รีเซต

"ชมพู่ อารยา" ชวน "ปอป้อ ทรัพย์สิรี" เล่าชีวิตกว่าจะเป็นนักแบดมินตันอันดับ 6 ของโลก

"ชมพู่ อารยา" ชวน "ปอป้อ ทรัพย์สิรี" เล่าชีวิตกว่าจะเป็นนักแบดมินตันอันดับ 6 ของโลก
EntertainmentReport3
28 สิงหาคม 2567 ( 12:10 )
53

สัปดาห์นี้รายการ "On The Way With Chom" ของซูเปอร์สตาร์ตัวแม่ "ชมพู่ อารยา เอฮาร์เก็ต" ต้อนรับแขกรับเชิญคนพิเศษ "ปอป้อ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย" ซึ่งมีดีกรีเป็นนักแบดมินตันอันดับ 6 ของโลก ที่เพิ่งกลับมาจากที่โอลิมปิกหมาด ๆ มาเปิดใจถึงเส้นทางการเป็นนักแบดมินตันทีมชาติไทย เล่าถึงการฝึกซ้อม และวิธีการ Recover ทำยังไงให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์ได้เร็วที่สุด รวมถึงการฝึกสภาพจิตใจที่จะสามารถแบกรับแรงกดดันจากความหวังของคนทั้งประเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายจะไปโอลิมปิกครั้งหน้าให้ได้ 

"ปอป้อ ทรัพย์สิรี" เล่าชีวิตกว่าจะเป็นนักแบดมินตันอันดับ 6 ของโลก

ล่าสุดโอลิมปิกที่ผ่านมาก่อนที่เราจะลงแข่งขันนัดสำคัญ ๆ การฝึกซ้อมก็คือทั้งชีวิต แต่การฝึกซ้อมที่จะไปตรงนั้นนานไหมคะ ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ถ้าถามป้อคิดว่าไม่นานมากค่ะ เพราะว่าก่อนไปประมาณ 5-6 สัปดาห์ เพราะแบดมินตันไม่มี Off-Season แข่งทั้งปีค่ะ ปีหนึ่งก็จะเฉลี่ยประมาณ 15 แมตช์ ก็คือทุก ๆ เดือนมีอย่างน้อย 1 บางทีเราก็มีไปแข่ง 2 อาทิตย์ติด ถ้าไปยุโรปก็จะเป็น 3 อาทิตย์ติด ก็มีบ้างค่ะ

การฝึกซ้อมที่จะแข่งกับฝึกแบบ Maintain เหมือนกันไหมคะ ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : คล้าย ๆ ค่ะ ทุกครั้งที่ไปแข่งก็จะมี Maintain ไปด้วย แต่ด้วยสถานที่อะไรหลาย ๆ อย่างอาจจะไม่ค่อยอำนวยความสะดวกเหมือนตอนที่เราอยู่ไทย แต่เราก็ต้องเข้ายิมมีวิ่งอะไรปกติ แต่อาจจะไม่หนักเท่า แค่ต้อง Maintain ให้ได้

ถ้าเปรียบเทียบตารางการฝึกซ้อมจากเส้นทางที่เราไต่เต้าเก็บประสบการณ์มาเรื่อย ๆ กับการที่เรามาเป็นนักกีฬาทีมชาติ แตกต่างกันยังไง ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ถ้าตั้งแต่เริ่มเลยเราซ้อมแค่วันละ 2 ชั่วโมงหลังเลิกเรียนไปซ้อม แต่ป้อติดทีมชาติตั้งแต่อายุ 15 ปี สังกัดก็คือ SCG Badminton Academy เขาเหมือนเห็นอะไรในตัวเราก็เลยไปคุยกับทางที่บ้านพ่อกับแม่ว่าอยากให้มาอยู่กรุงเทพ เพื่อที่จะได้ดูแลเรื่องของการฝึกซ้อม การส่งแข่งในทุก ๆ เรื่องมันก็จะสะดวกกว่า ตอนป้ออายุ 14 ยังเล่นเดี่ยวอยู่ค่ะ แล้วได้แชมป์ข้ามรุ่นก็คืออายุไม่เกิน 15 แต่พอเราอายุ 15 ได้เล่นข้ามรุ่นอายุ 18 ก็ได้แชมป์ ก็เลยติดทีมชาติตั้งแต่ตอนนั้นมา

