มาร์ติน สกอร์เซซี่ ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงจากผลงานที่มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรม การใช้ความรุนแรง และมีความเป็นหนังสำหรับผู้ใหญ่อยู่สูง (ไม่ใช่หนังโป๊นะ!) อย่าง Taxi Driver (2519), Goodfellas (2533), The Aviator (2547), The Departed (2549) และ Shutter Island (2553) แต่ก็เคยทำหนังเรื่องหนึ่งที่เด็กสามารถดูได้ เพราะไม่มีการฆาตกรรม ฉากหวาดเสียว หรือคำสบถด่าทอที่หากเด็กได้ยินแล้วอาจเสียเด็กได้! (ฮา) หนังเรื่องนั้นคือ Hugo ผลงานเรื่องนี้ ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชน เรื่อง The Invention of Hugo Cabret ของไบรอัน เซสสนิค กลายเป็นหนังสามมิติ (ที่สามารถดูได้ในระบบปกติเช่นกัน) นำแสดงโดย Asa Butterfield (ก่อนจะโตมาเป็น Otis ใน Sex Education - ซีรีส์ทาง Netflix) กับ Chloe Grace Moretz (ที่ผมชอบจำสลับกับ Abigail Breslin) และ Ben Kingsley พ่วงด้วยนักแสดงสมทบมากฝีมือ Jude Law, Sacha Baron Cohen, Emily Mortimer และ Christopher Lee, แม้เรื่องราวจะเกิดขึ้น ณ ปารีส แต่หนังได้เดินทางไปเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 11 สาขา และคว้ารางวัลมาได้ 5 สาขาหนังว่าด้วย อูโก้ กาเบรต์ – เด็กกำพร้าที่มีชีวิตอยู่ตามลำพังในหอนาฬิกาที่สถานีรถไฟ ก่อนพ่อเขาจะจากไปด้วยเหตุเพลิงไหม้ ได้ทิ้งหุ่นมนุษย์กลตัวหนึ่งไว้ให้เขาซ่อมแซม เขาหวังจะพบข้อความบางอย่างที่พ่อซ่อนไว้ จนมารู้จักกับเด็กสาวที่มีพ่อบุญธรรมเป็นเจ้าของร้านขายของเล่น และได้พบกับการผจญภัยที่เหมือนพาเรา back to the future เอ้ย! พาเราไปสู่โลกแห่งหนังเงียบอีกครั้ง ประเด็นที่หนังต้องการจะขับเน้น คือการตามหาคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่กาลเวลาได้กลืนกินลงไป หนังจึงอุดมไปด้วยหลายสิ่งที่ไร้ตัวตน เหมือนครั้งหนึ่งเคยมีหัวใจก่อนกลับกลายเป็นเพียงธาตุอากาศ ทั้งเด็กกำพร้าที่ซ่อนตัวอยู่ในนาฬิกา มนุษย์กลสภาพเยินที่ถูกทิ้งขว้าง นายทหารขาขาดจากสงคราม ผู้กำกับหนังที่เคยโด่งดังแต่ต้องตกต่ำ-ผันตัวเองมาขายของเล่นที่สถานีรถไฟ และหนังยุคเก่าที่ไม่น่าสนใจสำหรับคนในปัจจุบันอีกต่อไป หนังมีความถวิลหาอดีต (Nostalgia) และบอกเราว่า หลายสิ่งยังซ่อมได้…ยังเจ๋งอยู่…ยังใช้ได้สกอร์เซซี่ตั้งใจสร้าง Hugo ขึ้นมาเพื่อคารวะคนทำหนังยุคเก่า - ยุคที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นช่วงเวลาอันรุ่งเรืองของหนังเงียบ - และบรรดาหนังในสมัยนั้นที่เคยเป็นแรงบันดาลใจให้เขามาตั้งแต่เด็ก เช่น จอร์จ เมลิเยส์ เจ้าของผลงาน A Trip to the Moon ทำให้เขาสร้างหนังมาได้เรื่อยๆ จนทุกวันนี้รวมยี่สิบกว่าเรื่อง นับตั้งแต่เรื่องแรกเมื่อปี 2510 คือ Who’s that knocking at my door จนถึงเรื่องล่าสุดเมื่อปี 2562 อย่าง The Irishmanและความเชื่อนี้จะถูกสืบสาน ส่งต่อไปหาคนทำหนังรุ่นถัดจากเขาต่อไป เช่นที่ บง จุนโฮ (ผู้กำกับหนังเรื่อง Parasite) ได้กล่าวสุนทรพจน์ตอนรับรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปีล่าสุด ถึงสกอร์เซซี่ที่นั่งอยู่ด้านล่างเวทีว่าตอนที่ผมยังเด็กและเรียนรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ มีคำพูดหนึ่งที่ผมสลักลึกเอาไว้ในหัวใจ ซึ่งก็คือ ‘งานที่เป็นส่วนตัวที่สุดคืองานที่สร้างสรรค์ที่สุด’ คำกล่าวนี้มาจากมาร์ติน สกอร์เซซี่ ผู้ยิ่งใหญ่ของเรา ซึ่งสกอร์เซซี่ก็น้อมรับคำชื่นชมด้วยความยินดี ก่อนที่คนทั้งฮอลล์จะลุกขึ้นยืนปรบมือให้สกอร์เซซี่ (ต่อมาหลังจบงานในวันนั้น สกอร์เซซี่ก็ส่งจดหมายไปหาบงจุนโฮ ใจความว่า “ผมทำได้เยี่ยมมากและตอนนี้ก็ควรจะพักผ่อนบ้าง แต่พักแค่หน่อยเดียวก็พอ เพราะเขาและทุกคนกำลังตั้งตารอภาพยนตร์เรื่องใหม่ของผมอยู่”) ด้วยเนื้อหาและแก่นของภาพยนตร์ ผู้ชมที่เป็นผู้ทำงานในวงการภาพยนตร์ นักศึกษาภาพยนตร์ หรือคนที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มาก่อน ย่อมต้องอินกับหนังเรื่องนี้เป็นพิเศษ, ครั้งแรกที่หนังเข้าฉายในโรงเป็นจังหวะที่ยอดเยี่ยม เพราะอยู่ในช่วงปีเดียวกับที่ผมเริ่มเข้าไปเรียนภาพยนตร์ในมหา’ลัย จำได้ว่าขณะดูหนัง มีหลายฉากที่ผมเห็นแล้วขนต้องลุกเป็นระยะๆ (จนหากขนยาวมาก ก็อาจไปบังคนข้างหลังได้!)ผ่านไป 9 ปีนับจากตอนที่ Hugo เข้าฉายในโรง ผมได้ดีวีดีหนังเรื่องนี้มาจากร้าน Cap สาขาพาราไดซ์ ในราคา 2 เรื่อง 99 บาท (ด้วยราคานี้ แน่นอนว่าหมดอย่างรวดเร็วในทันทีที่วางจำหน่าย) และล่าสุดหนังได้มาลงให้ชมกันในระบบสตรีมิงทาง Netflix แล้ว.ขอบคุณภาพจาก Paramount Pictures