เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2020 ที่เพิ่งผ่านมา ในวงการเพลงของญี่ปุ่นได้มีการทำลายสถิติครั้งใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเพลงที่ขึ้นอันดับหนึ่งประจำสัปดาห์บน Oricon ชาร์ทเพลงฮิตของญี่ปุ่น เป็นผลงานของศิลปินที่มีอายุสูงถึง 64 ปี ถือเป็นศิลปินที่มีเพลงขึ้นอันดับหนึ่งที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพลงนั้นมีชื่อว่า "Inochi no Uta" หรือ "บทเพลงแห่งชีวิต" ผลงานเพลงที่มีอายุอานามถึง 21 ปีของศิลปินที่มีชื่อคุ้นหูชาวเราว่า Mariya Takeuchiหลายคนอาจจำได้ว่าคุณ Mariya คือเจ้าของเพลง "Plastic Love" เพลงที่เป็นปรากฏการณ์ในวงการดนตรีนอกกระแสในอินเทอร์เน็ตเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จนทำให้เพลงดังจากยุค 80s เพลงนี้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง และยังปลุกกระแสความนิยมในแนวเพลงที่เรียกว่า ซิตี้ป็อป (City Pop)ให้คึกคักขึ้นมาอีกด้วยขอบคุณภาพจาก: pxfuelเพลง "Plastic Love" อยู่ในอัลบั้มชื่อ "Variety" ของคุณ Mariya ที่มาออกมาในปี 1984 เพลงนี้เป็นผลงานการแต่งของเธอเอง โดยมีคุณ Tatsuro Yamashita หนึ่งในผู้บุกเบิกดนตรีแนวซิตี้ป็อปของญี่ปุ่น ผู้ซึ่งเป็นสามีของเธอ เป็นคนดูแลการผลิตให้ เพลงนี้เคยขึ้นไปถึงอันดับหนึ่งบนชาร์ต Oricon ของญี่ปุ่นได้ในช่วงเวลานั้น และจัดเป็นหนึ่งในเพลงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเธอด้วย ในฐานะที่ตัวผม เป็นคนฟังเพลงที่เคยผ่านชีวิตช่วงวัยรุ่นในยุค 80s มา ต้องขอบอกว่าในเวลานั้น ผมไม่เคยรู้จักเพลง ๆ นี้เลย เพิ่งจะมาเคยได้ยินได้ฟังก็จากบน Youtube เมื่อไม่นานมานี้เองคลิกที่นี่เพื่อฟังเพลงนี้ที่ถูกอัพโหลดโดยผู้ใช้บน Youtubeในเรื่องของดนตรีแล้ว เพลงนี้เป็นการผสมผสานกันอย่างกลมกล่อมของดนตรีในแนวสนุกสนานอย่างฟังก์ (Funk) กับความไพเราะสดใส ที่มากับสุ้มเสียงทันสมัยในแบบดนตรีป็อปยุค 80s ของญี่ปุ่น เป็นเพลงที่มีจังหวะจะโคนจากเสียงกลองและเสียงเบสที่หนักแน่นแต่นุ่มนวล ฟังแล้วชวนให้ขยับร่างกายตามไปได้อย่างไม่รู้ตัว มีการเรียบเรียงดนตรีในแบบที่เรียกได้ว่าครบเครื่อง ท่วงทำนองสวย ๆ จากเสียงของวงเครื่องสาย กับเสียงที่ให้บรรยากาศคึกคัก มีชีวิตชีวาจากวงเครื่องเป่าทองเหลือง ต่างถูกจัดวางร้อยเรียงมาให้ฟังกันได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์สำคัญของเพลงแนวนี้ ซึ่งหาฟังได้ยากจากแนวเพลงกระแสหลักในยุคปัจจุบันส่วนของเนื้อหานั้น เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคนในสังคมเมืองใหญ่ จากมุมมองของหญิงสาวผู้เคยผิดหวังในความรัก ที่เลือกจะหาความสุขสนุกสนานในชีวิตจากความสัมพันธ์ในแบบฉาบฉวย ซึ่งเธอก็เข้าใจและยอมรับว่ามันเป็นแค่เพียงความรักปลอม ๆ ในบางยุคบางสมัย คำว่า "พลาสติก" นิยมใช้เพื่อสื่อความหมายถึง บางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่ของแท้ หรือเป็นเพียงของปลอม ทำให้คิดถึงเพลงในยุคเดียวกันของบ้านเราอย่างเพลง "ดอกไม้พลาสติก" ของพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ก็มีการใช้คำนี้ในคำร้องในลักษณะเดียวกันภาพโดย: ยุคคาสเซ็ทสิ่งที่ทำให้เพลงที่มีอายุอานามกว่า 30 ปีเพลงนี้ ซึ่งเกือบจะถูกลืมและเลือนหายไปในกาลเวลาแล้ว กลับมาเป็นที่นิยมในหมู่คนฟังเพลงยุคปัจจุบันได้อีกครั้งนั้น น่าจะมาจากอิทธิพลที่มีต่อการเผยแพร่ผลงานเพลงต่าง ๆ ของ Youtube และการเติบโตของความนิยมในการฟังดนตรีแนวใหม่ ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในอินเทอร์เน็ตยุคหลังปี 2000 อย่าง Vaporwave หนึ่งในแนวทางย่อย ๆ ของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็น "อินเตอร์เน็ต มีม" มาก่อนผู้ที่สร้างงานดนตรีในแบบที่เรียกว่า Vaporwave นี้ จะใช้ซอฟท์แวร์ในการตัดต่อ ดัดแปลง ปรับปรุง เสียงของเพลงในแนวสมูธแจ๊ส หรือเพลงแนวอาร์แอนด์บี ที่นิยมเปิดกันทั่วไปในลิฟท์ หรือที่เปิดกันตามเลาจน์ และเพลงเหล่านี้มักจะเป็นเพลงที่มาจากยุค 80s และ 90s สิ่งที่พวกเขาทำกับเพลงต้นฉบับ อาจจะเป็นการปรับจังหวะให้เร็วขึ้น หรือเพิ่มเติมความก้องกังวาลลงไป เพื่อให้ได้เพลงที่มีสีสันหรือบรรยากาศที่แปลกและแตกต่างออกไปจากเดิม Night Tempo น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่สร้างงานในแนวนี้ ซึ่งเผยแพร่ผลงานจนมีชื่อเสียงบน Youtube"Plastic Love" เป็นหนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในแวดวง Vaporwave จะเห็นได้จากจำนวนเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันมากมายจากหลายผู้สร้าง ถูกอัพโหลดขึ้นไปเผยแพร่บน Youtube และได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ฟังที่ชื่นชอบงานเพลงในแนวนี้ จนไปปลุกกระแสความนิยมในเพลงต้นฉบับให้เพิ่มขึ้นตามมา กลายเป็นกระแสไวรัลแพร่กระจายไปตามโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ด้วยในที่สุดด้วยกระแสความนิยมในเพลงที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ทาง Warner Music Japan ตัดสินใจปล่อยมิวสิควิดีโอฉบับเป็นทางการของเพลงนี้ออกมาเป็นครั้งแรกผ่านทาง Youtube เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม ปีที่ผ่านมา นับเป็นเวลาถึง 35 ปีเลยทีเดียวหลังจากที่เพลง "Plastic Love" เปิดตัวเป็นครั้งแรก มิวสิควิดีโอที่ปล่อยออกมานี้ เป็นวิดีโอแบบสั้น ๆ ทำให้รู้สึกว่าน่าจะต้องมีเวอร์ชั่นเต็มออกตามมาอย่างแน่นอน แต่จนมาถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีเวอร์ชั่นที่ว่า ออกมาให้ชมแต่อย่างใดคลิกที่นี่เพื่อชมมิวสิควิดีโอฉบับเป็นทางการของเพลงบน Youtubeภาพโดย: ยุคคาสเซ็ทไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของมิวสิควิดีโอฉบับเป็นทางการของเพลงนี้ เปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าที่ทำให้บรรดาเหล่าแฟนเพลง ที่เคยมีเพียงแต่เพลงในรูปแบบออดิโอ ซึ่งอัพโหลดขึ้นไปไว้ฟังกันเองบน Youtube ได้ชุ่มชื่นหัวใจกันอย่างถ้วนหน้าและแน่นอน...หนึ่งในนั้นก็มีผมรวมอยู่ด้วย :-)เครดิตภาพหน้าปก: Potentweeb | Commons.wikimedia.org [ resized ] ภายใต้ CC BY-SA 4.0อ้างอิง:https://en.wikipedia.org/wiki/Mariya_Takeuchihttps://english.kyodonews.net/news/2020/01/dbb7abcfb6fb-mariya-takeuchi-64-becomes-oldest-to-top-japans-singles-chart.htmlhttps://aramajapan.com/news/musicvideo/mariya-takeuchis-plastic-love-gets-music-video-after-35-years/98339/