รีเซต

[รีวิว] AIR: Courting a Legend – หนังธุรกิจย่อยง่ายแต่บันเทิงครบสูตร ดูแล้วได้แรงบันดาลใจ

[รีวิว] AIR: Courting a Legend – หนังธุรกิจย่อยง่ายแต่บันเทิงครบสูตร ดูแล้วได้แรงบันดาลใจ
แบไต๋
7 เมษายน 2566 ( 11:30 )
1.2K
1
Director
Ben Affleck
Writer
Alex Convery
RELEASE DATE
05/04/2023
OUR SCORE
8.3

‘AIR: Courting a Legend – แผนล่าลายเซ็นยอดตำนาน’ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์วงการธุรกิจที่จะเล่าถึงจุดพลิกผันของบริษัทสปอร์ตแวร์ชื่อดังของโลกอย่างไนกี้ (Nike) กับดีลพลิกประวัติศาสตร์สะเทือนวงการรองเท้าบาสเกตบอล ซึ่งพลิกโฉมหน้าของการทำสัญญาระหว่างแบรนด์และนักกีฬาไปตลอดกาล นี่คือหนังแนวธุรกิจ-สร้างแรงบันดาลใจที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริง ดูง่าย ย่อยง่าย คนรักกีฬาบาสและแฟนสนีกเกอร์สามารถรับชมได้อย่างอิ่มเอม แต่ถึงจะไม่ใช่แฟนกีฬาก็ยังสนุกไปกับหนังได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

‘AIR’ คือหนังเปิดตัวบริษัท Artists Equity ซึ่งเป็นบริษัทที่ เบน แอฟเฟล็ก (Ben Affleck) และ แมตต์ เดมอน (Matt Damon) ก่อตั้งร่วมกัน รวมถึงเป็นผลงานการกำกับของแอฟเฟล็กด้วย เล่าเรื่องราวการทุ่มสุดตัวของบริษัทไนกี้ เพื่อคว้าตัวรุกกี้หรือนักกีฬาดาวรุ่งหน้าใหม่ของ NBA ในปี 1984 อย่าง ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) เพื่อให้มาเซ็นสัญญากับบริษัทให้ได้

ท่ามกลางอุปสรรคมากมายทั้งส่วนแบ่งของตลาดที่อยู่รั้งท้ายคู่แข่งตัวฉกาจอย่างคอนเวิร์สและอาดิดาส งบประมาณที่มีจำกัด ไปจนถึงตัวจอร์แดนเองที่ไม่ว่ายังไงก็ “ไม่เอาไนกี้เด็ดขาด” โดยเล่าผ่านมุมมองของ ซันนี วัคคาโร (รับบทโดยเดมอน) หนึ่งในผู้บริหารการตลาดด้านกีฬาแผนกบาสเกตบอลของไนกี้

เล่าเรื่องง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา

ปี 1984 คือปีที่ไมเคิล จอร์แดนก้าวเข้าสู่ NBA เป็นปีแรกในฐานะรุกกี้ที่ถูกทีมชิคาโก บูลส์ดราฟต์เข้ามาเป็นอันดับ 3 แต่เจ้าตัวโด่งดังและเป็นที่จับตามองมาตั้งแต่สมัยเล่นอยู่ในมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนาแล้ว ช่วงมหาวิทยาลัยจอร์แดนสวมรองเท้าคอนเวิร์ส เมื่อก้าวเข้าสู่ NBA อาดิดาสก็เตรียมทุ่มดีลเพื่อคว้าตัวรุกกี้คนนี้มาเซ็นสัญญาให้ได้ แล้วม้ามืดนอกสายตาอย่างไนกี้ทำให้จอร์แดนตกลงเซ็นสัญญาพลิกประวัติศาสตร์ ก่อกำเนิดเป็นรองเท้า Nike Air Jordan ได้อย่างไร ‘AIR’ ได้พาเราไปสำรวจเส้นทางความกล้าได้กล้าเสียและกล้าเสี่ยงของดีลประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

การเล่าเรื่องของ ‘AIR’ ค่อนข้างเป็นเส้นตรง อาจจะไม่ได้มีเหตุการณ์หักไปหักมาชวนเครียดหรือหักเหลี่ยมเฉือนคมจนใจสั่นเหมือนหนังแวดวงธุรกิจเรื่องอื่น เน้นการเล่าเรื่องง่าย ๆ ชัดเจน ตรงประเด็น เหมือนเราได้เดินทางไปพร้อมกับตัวละครซันนี สู่เส้นทางที่เริ่มแล้วต้องไปให้สุด ต้องทุ่มสุดตัว ผ่านทีละขั้น ทีละตอน ตั้งแต่การติดต่อประสานงานหาคนรู้จักและเส้นสายในวงการ การเข้าหาครอบครัวของนักกีฬา การโน้มน้าวผู้บริหาร ไปจนถึงการวางแผนเงื่อนไขสัญญาที่ต้องทำให้ดีที่สุด รัดกุมที่สุด

ซึ่งหนังสามารถปูพื้นให้คนดูอย่างเรารับรู้ได้ว่า ด้วยข้อจำกัดมากมายของไนกี้ในขณะนั้น การจะปิดดีลครั้งนี้ให้สำเร็จได้นั้นมันยากเย็นแค่ไหน ทำให้เราเอาใจช่วยตัวละครและลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าความทุ่มเทที่ทำไปจะได้ผลตอบแทนกลับมาหรือไม่ ไนกี้จะสามารถเอาชนะคู่แข่ง (และเอาชนะใจจอร์แดน) ได้อย่างไร เป็นการเล่าเรื่องที่ไม่ต้องเล่นท่ายากก็สนุกและทำให้คนดูลุ้นไปด้วยได้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

