รีเซต

เจาะลึก! งานสร้างสุดอลัง ใน ภาพยนตร์ Beauty and the Beast

เจาะลึก! งานสร้างสุดอลัง ใน ภาพยนตร์ Beauty and the Beast
Thanyaporn Tan
9 มีนาคม 2560 ( 16:49 )
2.1K

ถ้าพูดถึงนิทานในดวงใจของใครหลายๆ คน เชื่อว่าต้องมีเรื่อง “Beauty and the Beast” โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ติดเข้าโผลแน่นอน ในที่สุดดิสนีย์ก็ตอบสนองความต้องการแฟนๆ ด้วยการทำภาพยนตร์เรื่องนี้แบบฉบับ Live Action นำแสดงโดย เอ็มม่า วัตสัน และ แดน สตีเว่นส์ ขึ้นชื่อว่าดิสนีย์ ต้องจัดเต็มทั้งฉากทั้งชุดนักแสดงอย่างแน่นอน วันนี้เรามาเจาะลึกงานสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้กัน


เนรมิตงานฉากให้สมจริง 

การถ่ายทำหลักของ “Beauty and the Beast” โฉมงามกับเจ้าชายอสูร เกิดขึ้นที่เชปเปอร์ตัน สตูดิโอส์ นอกกรุงลอนดอน และโลเกชั่นกลางแจ้งหลายแห่งในอังกฤษ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ปี 2015 เชปเปอร์ตัน ซึ่งสเตจการถ่ายทำของมันเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังทั้ง “Lawrence of Arabia,” “Oliver!” “Gandhi,” “A Passage to India” และ “A Clockwork Orange” มาแล้ว นี่คือโลเกชั่นที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับงานสร้างที่มีสโคปและความยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เพราะมันมีโรงถ่ายขนาดมหึมาและมีสเตจจำนวนมากรวมกันถึง 27 สเตจ ที่สามารถใช้สร้างฉากจริงๆ ที่มีสเกลใหญ่หลายฉากได้


แม้ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปในฟอร์แมทไลฟ์แอ็กชั่น แต่มันก็ต้องใช้ภาพ CG และอนิเมชั่นจำนวนหนึ่งเช่นกัน และเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทีมงานที่พวกเขาจะต้องถ่ายทำในสิ่งแวดล้อมที่ดูสมจริงจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะฉากขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและผ่านการออกแบบอย่างประณีตบรรจงจะช่วยสร้างความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์เรื่องนี้และเวอร์ชั่นภาพยนตร์ นอกจากนั้น ฉากที่สมจริงเหล่านี้ยังถูกสแกนในคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นฟอร์แมทดิจิตอล 3D เพื่อสร้างภาพยนตร์วิชวล (พรี-วิซ) ก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้นเพื่อช่วยกำหนดตำแหน่งของกล้องและการให้แสง


ทีมงานเบื้องหลังมากพรสวรรค์ที่ได้รับมอบหมายให้เนรมิตชีวิตให้กับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ รวมถึง ผู้กำกับภาพ โทเบียส ชลิสเลอร์, เอเอสซี (“Mr. Holmes,” “Lone Survivor”), ผู้ออกแบบงานสร้างผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสี่รางวัลออสการ์ ซาราห์ กรีนวู้ด (“Hanna,” “Atonement”), มือลำดับภาพ เวอร์จิเนีย แคทซ์, เอซีอี (“Dreamgirls,” “Burlesque”), ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เจ้าของรางวัลออสการ์ แจ็คเกอลีน ดูราน (“Macbeth,” “Anna Karenina”), ผู้ตกแต่งฉาก ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสี่รางวัลออสการ์ เคที สเปนเซอร์ (“Sherlock Holmes,” “Pride & Prejudice), ช่างออกแบบทรงผมและแต่งหน้าเจ้าของรางวัลออสการ์ เจนนี เชอร์คอร์ (“Elizabeth, “The Soloist”) และ ผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ลูซี บีแวน (“Alice Through the Looking Glass,” “Cinderella”)


ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวคิด การเพิ่มอำนาจให้กับผู้หญิงของเรื่อง หัวหน้าแผนกทุกคนในทีมออกแบบ ซึ่งหลายคนเคยร่วมงานกับ ผู้กำกับ บิล คอนดอน บ่อยๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิง เช่นเดียวกับ มือลำดับภาพและผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ซึ่งต่างก็เป็นสุดยอดในสายงานของพวกเธอ กรีนวู้ดและสเปนเซอร์ ได้ร่วมงานกันมาเกือบสองทศวรรษแล้ว และทั้งคู่ต่างก็เคยร่วมงานกับดูรานและเชอร์คอร์มาก่อน ทั้งคู่มีความรักในโปรเจ็กต์นี้ไม่แพ้กันและได้แบ่งปันไอเดียและข้อมูลระหว่างหัวหน้าแผนกอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดการทำงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมา


ในฐานะผู้ออกแบบงานสร้าง กรีนวู้ดมีหน้าที่ดูแลทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับภาพวิชวลของภาพยนตร์เรื่องนี้ และสำหรับ “Beauty and the Beast” เธอก็ต้องการความรู้สึกแบบยุโรปที่เป็นอมตะ ในทำนองเดียวกับภาพยนตร์รักเรื่องเยี่ยมของฮอลลีวูด เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยและสถานที่ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งก็คือฝรั่งเศสกลางทศวรรษที่ 18 แทนที่จะเป็นโลกเทพนิยายที่ไร้กาลเวลา และแม้ว่างานของแต่ละแผนกส่วนหนึ่งจะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์อนิเมชันปี 1991 แต่ฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก เสื้อผ้า ทรงผม และเมคอัพ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามชีวิตจริงในฝรั่งเศสศตวรรษที่ 18 ทั้งสิ้น ด้วยความที่จริงๆ แล้ว เรื่องราวนี้เป็นเทพนิยาย มันก็เลยมีอิสระในการตีความยุคสมัยนั้นเพื่อสร้างลุคที่ค่อนข้างจะมีความแปลกใหม่ขึ้นมา


ทีมงานกว่า 100 ชีวิตได้ทำงานอย่างขยันขันแข็ง เพื่อสร้างและตกแต่งฉากขนาดมหึมาทั้งหมด และสร้างสรรค์งานฝีมือจำนวนมหาศาลอย่างเหลือเชื่อ จน เอ็มม่า วัตสัน กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ว่า “ฉันเคยแสดงหนังมาหลายเรื่องที่มีงานฝีมือน่าทึ่ง แต่หนังเรื่องนี้พิเศษสุดจริงๆ เพราะพวกเขาได้ทำงานกับสิ่งที่เป็นที่รู้จักและรักเหลือเกินและสามารถรักษาสิ่งที่เรารู้จักและรักเอาไว้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้ต่อยอดและเพิ่มรายละเอียด มิติและเลเยอร์ให้กับมันด้วย ทุกคนรู้สึกว่ามันมีอะไรให้ค้นมากกว่านั้น และโชคดีที่มันเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยี งานฝีมือและวิธีการเล่าเรื่องราวในปัจจุบัน ที่เราไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้น่ะค่ะ วิลเลอเนิฟ คือหมู่บ้านสมมุติ ที่เบลล์ ที่ฉันรับบท และพ่อของเธออาศัยอยู่ ถูกสร้างขึ้นในโรงถ่ายที่เชปเปอร์ตัน สำหรับฉากนี้มันมีขนาดใหญ่ที่สุดของงานสร้าง ใหญ่มากๆ เลยค่ะ (28,787 ตารางฟุต) ฉันรู้มาว่า กรีนวู้ด (มือลำดับภาพ) และทีมงานของเธอนั้นได้แรงบันดาลใจจากหมู่บ้านกงก์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส สิ่งที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ถูกตั้งชื่อตาม กาเบรียล-ซูซานน์ บาร์บ็อต เดอ วิลเลอเนิฟ คนเขียนเรื่องราว “Beauty and the Beast” ต้นฉบับ เลยค่ะ เพียงแค่ฉันเดินเข้าไปสิ่งที่ปรากฏต่อสายตา มันประกอบไปด้วยกระท่อมของเบลล์ โรงเรียน ร้านเสื้อผ้า ร้านเหล้า โบสถ์ และจัตุรัสกลางหมู่บ้าน มัน ว้าวววววววว!!!!! ที่สุดไปเลยค่ะ สำหรับ “Belle” เพลงเปิดเรื่องที่สุดแสนจะอลังการ ก็เกิดขึ้นในวิลเลอเนิฟ ที่ฉันเองต้องทำงานร่วมกับนักแสดงคนอื่นๆ กว่า 150 คน, สัตว์หลายร้อยตัว, รถเข็น 28 คัน และอุปกรณ์ประกอบฉาก ในการตกแต่งฉากนับไม่ถ้วน ซึ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดอย่างเหลือเชื่อค่ะ ฉันได้แต่ตะลึงๆๆๆ อยู่อย่างนั้น อยู่เป็นนาน”


การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบละเอียดประณีต

แผนกศิลป์ใช้เวลาหลายเดือนในการค้นคว้า สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในของยุคสมัยนั้น เพื่อสร้างลุคของปราสาทเจ้าชาย/อสูร ที่สุดแล้ว มันก็เป็นการผสมผสานของสถาปัตยกรรมสไตล์ต่างๆ แต่สไตล์หลักๆ ที่ใช้คือเฟรนช์โรโกโก้ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในฝรั่งเศส ยุค 1740 ในการออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่สง่างามอย่างพระราชวังแวร์ซายล์ “โรโกโก้” เป็นการออกแบบสไตล์ฝรั่งเศส ที่รายละเอียดค่อนข้างจะสุดโต่งทีเดียวค่ะมันเป็นธีมการออกแบบที่อายุสั้นมากๆ เพราะมันทั้งเข้มข้น เยอะและแพงมากๆ แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อลุควิชวลโดยรวมในหนังของเราอย่างมากค่ะ ความแตกต่างสำคัญอย่างหนึ่ง ระหว่างปราสาทหลังนี้ กับ ปราสาทจากภาพยนตร์อนิเมชั่น คือลุคที่พัฒนาขึ้นของมัน “ปราสาทในหนังอนิเมชั่นจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยระหว่างเรื่อง แต่ด้วยความที่เราทำงานกับฟอร์แมทไลฟ์แอ็กชัน เราก็เลยสามารถแสดงให้เห็นถึงการที่ผลลัพธ์ของคำสาป ที่มีต่อปราสาทเมื่อเวลาผ่านไปได้ สำหรับสไตล์โรโกโก้ ทุกอย่างเยอะไปหมด แต่มันยังมีความมีชีวิตชีวามากๆ ด้วย และสิ่งที่เราต้องการนำเสนอในการออกแบบของเราคือความเปลี่ยนแปลง อย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังต้องคำสาป ซึ่งสะท้อนให้เห็น จากพื้นผิวมันวาวในปราสาท ต้นไม้ที่ตัดแต่งทรง สถาปัตยกรรมและรูปปูนปั้นค่ะ” กรีนวู้ด ให้ข้อมูล


ทุ่มทุนสร้างฉากสำคัญ

ห้องบอลรูมของปราสาทก็เป็นอีกหนึ่งฉากขนาดมหึมา พื้นของห้องทำจากหินอ่อนปลอมขนาด 12,000 ตารางฟุตและแบบดีไซน์ของมัน ก็มาจากลวดลายที่ปรากฏบนผนังของวิหารเบเนดิคไทน์ แอ็บบีย์ในเมืองบราวเนา ประเทศเยอรมนี นอกจากนั้น สิ่งที่อยู่ในห้องนี้ด้วยคือแชนดีเลียร์กระจกสิบอัน ซึ่งแต่ละอันมีขนาด 14×7 ฟุต ตามแชนดีเลียร์จริงๆ จากพระราชวังแวร์ซายล์ ที่จะถูกทำให้แวววาว ก่อนจะถูกคลุมด้วยผ้าและติดไฟ

ห้องนอนของเบลล์ก็อยู่ในบริเวณที่อยู่ภายใต้มนต์สะกดอย่างงดงามของปราสาท เช่นเดียวกับห้องบอลล์รูม และถูกออกแบบให้เป็นห้องนอนในฝันตามแบบเทพนิยายของเด็กหญิงทุกคน ปีกตะวันตก ที่ซึ่งอสูรมักเก็บตัวอยู่ เป็นศูนย์กลางของคำสาป และมันก็ถูกออกแบบในสไตล์บาโร้คอิตาเลียน ซึงมีลักษณะที่มืดหม่นและน่าสะพรึงกลัวกว่า


