รีเซต

ดูหนังออนไลน์ 9 หนังดีหนังดัง ⚔️ เกรียงไกรกับประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกจารึก

ดูหนังออนไลน์ 9 หนังดีหนังดัง ⚔️ เกรียงไกรกับประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกจารึก
Jeaneration
1 พฤศจิกายน 2565 ( 18:15 )
29.7K
1

ดูหนังออนไลน์ หนังประวัติศาสตร์ไทย

หากจะเอ่ยถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยที่มีมาอย่างยาวนาน เราต่างเคยศึกษามาจากในห้องเรียนเมื่อครั้งสมัยยังเป็นนักเรียน แต่สำหรับประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนยังสามารถเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกหลายๆ ช่องทาง และหนึ่งในนั้นก็คือหนังประวัติศาสตร์ที่ในหลายปีที่่ผ่านมา แม้ว่าหนังไทยจะไม่ค่อยผลิตหนังแนวนี้ออกมาบ่อยครั้งนัก เนื่องจากต้องใช้ทุนสร้างและกำลังที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติ และรายละเอียดต่างๆ ต้องสมบูรณ์แบบเพื่อความสมจริง

ดังนั้นหากว่าจะมีหนังไทยแนวประวัติศาสตร์ออกมาสักเรื่อง ย่อมได้รับความสนใจจากคนไทยเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องราวที่หยิบเอาไว้จากบันทึกจารึกต่างๆ ที่ถูกนำมาตีความในรูปแบบสื่อ ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพให้กับผู้ชมได้รับชมกับอรรถรสความบันเทิง และนี่ถือว่าเป็นการศึกษานอกห้องเรียนด้วยวิธีง่ายๆ ในวันนี้ Movie.TrueID จึงได้หยิบเอาหนังประวัติศาสตร์ไทยที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์สำคัญๆ ของชาติมาตีแผ่ให้ได้ซึบซับอีกครั้ง...

พันท้ายนรสิงห์

ปีพุทธศักราช 2231 หลัง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สุเชาว์ พงษ์วิไล) เสด็จสวรรคต พระเทพราชา (สมภพ เบญจาธิกุล) ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา และทรงแต่งตั้ง พระเจ้าเสือ (พันโทวันชนะ สวัสดี) ผู้เป็นพระราชโอรสบุญธรรมขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บภาษีอากร แต่เพราะผู้ดำเนินการเก็บภาษีอย่าง พระยาราชสงคราม (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ชอบแอบอ้างชื่อพระเจ้าเสือในการรีดนาทาเร้นราษฎรจนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า พระพิชัย (สรพงษ์ ชาตรี) เจ้าเมืองวิเศษชัยชาญ อดีตราชองครักษ์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงซ่องสุมผู้คนซึ่งนำโดย ไอ้สิน (พงศกร เมตตาริกานนท์) ออกปล้นทรัพย์คืนจากกองทหารหลวง เมื่อความทราบถึง พระเจ้าเสือ พระองค์จึงทรงปลอมเป็น ทิดเดื่อ ชาวบ้านต่างเมืองออกสืบความจริง ณ แขวงวิเศษขัยชาญ พร้อมกับ ทองอ่อน (สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์)

การสืบหาความจริงครั้งนี้ ทำให้ พระเจ้าเสือ ต้องพระทัยสาวสวยเมืองวิเศษชัยชาญอย่าง นวล (พิมดาว พานิชสมัย) ติดที่ว่า ไอ้สิน ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีใจให้ นวล เช่นกัน การเปรียบมวลที่มี นวล เป็นเดิมพันจึงเกิดขึ้นระหว่าง ทิดเดื่อ และ สิน และตามติดการประลองแบบตาต่อตาฟันต่อฟันอีกหลายครา ไม่ว่าจะต่อยมวยคาดเชือก การแข่งพายเรือ หรือการแข่งกันจีบ นวล ก่อนกะลาจะจมน้ำ ยิ่งเชือดเฉือนเอาชัยกันมากเท่าไหร่ กับต้องมีเหตุการณ์ให้ทั้งคู่นับถือน้ำใจและมองเห็นนิสัยใจคอที่แท้จริงของกันมากขึ้น จนถือสัตย์สาบานว่าจะเป็นมิตรแท้ที่ตายแทนกันได้ ด้วยคุณงามความดีที่สินทำให้กับ ทิดเดื่อ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้ไม่รู้เลยว่าเพื่อนคนนี้แท้จริงคือ กษัตริย์ เมื่อความจริงเปิดเผย พระเจ้าเสือ พระราชทานยศให้สินขึ้นเป็น พันท้ายนรสิงห์ มีหน้าที่ถือท้ายเรื่อพระที่นั่ง

