หลายครั้งที่พนักงานเงินเดือนอย่างเรา ๆ ต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับวิถีชิวิตการทำงานในแต่ละวัน ทั้งในเรื่องการเดินทางไปทำงาน ฝนตก รถติด เจ้านายขี้บ่น เพื่อนร่วมงานชอบจับกลุ่มนินทา หรือไม่ก็คอยจ้องแอบแทงข้างหลัง ขี้อิจฉา เลื่อยขาเก้าอี้ ฯลฯ แถมงานก็หนัก กลับดึกก็ทุกวัน บ้านก็อยู่ลึกในซอยเปลี่ยว แถมเงินเดือนที่ได้ก็น้อยนิด ซึ่งล้วนส่งผลด้านลบทั้งต่อสภาพทางกายและใจ จนอยากจะลาออกจากงานวันละหลายร้อยรอบหลายคนเคยลองนั่งทบทวนชีวิตการทำงานที่ผ่านมาซึ่งมีระยะเวลามากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างตามสถานภาพทางอายุและประสบการณ์ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่เมื่อลองได้นั่งนึกดูแล้ว ล้วนเคยประสบกับการถอนหายใจยาว ๆ กับผลสำเร็จที่ยังมาไม่ถึง โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่งคั่ง หรืออิสรภาพทางการเงิน และดูเหมือนว่าจะไร้ซึ่งแสงสว่างและอนาคต แต่ก็ไม่สามารถทำสิ่งใดได้นอกจากการกลับหลังหันแล้วก้มตัวลงนั่งเก้าอี้ตัวเดิมเพื่อนั่งทำงานต่อไป ที่มาของภาพ https://pixabay.com/photos/people-man-office-work-computer-2567566/ทว่าจะมีสักกี่คนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับชีวิตการทำงานประจำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่า "เราเดินทางมาถูกทิศถูกทางหรือไม่? งานที่ทำทุกวันนี้ตอบโจทย์ชีวิตหรือไม่? แล้วเราทำมันไปเพื่ออะไร มีสิ่งอื่นใดที่เราสามารถทำได้ดีกว่านี้ และตอบแทนเราได้มากกว่านี้หรือไม่?" ถ้ากล้าพอเราจะตอบตามข้อเท็จจริงและเปลี่ยนแปลงมันในทันที ! ซึ่งเชื่อว่าคงมีน้อยคนที่สามารถหลุดพ้นจากกรอบความคิดเดิมที่เสมือนเป็นเกราะป้องกันมิให้เราต้องหลุดพ้นจากพันธนาการหรือ Comfort Zone ที่คอยฉุดรั้งเราไม่ให้ไหลเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีไปได้ที่มาของภาพ https://unsplash.com/photos/QBpZGqEMsKgผมเพิ่งได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบ ซึ่งเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์มานานพอสมควร และเป็นหนังสือที่ไม่น่าเชื่อว่าจะตีพิมพ์มามากกว่า 30 ครั้ง ซึ่งเล่มที่ผมซื้อนี้คือการตีพิมพ์ครั้งที่ 34 ! หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “การลาออกครั้งสุดท้าย” ของคุณเต้ย ภาณุมาศ ทองธนากุล ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองในฐานะมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ที่สามารถหลุดพ้นกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความท้าทายของชีวิต ด้วยการลาออกจากงานประจำ เพื่อกลับไปทำในสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด "ที่บ้าน" ของเขาเองหนังสือเล่มนี้นอกจากความโดดเด่นในเรื่องของการใช้ภาษาที่สนุกสนาน การเรียบเรียงถ้อยคำที่ดียิ่ง ชวนให้ติดตามจนวางไม่ลงแล้ว ยังเต็มไปด้วยเรื่องชวนคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ซึ่งชวนให้เราย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองแทบทุกครั้งที่อ่านจบในแต่ละบท โดยหนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 27 บท แบ่งแยกเนื้อหาตั้งแต่เริ่มทำงานด้วยชีวิตที่ราบรื่นจนถึงชีวิตหลังการลาออกที่มาของภาพ https://pixabay.com/photos/hiker-travel-trip-wander-suitcase-1607078/บทที่ว่าด้วยฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขาต้องลาออก ที่ไม่ใช่การโยกย้าย หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน แต่เป็นการลาออกครั้งสุดท้ายของการมีชีวิตแบบมนุษย์เงินเดือน ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้พิจารณา และเตรียมตัวมาพอสมควรแล้ว เช่น การมีทรัพย์สินที่พอจะทำให้เกิดรายได้อยู่บ้าง และการตระเตรียมสิ่งที่จะต้องทำภายหลังจากลาออกเรียบร้อย ซึ่งเขาทบทวนและเตรียมตัวมาตลอด 5 ปีของการทำงาน แน่นอนว่าภายหลังการตัดสินใจยื่นใบลาออกของเขา ได้สร้างความไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยของผู้คนที่อยู่รายล้อม เนื่องจากเหตุผลที่เขาได้บอกออกไปคือ “การลาออกไปอยู่บ้านเฉย ๆ” แต่เขากลับเชื่อว่านี่คือโอกาสและอิสรภาพที่จะทำให้เข้าพุ่งทะยานไปได้ไกลกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนไปวัน ๆชีวิตวันแรกภายหลังการลาออก เขาฉายภาพออกมาได้อย่างสวยงามมาก ชวนให้มนุษย์เงินเดือนอย่างผมเคลิบเคลิ้มจนเกือบลอยออกจากเก้าอี้ ทุกอย่างเต็มไปด้วยอิสระตั้งแต่ตื่นนอน อยากทำอะไรก็ทำ เล่นดนตรี ดูหนัง ฟังเพลงเมื่อไหร่เวลาไหนก็ได้ นาฬิกาและปฏิทินเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย ไม่ต้องมาคอยหวาดกลัว หรือกังวลว่าจะประชุม หรือมีนัดหมาย หรือเคร่งเครียดกับสิ่งต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวันอีกต่อไปที่มาของภาพ https://pixabay.com/photos/man-playing-guitar-instrument-984505/แม้การใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการนั้นจะเต็มไปด้วยข้อดี และการมีชีวิตที่อิสระ ซึ่งถือเป็นความสวยงาม แต่ทว่าเมื่อเวลาเริ่มผ่านพ้นไปจนเขาได้พบเจอกับคำว่า “ว่างจัด” และ “ความไร้ค่า” ของชีวิต ผมชอบประโยคที่เขาบอกว่า “หนึ่งปีกว่า ๆ ของการเป็นคนว่างงาน ผมใช้เวลาไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย หากเวลาว่าง คือความร่ำรวย ผมคงรวยติดอันดับมหาเศรษฐี” ประโยคนี้ของเขาทำให้ผมฉุกคิดว่าที่ผ่ามา แม้ผมยังไม่ได้ลาออกจากงาน แต่ผมใช้เวลาได้คุ้มค่าหรือไม่ ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย ผมปล่อยเวลาให้ผ่านไปวัน ๆ ทำงานไปวัน ๆ โดยไม่เคยนั่งขบคิดว่าทำอะไรไปถึงไหนแล้ว เกิดคุณค่าอย่างไร และจะไปต่ออย่างไรให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ การลาออกของเขาทำให้เขาเห็นความสำคัญของเวลามากขึ้น เห็นโลกในมิติต่าง ๆ มากขึ้น การทำงานประจำ หรือการลาออกมาเพื่อทำงานที่บ้าน หรือแม้แต่การลาออกโดยให้เงินเป็นตัวหาเลี้ยงเราผ่านการลงทุนต่าง ๆ ล้วนมีข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป ไม่มีสิ่งใดที่ดีที่สุด หรือแย่ที่สุดที่มาของภาพ https://pixabay.com/photos/interior-design-room-office-home-3778708/สิ่งหนึ่งที่เปิดประกายทางความคิดให้บังเกิดขึ้นเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลงในเบื้องแรก คือการกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ การที่เรากำลังว้าวุ่นบนการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตนี้มันเกิดขึ้นไปเพื่อการใด เพียงเพื่อความหน่ายเบื่อ หรือแค่ความหวาดกลัวกับความหนักหน่วงของงานประจำ หรือแค่เพราะความรู้สึกอันอ่อนแอ การลาออกครั้งสุดท้ายอาจไม่ใช่ทางออก เพราะการลาออกครั้งสุดท้ายในมิติของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ มิได้ต้องการเพื่อให้การลาออกเป็นแค่เรื่องหยิบโหย่ง หรือการแก้ไขปัญหาเพียงฉาบฉวย แต่เป็นการลาออกครั้งที่สุดท้ายที่ชีวิตจะต้องมีความสง่างาม มีพลังที่มากล้น และแข็งแกร่งบนพื้นฐานของการทบทวนอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ และมีการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน เพื่อให้การลาออกครั้งสุดท้ายนี้นำพาชีวิตไปสู่ "อิสรภาพ" อย่างแท้จริง ที่งานประจำไม่อาจมอบให้ได้ ภาหน้าปกโดยผู้เขียน