[รีวิวซีรีส์] "Fallout" เมื่อดูจบ 8 ตอนแล้วต้องถามว่า ซีซันหน้ามากี่โมง?
ข้อมูลเบื้องต้นของ ‘Fallout’ สำหรับใครที่ไม่ใช่สายเกมเมอร์ คือจุดกำเนิดของมันเริ่มต้นมาจากการเป็นวิดีโอเกมแนวโรลเพลย์ (Roll-playing video games) ที่ปล่อยภาคแรกออกมาในปี 1997 โดย แบล็ค ไอเอิ้ล สตูดิโอส์ (Black Isle Studios) โดยเดิมทีผู้เล่นจะสวมบทเป็นผู้อาศัยในวอลต์หรือหลุมหลบภัยที่ได้รับภารกิจให้ออกเดินทางผจญภัยในโลกหลังวิกฤตินิวเคลียร์เพื่อตามหาแบตเตอรีแหล่งพลังงานของวอลต์ของตนเอง และเมื่อผ่านวันเวลามาจนถึงปีนี้ ‘Fallout’ มีภาคหลักทั้งสิ้น 4 ภาค (ภาคที่ 5 ประกาศสร้างตั้งแต่ปี 2022 แต่ยังไม่มีกำหนดวางจำหน่าย) ภาคแยก (Spin-Off) 7 ภาคและยังมีบอร์ดเกมตามออกมาอีก 6 ชุด ส่วนภาคออนไลน์แบบ MMORPG ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2012 หลังคดีความฟ้องร้องระหว่างอินเตอร์เพลย์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Interplay Entertainment) ผู้ผลิตเกมดั้งเดิมกับ บีเธสดา ซอฟต์เวิร์คส์ (Bethesda Softworks) ผู้พัฒนาเกมยุคต่อมาหลังตกลงผลประโยชน์ไม่ลงตัว
และเป็นทางบีเธสดาที่นำ ‘Fallout’ มาสู่เวอร์ชันซีรีส์โดยให้ โจนาธาน โนแลน (Jonathan Nolan) และ ลิซ่า จอย (Lisa Joy) ที่เคยร่วมกันสร้างซีรีส์ดัง ๆ ทั้ง ‘Persons of Interest’ และ ‘West World’ หยิบวิดีโอเกมในตำนานนี้มาสร้างสรรค์สตอรี่ขึ้นใหม่บอกเล่าเรื่องราวของ ลูซี่ แม็คเคลน (รับบทโดยเอลลา เพอร์เนล, Ella Purnell) ผู้อาศัยในวอลต์ 33 ที่ต้องออกเดินทางสู่พื้นผิวหลังเหตุการณ์นิวเคลียร์ล้างโลกผ่านไป 200 ปีเพื่อไปช่วยเหลือพ่อของเธอที่ถูกโมลเดเวอร์ (รับบทโดย ซาริต้า ชาวเดอรี, Sarita Choudhury) จับตัวไป ระหว่างทางเธอได้พบกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ผู้คนที่มีนิสัยโหดร้ายและมนุษย์ที่มีความอัปลักษณ์ทางกายอย่าง กูล (รับบทโดย วอลตัน กอกกินส์, Walton Goggins) อันเกิดจากสารกัมมันตภาพรังสี และ แม็กซิมัส (รับบทโดย อารอน โมเทน, Aaron Moten) เด็กรับใช้อัศวินไททัสเผ่าภราดรภาพแห่งแหล็ก (Brotherhood of Steel) โดยเดิมพันของเธอขึ้นอยู่กับ วิลซิก (รับบทโดย ไมเคิล อีเมอร์สัน, Michael Emerson) นักวิทยาศาสตร์ที่กุมกุญแจสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลกในอนาคต
กุญแจสำคัญที่ทำให้ ‘Fallout’ สามารถยืนโดดเด่นท่ามกลางซีรีส์ดัดแปลงจากวิดีโอเกมได้ทั้งที่ไม่ได้อิงเรื่องราวจากสื่อต้นทางเลยคงต้องยกให้ทีมบทซีรีส์ที่นำโดย แชซ ฮอว์กินส์ (Chaz Hawkins) เจเนวา โรเบิร์ตสัน ดวอเรต (Geneva Robertson Dworet) และเกรแฮม แว็กเนอร์ (Graham Wagner) ที่หยิบไฮไลต์จากเกมมาสร้างเป็นเรื่องราวได้อย่างลงตัวทั้งเส้นเรื่องหลักที่เล่าโดยใช้ธีมโลกหลังยุคมหาสงครามนิวเคลียร์แต่อ้างอิงความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในช่วงยุค 1950 หรือที่เรียกเก๋ ๆ ว่า อโทมิคพังค์ เรโทรฟิวเจอริสติก (Atomicpunk Retrofuturistic) หรือการสร้างโลกอนาคตที่อ้างอิงงานศิลปกรรมและเทคโนโลยีแบบเรโทรมากกว่าจะเน้นเครื่องมือกลไกที่ดูล้ำอนาคต