ครั้นเมื่อ พระเจ้าเสือ เสด็จประพาสทางชลมารค พ้นท้ายนรสิงห์ ได้ล่วงรู้ถึงแผนการลอบปลงพระชนม์ของ พระยาพิชัย เขาจึงต้องเลือกระหว่างเจ้าเหนือหัว ที่เขามอบความจงรักภักดีให้แบบหมดหัวใจ หรือเลือกฝั่ง พระยาพิชัย ผู้มีพระคุณและเพื่อนพ้องชาววิเศษชัยชาญ และระหว่างการเอาตัวรอดเพื่อความรักหรือการพลีชีพเพื่อถือคำสัตย์ให้หน้าที่ความรับผิดชอบ

สุริโยไท

พระสุริโยไท (รับบทวัยรุ่นโดย พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) ทรงเจ้านายฝ่ายเหนือราชวงศ์พระร่วง ตั้งแต่พระชนมายุ 15 พรรษา ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเยาวราช จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ คือ พระเฑียรราชา (รับบทวัยรุ่นโดย วิทยา โกมลฐิติกานต์) โอรสขององค์อุปราช พระอาทิตยา (สุเชาว์ พงษ์วิไล) กับพระสนม ซึ่งครองเมืองพิษณุโลกอยู่ในเวลานั้น

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พิศาล อัครเศรณี) สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2072 ซึ่งเป็นปีที่ดาวหางฮัลเลย์ปรากฏ พระอาทิตยาจึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนาม หน่อพุทธางกูร ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุยาเมืองหลวง พระเฑียรราชา (รับบทวัยหนุ่มโดย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) และ พระสุริโยไท (รับบทวัยสาวโดย คุณหญิง ม.ล. ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี) มีโอรสธิดาทั้งสิ้น 5 พระองค์ คือ พระราเมศวร (เกียรติศักดิ์ ศักดานุภาพ), พระมหินทร (อภิญญ์ รัชตะหิรัญ), พระบรมดิลก (ชมพูนุท เศวตวงศ์), พระสวัสดิราช (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) และ พระเทพกษัตรี (จีระนันท์ กิจประสาน) ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช

เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ทรพิษ พระไชยราชา (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ควรจะได้สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ แต่หน่อพุทธางกูรทรงขอให้ รัฏฐาธิราชกุมาร (ด.ช. ลูคัส อดัม บุญธนากิจ) พระโอรสวัย 5 พรรษา อันเกิดแต่พระอัครชายา (วรรณษา ทองวิเศษ) วัย 17 พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทน ระหว่างนั้น บ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางผู้ทุจริต ติดสินบนเถลิงอำนาจ โดยเฉพาะ เจ้าพระยายมราช (มีศักดิ์ นาครัตน์) บิดาของพระอัครชายา

พระไชยราชาจึงให้สำเร็จโทษพระรัฏฐาธิราช ตามราชประเพณีโบราณ และได้ขึ้นครองราชย์ แผ่บุญญาธิการ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป ทรงออกรบปราบหัวเมืองอยู่เนืองๆ และได้แต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้นเป็นอุปราช ว่าราชการแทนพระองค์ อยู่ที่กรุงอโยธยา ส่วนพระมเหสีของพระไชยราชา คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ใหม่ เจริญปุระ) ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับ ขุนชินราช (จอนนี่ แอนโฟเน่) ผู้ดูแลหอพระ เชื้อราชวงศ์อู่ทองด้วยกัน และได้สมคบคิดกัน ลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า (ด.ช. ปรมัติ ธรรมมล) พระโอรสของพระไชยราชา ที่ประสูติจาก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (สินจัย เปล่งพานิช) ได้ขึ้นครองราชย์แทน ในขณะที่มีพระชนม์เพียง 10 พรรษา แต่ต่อมาไม่นาน ก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า ขุนวรวงศา

นับตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระไชยราชา พระเฑียรราชาก็ได้ทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไทครองพระองค์เงียบๆ ในวัง โดยมีผู้จงรักภักดี คือ ขุนพิเรนทรเทพ (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ขุนอินทรเทพ (อำพล ลำพูน) หมื่นราชเสน่หานอกราชการ (สรพงษ์ ชาตรี) หลวงศรียศ (ศุภกร กิจสุวรรณ) เฝ้าคุ้มกันภัยให้ ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง แล้วอัญเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า พระมหาจักรพรรดิ

