ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2533 - 2542 ที่เรียกกันว่ายุค 90 เป็นยุคเฟื่องฟูของแนวดนตรีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Alternative Pop Rock และเพลงใต้ดิน นอกจากนี้ เป็นยุคของกลุ่มคนที่เรียนว่า Generation X หรือ Gen.X ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กตอนปลาย หรือก้าวเข้าสู่วัยรุ่นต้น ซึ่งหนึ่งในคนกลุ่มนี้ก็คือ เราเองค่ะในยุค 90 อินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู การจะฟังเพลงที่หลากหลายต้องฟังจากวิทยุ ขอเพลงจากพี่ดีเจ การได้พูดคุยออกหน้าไมค์ถือเป็นความภูมิใจของคนที่โทรเข้าไปในรายการ เพราะได้คุยออกอากาศแบบสด ๆ ถ่ายทอดไปทั้งประเทศถ้าอยากฟังเพลงของนักร้องคนนั้นโดยเฉพาะ ก็ต้องไปซื้อเทปคลาสเซ็ทจากร้านขายเทป หรือเรียกกันว่า “แผงเทป” ซึ่งเราจะจดจ่อกับวันที่จะวางแผงของนักร้องคนโปรด จนถึงขั้นต้องไปจองกับคนขายที่แผงเทป เพื่อให้ได้เทปเพลงมาครอบครองตั้งแต่วันแรกที่วางขาย แล้วก็เอาไปอวดเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน บางครั้งก็มีอารมณ์ประมาณว่า ทั้งอัลบั้มชอบอยู่ไม่กี่เพลง พิจารณาแล้วว่า ซื้อเทปคงไม่คุ้มค่า ก็จะใช้วิธีการอัดเสียงจากวิทยุ เพื่อมาเปิดฟังวนไปวนมาค่ะ ด้วยความที่ฟังวนอยู่ไม่กี่เพลง จึงทำให้ร้องเพลงนั้นได้เป๊ะมากค่ะในสมัยนั้น การขายเทปเพลงได้ 1 ล้านตลับ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้น เพราะจะนำมาซึ่งคอนเสิร์ตใหญ่ของนักร้องที่เราชอบ แล้วเราก็จะได้แต่งตัวตามแบบนักร้อง ไปดูคอนเสิร์ตของนักร้องคนนั้น ซึ่ง 1 ล้านตลับในยุค 90 คือ เบิร์ด ธงไชย, ทาทา ยัง, โบ สุนิตา, ใหม่ เจริญปุระ, คริสตินา อากิล่า, นิโคล เทริโอ, มอส ปฏิภาณ ฯลฯ สำหรับสถานที่จัดคอนเสิรต์แบบขายบัตรที่นิยมไปจัดแสดงกัน คือ MBK HALL มาบุญครอง เซ็นเตอร์ หรือถ้าแบบฟรีคอนเสิร์ตก็มีเช่นกัน เช่น เจ็ดสีคอนเสิร์ต (ออกอากาศช่วงเที่ยงวันเสาร์ ทางช่อง 7) และรายการโลกดนตรี (ออกอากาศช่วงเที่ยงวันอาทิตย์ ทางช่อง 5) ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศด้วย ใครไม่ได้ไปเกาะติดขอบเวที สามารถรับชม หรือเย้ว ๆ อยู่หน้าจอทีวีได้เลยค่ะ1 ล้านตลับในสมัยก่อน ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างสุด ๆ ของนักร้องและค่ายเพลง (ค่ายเพลงดังสมัยนั้น คือ แกรมมี่ คีตา อาร์เอส นิธิทัศน์) ด้วยวิทยาการสมัยนั้น กว่าเพลงจะไปถึงผู้ฟังต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากมาย เปิดผ่านวิทยุ เปิดซ้ำกันบ่อยเกินไปก็ไม่ได้ เดี๋ยวนักร้องคนอื่นจะไม่ได้เกิด รายการทีวีก็มีคิวในการออกอากาศ ต้องรอรายการโปรดที่จะวนมาเพียงสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เท่านั้น ส่วนนักร้องต้องเดินสายออกต่างจังหวัด ให้สัมภาษณ์ตามคลื่นวิทยุต่าง ๆ เพื่อให้คนรู้จักเพลงของตนเอง ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพี่เบิร์ดถึงอยู่ในใจคนไทยเสมอ เพราะพี่เบิร์ดผ่านจุดนั้นมาแล้ว พี่เบิร์ดออกเดินสายไปพบคนไทยทั่วประเทศมาแล้ว ภาพความประทับใจเหล่านี้ยังตราตรึง และทำให้แฟนเพลง และลูกของแฟนเพลง สนับสนุนพี่เบิร์ดมาโดยตลอด คิดดูว่า คอนเสิร์ตแบบเบิร์ด เบิร์ด ที่เริ่มต้นจัดกันมาตั้งแต่ยุค 90 ตอนนี้ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความนิยมอย่างสูงสุดในตัวของพี่เบิร์ด เวลาผ่านมา 30 กว่าปี ตัวแทนของนักร้องในยุคสมัยปี 90 ที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในปัจจุบัน เช่น พี่เบิร์ด / ทาทา ยัง / แคทลียา อิงลิช / มอส ปฏิภาณ / หินเหล็กไฟ / ตูน บอดี้สแลม ฯลฯ หากจะถามหาเหตุผลที่พวกเขาเหล่านั้นยังคงอยู่ ไม่ใช่เพียงเพราะรูปร่างหน้าตาเท่านั้นนะคะ แต่ท่าทีและการแสดงออกถึงความเป็นมิตรต่อแฟนคลับอย่างจริงใจต่างหาก ที่ทำให้เขาเหล่านั้นยังคงอยู่เสมอในวงการบันเทิงไทยมาได้อย่างยาวนานเรื่องเล่าจากยุค 90 ยังมีอีกมากมายในมิติอื่น ๆ ไว้โอกาสหน้าจะกลับมาเล่าให้ฟังกันใหม่นะคะ