10 หลักไมล์ค่าย A24 สู่สตูดิโอที่คว้ารางวัลมากที่สุดบนเวที Oscars 2023
ทศวรรษ 1990 ค่ายหนังมิราแม็กซ์ (Miramax) (หรือ The Weinstein Company ในเวลาต่อมา) คือสตูดิโอภาพยนตร์นอกกระแสที่ทำให้คอหนังทั่วโลกได้ขยายขอบเขตจักรวาลภาพยนตร์ออกไปไกลจากคำว่าหนังฮอลลีวูด จากการผลิตผลิตหนังนอกกระแสที่เน้นคุณภาพป้อนสู่ตลาด และรับหน้าที่เสาะหา เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมจากทั่วทุกมุมโลก สั่นสะเทือนวงการหนังได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ถ้าพูดถึงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ค่ายหนังเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า เอทเวนตีโฟร์ (A24) กลายเป็นสตูดิโอหนังที่โด่งดัง จากการผลิตและจัดจำหน่ายหนังนอกกระแสจากทั่วโลก โดยเฉพาะหนังที่สั่นสะเทือนคอหนังด้วยจังหวะแปลกแปร่ง ปั่นป่วน ดิบด้าน สุดพิศดาร และเต็มไปด้วยความหลากหลาย ที่ค่อย ๆ ไต่ระดับความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์และรายได้จนมาถึงความสำเร็จแรกจากหนัง ‘Moonlight’ (2016) ที่คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตัวแรกมาได้สำเร็จ
และในปีนี้ A24 กลายเป็นสตูดิโอหนังที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 95 ประจำปี 2023 มากที่สุดถึง 18 รางวัล จากภาพยนตร์ 6 เรื่อง โดยเฉพาะ ‘Everything Everywhere All at Once’ เป็นหนังที่เข้าชิงมากที่สุดถึง 11 สาขา และกวาดมาได้ 7 รางวัล รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ในปีนี้ (และแน่นอนว่าเป็นค่ายที่กวาดรางวัลออสการ์มากที่สุดแห่งปีด้วย)
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากคนบ้าหนัง 3 คน ที่ต้องการนำเสนอความหลากหลายให้เกิดขึ้นในโปรแกรมหนัง และเชื่อมั่นในพลังของหนังดีที่ไม่ต้องยืดสูตรสำเร็จ ไม่ต้องเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ขอแค่เป็นหนังที่สามารถเสียดลึกเข้าไปในใจของผู้ชม จนทำให้ A24 ไม่ใช่แค่ค่ายหนังอาร์ตเท่ ๆ แต่เป็นค่ายหนังเท่ ๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยหนังคุณภาพที่ไม่ว่าหยิบจับหนังเรื่องไหนก็ปัง
A01
A24 Films (2012)
A24 หรือแต่เดิมที่ใช้ชื่อว่า A24 Films เริ่มต้นจากเพื่อนซี้ 3 คนอย่าง แดเนียล แคตช์ (Daniel Katz), เดวิด เฟนเคิล (David Fenkel) และ จอห์น ฮอดจ์ (John Hodges) ทั้งสามคนจริง ๆ ก็มีงานประจำเป็นหลักเป็นแหล่งและมั่นคงในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แคตช์เป็นหัวหน้าฝ่ายด้านการเงินภาพยนตร์ของบริษัทลงทุน Guggenheim Partners เฟนเคิล เป็นประธาน ผู้ก่อตั้งร่วม และหุ้นส่วนของบริษัทผลิตหนังค่ายเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า Oscilloscope ส่วนฮอดจ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายโปรดักชัน ของโปรดักชันเฮาส์ที่มีชื่อว่า Big Beach