ระหว่างนั้นทางพม่า ประเทศเพื่อนบ้านได้รวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่น แผ่ขยายอำนาจรุกรานไทยภายใต้พระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า ตะเบงชเวตี้ (ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์) และได้เดินทัพมายังอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2091 เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี ที่ทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นเหตุให้ พระสุริโยไทสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

 

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550)

พุทธศักราช 2106 “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของ “สมเด็จพระนเรศวร” หรือ “พระองค์ดำ” (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลกจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตรายและจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหา      จักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา

สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรสคือ “มังเอิน – พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) และพระราชนัดดา “มังสามเกียด” (โชติ บัวสุวรรณ) นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น

พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานครยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า

พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา “สมเด็จพระมหินทร์” (สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน  สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันไปสมคบกับ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” (รอน บรรจงสร้าง) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ  ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์  ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึกพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวาย “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก  สืบต่อมาครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง

เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อและได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้นสมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม  ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึกหมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550)

พ.ศ. 2114 “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระมหินทราธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. 2124 “พระเจ้านันทบุเรง” ขึ้นเสวยราชย์สืบแทน และสถาปนาพระโอรส “มังสามเกียด” ขึ้นเป็น “พระมหาอุปราชา” รัชทายาท ในการนี้เจ้าเมืองประเทศราชทั้งหลายต้องมาร่วมแสดงความสวามิภักดิ์ รวมถึงพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวรด้วย ในขณะที่เจ้าฟ้าเมืองคังไม่ได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงมอบหมายให้พระมหาอุปราชา, พระราชนัดดา “นัดจินหน่อง” พระโอรสเจ้าเมืองตองอู, และสมเด็จพระนเรศวรช่วยกันเข้าตีเมืองคัง แต่พระมหาอุปราชากลับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรเข้าตีเป็นทัพสุดท้าย ด้วยความมั่นใจว่าทัพของพระองค์และนัดจินหน่องจะประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะในศึกเมืองคังนี้ สามารถจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังและพระธิดา “เลอขิ่น” กลับมาได้ รัชทายาทหงสาวดีและราชนิกูลฝ่ายพม่าซึ่งเป็นคู่ปรับกันมาตั้งแต่เยาว์วัยจึงขุ่นเคืองอาฆาตสมเด็จพระนเรศวรเป็นทวีคูณ

ต่อมาเมื่อเกิดศึกอังวะ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้สมเด็จพระนเรศวรนำทัพมาช่วยรบ แต่พระมหาอุปราชากลับใช้โอกาสนี้วางแผนลอบปลงพระชนม์ ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยั้งทัพอยู่ ณ เมืองแครง แต่ข่าวการลอบปลงพระชนม์ได้ล่วงรู้ถึงสมเด็จพระนเรศวรผ่านทางพระมหาเถรคันฉ่อง สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเหตุการลอบปลงพระชนม์ในการประกาศอิสรภาพตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี และกวาดต้อนชาวไทยชาวมอญกลับคืนพระนคร

ฝ่ายหงสาวดีเมื่อทราบว่าการลอบปลงพระชนม์ไม่สำเร็จจึงให้นายทัพสุระกำมาเร่งนำทัพออกติดตามทัพของสมเด็จพระนเรศวร ในที่สุดก็ทัพหงสาวดีก็ตามมาถึงในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรและไพร่พลกำลังข้ามแม่น้ำ และศึกครั้งนี้สมเด็จพระนเศวรทรงใช้พระแสงปืนต้นยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพสุระกำมาตายบนคอช้าง ทัพพม่าจึงล่าถอยกลับไป

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554)

การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร

ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอมาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง

กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก “เจ้ากรุงละแวก” มิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “พระยาจีนจันตุ” มาลอบสืบความที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่ง “พระศรีสุพรรณราชาธิราช” ผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา  การได้พระศรีสุพรรณฯ มาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554)

ผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยาม กองทัพกษัตริย์ของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้งพระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า โดยพระเจ้าหงษาวดีตั้งทัพหลวงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ขนอนปากคู ทัพมังมอดราชบุตร์กับพระยาพระรามตั้งที่ทุ่งมะขามหย่อง ทัพพระยานครตั้งที่ปากน้ำพุทธเลา ทัพนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง ทัพพระเจ้าตองอูตั้งทุ่งชายเคือง ทัพพระมหาอุปราชาตั้งที่ขนอนบางตะนาว

กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของพระเจ้าหงสาที่ยกทัพเข้ามานี้ เมื่อไทยเห็นว่าเป็นศึกใหญ่เหลือกำลังจะต่อสู้เอาไชยชนะได้กลางแปลง จึงเอาพระนครเป็นที่มั่นให้ต้อนคนเข้าพระนคร จัดทัพเป็นกองโจรคอยเที่ยวตัดลำเลียงเสบียงอาหารข้าศึกอยู่ทุกหนทุกแห่ง การป้องกันพระนครคราวนี้ให้ขุดลำแม่น้ำเป็นคูพระนครทางตะวันออกสำเร็จ ก่อกำแพงด้านตะวันออก ขยายลงไปจนริมน้ำเหมือนกับด้านอื่น ๆ ตั้งปืนใหญ่ประจำป้อมแลกำแพงแข็งแรงเหมือนกันหมดทุกด้านมีปืนใหญ่น้อยกระสุน ดินดำและเครื่องศัตราวุธเสบียงอาหารบริบูรณ์ เสบียงอาหารที่จะขนเข้าพระนครไม่ได้ก็ให้ทำลายเสีย มิให้เป็นกำลังแก่ข้าศึก

ในช่วงต้นเดือนยี่ข้าวในนายังเกี่ยวไม่เสร็จ สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว พอทัพพม่าของพระมหาอุปราชยกทัพมาถึงก็ให้ทัพม้าเข้าตีจนทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายหนีเข้าเมือง สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธอย่างมาก เพราะไทยไม่เคยแตกพ่ายแพ้ต่อข้าศึกอาจทำให้ทหารขวัญเสีย พระองค์จึงมีรับสั่งประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร แต่โชคดีที่มณีจันทร์ได้ขอชีวิตเอาไว้ การศึกครั้งนี้พม่าหมายมั่นจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทหารไทยจึงรักษาที่มั่นเอาไว้ได้เสมอ เสด็จออกปล้นค่ายพม่าซึ่งเป็นทัพหน้าของหงสาวดี ข้าศึกแตกพ่ายถอยหนี พระองค์จึงไล่ตีมาจนถึงค่ายของมังจาปะโร เสด็จลงจากม้าคาบพระแสงดาบแล้วนำทหารปีนบันไดขึ้นกำแพงข้าศึก แต่ทรงถูกมังจาปะโรใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่าง สมเด็จพระเอกาทศรถจึงสั่งให้เลิกกองทัพกลับพระนครทันที

พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบการกระทำอันห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกจะต้องจับพระองค์ ให้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้ทหารมากมายเพียงใด จึงมีรับสั่งให้ลักไวทำมูนำทหารไปจัดการพระนเรศวรทันที สมเด็จพระนเรศวรทรงออกไปตีค่ายหลวงพม่าอีก พม่าจึงใช้ทหารล่อให้พระองค์ไล่ตี เข้ามาจนถึงบริเวณที่ลักไวทำมูซุ่มรออยู่ ลักไวทำมูจะเข้ามาจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมูตายทันที สุดท้ายกองทัพพม่าจึงถอยทัพกลับไป ขณะเดียวกันพระราชมนูยอดทหารเอกกรุงศรีก็ถูกจับตัวไปเป็นเชลย

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี (2557)

ในปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์ไพร่พลกว่า 2 แสนข้ามแดนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหมายชิงคืนเป็นประเทศราช ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงใช้พระนครเป็นยุทธภูมิรับศึก และวางยุทธศาสตร์ตั้งรับในเชิงรุก คือมิทรงปล่อยให้ทัพหงสาที่ล้อมกรุงเป็นฝ่ายรุกรบแต่ฝ่ายเดียว แต่ทรงแต่งกองโจรบุกปล้นค่ายศัตรูให้ต้องตกเป็นฝ่ายรับจนมิอาจรุกเข้าเหยียบถึงคูพระนคร เมื่อล้อมกรุงนานเข้า ทัพหงสาวดีก็ขาดเสบียง สมเด็จพระนเรศก็ทรงนำเรือปืนขึ้นไปยิงถล่มค่ายหลวงพระเจ้านันทบุเรงจนพม่าแตกระส่ำระสาย จอมทัพพม่าบาดเจ็บสาหัสถึงกับเสียพระสิริโฉมและทุพพลภาพ พม่าต้องถอนทัพกลับหงสาวดี และขณะเมื่อค่ายหลวงพม่าแตกนั้น “แม่นางเลอขิ่น” (อินทิรา เจริญปุระ) ก็ได้ช่องช่วย “พระราชมนู” (นพชัย ชัยนาม) จากพันธนาการคืนเข้าอยุธยาได้