ตอนที่ต้นสังกัดเริ่มมาคุยกับพ่อแม่เราตอนนั้นการฝึกซ้อมเริ่มไปหรือยัง เพื่อที่เราจะต้องคัดตัวเป็นทีมชาติต่อไป ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : เริ่มแล้วค่ะ พอเราย้ายมาอยู่กรุงเทพ กลายเป็นว่าเราต้องซ้อมเช้าเย็น เราต้องมีความรับผิดชอบกับการเรียนด้วย ตารางก็จะประมาณว่าซ้อมตี 5.30 - 7 โมง แล้วก็ไปเรียน ซ้อมอีกทีก็ 5 โมงครึ่ง ถึง 2 -3 ทุ่ม ซึ่งเป็นแบบนี้ไปทุก ๆ วัน ปัจจุบันก็จะเริ่มซ้อม 8.30 -11.30 อีกทีก็คือบ่าย 3-4 เลิก 6 โมงถึง 1 ทุ่มค่ะ

เบื่อไหม ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ก็มีบ้าง (หัวเราะ) แต่มันก็คืออาชีพเรา มันวนแบบนี้มาก็เกินครึ่งชีวิตเราแล้วค่ะ

เข้าใจว่าในการฝึกฝนก็คงต้องมีอะไรบางอย่างที่ต้องทำซ้ำ ๆ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ก็คือการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอค่ะ ซึ่งตัวป้อเองก็ปกติจะมีการเวทเทรนนิ่ง ฟิตเนส จะซ้อมเป็นอังคารกับพฤหัสบดีกับเสาร์เช้า นอกนั้นก็จะเกี่ยวกับทักษะแบดฯ แล้วก็จะหยุดแค่อาทิตย์ครึ่งวันกับจันทร์ครึ่งวัน

เวลาเราเล่นเวทเทรนนิ่งเน้นส่วนไหนเป็นพิเศษ ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : เอาจริง ๆ น่าจะทุกส่วนค่ะ เพราะมันเคลื่อนที่ทุกส่วน แขน ขา หลัง สะโพก กล้ามเนื้อมัดใหญ่คือเน้นหมดค่ะ เพราะว่ามันเคลื่อนไหวใช้ทุกส่วนของร่างกายจริง ๆ 

ในกีฬาแบดมินตันมีวิธีฝึกเพื่อที่จะเอาชนะขีดข้อจำกัดตัวเองยังไงบ้าง ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : มันก็คือการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอค่ะ ป้อรู้สึกว่าเหมือนเราซ้อมาตลอดแต่ถ้าหยุดแค่แบบ 3-4 วัน เหมือนรู้ได้เลยว่าดรอปลงถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จะต้อง Maintain ตัวเองอยู่ตลอดเวลาแค่นั้นเลย

แต่ละคนเกิดมาก็จะมีข้อจำกัดของสรีระรูปร่างที่มันแตกต่างกันออกไป อย่างของป้อมีข้อจำกัดไหม ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : คิดว่าไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร รู้สึกว่าเราปกติก็ไม่ได้สูง อยู่กลาง ๆ แล้วกันค่ะ แบบมาตราฐานทั่วไป

ข้อได้เปรียบของคุณคืออะไร ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ข้อได้เปรียบคิดว่าป้อเป็นคนที่มีความเร็วแล้วกัน ก็เลยสามารถที่จะช่วยกันเป็นทีมเวิร์คกัน สำหรับคู่ผสมนะคะ มันเลยมีความสมูทอยู่ในตัวด้วย 

เรื่องของอาหารในการฝึกซ้อม ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ก็ควบคุมด้วยตัวเราเองค่ะ โดยปกติทั่วไปเลยก็ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แล้วเราก็ดูแลตัวเอง

เรื่องน้ำหนักมีผลไหม ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : เรื่องน้ำหนักถ้ากีฬาแบดมินตันไม่มีผลค่ะ เพราะไม่ใช่กีฬาที่ต้องใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์เพื่อเล่น

แข่งเสร็จแล้วทานอะไรค่ะ ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ส่วนใหญ่ป้อจะกินกล้วยค่ะ แล้วก็มีขนมปัง ถ้าวันไหนหนักมากก็จะเป็นทั้งกล้วยและขนมปัง แต่ระหว่างแข่งก็จะมีกินเกลือแร่