ทั้ง 3 คนมีความรักในภาพยนตร์ และพวกเขาก็ชื่นชอบบรรยากาศภาพยนตร์ในยุค 90’s ด้วย เพราะเป็นช่วงที่มีหนังหลากหลายเข้ามาในตลาด รวมทั้งหนังนอกกระแสที่เริ่มหาที่ทางในตลาดได้ชัดเจนมากขึ้น จากหนังนอกกระแสที่ผลิตและจัดจำหน่ายโดย Miramax และ Fox Searchlight เป็นต้น
แต่ทั้งสามคนเองก็รู้สึกตรงกันว่า ในตลาดหนังเองก็ยังขาดแนวทางภาพยนตร์ในแบบใหม่ ๆ ด้วยความทะเยอทะยานที่ทั้ง 3 คน ที่ต้องการจะเพิ่มความหลากหลายให้แก่วงการภาพยนตร์ พวกเขาเลยตัดสินใจบ้า ๆ ด้วยการลาออกจากงานประจำ และก่อตั้ง A24 Films ขึ้นในวันที่ 20 เมษายน ปี 2012
ซึ่งชื่อของ A24 Films หรือ A24 ในปัจจุบันนั้น ถูกตั้งชื่อตามถนนมอเตอร์เวย์สาย A24 ความยาว 166 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงโรม (Rome) จนถึงเมืองตีราโม (Teramo) ของประเทศอิตาลี ซึ่งแคตช์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ได้ขับรถผ่านมอเตอร์เวย์สายนี้เมื่อตอนที่เขาเริ่มต้นตั้งบริษัทใหม่ ๆ “ผมเคยฝันถึง (การตั้งบริษัท) อยู่นิดหน่อย แต่พูดตรง ๆ ผมก็ยังกลัวที่จะออกไปก่อตั้งคนเดียวอยู่ดี ตอนนั้นผมอยู่กับเพื่อนหลายคน เราอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลีกัน และกำลังขับรถบน (มอเตอร์เวย์สาย) A24 เพื่อเดินทางเข้าไปในกรุงโรม ผมจึงเริ่มเข้าใจทุกอย่างชัดเจน และตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าคงถึงเวลาที่จะต้องทำสิ่งนี้แล้วล่ะ”
พวกเขาเริ่มเช่าพื้นที่สำนักงานเล็ก ๆ ในแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ที่ซึ่งพวกเขาเผยว่ามันช่างเป็นออฟฟิศที่เล็กเสียเหลือเกิน แถมบรรยากาศในช่วงก่อตั้งแรก ๆ ก็ดูขลุกขลักและไร้เป้าหมายจนพนักงานยุคบุกเบิกยังเอ่ยออกมาว่า ‘ไม่มีใครรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่’ “(ออฟฟิศ) ในตอนนั้นมันดูเหมือนกับโกดังเก็บขยะยังไงยังงั้นเลยครับ มันดูบ้ามากที่เราสามารถเซ็นสัญญาหนังเรื่องต่าง ๆ ได้จากออฟฟิศห่วย ๆ อย่างนั้นน่ะ” ฮอดจ์เล่าถึงบรรยากาศในช่วงแรกของบริษัท
A02
‘A Glimpse Inside the Mind of Charles Swan III’ (2013)
ภารกิจแรกของค่ายหนังน้องใหม่อย่าง A24 Films ในเวลานั้นคือ การเป็นผู้จัดจำหน่าย (Distributor) ที่ต้องไปตามหาหนังที่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จ และเป็นหนังที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จากเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ทุกอย่างเหมือนดูง่าย แต่ปีแรก เมื่อพวกเขาเข้าร่วมในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต ประเทศแคนาดา (Toronto International Film Festival)
