[รีวิวหนัง] "Kingdom of the Planet of the Apes" พิภพวานรฉบับบางเบาแต่พอเอาสาระได้
ทิ้งห่างมา 7 ปีสำหรับภาพยนตร์ชุด ‘พิภพวานร’ หลังจากการเข้าฉายของ ‘War for the Planet of the Apes’ ในปี 2017 และหากนับจากหนังภาคแรกที่ออกฉายในปี 1968 ก็จะทำให้การเข้าฉายของ ‘Kingdom of the Planet of the Apes’ กลายเป็นภาคที่ฉลองครบรอบ 56 ปีของแฟรนไชส์ภาพยนตร์ไซไฟ ดราม่าอิงการเมืองเรื่องนี้พอดี ลำพังเหตุการณ์ในหนังเองก็ดุเดือดเลือดพล่านไม่น้อยอยู่แล้ว นอกจอในงานฉายรอบกาล่าเองก็มีดราม่าเรื่องมุกคุกคามทางเพศที่กำลังเกิดวิวาทะในสื่อโซเชียล มีเดียที่เดือดไม่แพ้กัน
มาว่ากันที่เรื่องราวในหนังจะพาผู้ชมข้ามเวลาไป 300 ปีหลังการระบาดของเชื้อไวรัสซีเมียนที่ทำให้มนุษย์พูดไม่ได้ และเหล่าวานรพัฒนาตัวเองให้ฉลาดขึ้นและเริ่มรวมกลุ่มเป็นเผ่าต่าง ๆ โดยในหนังจะพาเราไปรู้จักกับตัวละครเผ่าอินทรีที่วานรในเผ่าจะเลี้ยงนกอินทรีและสามารถสั่งการพวกมันได้ โดยมีตัวละครสำคัญคือวานรชื่อ โนอา (รับบทโดย โอเวน ทีก, Owen Teague) ที่หลังจากต้องสูญเสียพ่อและเผ่าอินทรีของเขาถูกวานรกลุ่มใส่หน้ากากจับตัวไป โนอา จำต้องเดินทางไกลเพื่อภารกิจพาครอบครัวกลับบ้าน โดยระหว่างทางเขาได้พบกับ รากา (รับบทโดย ปีเตอร์ มาคอน, Peter Macon) อูรังงูตังเฒ่าผู้พยายามรวบรวมองค์ความรู้ของ ซีซาร์ ผู้นำเหล่าวานรในอดีตและ เม (รับบทโดย เฟรยา อัลลัน, Freya Allan) มนุษย์หญิงสาว พวกเขาต้องรวมตัวกันต่อกรกับ พร็อกซิมัส (รับบทโดย เควิน ดูแรนด์, Kevin Durand) วานรจอมเผด็จการที่หมายทำลายมนุษยชาติและตั้งตนเป็นเจ้าชีวิตเหล่าวานรทั้งปวง
แม้ในข้อมูลของภาพยนตร์ที่หามาได้จะบอกว่า เวส บอล (Wes Ball) ผู้กำกับหนังชุด ‘The Maze Runner’ เสนอไอเดียว่านี่จะเป็น ‘Apocalypto’ ฉบับวานร แต่พอได้ดูจริง ๆ เราจะพบว่าพลอตเรื่องรวมถึงฉากเปิดที่เป็นการผจญภัยโชว์วิช่วลเอฟเฟกต์นี่แทบจะกลายเป็น ‘Avatar’ ซึ่งภาพยิ่งชัดเมื่อมันเล่าถึงว่าวานรตั้งสังคมของตนเป็นเผ่าต่าง ๆ แถมยังพยายามใส่พิธีกรรมความเชื่อเฉพาะเผ่าเข้ามาด้วย แต่ที่สิ่งที่ ‘Kingdom of the Planet of the Apes’ ทำได้ไม่ถึงทั้งการเป็น ‘Apocalypto’ และ ‘Avatar’ ก็คงหนีไม่พ้นตัวบทภาพยนตร์เอง