เรื่องนอน ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : เป็นคนนอนเก่งค่ะ นอนให้พอนะคะ 6-8 ขั่วโมง เป็นปกติ แต่ก่อนก็จะ 4 ทุ่มเดี๋ยวนี้ก็มีสัก 5 ทุ่มบ้าง ตื่น 7 โมง หรือ 7 โมงครึ่ง

กีฬาแต่ละประเภทจะมีการใช้อวัยวะส่วนเดิมซ้ำ ๆ แล้วก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ของนักแบดฯ ยอดฮิตคืออะไร ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : คิดว่าน่าจะเป็นเข่าค่ะ ของป้อก็เป็นเข่า คือปี 2017 ซีเกมส์มาเลเซียค่ะ วันนั้นเป็นแมตซ์สุดท้ายเลยที่จะต้องชิง วันนั้นก็ชิงทั้ง 2 ประเภท ทั้งคู่ผสมและหญิงคู่ ใช้ร่างกายเยอะบวกกับเราล้าด้วยสะสมแล้วก็พักผ่อนไม่เพียงพอ เลยทำให้เกิดจังหวะอะไรแบบนี้ขึ้นมา พอล้มมาก็คือเอ็นไขว้หน้าขาด ก็มีความรู้สึกกลัวว่าเราจะกลับมาไม่ได้เท่าเดิม แมตซ์นั้นก็เลยแข่งไม่จบ พอผ่าเสร็จก็ไม่ได้เดิน 3 เดือน ก็คือใช้ไม้ไม่ลงน้ำหนักข้างที่ผ่า ถือว่านานพอสมควร ข้างที่ไม่ได้ใช้ก็คือข้างซ้ายก็ลีบไปเลย แต่คือได้กำลังข้างขวาแทน ก็จะได้ท่าอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นบ้าง ที่ทำให้เกิดความแข็งแรงด้านขวา

ต้องใช้เวลา 8 เดือนกว่าจะกลับมาได้ 100 % ฟื้นฟูร่างกายยังไงตอนนั้น ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ใช่ค่ะ ไปโรงพยาบาลทุกวันตั้งแต่ 7 โมง ทำ 8 -10 โมงก็จะเป็นการกระตุ้นไฟฟ้า ให้เราเกร็งกล้ามเนื้อ มีเลเซอร์เพื่อลดไม่ให้เลือดคั่ง เขาก็จะมีท่าบริหารให้มา มีเข้าเครื่องเยียดงอ เพื่อที่จะต้องงอให้สุดและเยียดให้สุดด้วย เราอยากกลับมาเล่นให้ไวที่สุดฝืนตัวเองเยอะอยู่พอสมควรค่ะ พอสัก 3 เดือนเขาให้เดินได้ ก็จะให้ใช้เครื่องพยุงที่เป่าลมอยู่ข้างใน พยุงเราเดิน ช่วงเช้าที่เราทำประมาณนี้ค่ะ ตอนบ่ายก็มาเล่นเวทฯที่ SCG ค่ะ มาเวทฯแขน แล้วก็จบที่การแช่น้ำค่ะ 5-7 นาทีในน้ำเย็นเพื่อลดอาการอักเสบ ช่วงตอนที่ผ่าให้กินคอลลาเจน เขาบอกว่าเอ็นกวางมีคอลลาเจนสูงมีคนแนะนำมา 

นักกีฬามีวิธีการฟื้นฟูร่างกายยังไงบ้างให้กลับมาในสภาพที่สมบูรณ์เร็วที่สุด ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : เอาจริงที่ป้อไปแข่งนานสุดคือ 3 เดือนช่วงโควิดค่ะ ก็คือไม่ได้กลับไทยเลย 3 เดือน แข่งไปทั้งหมด 9 ทัวร์นาเมนต์ คือทัวร์นาเมนต์หนึ่งถ้าตีถ้าเข้าชิงก็ 5 รอบ ซึ่งเยอะมากเราก็ใช้การตีแต่ละทัวร์นาเมนต์เขาจะมีน้ำแข็งให้ ก็หอบน้ำแข็งกลับโรงแรมแล้วก็ลงอ่างแล้วก็แช่กันกับใช้การนวด ก็จะมีเครื่องช่วยพวกโฟมโรลแล้วก็มีปืนนวด