แต่นั่นก็กลายเป็นความอกหักแรกของพวกเขา เพราะ A24 ไม่สามารถดีลกับเจ้าของหนังเพื่อจัดจำหน่ายหนังดีหนังเด่นที่พวกเขาต้องการ หนังได้เลย ทั้ง ‘Frances Ha’ (2012) และ ‘The Place Beyond the Pines’ แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อ สุดท้ายในปี 2013 พวกเขาก็สามารถปิดดีลจัดจำหน่ายหนังถึง 5 เรื่องพร้อมกัน โดยหนังเรื่องแรกสุดของ A24 ที่ออกฉายคือ ‘A Glimpse Inside the Mind of Charles Swan III’ (2013) หนังตลกร้ายที่กำกับโดย โรมัน คอปโปลา (Roman Coppola) ที่แม้จะได้ทั้งชาร์ลี ชีน (Charlie Sheen) และ บิล เมอร์เรย์ (Bill Murray) แสดงนำ แต่ตัวหนังกลับประสบความล้มเหลวด้านรายได้และคำวิจารณ์
A03
‘The Bling Ring’ (2013)
แต่แม้ว่าช่วงแรกเขาจะประสบกับความล้มเหลว แต่ในท้ายที่สุด พวกเขาก็ได้เซ็นสัญญาจัดจำหน่ายหนังถึง 5 เรื่องในปีเดียวกัน และ 2 ใน 5 ของบรรดาหนังชุดแรกเหล่านั้นก็มีที่มาที่เรียกได้ว่าโคตรบ้า หนังเรื่องแรกคือ ‘The Bling Ring’ (2013) ของผู้กำกับ โซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola) ทายาท ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ผู้กำกับขาใหญ่
“ตอนนั้นฉันรู้สึกกังวลนิดหน่อย ตอนที่ไม่ได้ร่วมงานกับบริษัทที่ฉันรู้โปรไฟล์การทำงานมาแล้ว แต่ฉันรู้ว่า พวกเขาจะทำมันให้ดีที่สุด” คอปโปลากล่าวถึงค่ายหนังเล็ก ๆ ในตอนนั้น ที่พวกเขาปิดดีลมาได้ตอนที่เข้าฉายในเทศกาลหนังซันแดนซ์ (Sundance Film Festival)
แต่นั่นก็เรียกว่าเป็นการกระตุกหนวดเจ้าพ่ออย่าง ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) เจ้าของ Miramax และขาใหญ่ของฮอลลีวูด ที่อยากได้หนังผลงานของมาได้หน้าตาเฉย แคตช์เล่าถึงบรรยากาศตอนนั้นว่า “ฮาร์วีย์โทรหาตัวแทน (ของคอปโปลา) เขาถามว่า ‘คุณปล่อยหนังของโซเฟีย คอปโปลาให้ไอ้บริษัทใหม่นั่นได้ยังไง…’ แต่แน่นอนว่าสุดท้ายพวกเขาก็ยังยืนยันที่จะเก็บหนังไว้กับตัว
A04
‘Spring Breakers’ (2013)
หนังอีกหนึ่งเรื่องที่ A24 ได้มาแบบบ้าบิ่นมาก ๆ ก็คือ ‘Spring Breakers’ (2013) ของผู้กำกับ ฮาร์โมนี โครีน (Harmony Korine) ทีมงานต้องเดินทางไปยังพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อเจรจากับโปรดิวเซอร์ขอซื้อหนังเรื่องนี้มาจัดจำหน่ายให้ได้ ออฟฟิศในวันนั้นจึงเต็มไปด้วยเด็กฝีกงานที่กำลังวิ่งวุ่นเพราะกำลังเตรียมของขวัญพิเศษไปมอบให้โปรดิวเซอร์
ของชิ้นนั้นคือสัญลักษณ์หนึ่งของหนัง นั่นก็คือ บ้องกัญชารูปปืน ที่พวกเขาห่อด้วยกระดาษและเทปกาวแบบลวก ๆ ก่อนจะถือไปขึ้นเครื่องที่สนามบิน ซึ่งพอเจ้าหน้าที่ถาม ทีมงานจึงบอกไปว่ามันเป็นงานศิลปะที่มีรูปร่างเหมือนปืน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็มองพวกเขาเหมือนเป็นคนบ้า แต่ในที่สุด พวกเขาก็สามารถหอบหิ้วของขวัญประหลาดนี้ แล้วไปซื้อใจโปรดิวเซอร์ได้สำเร็จในที่สุด
