รีเซต

[รีวิวหนัง] "The Apprentice กว่าจะเป็นลุง" คัมภีร์วิถีทรัมป์ ที่คนรักลุงและเกลียดลุงควรดู

[รีวิวหนัง] "The Apprentice กว่าจะเป็นลุง" คัมภีร์วิถีทรัมป์ ที่คนรักลุงและเกลียดลุงควรดู
แบไต๋
16 พฤศจิกายน 2567 ( 15:00 )
314

เรียกว่ามาได้ถูกจังหวะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ และมาถูกจังหวะที่โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) นักธุรกิจและมหาเศรษฐีคนดัง ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 เป็นสมัยที่ 2 แบบเป๊ะ ๆ สำหรับหนังชีวประวัติเรื่องแรกของลุงทรัมป์ ‘The Apprentice’ ที่เอาชื่อรายการเรียลลิตีโชว์ที่ลุงเคยทำเมื่อก่อนโน้นมาใช้ ซึ่งเป็นผลงานการกำกับโดย อาลี อับบาซี (Ali Abbasi) ผู้กำกับชาวอิหร่านเชื้อสายเดนมาร์กที่เคยสร้างความฮือฮาจากผลงานหนังทริลเลอร์ฆาตกรรมโสเภณีอิหร่านสุดอื้อฉาว ‘Holy Spider’ (2022) โดยได้ แกเบรียล เชอร์แมน (Gabriel Sherman) นักข่าวและนักเขียนผู้เกาะติดศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์สมัยแรกในปี 2016 มารับหน้าที่เขียนบท

‘The Apprentice กว่าจะเป็นลุง’ เล่าเรื่องราวช่วงวัยหนุ่มของ โดนัลด์ ทรัมป์ (เซบาสเตียน สแตน – Sebastian Stan) ในช่วงปี 1973 ที่ยังคงทำงานอยู่ภายใต้ร่มเงาของ เฟรด ทรัมป์ จูเนียร์ (ชาร์ลี คาร์ริก – Charlie Carrick) พ่อผู้ประสบความสำเร็จจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่กำลังเผชิญกับคดีฟ้องร้อง รอย โคห์น (เจเรมี สตรอง – Jeremy Strong) ทนายความตัวแสบผู้อื้อฉาวจึงได้เข้ามาช่วยจัดการ และกลายเป็นกุนซือผู้ปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์นิยม และความทะเยอทะยานสู่ความสำเร็จไม่ว่าจะต้องใช้วิธีสกปรกแค่ไหนก็ตาม รวมทั้งความสัมพันธ์ของเขากับ อิวานา ทรัมป์ (มาเรีย บากาโลวา – Maria Bakalova) จนทำให้นักธุรกิจหนุ่มสามารถสร้างอาณาจักร และกลายมาเป็น ‘ลุง’ ที่สามารถเขย่าสหรัฐอเมริกาให้สั่นสะเทือนมาได้จนถึงทุกวันนี้

ถ้าไม่เป็นการคิดไปเอง ผู้เขียนคิดว่าการมาของหนังเรื่องนี้ คงก่อให้เกิดคำถามขึ้นในใจของหลาย ๆ คน (ที่อาจส่งผลต่อการเลือก ‘ดู’ หรือ ‘ผ่าน’ หนังเรื่องนี้) ก็คือ การมาของหนังเรื่องนี้อย่างประจวบเหมาะพอดีกับช่วงหาเสียงเลือกตั้งคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอะไร (อย่างน้อยก็คงมีวางแผนไว้หลวม ๆ ว่าจะปล่อยช่วงนี้แหละ) คำถามก็คือ หนังเรื่องนี้มันจะออกมาเป็นหนัง Conservative โปรทรัมป์ชนิดที่เรียกว่าอวยกันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ว่าจะหวังผลเพื่อสร้างตัวตนอีกด้านให้ทรัมป์ จากมาดนักการเมืองหรือนักธุรกิจจอมสุดโต่ง ให้ดูมีความเป็น Public figure ดูเป็นมนุษย์มนาที่จับต้องได้มากขึ้น หรือแม้แต่ทำหน้าที่เป็น ‘ป้ายหาเสียง’ ช่วยระดมคะแนนจากชาวอนุรักษ์นิยมให้มาเลือกโหวตทรัมป์ หรืออะไรก็ตามแต่