สภาพจิตใจของนักกีฬามีโปรแกรมที่จะต้องพูดคุยกันกับนักจิตวิทยาไหมคะ ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : มีบ้างค่ะ ก่อนแข่งก็มีคุยกับนักจิตวิทยาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทางทีมป้อ ก็จะเน้นเรื่องของสมาธิ สติ ไปสวดมนต์ เดินจงกลม แต่ทุกอย่างพอเกิดขึ้นในสถานการณ์จริงมันก็อาจจะมีสติหลุดบ้าง เพราะว่ากีฬาแบดมินตันมันเป็นแค่เสี้ยววินาทีเลยค่ะ ลูกไปมา เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดตอนไหน ขนาดเราฝึกหนักมาก ๆ แล้วก็มีหลุดได้ ด้วยสถานการณ์ที่มันกดดัน บีบบังคับเราด้วย  

ความกดดันที่แบกรับความหวังของคนทั้งประเทศ เรามีวิธีเอาชนะความกดดันหรือกระแสดราม่ายังไงไม่ให้มีผลต่อจิตใจ ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ปกติส่วนใหญ่ทุกคนเล่นกีฬามาอยู่จุดนี้มันมีความคาดหวัง มีความกดดันที่เราอยากจะชนะอยู่แล้ว แต่ด้วยโอเคเราก็ต้องมีประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าครั้งที่แล้วโอลิมปิกเป็นยังไง เรากดดันมากเกินไป เครียดมากเกินไป มันทำให้เราเล่นออกมาได้ไม่เต็มที่ ครั้งนี้ก็พยายามปรับเปลี่ยนเล่นให้มันผ่อนคลาย เล่นให้เอ็นจอย สนุกที่สุด มันยากแต่มันต้องพยายาม เรื่องของแฟน ๆ ก็เข้าใจว่าเขาก็อยากให้เราได้ เราเองก็อยากได้ ก็ต้องจัดการกับสภาพจิตใจเราเอง เอาจริง ๆ ป้อรู้สึกว่าเรื่องจิตใจมันยากกว่าร่างกาย ร่างกายมันยังฝึกได้ทักษะ เราไม่ได้แพ้ชาติใดในโลกหรอก แต่สภาพจิตใจเราอาจจะจัดการตัวเองยังไม่ดีพอ

หมายความว่าในการแข่งขันจริงๆ คนที่จิตแข็งก็จะได้เปรียบ ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ใช่ค่ะ อันนี้จริงค่ะ ป้อคิดว่าสภาพจิตใจน่าจะเป็นหลักมากกว่า เพราะว่าบางทีเราหลุด ก็หลุดยาวเลย แต่ถ้าบางทีหลุดปุ๊บบางคนกลับได้เร็วกว่าอันนี้ก็คือได้เปรียบ

ฝึกยังไง ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : คิดว่าทุกคนต้องมีประสบการณ์และผ่านตรงนั้นมา กว่าจะมาถึงตรงนี้มันต้องมีอะไรสักอย่างโดนมาก่อน ต้องมีฟิวส์นั้น อย่างบางทีป้อตั้งใจซ้อมมาก ๆ พอแข่งรอบชิงเราแพ้แต้มแค่ 1-2 แต้ม บางทีเราเฟลไปเลย แต่ด้วยกีฬาเราก็มีกำลังใจจากครอบครัว คนรอบข้างก็เฟลได้ไม่นาน เพราะชีวิตทุกคนต้องมูฟออนแล้วเดินต่อเพื่อที่จะข้ามอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับเราให้ได้

เป้าหมายแมตซ์ต่อไป ?
ปอป้อ ทรัพย์สิรี : ป้อก็จะมีแข่งในทุก ๆ เดือนอยู่แล้ว ก็คือทำให้เต็มที่แล้วก็รักษามาตราฐานของตัวเอง รักษาร่างกายให้ดีที่สุด คิดว่าจะพยายามไปโอลิมปิกครั้งหน้าให้ได้ค่ะที่ LA ลอสแอนเจลิส

สามารถติดตาม "On the way with Chom" ได้ที่ช่องทาง Podcast : Life Dot , Facebook: Life Dot , Youtube : Life Dot  วันจันทร์ (สัปดาห์เว้นสัปดาห์) เวลา 18.00 น. และสามารถรับชมย้อนหลัง ได้ที่นี่