เคมีนักแสดงยืนหนึ่ง คาแรกเตอร์ชัดเจน เข้าถึงง่าย

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ ‘AIR’ ดูเพลินมาก ๆ ก็คือเคมีของนักแสดงที่เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย ไม่ใช่แค่ตัวแอฟเฟล็ก (รับบท ฟิล ไนต์ ผู้ร่วมก่อตั้งไนกี้) และเดมอนที่เป็นเพื่อนซี้กันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวละครอื่น ๆ อย่าง เจสัน เบทแมน (Jason Bateman – รับบท ร็อบ สตราสเซอร์ ผู้จัดการด้านการตลาดของไนกี้) คริส เมสสินา (Chris Messina – รับบท เดวิด ฟอล์ค ตัวแทนนักกีฬาจอมเขี้ยว) แมตธิว เมเฮอร์ (Matthew Maher – รับบท ปีเตอร์ มัวร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบรองเท้า Air Jordan และโลโก้จัมป์แมน) และ วิโอลา เดวิส (Viola Davis – รับบท โดลอเรส จอร์แดน แม่ของไมเคิล จอร์แดน)

นอกจากนี้นักแสดงสมทบคนอื่น ๆ ยังเป็นตัวช่วยเข้ามาสร้างสีสันและเติมเต็มเรื่องราวให้สมบูรณ์ บทสนทนาและการพูดคุยมีความเป็นธรรมชาติ แทรกมุกตลกเป็นระยะพอให้อมยิ้ม ที่สำคัญไม่ต้องกลัวว่าจะจำตัวละครไม่ได้ เพราะคาแรกเตอร์แต่ละตัวเด่นชัด จดจำง่าย แสดงจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไนกี้ยุคนั้นออกมาได้อย่างชัดเจน

สอดแทรก Easter Eggs จัดเต็ม แฟนบาสยุค 80 ต้องว้าว

แน่นอนว่าหนังได้แรงบันดาลใจและสร้างมาจากเหตุการณ์จริง จึงมีการสอดแทรกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงต้นยุค 80 เอาไว้เพียบ ซึ่งตรงจุดนี้หากเราไม่รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นหรือไม่เข้าใจกระแสที่กำลังอินเทรนด์อยู่ในเวลานั้นก็อาจมีความมึน ๆ เล็กน้อยว่าเขาพูดถึงเรื่องอะไรกัน!? แต่จุดนี้ไม่ใช่ส่วนสำคัญของเรื่องราวจึงสามารถปล่อยผ่านได้โดยไม่เสียอรรถรส

นอกจากการกล่าวถึงเหตุการณ์และกระแสวัฒนธรรมที่กำลังบูมในยุคนั้น อีกหนึ่งความน่าสนใจที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ของ ‘AIR’ ก็คือการแทรก Easter Eggs เกี่ยวกับวงการกีฬาบาสเกตบอลและชื่อของนักบาสที่เป็นสตาร์ของยุคนั้นเอาไว้หลายคน แฟนบาสคนไหนไปดูต้องมีปลื้มปริ่มแอบยิ้มเมื่อได้ยินชื่อแต่ละคนแน่นอน

ส่วนคนที่ชื่นชอบไนกี้เองก็คงถูกใจไม่แพ้กัน เพราะตัวหนังกล่าวถึงที่มาที่ไปของภาพจำเด่น ๆ จากแบรนด์ไนกี้เอาไว้ครบแบบไม่ยัดเยียด ทั้งที่มาของสโลแกน “Just Do It” ที่มาของโลโก้ Swoosh กฎเหล็กที่บริษัทยึดถือ เป็นต้น

สร้างแรงบันดาลใจ รางวัลของคนกล้าฝัน กล้าเสี่ยง และกล้าทุ่มสุดตัว

เสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังแนวธุรกิจ-สร้างแรงบันดาลใจก็คือ เมื่อดูแล้วคนดูมักจะได้พลังบวกหรือแนวคิดดี ๆ มาปรับใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่ง ‘AIR’ ก็ประสบความสำเร็จในจุดนี้ นอกจากความบันเทิงแบบย่อยง่ายแล้ว เรายังได้แง่คิดในการทำธุรกิจหรือการทำงานใหญ่ว่าบางครั้งความกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะเสี่ยง และเลือกที่จะเชื่อความรู้สึกจากประสบการณ์ของตัวเองก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้ แต่แน่นอนว่ามันต้องมาพร้อมกับความทุ่มเท การวางแผนอย่างชาญฉลาด และการศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียดในทุก ๆ ทาง เพื่อสร้างเงื่อนไขที่ดีที่สุดที่ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะนำเราไปสู่ผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ด้วย

สรุป

‘AIR’ เป็นอีกหนึ่งหนังธุรกิจที่สร้างโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงที่มีส่วนพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวงการธุรกิจสปอร์ตแวร์ วงการรองเท้าบาสเกตบอล สะเทือนไปถึงกฎหมายการเซ็นสัญญาระหว่างแบรนด์และนักกีฬา ในด้านความบันเทิงก็ตอบโจทย์ ดูเพลิน แม้จะมีช่วงเนือย ๆ อยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้รู้สึกติดขัดอะไร ทุกอย่างมีเหตุผลและที่มาที่ไป บทและการเล่าเรื่องถือว่าแข็งแรงตั้งแต่ต้นจนจบ คุ้มค่าแก่การรับชมในโรงภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง

‘AIR: Courting a Legend’ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปวันที่ 5 เมษายน 2023 และจะฉายทางสตรีมมิง Prime Video อีกไม่นานเกินรอ