พระเจ้านันทบุเรงทรงแค้นเคืองที่ต้องปราชัยต่อสมเด็จพระนเรศอย่างย่อยยับ จึงระบายความแค้นนั้นไปที่องค์ “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) ซึ่งตกเป็นองค์ประกันอยู่หงสาด้วยอารมณ์รักและแค้นระคนกัน พระองค์ได้ล่วงประเวณีพระพี่นางพระนเรศและยังทำร้ายพระนางถึงตกพระโลหิต เมื่อ “สมเด็จพระมหาธรรม-ราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาทราบความก็ให้โทมนัสด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระราชธิดาและแผ่นดินของอยุธยา ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างให้หงสาวดีกระทำการย่ำยีก็ด้วยเป็นเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้างศัตรู อยู่มาสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศจึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา

ข่าวการผลัดแผ่นดินของอยุธยารู้ไปถึงพระเจ้านันทบุเรง พระองค์สำคัญว่าราชอาณาจักรสยามจะไม่เป็นปกติสุข เป็นช่องชวนชิงเชิงจึงโปรดให้ “มังสามเกียด” (นภัสกร มิตรเอม) อุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงดำริจะนำกำลังออกไปรับศึกถึงหนองสาหร่ายแดนเมืองสุพรรณบุรี ด้วยเห็นว่าทัพพระมหาอุปราชานั้นถึงแม้จะมากด้วยกำลังรี้พลแต่ทหารหาญที่เกณฑ์มาหากมิเยาว์ด้วยวัยวุฒิก็ชราภาพ กำลังพลมิได้เข้มแข็งดั่งทัพพระเจ้านันทบุเรง ข้างพระมหาอุปราชานั้นยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ผ่านลงมาถึงเมืองกาญจนบุรีก็ได้แต่เมืองเปล่า ให้ไพร่พลออกเที่ยวลาดหาจับผู้คนก็ไม่ได้ จึงยกพลล่วงลงมาปักค่ายที่ตะพังตรุ

ข้างสมเด็จพระนเรศทรงโปรดให้พระราชมนูแต่งพลเป็นทัพหน้าขึ้นไปดูกำลังข้าศึกถึงหนองสาหร่าย ทัพหน้าพระราชมนูปะทะเข้ากับทัพพม่าถึงขั้นตะลุมบอน แต่กำลังข้างพระราชมนูน้อยกว่าจึงแตกพ่ายถอยลงมาเป็นอลหม่าน สมเด็จพระนเรศทราบความจึงออกอุบายให้ทัพข้าศึกไล่เตลิดลงมาจนเสียกระบวนแล้วจึงทรงนำกำลังออกยอทัพข้าศึก ครั้งนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศคือ “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถคือ “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” ต่างตกน้ำมันวิ่งร่าเบกพลฝ่าเข้าไปในทัพพม่ารามัญ ไพร่พลข้างอยุธยาตามไม่ทันช้างทรง จะมีก็เพียงพลจุกช่องล้อมข้างที่โดยเสด็จไปทัน

ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศและสมเด็จพระเอกาทศรถฝ่าเข้ามากลางวงล้อมข้าศึกและมาหยุดอยู่หน้าช้างพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรจึงประกาศท้าอุปราชหงสาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีให้ก่อเกิดเป็นเกียรติแก่แผ่นดิน ด้วยขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาก็ไสพระคชาธารออกทำคชยุทธด้วยสมเด็จพระนเรศ ขณะที่พระพี่เลี้ยง “มังจาปะโร” (ชลัฏ ณ สงขลา) ได้ออกทำยุทธหัตถีกับ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (พันเอก วินธัย สุวารี) สัประยุทธ์กันเป็นสองคู่ ท้ายที่สุดสมเด็จพระมหาอุปราชาก็ปราชัยสิ้นพระชนม์ด้วยคมง้าวของสมเด็จพระนเรศ ข้างมังจาปะโรก็พ่ายแพ้แก่สมเด็จพระเอกาทศรถตายกับคอช้าง ทัพหงสาก็มีอันปราชัยต้องถอยทัพนำพระศพพระมหาอุปราชาคืนสู่นครหงสาวดี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา (2558)