พวกเขานำเอา ‘Spring Breakers’ ไปทดลองฉาย แต่ปรากฏว่ามีแต่คนเดินออกจากโรง ทีมงานเผยว่ามีคนออกจากโรง 9 คนจาก 10 คน แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังเชื่อมั่นและนำออกฉาย จนกระทั่งตัวหนังกลายเป็นกระแสเมื่อออกฉายในเทศกาลหนังซันแดนซ์ ชนิดที่ขนาดปล่อยตัวอย่างหนังบนเว็บไซต์แค่วันแรก ก็มีผู้ชมเข้าไปดูตัวอย่างนับล้านคนจนเซิร์ฟเวอร์ล่ม จนเมื่อฉายก็สามารถทำสถิติคนดูเต็มโรง ทำรายได้เฉพาะในอเมริกาเหนือไปกว่า 14 ล้านเหรียญ นับเป็นความสำเร็จแรก ๆ ของ A24 เลยก็ว่าได้
A05
‘Ex Machina’ (2015)
หลังจากที่เริ่มประสบความสำเร็จ พวกเขาก็เริ่มขยับขยายด้วยการจัดจำหน่ายหนังเพิ่มขึ้นอีก ในปี 2014 พวกเขามีหนังที่จัดจำหน่ายมากถึง 11 เรื่อง เช่น ‘Under the Skin’ (2013), Enemy (2013) และ ‘A Most Violent Year’ (2014) แต่ก็ใช่ว่าจะสำเร็จไปเสียทุกเรื่อง เพราะมีบางเรื่องที่ทำรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง พวกเขาจึงต้องปรับมุมมองจากที่เคยมองว่าจะฉายให้มากโรงที่สุดเพื่อให้แมส แต่หันมาให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะไอเดียการทำแคมเปญโปรโมทหนังด้วยวิธีการสุดสร้างสรรค์แหวกแนว
ตั้งแต่การโปรโมทแบบเล็ก ๆ ในปี 2013 ในหนัง ‘Spring Breakers’ โดยให้เจมส์ ฟรังโก (James Franco) อัปโหลดภาพคาแรกเตอร์ทรงแบดในอิริยาบถเลียนแบบภาพวาด ‘The Last Supper’ บน Facebook ของเขาเอง กลายเป็นไวรัลที่ทำยอดไลก์ได้มากกว่า 600,000 ไลก์
ร่วมมือกับร้านขายกัญชา The Buds & Roses เพื่อเพาะพันธุ์ต้นกัญชาสายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธ์ุ คือพันธ์ุ White Walrus และพันธ์ุ Mr. Tusk และนำไปจำหน่ายในร้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รัฐที่อนุญาตให้ขายกัญชาโดยเฉพาะ เพื่อโปรโมทหนังเรื่อง ‘Tusk’ (2014) หนังสยองขวัญที่ว่าด้วยเรื่องของคนที่ถูกแปลงเป็นวอลรัส
จัดฉายรอบพิเศษหนัง ‘The Witch’ (2015) ให้แก่กลุ่มสมาชิกของลัทธิวิหารซาตานได้มาชมจริง ๆ เพื่อให้ผู้ที่เชื่อถือในลัทธิซาตานมาเป็นคนยืนยันเองว่าหนังเรื่องนี้ยอดเยี่ยมในระดับที่วิหารซาตานเองก็ยังชื่นชอบและยืนยันว่าหนังเรื่องนี้ดีจริง แล้วก็เล่นเอาผู้กำกับอย่าง โรเบิร์ต เอ็กเกอร์ส (Robert Eggers) โดนกล่าวหาว่าเป็นซาตานไปอยู่พักหนึ่ง แถมยังมีการเปิดบัญชีทวิตเตอร์ให้เจ้าแพะซาตาน @BlackPhillip ที่กลายเป็นมีมในโลกออนไลน์อีกต่างหาก
โปรโมทหนัง ‘Ex Machina’ (2015) ด้วยการสร้างบัญชี Tinder ปลอม โดยนำเอาใบหน้าของ อลิเซีย วิกันเดอร์ (Alicia Vikander) นักแสดงนำในเรื่องมาสร้างโปรไฟล์ปลอม ๆ ที่มีชื่อว่าเอวา (Ava) เพื่อหลอกให้ผู้คนกดลิงก์บัญชี Instagram ที่ใช้โปรโมตหนัง ซึ่งแคมเปญนี้เล่นเอา Tinder และวิกันเดอร์ เจ้าของใบหน้าไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนทำให้ค่ายสั่งไล่เด็กฝีกงานที่รับผิดชอบ (แบบปลอม ๆ ) โดยทันที
