump, Shawshank, Greenbook, Secret life of walter mitty ฯลฯ แต่หนังไทยที่ดูแล้วสร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่งยวดนั้น ก็หาดูได้ค่อนข้างยากเลยทีเดียว เพราะกระแสสังคมที่ชอบสไตล์หนังอารมณ์ดีซะส่วนใหญ่ จนกระทั่งมาพบกับหนังเรื่องนี้ ในหมวดหมู่ของหนังที่สร้างแรงบันดาลใจต้องยอมรับว่าผมเองไม่เคยได้อ่านวรรณกรรมของ "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ศิลปินแห่งชาติ ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ในปี 2470 -2561 มาก่อน แต่ก็เคยได้ยินผ่านหูถึงกิตติศัพท์ ในหมู่เพื่อนนักอ่านด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่ยังไม่กล้าเปิดใจ จนกระทั่งวันหนึ่ง บานประตูใจของผมที่เคยใส่กลอนล็อคกุญแจไว้ ค่อยๆถูกสนิมของความกร้านโลก กัดกินจนผุกร่อน และทำให้ผมเปิดใจให้วรรณกรรมเรื่องนี้ โดยผ่านการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาโดยปริยายปฐมบทของเรื่อง คือการเล่าอัตชีวิตของ "อาจินต์" เด็กหนุ่มนักศึกษาวิศวะฯปีสอง ผู้ถูกรีไทร์ จากมหาลัย ต้องกลับกลายมาใช้ชีวิตโลดโผน ระหกระเหเร่ร่อน ถูกชะตาชีวิตพัดพามาให้ต้องทำงาน อยู่ในเหมืองขุดแร่ดีบุกที่ เหมืองกระโสม ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เขาถูกให้โอกาสได้ทำงานในเหมืองขุดแร่สายดีบุกแห่งนี้ในตำแหน่ง กรรมกร จากนายฝรั่งที่จิตใจโอบอ้อมอารีย์ แม้ภูมิความรู้ที่ร่ำเรียนมา จะมีมากกว่ากรรมกรคนขุดเหมือง แต่ทว่าที่นี่ เขาต้องเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในการทำงาน ใหม่ทั้งหมด เพราะชีวิตการทำงานจริง ไม่ได้อยู่แค่เพียงในตำรา ทว่ายังมีบางสิ่งต้องศึกษาอีกมากมาย การเริ่มต้นศึกษาปี 1 ของเขาในมหาลัยเหมืองแร่ ที่หาไม่ได้ในตำราเล่มไหนๆ ก็เริ่มต้นขึ้นบัดนั้นหนังเล่าเรื่องผ่านการเล่าของ อาจินต์ ซึ่งในขณะที่เขาทำงานอยู่ในเหมืองแร่ เขาได้พบเจอกับมิตรภาพ การได้เรียนรู้การทำงานที่แท้จริง จากนายฝรั่ง และจากเพื่อนร่วมงานในตำแหน่งต่างๆ เรียนรู้การถนอมน้ำใจกันในภาวะขัดแย้ง เรียนรู้การใช้ชีวิตในถิ่นทุรกันดาร เรียนรู้การอยู่กับความเหงาอ้างว้างที่เกาะกินหัวใจ ภายใต้ฉากหลังคือเรือขุดแร่ขนาดใหญ่ และความกันดารของหมู่บ้านตำบลกระโสม ชายแดนใต้ที่ติดกับมาเลเซีย ซึ่งมิติของหนังเล่าถึงการอยู่ร่วมกันของหลากหลายชาติพันธ์ หนุ่มกรุงเทพ นายจ้างชาวอเมริกัน ชาวใต้มลายู ที่ใช้ภาษามลายู และลูกจ้างชาวมาเลเซียซึ่งถึงแม้จะมีหลากหลายที่มาหลากหลายชาติพันธ์ แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือการทำงานร่วมกัน แม้บางครั้งเกิดการกระทบกระทั่ง แต่วันเวลาและสิ่งแวดล้อม กลับหล่อหลอมให้พวกเขารัก และเคารพกันดุจพี่น้องคลานตามกันมา และสุดท้ายแล้วพวกเขาก็รู้ได้ว่า ไม่ว่าใครจะทำหน้าที่ไหน ตำแหน่งใครสูงส่งกว่าใคร สุดท้ายแล้ว เรามีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในฐานะ "คน" หรือเพื่อนร่วมโลกด้วยกันทั้งสิ้นในอีกแง่มุมหนึ่ง มันก็สะท้อนให้แรงบันดาลใจในเรื่องของ การทุ่มเททำงานหนัก ผลของมันหอมหวาน แม้บางครั้งไม่ใช่ในรูปแบบของเงินตรา แต่สิ่งที่ได้อาจเป็นประสบการณ์ชีวิต และมิตรภาพ ที่แม้มีเงินมากมาย ก็ไม่สามารถหาซื้อได้ที่ไหน ในส่วนตัวของผม ผมชอบมุมมองในการเล่า ถึงนายฝรั่ง ที่รักการทำงานและมีข้อคิดดีๆมากมายทุกครั้งที่ปรากฏตัวขึ้น ตัวละครนายฝรั่งผู้นี้ ดูคล้ายเป็นคนสองบุคลิก คือหนึ่งคือหัวโขนของนายจ้าง ที่ตั้งใจทำงานและขยัน ทุ่มเทให้กับงานอย่างบ้าคลั่ง แต่ก็มีความอ่อนโยน เมตตา และรักความสนุกในการทำงาน ภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนสัจธรรมในชีวิตการทำงานได้ อย่างดีเยี่ยมYou've got along way to go....Such a lot to learn มันคือคีย์เวิร์ด ของภาพยนตร์เรื่องนี้ แปลเป็นไทยในทำนองว่า "ชีวิตของเธอยังอีกยาวไกล เธอยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ" ภาพยนตร์เรื่อง "มหาลัย'เหมืองแร่" ยังทำให้ผู้เขียนคือ "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ได้กลับมาพบเจอกับ "ไอ้ไข่" เพื่อนร่วมงานในสมัยที่ทำงานในเหมือง ซึ่งปัจจุบันนี้ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 91 ปี ปิดตำนานมหา'ลัย เหมืองแร่ ที่เขียนขึ้นจากช่วงชีวิตที่โลดโผนของแกเองลงอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ถึงสามสถาบัน ได้แก่ รางวัลจากสุพรรณหงษ์ ชมรมวิจารณ์บันเทิง และ คมชัดลึกอวอร์ด แต่ทว่าในส่วนของรายได้นั้น ถือได้ว่าขาดทุนยับเยิน เพราะทำรายได้ไปเพียง 19 ล้านบาท ในขณะที่ทุนสร้างทั้งหมด ลงทุนไปทั้งสิ้นถึง 70 ล้านบาท ทางค่าย GTH ในขณะนั้น ลงทุนสร้างเรือขุดแร่ที่ใช้ในฉากขึ้นมาจริงๆ แต่หากพูดกันในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ หนังเรื่องนี้ก็ขึ้นแท่นเป็นอันดับหนังในดวงใจของนักวิจารณ์หลายๆคนไปโดยปริยาย รวมทั้งผมเช่นเดียวกันในส่วนของการกำกับภาพนั้น "จิระ มะลิกุล" ผู้กำกับ มีความละเอียดละไม และทำให้เรารู้สึกเสมือนเราได้หลุดเข้าไปในฉากภาพยนตร์ได้อย่างไงอย่างงั้น รวมไปถึงในส่วนของดนตรีประกอบ ที่ทำให้ภาพยนต์ดูมีกลิ่นไอของความย้อนยุค และเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จนประทับตราตรึงใจ ทำให้ไม่อยากจะละสายตาไปจากจอเลยสักตอนเดียวหากจะหาหนัง Feel Good ดูสักเรื่องหนึ่ง ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้คงเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ให้แรงบันดาลใจ และเป็นใจบันดาลแรง จุดไฟให้กับหัวใจที่เย็นชา ท่ามกลางความมืดมิดและอ้างว้างภายในหัวใจ ได้กระโดดโลดเต้น พร้อมลุกขึ้นมาเผชิญสิ่งต่าง ๆ ในโลกของความจริงได้อย่างไม่ครั่นคร้าม อย่าลืม ดูหนังแล้ว สะท้อนดูตัวกันด้วยนะครับ....เพราะหนังบางเรื่อง เมื่อดูจบ มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณไป ตลอดกาล...หากอยากรู้ว่ามันสร้างแรงบันดาลใจอย่างไร กดดูที่ True ID เพื่อพิสูจน์โดยคลิกที่นี่ได้เลยเรื่อง : Jirawat Suttipittayasakเครดิตภาพ : GTH