รีเซต

วณี เลาหเกียรติ นางสาวสยามคนที่ 2 ในวัย 100 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19

วณี เลาหเกียรติ นางสาวสยามคนที่ 2 ในวัย 100 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
มติชน
21 มิถุนายน 2564 ( 15:05 )
228

วณี เลาหเกียรติ นางสาวสยามคนที่ 2 ในวัย 100 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19

เฟซบุ๊กแฟนเพจ ดาราภาพยนตร์ โพสต์ข้อความและภาพของวณี เลาหเกียรติ นางสาวสยามคนที่ 2 ของไทย ในวัย 100 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว พร้อมกับเปิดประวัติอดีตนางสาวสยาม พร้อมเกร็ดประวัติศาสตร์การประกวดไว้อย่างน่าสนใจ

โดยข้อความระบุว่า

#นางสาวสยามคนที่2 #วณีเลาหเกียรติ
#อายุ100ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน​ไวรัสโควิด19

คุณวณี เลาหเกียรติ อายุ100ปี )เกิด: 3 เมษายน 2464 )เจ้าของตำแหน่ง นางสาวสยามคนที่ 2 มาเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
คุณวณี สมประสงค์ (สกุลเดิม: เลาหเกียรติ; 3 เมษายน พ.ศ. 2464) หรือชื่อเดิมว่า เอเวอลีน เลาหเกียรติ เป็นนางสาวสยาม พ.ศ. 2478

วณีเป็นบุตรสาวคนเดียวของร้อยตำรวจเอก บุญจินต์ เลาหเกียรติ กับละม่อม จันทรเวคิน ครอบครัวทั้งฝ่ายบิดามารดาล้วนเป็นข้าราชการ ย่าเป็นลูกครึ่งเปอรานากันจากสิงคโปร์ ขณะมีอายุได้หนึ่งเดือนจึงถือศีลล้างบาป โล่ เง็ก ล้วนผู้เป็นย่าจึงเลือกชื่อให้ว่า เอเวอลีน เลาหเกียรติ ตามชื่อนักบุญเอเวอลีน และใช้ชื่อนี้มาตลอดกระทั่งเปลี่ยนช่วงประกวดนางสาวพระนครเมื่อปี พ.ศ. 2478ขณะอายุได้เพียง 9 ปี มารดาก็เสียชีวิตลง วณีจึงอยู่ในการดูแลของหลวงขจรยุทธกิจ (เทา จันทรเวคิน) ผู้เป็นตา
เริ่มเข้าการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนเซนต์แมรี กุหลาบวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ต่อมาได้ย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เหตุที่จำต้องย้ายโรงเรียนบ่อย ก็เพราะย้ายตามที่ทำงานของพ่อที่เป็นตำรวจ

ในปี พ.ศ. 2478 มีการประกวดนางสาวสยามอันเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองรัฐธรรมนูญของรัฐบาล นายอำเภอบางรักจึงจัดผู้หลักผู้ใหญ่ขอให้วณีไปประกวด วณีจึงไปประกวดอย่างไม่เต็มใจ โดยเธอผ่านการคัดเลือกจากจังหวัดพระนครให้เป็นนางสาวพระนครในวันแรกของการประกวด และเข้าเป็นตัวแทนของการประกวดนางสาวสยาม ซึ่งเธอก็ได้รับตำแหน่งนางสาวสยามคนที่สองต่อจากกันยา เทียนสว่าง

ได้รับการสวมมงกุฎโดยหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา
ในปี 2480 วณีและวงเดือน ภูมิรัตน์ นางสาวสยามคนที่สองและสามได้เข้าร่วมการประกวดนางสาวสยามอีกครั้งในปีดังกล่าว
เพราะในขณะนั้นยังไม่มีกฎห้ามอดีตนางสาวสยามเข้าประกวดอีก และเธอทั้งสองต่างถูกขอให้ไปประกวดโดยให้เหตุผลเพื่อช่วยชาติ และไปเพื่อสร้างสีสันในงานเท่านั้นแต่จะไม่ได้รับตำแหน่งนางสาวสยามอีก ซึ่งผู้รับตำแหน่งนางสาวสยามประจำปีนั้นคือมยุรี วิชัยวัฒนะ

หลังจากได้รับตำแหน่งนางสาวสยามมาแล้วสี่ปีเธอได้เข้าพิธีสมรสกับนายแพทย์ มานิตย์ สมประสงค์ แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช ขณะมีอายุได้ 20 ปี โดยทั้งคู่มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 3 คนได้แก่ จันทิมา วิจิตรวาทการ, อรรณพพร สมประสงค์ และดนัยศักดิ์ สมประสงค์

ปี พ.ศ. 2557 ขณะมีอายุได้ 93 ปี วณีมีความสุขกับลูกหลาน เดินทางไปพำนักที่สหรัฐบ้างบางโอกาส สามารถเดินเหินได้ดี และมีความจำดีเยี่ยม

เกร็ดความรู้ :ประเทศไทยมีการประกวดนางสาวสยามเมื่อพ.ศ. 2477 เรียกได้ว่าช่วงยุคแรกของการประกวดนางงามยังไม่ได้ผสมกับองค์ประกอบทางธุรกิจ บรรยากาศก็ออกมาไม่ได้ง่ายดายนักแม้จะมีเจ้านายหรือผู้ใหญ่คนสำคัญของบ้านเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเรื่องรายละเอียดว่าด้วยการประกวดซึ่งจากการบอกเล่าของนางสาวสยามยุคแรกๆ แล้ว หน่วยงานรัฐบาลยังต้องออกตามหาผู้เข้าประกวด เมื่อได้รางวัลรัฐบาลก็ขอบริจาคอีกต่างหาก