รวมทั้งการผลิตสินค้า และหนังสือที่ระลึกที่เกี่ยวกับตัวหนังออกจำหน่าย ร่วมมือกับแบรนด์แฟชันเพื่อผลิตเสื้อผ้า Limited Edition โดยเฉพาะบนเว็บไซต์ shop.a24films.com (มีคอลเล็กชันในตำนานที่ยียวนมาก ๆ ก็คือ เสื้อยืดที่มีตัวหนังสือเรียบ ๆ เขียนว่า ‘A Twenty-Four’ (เอยี่สิบสี่) ที่ทางค่ายทำขึ้นเพื่อตอบโต้คนที่ชอบอ่านชื่อค่ายแบบผิด ๆ ว่า ‘A-Two-Four’ (เอสองสี่) แบบกวน ๆ )
หรือแม้แต่โปรเจกต์ A24 Public Access ที่พวกเขาทดลองนำเอาป้ายบิลบอร์ดขาวโล่ง ๆ ไปติดตามเมืองต่าง ๆ และจัดฉายหนังของค่ายให้ทุกคนมาดูได้ฟรี ๆ (อย่างกับหนังกลางแปลง) ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พวกเขาสร้างสรรค์เพื่อโปรโมทหนังตามแนวทางของพวกเขา จนเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของค่ายนี้ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครกล้าเหมือน
A06
‘Room’ (2015)
ในปี 2015 ถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของค่าย เพราะในปีนี้เอง หนังดีทั้ง ‘Room’ (2015) หนังดราม่าที่แสดงโดย บรี ลาร์สัน (Brie Larson) ‘Ex Machina’ (2015) และหนังสารคดี ‘Amy’ (2015) ที่จัดจำหน่ายโดย A24 ได้ไต่ระดับขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของฮอลลีวูดเป็นครั้งแรก ด้วยการได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 88 มากถึง 7 รางวัล และชนะได้ 3 รางวัล ทั้งรางวัลวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม จาก ‘Ex Machina’ ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จาก ‘Amy’ และ บรี ลาร์สัน ที่ชนะสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมได้จาก ‘Room’
A07
‘Moonlight’ (2016)
นอกจากนี้แล้ว ในปี 2016 A24 Films ได้ลดรูปชื่อ กลายเป็น A24 เพียงอย่างเดียว เพราะบริษัทได้ขยายขอบเขตงานจากการจัดจำหน่ายหนัง ไปร่วมผลิตและจัดจำหน่ายทีวีซีรีส์ด้วย (ซึ่งซีรีส์ดังอย่าง ‘Euphoria’ (2019) ที่ชนะรางวัลลูกโลกทองคำ ก็เป็นซีรีส์ที่ A24 ผลิตร่วมกับ HBO) นอกจากนี้ยังยกระดับจากการเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย และทำการตลาดหนัง ไปเป็นสตูดิโอผู้ร่วมผลิตหนังแบบเต็มตัว
โดยเริ่มเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหนังเรื่อง ‘Moonlight’ (2016) เป็นเรื่องแรก หลังจากที่ แบร์รี เจนกินส์ (Barry Jenkins) ประสบความล้มเหลวในการนำพาบทหนังไปขอทุนกับสตูดิโอยักษ์ใหญ่ แม้ A24 จะตัดสินใจให้งบประมาณจำนวน 4 ล้านเหรียญเพื่อสร้างหนังเรื่องนี้ แต่ในเวลานั้นเจนกินส์เองก็แทบจะไม่ได้คาดหวังอะไรกับหนังเรื่องนี้ และการตัดสินใจลงทุนสร้างหนังดราม่าเกย์ผิวดำที่ไม่ได้มีหน้าหนังแข็ง ๆ ขอแค่ให้หนังได้เข้าฉายและทำรายได้ก็พอ แถม A24 ก็ใจป้ำ เลือกที่จะไม่แทรกแซงการทำงานใด ๆ ของผู้กำกับเลย