ทำให้ซีรีส์ที่แม้ธีมหลักจะเป็นอนาคตแบบดิสโทเปียน (Dystopian) แต่กลับเชื่อมโยงกลับไปที่เหตุการณ์แฟลชแบ็กที่ คูเปอร์ โฮเวิร์ด (รับบทโดยวอลตัน กอกกินส์) พระเอกหนังเวสเทิร์นยุค 50 ที่มักรับบทคาวบอยที่ต่อกรกับความเชื่อแบบคอมมิวนิสต์ ตกปากรับคำเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ วอลต์เทค บริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังมีแผนการขายสินค้าระดับอภิมหาโปรเจกต์นั่นคือโครงการอสังหาริมทรัพย์ในหลุมหลบภัยและกระตุ้นความกลัวชาวอเมริกันเพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งถือเป็นความชาญฉลาดเพราะในขณะที่เกมอาจเอาตัวรอดได้ที่งานวิชวลตื่นตาแต่สำหรับซีรีส์คือเรื่องราวที่แข็งแรงต่างหากดังนั้น “การขโมย” ธีมที่เป็นเพียงอาร์ตในเกมมาต่อยอดจนทำให้ซีรีส์มีเรื่องราวที่แข็งแรงก็นับว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
นอกจากนี้การสร้างคาแรกเตอร์โดยหยิบเพียงคอนเซปต์จากเกมมาก็นับเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ชาญฉลาดมากในการพาคนดูไปร่วมผจญภัยทั้งลูซี่ ที่ถูกพัฒนามาจากผู้อาศัยในวอลต์ (Vault Dweller) ตัวละครไร้ชื่อในซีรีส์หลักของ ‘Fallout’ , แม็กซิมัส ตัวละครที่พัฒนามาจากกิมมิกของเกมภาคสปินออฟอย่าง ‘Fallout: Brotherhood of Steel (2004)’ เพื่อพาผู้ชมไปรู้จักกับเหล่าภราดรภาพแห่งเหล็กกล้าและเกราะเพาเวอร์อาร์เมอร์ (Power Armor) อันเป็นภาพจำสำคัญของเกมยุคหลัง และที่ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมาก ๆ คือการดึงตัวละคร NPC อย่างกูล (Ghoul) จาก เกม ‘Fallout 4’ มาเป็นตัวละครเด่นแถมยังเชื่อมโยงไปสู่ทฤษฎีสมคบคิดที่เกมวางรากฐานเอาไว้อย่างลงตัวอีกด้วย
เรียกได้ว่าบทซีรีส์ถูกถักทอขึ้นใหม่แต่ไม่ได้ละทิ้งแก่นเรื่องจากวิดีโอเกมไปเสียทีเดียวเลยทำให้ผู้ชมที่ทั้งเป็นแฟนเกมและผู้ชมซีรีส์ขาจร (เหมือนอย่างผม) ยังคงสนุกสนานและซึมซับเอาความเป็น ‘Fallout’ ไปได้อย่างไม่ต้องยัดเยียดฉากจำจากเกมมาเลยแม้แต่น้อย ยิ่งได้สกอร์ที่ประพันธ์โดย รามิน ดจวาดี (Ramin Djawadi) ที่เคยทำสกอร์ติดหูจากซีรีส์อย่าง ‘Game of Thrones’ ด้วยแล้วยิ่งทำให้ซีรีส์แต่ละตอนทำเอาผู้ชมอดจะสตรีมดูแบบต่อเนื่องไม่ได้เลยทีเดียว
อีกองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้กันคือเหล่านักแสดงนำของเรื่องตั้งแต่ เอลลา เพอร์เนล ที่เคยแจ้งเกิดจาก ‘Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children’ และหนัง Netflix อย่าง ‘Army of the Dead’ ก็ถ่ายทอดความไร้เดียงสาของ ลูซี่ ออกมาได้เป็นอย่างดี หรือจะเป็นตัวละครที่ดูแล้วน่าสงสารมากอย่าง แม็กซิมัส ก็ได้ อารอน โมเทน มาถ่ายทอดความดราม่าและปมซับซ้อนที่ขับเคลื่อนให้ แม็กซิมัส ต้องมาร่วมผจญภัยกับลูซี่ได้อย่างเปี่ยมอารมณ์
แต่หากถามว่าสปอตไลต์ของซีรีส์ส่องไปที่ใครได้โดดเด่นที่สุดก็คงหนีไม่พ้น วอลตัน กอกกินส์ ผู้รับบทกูล ที่แม้หน้าตาของเขาจะถูกบดบังด้วยเมคอัพสุดสยองแต่ด้วยบุคลิก ความซับซ้อนของคาแรกเตอร์ก็ทำให้ตัวละครนี้มีความเท่ปนน่ากลัวแถมยังทำคนดูตับพังกับปมในอดีตได้อีกจนกลายเป็นตัวละครที่คนดูลืมไม่ลงและเกลียดไม่ได้เต็มหัวใจแม้จะโหดร้ายกับนางเอกของเราแค่ไหนก็ตาม
สรุปแล้ว ‘Fallout’ ถือว่าเป็นซีรีส์สุดเดือดเปิดปีนี้เลยก็ว่าได้ หากปีก่อน ‘The Last of Us’ ของ HBO มาครองตำแหน่งซีรีส์ดัดแปลงจากวิดีโอเกมที่ดีที่สุดไปครองปี 2024 ‘Fallout’ ก็ทำได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าไม่เสียดายเลยที่ยอมจ่ายค่าสมาชิก Prime Video เพิ่มไว้ดูซีรีส์สุดเดือดเรื่องนี้