พ.ศ. 2135  หลังพ่าย “ศึกยุทธหัตถี” ฝ่ายหงสาวดี “พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ทรงโทมนัสที่ต้องสูญเสียพระราชโอรส จึงมีรับสั่งให้คลอกไฟเหล่าแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จ “พระมหาอุปราช” (นภัสกร มิตรเอม) ให้ตายตกตามกัน  ทั้งยังระบายพระโทสะไปที่ “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) องค์ประกันและพระราชโอรสธิดาถึงสิ้นพระชนม์ชีพ

ข้าง “สมเด็จพระนเรศวร” (พันโท วันชนะ สวัสดี) นั้น มีพระราชประสงค์จะนำทัพปราบหงสาวดีให้ราบคาบมิให้ตกค้างเป็นเสี้ยนหนาม ครั้นมาได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระพี่นางและพระราชนัดดาก็ยิ่งโทมนัส จึงตัดสินพระทัยยกทัพใหญ่ หมายเหยียบหงสาวดีให้ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างที่เดินทางมาถึงเมืองเมาะตะมะได้จับตัว “พระยาลอ” ผู้สำเร็จราชการแทน ที่ “พระเจ้านันทบุเรง” ส่งให้มาปกครองเมือง ถูก “เม้ยมะนิก” (เต็มฟ้า กฤษณายุธ) ราชธิดาของ “ศิริสุธรรมราชา” เจ้าเมืองเมาะตะมะลอบสังหารเพื่อแก้แค้นแทนบิดา พร้อมรวบรวมชาวรามัญเพื่ออาสาขอเข้าร่วมรบพม่ากับชาวอโยยา

แต่ครั้นเมื่อทัพของพระองค์เสด็จถึงหงสาวดีก็พบแต่เพียงเศษซากของมหานครอันเคยยิ่งใหญ่ ด้วย “นัดจินหน่อง” (นาวาอากาศโทจงเจต วัชรานันท์) ราชบุตรพระเจ้าตองอูได้วางอุบายเชิญพระเจ้านันทบุเรงพร้อมกวาดต้อนผู้คนแลทรัพย์ศฤงคารของหงสาไปไว้ยังตองอูจนหมดสิ้น

ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรจึงทรงยกทัพตามขึ้นไปถึงเมืองตองอู มีพระราชบัญชาให้ “เมงเยสีหตู” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) เจ้าเมืองส่งตัวพระเจ้านันทบุเรงออกมาถวาย ด้านนัดจินหน่องเห็นว่าพระเจ้านันทบุเรงที่เชิญมานั้นเป็นภัยชักศึกเข้าบ้านจึงหมายยืมมือสมเด็จพระนเรศวรสังหารพระเจ้านันทบุเรงเสีย แต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้านันทบุเรงที่ทรงทุพพลภาพเป็นที่น่าสมเพชก็ให้สลดพระราชหฤทัย ระหว่างนั้น “เมงราชาญี” (รณ ฤทธิชัย) เจ้าเมืองยะไข่ได้แต่งทัพเป็นกองโจรตีลัดตัดเสบียงอยุธยามิให้ส่งข้าวน้ำขึ้นไปเลี้ยงทัพที่ล้อมพระนครตองอูอยู่ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (พันเอก วินธัย สุวารี) จึงแบ่งทัพลงมาหมายจะเผด็จศึกยะไข่มิให้เป็นหอกข้างเเคร่ แต่ทรงพลาดท่าถูกเมงราชาญีจับตัวได้ พระราชมนูจำต้องขันอาสานำกำลังลงมาแก้เอาสมเด็จพระเอกาทศรถกลับคืน และยกทัพกลับยังอยุธยา