หลังจากการถ่ายทำ 5 สัปดาห์ และตัดต่ออีก 20 เวอร์ชัน ผลจากความเชื่อมั่นและทุ่มเท ก็ทำให้หนังเกย์สไตล์อาร์ตเรื่องนี้ไปไกลด้วยการชนะในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทดราม่า จากเวทีลูกโลกทองคำ และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 89 มากถึง 8 สาขา ทั้งรางวัลสาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบยอดเยี่ยมโดย มาเฮิร์ซชาลา อาลี (Mahershala Ali) และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกของค่าย A24 และยังทำสถิติเข้าฉายในสหรัฐอเมริกายาวนานถึง 28 สัปดาห์ ทำรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศ 65 ล้านเหรียญ นับเป็นหนังของ A24 ที่ทำรายได้มากที่สุดในเวลานั้น
และก็เหมือนเป็นแรงส่งลูกใหญ๋ที่ทำให้คอหนังเริ่มรู้จักหนังของ A24 มากขึ้นตามไปด้วย เพราะหนังที่ทางค่ายเป็นผู้จัดจำหน่ายก็พลอยมีชื่อเสียง (และทำให้หนัง A24 มาฉายในไทยหลังจากนี้อีกมากมาย) ทั้ง ‘The Witch’ (2015), ‘Green Room’ (2015) และ ‘The Lobster’ (2015) รวมทั้งยังได้รับสิทธิ์จัดจำหน่ายหนังภาษาต่างประเทศ ‘Menashe’ หนังภาษายิดดิช (ยิว) เป็นเรื่องแรกอีกด้วย
เจนกินส์เผยถึงความรู้สึกที่มีต่อค่าย A24 ว่า “A24 เป็นบริษัทหนังที่ชอบพูดว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่าเนื้อเรื่อง (ของหนัง) มันเกี่ยวกับอะไร พวกเขาแค่อยากรู้ว่าจะรู้สึก (กับหนัง) ยังไงต่างหาก”
A08
‘Midsommar’ (2019)
นอกจากหนังนอกกระแส และหนังอาร์ตเฮาส์แล้ว A24 ในภาพจำของคนดูหนังก็คือเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสยองขวัญสุดแปลก หนังพล็อตเพี้ยนชวนตะลึง และหนังง่าย ๆ แต่แฝงประเด็นหนัก ๆ เอาไว้ได้อย่างกลมกลืน เรียกได้ว่าเป็นยุคที่สร้างชื่อให้นักดูหนัง A24 ยุคหลัง ๆ ได้รู้จักในฐานะค่ายหนังที่เต็มไปด้วยหนังแปลก ๆ ในแคตาล็อก ทั้ง ‘Ghost Story’ (2017), ‘The Florida Project’ (2017), ‘The Killing of the Sacred Deer (2017), ‘The Green Knight’ (2017), และหนังที่ส่งให้ค่ายได้เข้าชิง 5 รางวัลออสการ์ รวมทั้งเข้าชิงรางวัล Best Picture อย่าง ‘Lady Bird’ (2017) ที่ทำรายได้ Box Office ติดอันดับ 3 ของค่าย
A09
‘Hereditary’ (2018)
ต่อเนื่องกับปี 2018 ที่ยังคงตอกย้ำความเป็นค่ายหนังเฮี้ยน ๆ ที่ยังคงโกยรายได้อย่างสวยงาม (ในฐานะหนังนอกกระแส) ด้วยหนังดราม่าจิตวิทยาสยองขวัญ ‘Hereditary’ (2018) ที่มาแรงจนประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำรายได้ Box Office ทั่วโลกไปกว่า 81 ล้านเหรียญ จนกลายเป็นหนังที่ทำรายได้มากที่สุดของค่าย ซึ่งภายหลัง ผู้กำกับอย่าง อารี แอสเตอร์ (Ari Aster) ก็ยังฝากผลงานมาสเตอร์พีซสุดโหดใน ‘Midsommar’ (2019) ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง รวมทั้งหนังขาวดำสุดเฮี้ยน ‘The Lighthouse’ (2019) หนังดราม่าตลกครอบครัวเอเชียสุดอิ่มใจ ‘The Farewell’ (2019) และหนังอาชญากรรมเข้มข้น ‘Uncut Gems’ (2019)