การประกวดนางสาวสยามยุคแรกจัดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 นางสาวสยามคนแรกมีนามว่า กันยา เทียนสว่าง ซึ่งเธอยังทำหน้าที่ในงานเกี่ยวกับ “นางงาม” อีกหลายปี อย่างที่ทราบกันว่า การประกวดนางงามในสมัยแรกๆ บางปีก็มาพร้อมกับสถานการณ์ทางสังคม หรือสงครามซึ่งกระทบต่อการประกวด

เวที “นางสาวสยาม” นางงามประจำชาติไทย เปิดฉากขึ้นครั้งแรกสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่ามกลางงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477 ทิ้งช่วงเวลาจากการประกวดสาวงามระดับท้องถิ่นมาระยะหนึ่ง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแล

คุณประเสริฐ เจิมจุติธรรม แฟนพันธุ์แท้นางงามบอกเล่าถึงสาเหตุที่เวทีแห่งสาวงามได้รับการบรรจุอยู่ในงานทางการเมืองว่า เนื่องจากขณะนั้นชาวสยามยังไม่รู้จักการปกครองระบอบใหม่อย่างประชาธิปไตย รัฐจึงจัดงานให้ความรู้ใต้ชื่อ “รัฐธรรมนูญ” แต่ประชาชนยังคงเข้าร่วมงานกันบางตา จนกระทั่งต้องใช้การประชันความงามมาเป็นมาตรการดึงดูดคน ซึ่งให้ผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจ
ข้อมูลบรรยากาศการประกวดในยุคแรกต้องสืบค้นไปถึงข้อมูลจากคำบอกเล่าของ “นางงาม” ที่เข้าร่วมในยุคแรกซึ่งเคยมีผู้รวบรวมบทสัมภาษณ์นางงามยุคแรกหลากหลายท่านเอาไว้ ดังเช่นหนังสือ “ดอกไม้ของชาติ” โดยอรสม สุทธิสาคร ซึ่งบอกเล่าบรรยากาศการประกวดนางงามในยุคแรกจากการสัมภาษณ์พร้อมข้อมูลบริบททางสังคมเอาไว้ด้วย

การบอกเล่าเหล่านี้ทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบบรรยากาศการประกวด ที่สำคัญคือเบื้องหลังประสบการณ์นางงามยุคแรก อาทิ ประสบการณ์ของวณี เลาหเกียรติ์ นางสาวสยามคนที่ 2 ของประเทศเมื่อพ.ศ. 2478 ซึ่งประกวดในช่วงกลางเดือนธันวาคม สถานที่จัดงานอย่างท้องสนามหลวงและพระราชอุทยานสราญรมย์เต็มไปด้วยน้ำเจิ่งนอง แต่จากการรายงานข่าวผ่านคอลัมน์ปกิณกคดีของประชาชาติ วันที่ 13 ธันวาคมแล้วจะทราบได้ว่า งานครั้งนั้นยังเป็นที่สนใจของประชาชน โดยมี 3 สิ่งที่โดดเด่นคือ ล็อตเตอรี่ การเต้นรำ และนางงาม

สำหรับการประกวดนางงามนั้นมี 3 วัน วันที่ 10 ธันวาคมเป็นการประกวดนางสาวธนบุรี วันถัดมาเป็นนางสาวพระนครมีผู้เข้าประกวด 46 คน ผู้ได้รับเลือกคือวณี เลาหเกียรติ์ จากอำเภอบางรัก

อรสม สุทธิสาคร ยังบรรยายรายละเอียดการคัดเลือกนางงามสมัยนั้นว่า มีเกณฑ์คัดเลือกอย่างละเอียด

“โดยกรรมการพิจารณาจากรูปทรง ผิวเนื้อ เล็บ ฟัน หลังเวทีมีการเปิดดูน่อง แม้นางงามจะใส่ชุดไทยห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่น ยาวกรอมเท้า แต่กรรมการก็สำรวจละเอียดเพื่อเลือกเฟ้นคนที่งามจริงๆ หน้าตาไม่มีการแต่งเติมเสริมแต่ง เป็นที่มั่นใจได้ว่างามอย่างเป็นธรรมชาติแท้”

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับปากคำของวณี ที่บอกเล่าประสบการณ์และที่มาของการเข้าร่วมประกวดครั้งนั้นว่า

“สมัยนั้นทางมหาดไทยจะให้ข้าหลวงออกตามหาว่าบ้านไหนมีลูกสาวสวย พอทางการมาเห็นเข้าก็ขอให้ช่วยชาติร่วมฉลองงานรัฐธรรมนูญ ตอนเข้าประกวดนี่เตรียมตัวล่วงหน้าไม่นาน การทำนุบำรุงร่างกายก็เป็นไปตามปกติ เพราะเวลานั้นยังไม่นิยมการบำรุงร่างกายตามแบบสากลนิยมกันนัก

ขอบคุณเนื้อหาจาก ดาราภาพยนตร์