โดยเฉพาะเหล่าตัวละครที่เราจะเห็นพัฒนาการได้น้อยมาก การเริ่มเรื่องด้วยการปูให้ โนอา ปีนหน้าผาได้อย่างเก่งกาจหรือแม้แต่วานรเพื่อนรักอีก 2 ตัวที่สื่อถึงความผูกพันระหว่างเพื่อนยอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มเรื่องราวใหม่ที่น่าสนใจเพราะคราวนี้คือสามารถสานต่อเรื่องราวของวานรได้เต็มที่โดยไม่ต้องสนใจไปเล่าเรื่องราวฝั่งมนุษย์ แต่พอหลังจากผ่านองก์แรกเมื่อปูคอนฟลิกต์เรื่องเผ่าอินทรีถูกจับตัวไปแล้วปรากฎว่าหนังพาตัวเองออกทะเลเข้ามหาสมุทรแบบไม่สนใจให้ข้อมูลอะไรเราทั้งสิ้น รวมถึงบทบาทของวานรเพื่อนรักอีก 2 ตัวที่ค่อย ๆ เฟดไปจากหนังและโผล่มาอีกทีตอนท้ายเรื่อง
ส่วนในกรณีของรากายังพอถือว่ายกประโยชน์ให้จำเลยได้เพราะถือเป็นแค่แฟนคลับของซีซาร์ มาเพื่อเชื่อมโยงหนังภาคนี้กับไตรภาคก่อนหน้า แต่ตัวเม ที่เป็นมนุษย์ที่อยู่ ๆ ก็พูดได้แถมยิ่งพอหนังดำเนินเรื่องไปกลับทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรียกได้ว่าเป็นกุญแจดอกแรกที่จะเชื่อมหนังในเวอร์ชันใหม่เข้ากับหนังภาคแรกที่ฉายในปี 1968 เลยด้วยซ้ำ หนังกลับให้เธอโผล่มาแบบคนไม่ได้สำคัญในครึ่งเรื่องแรก แต่พอครึ่งเรื่องหลังก็แทบจะกลายเป็นตัวนำของเรื่องราวจนกระทั่งหนังจบและไปบดบังความโดดเด่นของ โนอา ที่ควรจะเป็นพระเอกและมีบทบาทเด่นที่สุดของหนังไปอย่างน่าเสียดาย
และปัญหาสำคัญของหนังก็กลับมาวนเป็นงูกินหางเพราะในขณะที่เรื่องราว 80% ของมันเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างวานรคือกลุ่มของพร็อกซิมัส ที่เป็นผู้ร้ายหลักของหนังกับ โนอา พระเอกในภาคนี้ แต่ทั้งสองตัวละครกลับไม่ค่อยมีพัฒนาการอะไรเท่าไหร่ ในกรณีของพร็อกซิมัส เป็นตัวร้ายแบน ๆ โหด ๆ ยังพอเข้าใจได้ แต่ โนอา ที่ตัวหนังจะต้องปูพื้นทั้งพื้นฐานครอบครัวหรือหน้าที่ในฐานะผู้นำเผ่า และอาจจะพอพูดได้ว่าจะต้องเป็นตัวละครนำของแฟรนไชส์พิภพวานรต่อจาก ซีซาร์ แต่เรื่องราวในส่วนนี้กลับหายไป หรือแม้แต่พิธีเชื่อมสัมพันธ์ที่อุตส่าไปเอาไข่นกตอนต้นเรื่องมาอย่างยากลำบากก็ถูกตัดจบหลังจากเผ่าอินทรีถูกบุกทำลายเพื่อจะได้ใส่ฉากแอ็กชั่นโชว์วิช่วลเอฟเฟกต์และความตูมตามเข้ามาแทนเพื่อเอาใจคนดูยุคใหม่ที่ไม่ชอบหนังคุยกันเยอะ แม้จะยอมรับว่าเมื่อเทียบกับ ‘Godzilla X Kong The New Empire’ ที่เพิ่งฉายไป หนังอาจจะมีบทพูดและมีการบอกเล่าเรื่องราวมากกว่าก็ตาม (ฮ่าาา)
แต่ถึงจะมีปัญหาด้านพัฒนาการตัวละครไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือประเด็นหลักที่หนังต้องการพูดถึงของหนังในชุดพิภพวานรก็ยังเป็นการสะท้อนโลกแห่งความจริงที่ความขัดแย้งใหม่ ๆ มักเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งหาก ‘Planet of the Apes’ ปี 1968 ต้องการแสดงความกังวลต่อสถานการณ์สงครามเย็นที่มหาอำนาจต่างขู่ว่าจะใช้นิวเคลียร์ในการห้ำหั่นกัน หรือกระทั่งจุดเริ่มของไตรภาคใหม่อย่าง ‘Rise of the Planet of the Apes’ ในปี 2011 ที่เกิดเหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) โดยให้เหล่าวานรเป็นตัวแทนผู้ไม่เคยมีปากเสียงได้ปลดแอกตัวเองจนกระทั่งมีแต้มต่อเหนือเหล่ามนุษย์ที่เคยทำการทดลองและข่มเหงพวกมัน