ข้ามมาปี 2021-2022 A24 ประสบความสำเร็จบนเวทีออสการ์อีกครั้ง กับหนังดราม่าครอบครัว ‘Minari’ (2021) ที่ว่าด้วยการตั้งรกรากของครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลีใต้ในผืนดินสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ยูนยอจอง (Youn Yuh-Jung) นักแสดงหญิงวัย 73 ปี กลายเป็นนักแสดงเกาหลีใต้คนแรกของประเทศ ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 93
รวมทั้งในช่วงปีนี้ก็ยังมีหนังที่น่าสนใจ ทั้ง ‘C’mon C’mon’ (2021) หนังดราม่าขาวดำที่นำแสดงโดย วาคีน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) หนังพีเรียดปรัชญา ‘The Green Knight’ (2021) รวมทั้งหนังไซไฟ ‘After Yang’ (2022) และบรรดาหนังที่สร้างขึ้นเพื่อคารวะหนัง Slasher ทั้ง ‘X’ (2022), ‘Pearl’ (2022) และ ‘Bodies Bodies Bodies’ (2022)
A10
‘Everything Everywhere All at Once’ (2022)
จากหนังอินดี้นอกกระแส ‘Everything Everywhere All at Once’ (2022) กลายเป็นหนังที่ได้รับคำชื่นชมปากต่อปากจนดังไปทั่วโลก ที่สามารถคว้า 7 รางวัลออสการ์ และรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023 มาครองได้สำเร็จ
แต่กว่าที่ ‘Daniels’ ที่ประกอบไปด้วย ไชเนิร์ต แดเนียล (Scheinert Daniel) และ แดเนียล กวาน (Daniel Kwan) จะได้เป็นผู้กำกับระดับออสการ์ พวกเขาคือเพื่อนซี้ในวิชาเรียนแอนิเมชัน 3 มิติตอนที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอีเมอร์สัน (Emerson College) ที่แทบจะไม่รู้จักมักคุ้นกันด้วยซ้ำ เพราะแดเนียลก็เป็นเด็กหน้าห้องที่ชอบซักชอบถาม ส่วนกวานก็เป็นเด็กเรียบร้อยเงียบขรึมมากกว่า แต่สุดท้ายก็กลายมาเป็นเพื่อนซี้
ต่อมา Daniels ได้ร่วมงานกันในฐานะผู้กำกับหนังสั้น และต่อมาพวกเขาก็ขยับขยายไปรับงานกำกับมิวสิกวิดีโอที่มักขายไอเดียเพี้ยน ๆ ผลงานที่ดังที่สุดของเขาคือ MV “Turn Down for What” ของดีเจสเน็ก (DJ Snake) และ ลิล จอน (Lil Jon) ที่มียอดวิวรวมกว่า 1 พันล้านครั้ง และก็นำมาสู่การกำกับหนังยาวครั้งแรกใน หนังพล็อตเพี้ยนอย่าง ‘Swiss Army Man’ (2016) ที่แสดงโดย แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) และ พอล ดาโน (Paul Dano)
ตัวหนังฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ปี 2016 โชคไม่ดีที่ระหว่างฉายหนังพล็อตเพี้ยน ๆ บ้า ๆ ของชายติดเกาะสิ้นหวังที่อยู่ดี ๆ ก็มีศพลอยมาเกยตื้น เขาจึงอยู่กับศพในฐานะเพื่อนและใช้ศพในการดำรงชีพสารพัดอย่างบนเกาะร้างเหมือนมีดพับสวิส กลับมีคนที่รู้สึกแปลกแปร่ง พะอืดพะอมมากกว่าจะเข้าใจในอารมณ์ขันฟีลกู้ดและแก่นแท้ของหนัง เดินออกจากโรงกลางคัน และตัวหนังก็แทบไม่มีผู้จัดจำหน่าย จนกระทั่งมีค่าย A24 ค่ายเดียวที่กล้าและบ้าพอที่จะตัดสินใจขอสิทธิ์จัดจำหน่าย
