บทความ รีวิวหนังเกาหลี Emergency Declaration ไฟลต์คลั่ง ฝ่านรกชีวะ : เตรียมคาดเข็มขัดสู่เที่ยวบินนรก เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน อาจจะถูกหรือผิดหรืออาจไม่ตรงใจผู้อ่านท่านใด ผู้เขียนต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะ บางส่วนของการรีวิวนี้อาจจะต้องเปิดเผยเนื้อหาของหนังบางส่วนเพื่อประกอบการรีวิวค่ะชมตัวอย่างหนังก่อนเข้าชมภาพยนตร์Emergency Declaration หรือชื่อภาษาไทยคือ ไฟลต์คลั่ง ฝ่านรกชีวะ เป็นหนังเกาหลีแนวแอคชั่น (Action) ผสมกับแนวชีวิต (Drama) ผสมกับแนวระทึกขวัญ (Thriller) ผู้เขียนได้ชมหนังตัวอย่าง ก่อนเข้าชม การตัดต่อภาพและ sound ต่างๆดูลุ้นระลึก เปิดด้วยเสียงพูดเย็นชา “ฉันวางแผนจะโจมตี”, “ทุกคนบนเครื่องบินลำนี้... ฉันอยากให้ตายให้หมด” พร้อมกับเผยรอยยิ้มที่แฝงด้วยความเลือดเย็นของผู้ก่อการร้าย ยังมี sound เข็มนาฬิกาที่กำลังเดิน รู้สึกได้ถึงการที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาของทีมช่วยเหลือเหยื่อ เสียงประกาศของเจ้าหน้าที่ภาคพื้นว่า “คุณไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจอดที่ใดทั้งนั้น” ซ้ำไปมาถึงสามรอบ ร่วมกับฉากความโกลาหลของเหยื่อบนเครื่องบิน เป็นการทิ้งปริศนาให้ผู้ชมอยากติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ต้องบอกว่า sound ในหนังตัวอย่างระทึกมากๆ ยิ่งมีภาพของกองทัพรถตำรวจเกาหลีที่กำลังวิ่งเข้าสู่ที่เกิดเหตุและมีการตัดภาพไปที่ท่านรัฐมนตรีหญิง ทำให้รับรู้ได้ว่า ‘การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน’ (ตามคำแปลชื่อหนัง) ในครั้งนี้ต้องเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศแน่นอนเซอร์ไพรส์เล็กๆตอนต้นของหนังเมื่อเข้ามาดูหนัง สิ่งแรกที่สะดุดตาตอนต้นของหนังคือสัญลักษณ์ FESTIVAL DE CANNES 2021 “OUT OF COMPETITION” OFFICIAL SELECTION ซึ่งหมายถึง หนังเรื่องนี้ได้รับเชิญให้เข้าร่วม 'เทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ฉายโชว์นอกสายประกวด ปี 2021' นั่นเอง เป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่เคยทราบมาก่อน และไม่มีการโปรโมทสิ่งนี้ในตัวอย่างหนัง ไม่อย่างนั้นคงทำให้อยากดูมากกว่านี้หนังเปิดเรื่องด้วยเสียงพากย์ไทยที่คุ้นหูว่า ‘ให้เสียงภาษาไทยโดย พันธมิตร’ ถึงจะไม่ได้เตรียมใจมาดูแบบพากย์ไทย แต่ก็ไม่เป็นไรเลยเพราะว่าผู้เขียนชอบทีมพากย์ทีมนี้อยู่แล้ว และโดยส่วนตัวแล้วก็ชอบทั้งหนังที่เป็นเสียง soundtrack เพราะว่าได้อารมณ์ของความเป็น original