ห้องสมุดของปราสาทถูกสร้างขึ้นตามแบบของ ห้องสมุดชื่อดังในโปรตุเกส และเป็นฉากที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับธีมสำคัญในเรื่อง นั่นคือความกระหายในความรู้และบทบาทสำคัญที่หนังสือมีต่อการแต่งแต้มจินตนาการ พื้นของห้องนี้ทำจากหินอ่อนปลอมประมาณ 2,000 ตารางฟุต และเต็มไปด้วยหนังสือหลายพันเล่ม ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำโดยเฉพาะ, ป่าวิเศษที่ล้อมรอบปราสาทของอสูรถูกสร้างขึ้นบนสเตจเอช ซึ่งเป็นสเตจที่ใหญ่ที่สุดที่เชปเปอร์ตัน ด้วยขนาด 9,600 ตารางฟุต ป่าแห่งนี้ ที่ใช้เวลาสร้าง 15 สัปดาห์ มีทั้งต้นไม้จริง พุ่มไม้ ทะเลสาปเยือกแข็ง ประตูรั้วน้ำแข็งที่สูง 29 ฟุตและแท่งน้ำแข็งประมาณ 20,000 แท่ง


ออกแบบเครื่องแต่งกายสุดพิถีพิถัน

การออกแบบเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับโลกเทพนิยายเป็นงานที่ท้าทาย แต่ก็เป็นงานที่ แจ็คเกอลีน ดูราน ตอบรับด้วยความยินดี แผนกของเธอที่ประกอบไปด้วยช่างตัดเย็บ ช่างทำหมวก ช่างอัญมณี ช่างทาสีและศิลปินสิ่งทอ เริ่มทำงานก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้นสามเดือน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความท้าทายที่พวกเธอกำหนดให้กับตัวเองในการออกแบบและสร้างชุดที่พอเพียงและเป็นไปตามหลักจริยธรรม ที่ตัดเย็บจากเนื้อผ้าจากการค้าที่เป็นธรรม (หมายถึงการใช้วัตถุดิบออร์แกนิคจากผู้จัดหาสินค้า ที่ให้ค่าจ้างที่เป็นธรรมกับพนักงานและใส่ใจสิ่งแวดล้อม) ซึ่งพวกเธอทำสำเร็จ และในการร่วมงานกับอีโค เอจและกรีน คาร์เพ็ต ชาเลนจ์ แผนกของเธอได้ใช้สีย้อมผ้าตามธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบต่ำ (มีการกำจัดน้ำเสียอย่างระมัดระวัง) และพิมพ์ผ้าด้วยบล็อกไม้แบบดั้งเดิม


ดูราน ได้ออกแบบทุกอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าของชาวบ้านสำหรับชาวบ้านทุกคนไปจนถึงชุดราตรีหรู ที่สวมโดยสาวงาม 35 คนในงานเลี้ยงเต้นรำของเจ้าชาย แต่อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่สุดของเธอ คือการสร้างชุดเดรสที่เบลล์สวมตอนที่เธอเต้นรำกับอสูรในห้องบอลรูมของปราสาท ด้วยภาพจำของชุดเดรสสีเหลืองและตัวละครตัวนี้ กระบวนการออกแบบจึงดำเนินไปอย่างยาวนาน และมีการพูดคุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับลุค สีสันและวัตถุดิบที่ใช้