ซึ่งในระหว่างที่กำลังโปรโมท ทำให้ทั้งคู่มีไอเดียทำหนังเรื่องต่อไป มันเป็นหนังที่จะเล่าเรื่องของเวย์มอนด์ สามีของเอเวอลีน กับความวุ่นวายของพหุจักรวาลใน ‘Everything Everywhere All at Once’ (2022) จนเมื่อได้หยิบมาทำจริง ๆ ทั้งคู่ได้เล็งให้เฉินหลง (Jackie Chan) มารับบทเวย์มอนต์ แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็ปฏิเสธ จนมีการเปลี่ยนศูนย์กลางของเรื่องไปที่ตัวของเอเวอลีน ที่รับบทโดย มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) และให้ คีฮุยควน (Ke Huy Quan) อดีตนักแสดงเด็ก มารับบทเป็นเวย์มอนต์แทน
ด้วยไอเดียมัลติเวิร์สสุดแหวกแนว และเรื่องราวของครอบครัวชาวเอเชีย และการสอดแทรกร้อยพันสิ่งอย่างเข้าไปในหนังได้อย่างลงตัว ทำให้ ‘Everything Everywhere All at Once’ กลายเป็นหนังร่วมผลิตของค่าย A24 ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งในแง่คำวิจารณ์ชื่นชม ทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 107 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังที่ทำเงินสูงสุดของค่าย และยังเป็นหนังที่เดินสายกวาดรางวัลจากเล็กใหญ๋มาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งลูกโลกทองคำ SAG Awards, Critics’ Choice Movie Awards
และยังสร้างประวัติศาสตร์บนเวทีออสการ์ ครั้งที่ 95 ด้วยการเป็นหนังที่เข้าชิงรางวัลมากที่สุดถึง 11 รางวัล และชนะรางวัลมากที่สุดถึง 7 รางวัลด้วยเช่นกัน ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม (Daniels), นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (มิเชล โหย่ว), นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (คีฮุยควน) นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เจมี ลี เคอร์ติส), ตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม
รวมทั้งค่ายหนัง A24 ยังสร้างประวัติศาสตร์ เป็นค่ายหนังที่เข้าชิงรางวัลออสการ์รวมทั้งหมดมากที่สุดถึง 18 รางวัล และชนะ 11 รางวัล ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมี ‘The Whale’ (2022) ที่คว้าได้ 2 รางวัล (นักแสดงนำชาย โดย เบรนแดน เฟรเซอร์ (Brendan Fraser) และรางวัลแต่งหน้าและออกแบบทรงผมยอดเยี่ยม) รวมทั้ง ‘Causeway’ (2022), ‘Aftersun’ (2023), ‘Close’ (2023) และ ‘Marcel The Shell With Shoes On’ (2021) หนังแอนิเมชันแนวสต็อปโมชันเรื่องแรกของค่าย ที่ได้เข้าชิงสาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปี 2023
ที่มา: GQ, Cracked, Variety, The Hollywood Reporter, Insider, Built In, Collider, Wikipedia(1), Wikipedia(2), Vulture