ได้ดีมาก ถึงจะต้องลำบากอ่าน subtitle นิดนึง ส่วนหนังที่เป็นพากย์ไทย ถึงจะเสียอรรถรสของเสียงในฟิล์มที่เป็นภาษาต้นฉบับ แต่ก็ถือว่าเป็นการดูหนังที่เอ็นเตอร์เทนตัวเองดีมากเพราะนั่งฟังสบายๆ ไม่ต้องอ่าน subtitle ให้ปวดตาค่ะบทและพล็อตเรื่องหลังจากที่ดูหนังตัวอย่าง แล้วต่อด้วยการเข้ามาดูหนังจริงๆ ในครึ่งชั่วโมงถัดมา ผู้เขียนพบว่าเนื้อเรื่องไม่ค่อยต่างจากที่เห็นในตัวอย่างหนังมากนัก เพราะดูเหมือนว่าตัวอย่างหนังจะเล่าเรื่องโดยย่อไปเกือบทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ไม่ได้บอกว่าวิธีที่ผู้ก่อการร้ายจะใช้โจมตีเครื่องบินคืออะไรเท่านั้น ผู้เขียนเดาว่าอาจเป็นเพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ไม่ได้ต้องการความซับซ้อนของบท แต่ต้องการเน้นอารมณ์ระทึกขวัญมากกว่า หนังจะเริ่มต้นจากการตัดสลับเล่าเรื่องของตัวละครหลักๆ ให้ผู้ชมรู้ที่มาที่ไป ว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน ครอบครัวเป็นอย่างไร รวมถึงบ้านของผู้ก่อการร้ายเองด้วย ผู้ก่อการร้ายถูกเปิดตัวออกมาเร็วกว่าที่คิด ผู้เขียนเดาว่าหนังคงอยากแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งในสังคม หน้าตาดีแต่งตัวดีบุคลิกภาพดี ปะปนอยู่กับคนทั่วไปในสังคม ในจุดนี้อาจแตกต่างจากหนังแนวระทึกขวัญของตะวันตกที่มักจะเก็บตัวร้ายหรือฆาตกรโรคจิตไว้เฉลยเป็นฉากพีคตอนท้ายเรื่องเอาจริงๆ บทอาจจะไม่หวือหวาสักเท่าไหร่ พล็อตเรื่องอาจจะคล้ายๆหนังจี้เครื่องบินที่เราเคยดูกันมาแล้วหลายเรื่อง ต่างกันแค่อาวุธที่คนร้ายใช้เท่านั้นที่จะต่างจากหนังเรื่องอื่น โดยส่วนตัวผู้เขียนยังรู้สึกว่าความร้ายแรงของอาวุธที่เป็นต้นเหตุหลักของเรื่องยังพีคขึ้นไปมากกว่านี้ได้อีก สำหรับการเล่าเรื่องก็น่าจะกระชับได้มากกว่านี้อีกมากเช่นกัน เดาว่าผู้กำกับคงไม่ได้ตั้งใจจะยืดเรื่อง แต่ต้องการจะบิ้วท์อารมณ์ (Emotional Built) ของผู้ชมกับฉากหลายๆฉาก คือเน้นความซึ้งใจของความรักจากครอบครัวเป็นแนวดราม่าสไตล์หนังเกาหลีที่ต้องมีร้องไห้น้ำตาแตกกันบ้าง จึงไม่สามารถตัดฉับแล้วจบๆไปเหมือนกับหนังแอ็คชั่นหรือหนังระทึกขวัญเรื่องอื่นๆได้ เอาเป็นว่า ไฟลต์คลั่ง ฝ่านรกชีวะ เป็นหนัง Action ผสม Drama ผสม Thriller อย่างละนิดละหน่อยได้อย่างลงตัวพอใช้ค่ะงานภาพและเสียงโปรดักชั่น: ในฉากที่เครื่องบินกำลังดิ่งพสุธาเพราะนักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องได้อีกต่อไป ทำให้ผู้โดยสารเกินร้อยชีวิตในห้องโดยสารลอยคว้างไปมาเหมือนอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก ซึ่งเป็นงานโปรดักชั่นแบบไม่ใช้ซีจี (CG หรือ Computer Graphics) ที่ผู้เขียนคิดว่าทำได้ดีทีเดียว งานภาพของหนังเรื่องนี้เน้นไปที่ความ เรียล หรือสมจริง ผู้เขียนจึงไม่ได้รู้สึกถึงความสวยงามในแง่ขององค์ประกอบศิลป์และเราจะไม่ได้เห็นวัฒนธรรมเกาหลีจากการแต่งกายหรือศิลปะการแสดงใดๆในหนังเรื่องนี้แน่ ทั้งนี้ก็เพราะหนังต้องการเน้นอารมณ์ระทึกขวัญและดราม่า จึงไม่ได้เน้นให้ผู้ชมดูฉาก พร็อพ (Props) หรือชุดของตัวแสดงแต่อย่างใด แต่จะเน้นไปที่การแสดงออกทางสีหน้าของตัวละคร (Face Expressions) มากกว่าสีสันของฉากและพร็อบ ก็ไม่โดดเด่นเช่นกัน ฉากบนเครื่องบินส่วนใหญ่ มีสีสันโดยรวมคือออกโทนสีน้ำตาล และบรรยากาศมืดๆให้ความรู้สึกอึมครึมและสิ้นหวัง ส่วนฉากบนภาคพื้นดิน ถ้าไม่ใช่อยู่ในห้องแคบๆ ก็จะเป็นฉากกลางแจ้งที่ฟ้ามืดครึ้มและฝนตกหนัก แถมยังได้ยินเสียงฝนตกและเสียงไซเรนของรถตำรวจแทบจะตลอดเวลาในตอนท้ายของเรื่อง ซึ่งช่วยเพิ่มบรรยากาศของความอึดอัดตามบทที่ตึงเครียดเกือบตลอดทั้งเรื่องได้ดีค่ะงานเสียง: ถ้าเปรียบเทียบในหนังตัวอย่างกับในหนังจริง โดยรวมแล้ว Sound Effect ในหนังเต็มเรื่องไม่ระทึกและไม่เร้าอารมณ์ผู้ชมเหมือนในหนังตัวอย่าง ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า งานเสียงตลอดทั้งเรื่องนั้นไม่โดดเด่นทั้ง Music (หรือดนตรีประกอบที่ใช้สร้างอารมณ์ของหนังให้สมบูรณ์ขึ้น) และไม่รู้สึกว่ามี Sound Design (ซึ่งก็คือเสียงบางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตจริงแต่ไปเสริมหรือแทนความรู้สึก) ที่สำคัญคือ มีหลายฉากที่เป็นฉากพีค (Peak shots) ซึ่งภาพและโปรดักชั่นกำลังบิ้วท์อารมณ์ของผู้ชมได้ดี เสียดายที่ไม่มี sound หรือ music ส่งในตอนนั้น อย่างเช่นฉากที่เหยื่อบนเครื่องบินได้รับทราบว่าจะรอดตายเพราะจะได้รับยาต้านไวรัสแล้วนั้น ทั้ง acting ของตัวแสดงทุกคนแสดงถึงความดีใจสุดๆ แต่มี sound ประกอบเพียงคลอๆ ซึ่งในฉากนี้ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าใช้ sound หรือ music ที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความหวังหรือสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ ร่วมกับการเพิ่มเสียงให้ดังกระหึ่ม คงจะช่วยเน้นอารมณ์ของผู้ชมให้พีคได้สุดมากกว่านี้อีกค่ะฉากที่ผู้เขียนประทับใจและรู้สึกว่าภาพและเสียงทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี คือตอนที่เครื่องบินบินถึงโฮโนลูลู ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจอด ทั้งที่ทุกคนบนเครื่องกำลังจะตาย