ข้างฝ่ายพุกามประเทศนั้นได้บังเกิดกษัตริย์ชาตินักรบขึ้นมาแทนพระเจ้าชนะสิบทิศมีพระนามว่า “พระเจ้ายองยาน” ตามชื่อพระนครที่ปกครอง  พระเจ้ายองยานทรงขยายแสนยานุภาพครอบคลุมดินแดนพม่าตอนบน เข้ายึดครองหัวเมืองในรัฐไทยใหญ่ทั้งหลาย  และทรงกรีฑาทัพเข้าตีเมืองยองห้วยและเมืองแสนหวีซึ่งขณะนั้นล้วนเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงล่วงรู้ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะตัดไฟเสียแต่ต้นลมไม่ให้อธิราชศัตรูพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอยุธยาได้อีก สมเด็จพระนเรศวรจึงได้เสด็จยกกองทัพไปตีอังวะ ครั้งนั้น “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์  ชาตรี) และ “พระอัครมเหสีมณีจันทร์” (ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ก็ทูลขอให้งดซึ่งราชการสงคราม สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงให้สัญญาว่าจะเสด็จไปทำศึกครานี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็ยั้งทัพจัดกระบวนอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้ทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกขึ้นไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหางตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว  อยู่มาสมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรจึงโปรดให้ข้าหลวงรีบเชิญเสด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า ครั้นมาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยาราชธานี

ขุนศึก

ก่อนวันประกาศอิสรภาพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้าบุเรงนอง วางอุบายหมายลอบปลงพระชนม์ ซึ่งยังความโทมนัสให้แก่สมเด็จพระนเรศวรอย่างมาก เมื่อจาตุรงคบาทนักรบประกบฝีเท้าช้างคนหนึ่งต้องพลีชีพเพื่อพระองค์ในกาลนี้

เสมา ลูกชายช่างตีดาบ ซึ่งเดินทางกลับจากเรียนวิชาดาบกับ อาจารย์ขุน เข้าประลองแข่งขันในการหาจาตุรงคบาทคนใหม่ ด้วยความที่เขามีฝีมือดาบอันโดดเด่น จึงได้รับตำแหน่งครูฝึกทหารในเรือน ขุนราม แต่นั่นถือเป็นการหยามศักดิ์ศรีของ หมู่ขัน นายทหารเอกของกรุงศรี ที่ติดภาระต้องไปประจำการที่ด่านหน้า เขาไม่พอใจในตัวลูกช่างตีดาบคนนี้มาก และรอวันที่จะได้ตัดสินกันอย่างแท้จริง

ความแค้นยิ่งทวีคูณมากขึ้น เมื่อ เรไร คู่หมั้นของหมู่ขัน เกิดชอบพอกับเสมา หมู่ขันโกรธแค้นมาก จึงจับตัวจำเรียง น้องสาวของเสมาไปเป็นทาสขัดดอก คืนนั้น เสมา พร้อมเพื่อนอีกสองคน ตัดสินใจบุกเรือนหมู่ขัน เพื่อนำตัวจำเรียงกลับมา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกลอุบายของหมู่ขัน จนต้องหนีเข้าไปอยู่ในกองโจรของ ขุนรณฤทธิ์พิชัย หมู่ขันสบโอกาส จึงประกาศว่า เสมาเป็นกบฎ

ขณะที่อยู่กับพวกกองโจร เสมา และกลุ่มกองโจรช่วยกันสกัดทัพหน้าของพม่าที่บุกเข้ามา ครั้งหนึ่ง เสมา ได้มีโอกาสได้เข้าช่วย พระเอกาทศรถ ในการศึก และได้ลดโทษไปเป็น ตะพุ่น เลี้ยงช้าง ที่นั่น เสมา ได้เรียนรู้ถึงหัวใจของนักรบ เมื่อเขาทราบข่าวการยกทัพครั้งใหญ่ของพม่า เสมาทนเห็นทหารไทยถูกเข่นฆ่าอีกไม่ได้ จึงเข้าไปช่วยในสนามรบ กระทั่งสามารถฆ่าแม่ทัพพม่าลงได้ จึงได้รับความดีความชอบกลับมา และวันแห่งการตัดสินฝีมืออย่างแท้จริงระหว่างเสมา กับหมู่ขันก็มาถึง เมื่อทั้งสองได้ประลองฝีมือต่อหน้าพระที่นั่ง เพื่อหาผู้ที่เหมาะกับตำแหน่งจาตุรงคบาท นักรบประกบฝีเท้าช้างของสมเด็จพระนเรศวร ในการศึกยุทธหัตถีครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างกษัตริย์สองแผ่นดิน

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------

กดเลย community แห่งความบันเทิง 📸เมาท์ข่าวดารา กับเจ๊รุงรังขังรวม
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ 🍿ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล 😍ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย https://bit.ly/34057In