“ในหนังของเรา เดรสนั้นยังไงก็ต้องเป็นสีเหลือง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อหนังอนิเมชันค่ะ สิ่งที่เราพยายามจะทำ คือการตีความมันใหม่ และคิดมันออกมาทีละนิดๆ ด้วยการเสริม เท็กซ์เจอร์เข้าไปมากขึ้น เพื่อทำให้มันรู้สึกเหมือนเป็นเสื้อผ้าจริงๆ น่ะค่ะ ท้ายที่สุด ชุดเดรสนี้ก็ถูกสร้างขึ้น จากผ้าไหมซาตินออร์แกนซา ย้อมสีเหลืองที่เบาดุจขนนกหลายชั้น (รวมแล้ว 180 ฟุต) ซึ่งถูกตัดออกมาในรูปทรงกลมและต้องใช้เส้นด้าย 3,000 ฟุตสองเลเยอร์แรกถูกพิมพ์ด้วยลวดลายใบไม้สีทองในแบบเดียวกับพื้นโรโกโก้ของห้องบอลรูม และถูกประดับประดาอย่างงดงามด้วย คริสตัลชวารอฟสกี้ 2,160 เม็ด ในเรื่องนี้ การ์เดโร้บ ตู้เสื้อผ้า ได้นำแผ่นทองคำจากเพดานห้องนอนของเบลล์มาประพรมลงบนเดรส ชุดเดรสนี้ ซึ่งใช้เวลาตัดเย็บ 12,000 ชั่วโมงและมีการตัดเย็บชุดสำรองอีกหลายชุด ไม่ได้ใช้คอร์เซ็ทหรือสายรัดรูป เพื่อให้ เอ็มม่า วัตสัน สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เพราะเบลล์ในฉบับภาพยนตร์นี้ จะมีความเคลื่อนไหวมากกว่าเบลล์จากภาพยนตร์อนิเมชั่นทีเดียวเชียวล่ะ” ดูราน กล่าว


“มันเป็นความท้าทายที่น่าสนใจจริงๆ ค่ะ เดรสชุดนี้เป็นที่รู้จักอย่างมากเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของฉากโรแมนติกในเรื่อง แม้ว่าเดรสนี้จะผ่านการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง แต่ท้ายที่สุด เราก็ตัดสินใจว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเดรสนี้จะต้องดูสวยงามเวลาเต้นรำ เราอยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือนว่ามันสามารถล่องลอยและโบยบินได้ เบลล์คนนี้ได้ทำงานและขี่ฟิลิปป์ ม้าของเธอ และสวมรองเท้าบู๊ทในฉากพวกนั้น (แทนที่จะเป็นรองเท้าแบบผู้หญิงที่บอบบาง) เราอยากจะขยายลักษณะนิสัยของเบลล์ในหนังเรื่องนี้ และอยากจะทำให้แน่ใจว่าภาพของเธอปรากฏออกมาในลักษณะของนักขี่ม้าหญิงตัวจริงน่ะค่ะ เราก็เลยทำให้แน่ใจว่าเธอจะมีรองเท้าที่เหมาะสมและยกกระโปรงด้านหนึ่งของเธอให้สูงขึ้นหน่อย เพื่อที่เธอจะสามารถขี่ม้าสไตล์ตะวันตกได้ ในลักษณะที่ง่ายดายสำหรับเธอค่ะ” เอ็มม่า วัตสัน กล่าว


ดูราน กล่าวเห็นพ้องด้วยว่า “เราได้คำนึงถึงเรื่องนี้ในตอนที่เราออกแบบชุดทั้งหมดของเบลล์ เราไม่อยากให้เธอเป็นเจ้าหญิงผู้บอบบางแต่เป็นนางเอกที่แอ็กทีฟ ดังนั้น ชุดเดรสสีฟ้าและผ้ากันเปื้อนที่เธอสวมในตอนเริ่มต้นเรื่องก็จะถูกออกแบบให้มีกระเป๋า ที่เธอสามารถใส่หนังสือได้ และสามารถสวมคู่กับกางเกงยาวถึงเข่าและเสื้อสวมทับด้านบนได้”

ส่วน ชุดที่เจ้าชายสวมในซีเควนซ์เปิดเรื่อง ดูรานได้ตัดเย็บเสื้อโค้ทและเสื้อตัวยาวที่ประดับประดาด้วยคริสตัลชวารอฟสกี้หลายพันเม็ด ซึ่งจากนั้นจะถูกสแกนโดยแผนกวิชวลเอฟเฟ็กต์และใส่ให้กับอสูรที่ถูกสร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์


พิสูจน์ความอลังการตระการตาพร้อมกันใน Beauty And The Beast 16 มีนาคม ทุกโรงภาพยนตร์ ในระบบดิสนีย์ ดิจิตอล 3 มิติ, ไอแมกซ์ 3 มิติ, และ 4 มิติ