ทำให้เครื่องบินต้องวกกลับ ในฉากนี้ถ่ายภาพมุมกว้างของเครื่องบินบนท้องฟ้าตอนเลี้ยวกลับ ฉากหลังเป็นสีส้มของพระอาทิตย์ที่กำลังจะตกดิน ซึ่งผู้เขียนตีความว่า หนังสื่อถึงความสิ้นหวังของเหยื่อบนเครื่อง เสียงเพลงเร้าอารมณ์เศร้าประกอบกับภาพและการแสดงออกทางสีหน้า (Face Expressions) ของตัวละครสื่ออารมณ์ได้เป็นอย่างดีตัวละครและการแสดงตอนที่ดูหนังตัวอย่าง จุดที่ทำให้ผู้เขียนอยากเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่ 'ทุนสร้างที่ทุ่มสูงกว่าเรื่อง Train to Busan มากถึง 3 เท่า' ตามที่เขียนเปิดไว้ในหนังตัวอย่าง แต่คงเป็นเพราะการผนึกนักแสดงดรีมทีมแห่งเกาหลี อย่างน้อยๆ ก็ 5 คนที่ขึ้นชื่ออยู่ในตัวอย่างหนัง คือ ซง คัง โฮ, อี บยอง ฮอน, จอน โด ยอน, คิม นัม กิล, และ อิม ชี วาน ผู้เขียนไม่ใช่ติ่งเกาหลี แต่ก็เคยได้ชมหนังและซีรีส์เกาหลีอยู่บ้าง ทำให้คุ้นหน้า ซง คัง โฮ แค่คนเดียว (ในเรื่องนี้ รับบทเป็นจ่าอินโฮ ตำรวจที่มีบุคลิกบ้าระห่ำ) ทั้งนี้ผู้เขียนชื่นชมผลงานการแสดงที่สมบทบาทของเขาจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite (หนังปี 2019 หรือชื่อไทยคือ ปรสิต) นอกจากนี้ ผู้เขียนยังประทับใจการแสดงของ อิม ชี วาน (ในเรื่องนี้รับบทเป็น จินซอก ผู้ก่อการร้าย ต้นเหตุของเรื่อง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกทางสีหน้าและรอยยิ้มที่ดูอำมหิตผิดจากคนทั่วไปCharacter Motivations แรงจูงใจของผู้ก่อการร้ายในหนังเรื่องนี้ใครที่ดูเรื่องนี้ก็คงจะตั้งคำถามอยู่ในใจเหมือนๆกันว่า ผู้ก่อการร้ายมีแรงจูงใจอะไร ซึ่งหนังก็พยายามที่จะตอบคำถามนี้ในหลายฉาก ทั้งตอนที่นักบินผู้ช่วยถามคนร้ายตรงๆว่ามีจุดประสงค์อะไรจึงก่อเหตุ และโดยผ่านการเล่าเรื่องภูมิหลังของตัวละครจากทีมตำรวจที่ไปสืบประวัติของคนร้ายในตอนหลัง และยังมีการถามความคิดเห็นของรัฐมนตรีคมนาคมหญิง (รับบทโดย จอน โด ยอน) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ผู้เขียนคิดว่าคำตอบของรัฐมนตรีหญิงในตอนก่อนที่จะจบเรื่องนั้นเป็นการสรุปได้ดี “ยังมีเหตุผลอีกมากที่อยู่เหนือตรรกะ” ผู้เขียนตีความว่า เราไม่มีทางที่จะเข้าใจเหตุผลว่า ผู้ก่อการร้ายที่เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆนั้นทำไปเพื่ออะไร บางครั้งอาจจะไม่มีเหตุผลใดๆเลยก็เป็นไปได้การพากย์เสียงผู้เขียนเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ด้วยระบบเสียงพากย์ภาษาไทยโดยทีมงานให้เสียงภาษาไทย “พันธมิตร” ที่ใครหลายคนคงคุ้นเสียงพากย์ไทยของทีมนี้ที่มักจะพากย์ไทยให้กับหนังจีนส่วนใหญ่ที่เข้ามาฉายในไทย