ส่วน ‘Kingdom of the Planet of the Apes’ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือการใช้เชื้อไฟจากความขัดแย้งของสงครามระหว่าง อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ มาสานต่อเรื่องราวด้วยการให้ พร็อกซิมัส อ้างคำพูดของ ซีซาร์ มาใช้ในการก่อสงครามเพื่อขึ้นครองบัลลังก์เหนือเหล่าวานรและต้องการทำลายล้างเหล่ามนุษยชาติ ซึ่งก็ไม่ต่างจากสงครามในโลกจริงที่เป็นการอ้างอิงทั้งเรื่องความเชื่อและประวัติศาสตร์เพื่ออ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ไม่ต่างจากที่ พร็อกซิมัส พยายามทำและการเรียกตัวเองโดยต่อท้ายชื่อว่าซีซาร์ก็เป็นการบิดเบือนจาก ซีซาร์ ที่เป็นวานรผู้เสียสละสู่ซีซาร์หรือตำแหน่งกษัตริย์เพื่อแสดงความบ้าอำนาจ
และในขณะเดียวกันหนังยังแอบแฝงเรื่องพลังของ “การสื่อสาร” ตั้งแต่การที่ เม ปฏิเสธการพูดออกเสียงเพื่อป้องกันตัวเองไปจนถึงวัตถุประสงค์แท้จริงที่เธอร่วมเดินทางกับโนอาและรากา ก็เพื่ออำนาจดังกล่าวอีกด้วย และในทางกลับกันเมื่อหนังยกเรื่องอำนาจแห่งการสื่อสารแล้ว พร็อกซิมัส เองก็ดูจะเข้าใจในอำนาจดังกล่าวโดยเฉพาะการนำเอาเรื่องราวของ ซีซาร์ มาบิดเบือนและใช้เป็นกิมมิกเพื่อทำลายมนุษย์ ไปจนถึงพลอตรองที่หนังเลือกจบได้อย่างทรงพลังก็คือการที่ โนอา ต้องเรียนรู้เพื่อจะสื่อสารกับนกอินทรีให้ได้อย่างพ่อที่จากไปของเขา
และเมื่อพูดถึงการสื่อสารในหนังแล้ว อย่างที่เรากล่าวไปตอนต้นของรีวิวนี้คือประเด็นดรามาในรอบกาล่าของหนังเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ซึ่งพิธีกรน่าจะได้รับการสื่อสารผิดพลาดในตัวหนังจนเกิดซีนน่าอายอย่างการแซวนักแสดงสาวด้วยการทำเสียงลิงเพื่อสื่อสารว่าอยากได้เธอมาเป็นภรรยา ซึ่งหากจะให้เดาคิดว่าตัวพิธีกรคงเห็นว่าในโปสเตอร์หนังมีตัวละคร เม เป็นมนุษย์คนเดียวเลยเข้าใจว่าหนังเล่าเรื่องวานรกำลังหาทางสืบพันธุ์กับมนุษย์หรือเปล่า ? รวมไปถึงมุกตลกที่แซวอินฟลูเอนเซอร์ LGBTQ ด้วยการยกสถานการณ์จำลองว่าให้ยิ้มแย้มเหมือนอยากได้ผู้ชายหล่อ ๆ 5-6 คนมาเป็นสามี ในยุคสมัยที่มุกแบบนี้อาจไม่ได้ตลกอีกต่อไป อืม..นี่สินะอำนาจของการสื่อสารที่หนังพยายามจะพูดถึง !
โดย มโน วนเวฬุสิต