โดยเอกลักษณ์ก็คือมักจะมีหยอดมุกตลกเข้าไปอย่างที่ผู้เขียนไม่คิดว่าต้นฉบับจะมีบทพูดแบบนั้น อยากให้ลองมองในสองมุมนะคะ สำหรับผู้ชมที่ชอบดูหนังแบบให้ได้อารมณ์ของความระทึกขวัญ (Thriller) ซึ่งเป็นแนวของหนังเรื่องนี้ก็คงจะขัดใจเล็กๆที่มีมุขตลกแทรกในบทพูดของตัวละครไม่เว้นแม้แต่ในยามที่สถานการณ์กำลังตึงเครียด แต่อีกมุมหนึ่งสำหรับผู้ชมที่ต้องการความบันเทิงและไม่ชอบบรรยากาศที่ตึงเครียดจนเกินไป การพากย์แบบนี้ช่วยให้คนดูผ่อนคลายและช่วยสร้างสีสันให้กับหนังได้เหมือนกันค่ะตัวอย่างมุขฮา“ใครเอาแตงโมมาให้... ก็จินตราไง... อ้าวนึกว่า จ๊ะคันหู ซะอีก”“ชิบหาไม่เจอ..., แปลว่าอะไรครับ?, อ้าว...ก็ชิบหายไง”“ขนาดโควิดรอบ 3 ระบาดซ้ำ แม่แกยังรอดเลย”“ถ้าแกไล่ตามมันไม่ทัน ชั้นจะด่าแกยันลูกบวชเลย”ประเด็นน่าคิด1. ชีวิตของผู้โดยสารบนเครื่องบินเกินร้อยชีวิตขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินและการตัดสินใจของคนขับเครื่องบินเพียง 2 - 3 คนเท่านั้นคือนักบินและนักบินผู้ช่วย2. ทำไมบนเครื่องบินจึงไม่มีทั้งตำรวจและแพทย์: สิ่งที่ถูกถ่ายทอดในหนังเรื่องนี้ มีประเด็นที่น่าคิดหลายอย่าง ถึงแม้ว่าจะเป็นบทพูดตลกๆว่า ถ้าเกิดเหตุบนเครื่องบินก็แจ้งรปภ.บนเครื่องสิ เป็นประเด็นที่น่าคิดและน่ากังวลอยู่เหมือนกัน ว่าหากเกิดเหตุร้ายขึ้นบนเครื่องบิน แอร์โฮสเตส/สจ๊วต หรือกัปตัน (คนขับเครื่องบิน) จะมีความสามารถในการระงับเหตุร้ายแรงและช่วยเหลือผู้โดยสารได้จริงหรือ เพราะบนเครื่องบินไม่มีทั้งตำรวจและแพทย์3. ทำไมต้องเป็นสองประเทศนี้: ตามเนื้อหาย่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มักจะมีประโยคที่ว่า 'เที่ยวบินลำนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจอดที่ไหนบนโลกใบนี้' ผู้เขียนเข้าใจดีว่าในหนังก็ย่อมที่จะต้องยกตัวอย่างบางประเทศที่มีอยู่จริง เพื่อใช้เป็นตัวอย่างของประเทศที่ไม่ยอมให้เครื่องลงจอด แต่ในฐานะของผู้ชมคนหนึ่ง ก็แค่รู้สึกว่าทำไมหนังจึงเจาะจงให้เป็นอเมริกาและญี่ปุ่น เพราะถึงแม้จะเป็นแค่เรื่องสมมติในหนัง แต่ก็อาจจะทำให้ทั้งสองประเทศนี้ดูไม่ดีที่ไม่ยอมช่วยเหลือผู้โดยสารร้อยกว่าชีวิตที่กำลังจะตายอยู่บนเครื่องบิน สำหรับเคสของประเทศญี่ปุ่น โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว การที่หนังเล่าเรื่องถึงขนาดที่ว่าญี่ปุ่นส่งเครื่องบินขับไล่ที่พร้อมยิงได้ทุกเมื่อออกมาป้องกันน่านฟ้าญี่ปุ่น แถมมีฉากที่เครื่องบิน Skykorea 501 ประจัญหน้ากับเครื่องบินขับไล่แบบเต็มจอ ออกจะเป็นการเล่าเรื่องที่ทำลายภาพพจน์ของญี่ปุ่นในสายตาผู้ชมทั่วโลกอยู่ไม่น้อย ซึ่งในที่สุดหนังอาจจะแก้เกมส์เรื่องนี้ตรงที่ว่า ไม่ใช่แค่ประเทศอื่นๆนะที่ไม่อนุญาตให้เครื่องนี้ลงจอด เพราะแม้แต่เกาหลีเองก็ไม่อยากให้เครื่องลงจอดที่กรุงโซล (Soul) เหมือนกันประเด็นที่ผู้เขียนยังหาคำตอบไม่ได้หลังจากที่ผู้เขียนเดินออกจากโรงหนัง หลังชมภาพยนตร์เรื่อง Emergency Declaration ไฟลต์คลั่ง ฝ่านรกชีวะ จบแล้ว ยังมีบางประเด็นที่ผู้เขียนยังหาคำตอบไม่ได้ ถ้าผู้อ่านไปชมแล้ว ลองดูนะคะว่าจะมีจุดที่สงสัยเหมือนกับผู้เขียนหรือไม่ประเด็นแรกคือ ศพที่พบในบ้านของผู้ก่อการร้ายคือใคร ประเด็นถัดมาคือ หนังมักจะพูดถึงการที่ผู้ก่อการร้ายทะเลาะกับเพื่อนบ้านเป็นประจำเรื่องปัญหาการทิ้งขยะ แต่ไม่มีการขยายความเพิ่มเติมใดๆ ประเด็นสุดท้ายก็คือ หนังให้ความสำคัญกับรัฐมนตรีคมนาคมตลอดทั้งเรื่อง แต่ทำไมรัฐมนตรีสาธารสุขจึงไม่ค่อยมีบทบาท ทั้งๆที่อาวุธที่คนร้ายใช้ก่อเหตุในครั้งนี้น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐมนตรีสาธารสุขด้วยเช่นกันHappy Endingแม้ว่า Emergency Declaration ไฟลต์คลั่ง ฝ่านรกชีวะ จะเป็นหนังระทึกขวัญสั่นประสาทตลอดทั้งเรื่อง แต่ก็จบด้วยความสุข ฉากแสงแดดยามเช้าและชุดของตัวละครที่เน้นสีขาวเกือบทั้งหมด สื่อถึงพลังแห่งความหวังและ Positive Thinking อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ชมเดินออกจากโรงหนังด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่อารมณ์ค้างด้วยความตื่นเต้นอย่างสุดขีดเหมือนตอนจบของหนังระทึกขวัญหลายๆเรื่องที่เคยชมค่ะขอบคุณทุกคนที่แวะมาอ่านบทความนี้ แล้วพบกันใหม่ในรีวิวต่อไปค่ะ ฝากติดตาม TrueID Creator ดลบันดาล ด้วยนะคะภาพหน้าปก: Major Cineplexภาพประกอบบทความ:Major Cineplex: ภาพที่ 1, 6, 8 / 4, 13, 15, 17, 18 / 16, 19MONGKOL MAJOR : ภาพที่ 2 / 3 / 5 / 7 / 9 / 10 / 11 / 12 / 14 STAR COVER"อย่ามัวแต่ดูมาดังกัน"*ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ขอชวนทุกคนมาสนุกโคฟเวอร์ พร้อมลุ้นรับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 7,000 บาท (5 รางวัล) โคฟคนที่ใช่ ไลค์คนที่ชอบ`ร่วมสนุกได้ที่ ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ห้อง cover บนแอปทรูไอดี`คลิกเลย >> https://ttid.co/UAnK/7y9jfqkqอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://bit.ly/3O1cmUQร่วมสนุกตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2565 - วันที่ 11 สิงหาคม 2565