หรือหนังเรื่องนี้มันจะเป็นแหล่งบรรจุความเสรีนิยม (เดโมแครตจ๋า ๆ) ที่นอกจากจะไม่โปรทรัมป์ แต่ยังพยายามจะแฉสันดานและที่มาของพัฒนาการทั้งในแง่พฤติกรรมและแนวคิดความสุดโต่ง ขวาจัดแบบหวิดตกขอบ แถมยังเป็นนักบิด (แบบว่าบิดหมด ไม่สลดมีบิดอีก) ของลุงทรัมป์ให้เห็น ตั้งแต่การเป็นไอ้หนุ่มใส่สูทเดินเก็บค่าเช่าอะพาร์ตเมนต์ เด็กชนิดที่คอยังแข็งไม่พอจะจิบสุราด้วยซ้ำ สู่การเป็นนักธุรกิจและคนดังบนหน้าสื่อที่เชื่อว่าตัวเองสามารถทำทุกกลเม็ดได้เพื่อความยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ หรือการตัดสินใจด้านธุรกิจและนโยบายแบบสุดโต่งหวิดตกขอบ ที่ใครได้ยินได้ฟังก็ถึงกับบ่นว่าปวดกบาลมานักต่อนัก

ซึ่งคำตอบของหนังเรื่องนี้ (จากมุมมองของผู้เขียน) ก็คือมันทั้งเป็นและไม่เป็นทั้ง 2 อย่างเลยครับ เพราะในช่วงเวลาประมาณ 1 ทศวรรษที่หนังจับมาเล่าผ่านบทสนทนา ตัวหนังพยายามพาไปสำรวจจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต และแนวคิดวิสัยทัศน์แบบทรัมป์ ๆ ที่เริ่มต้นจากการเป็นไอ้ขี้แพ้ที่ยังอยู่ภายใต้ร่มเงาธุรกิจของพ่อ วิสัยทัศน์ที่มองขาดในแง่การทำธุรกิจ จนไปถึงเชื้อแนวคิดที่บ่มเพาะให้คนที่ไม่สนใจการเมืองอย่างทรัมป์ ให้เริ่มต้นหันมามองเส้นทางทางการเมืองในฐานะผู้ต้องการนำพาสหรัฐอเมริกาให้กลับมาเรืองรองในฐานะประธานาธิบดี เฉกเช่นกับมอตโต ‘Make America Great Again’

แต่ในขณะเดียวกัน ตัวหนังเองก็นำเสนอภาพของโคห์น ทนายความสายเทาที่ปิดคดีด้วยวิธีการตั้งแต่การพยายามยกเลิกภาษี, ติดสินบนเจ้าพนักงาน หนักจนถึงขั้นล็อบบี ข่มขู่และแบล็กเมลฝ่ายตรงข้าม ก่อนจะกลายมาเป็นกุนซือผู้ถ่ายทอดแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัด ปลูกฝังความทะยานอยากในธุรกิจ ใช้อำนาจเส้นสายแผ้วถางให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จทั้งในด้านธุรกิจและอิทธิพล แต่ในขณะเดียวกัน ความอีโก้จัด นิสัยเสีย เหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ เหยียดสีผิว ก็ทำให้ทรัมป์กลายเป็นปีศาจที่ค่อย ๆ พรากความภักดีของคนรอบ ๆ ตัวเขา จนเหลือแค่เพียงความสัมพันธ์แปลกแปร่ง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของเขากับโคห์น และอิวานา ภรรยานางแบบสาวสวยที่สุดท้ายก็ต้องหย่าร้างจากกันในปี 1990

ตัวหนังเล่าด้วยการสนทนาเป็นส่วนใหญ่ มีเรื่องกฎหมายนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับดูยากนะครับ แต่สิ่งที่แปลกของหนังเรื่องนี้ก็คือ การนำเสนอด้วยวิธีการแบบ Candid Camera ทั้งเรื่อง ตั้งแต่การถ่ายทำ การวางองค์ประกอบภาพ ภาษาภาพ การซูมเข้าซูมออก การตัดต่อลำดับภาพ ที่ชวนให้นึกถึงรายการสารคดี หรือรายการเรียลลิตีโชว์ตามติดชีวิตของทรัมป์ในช่วงเวลาหนึ่ง มากกว่าจะเป็นการเล่าด้วยท่าทีของความเป็นหนัง Biopic แบบปกติ ซึ่งภาษาภาพบางอันนี่ถึงกับเปลี่ยน Mood ของฉากจากดราม่าตึง ๆ ให้กลายเป็นตลกร้ายแสบ ๆ หรือจังหวะสยองขวัญไปเลยเหมือนกันนะ รวมทั้งการสอดแทรกบริบททางสังคมของนิวยอร์กยุค 70s-80s ตั้งแต่ประเด็นเศรษฐกิจ นโยบายรัฐบาล การแบ่งแยกสีผิว คนรักร่วมเพศ โรคเอดส์ ความยากจน แนวคิดเสรีนิยม และกฎหมายที่อ่อนกำลัง ซึ่งเอื้ออำนวยให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม

แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็ทำให้เส้นแบ่งของความเป็นหนังชีวประวัติพร่าเลือนอยู่เหมือนกัน เพราะบทในหลาย ๆ ฉากก็แอบกระตุกให้รู้สึกตอนดูอยู่เนือง ๆ ว่า นี่คือสิ่งที่ทรัมป์ทำและเป็นจริง ๆ หรือเป็นเรื่องที่แต่งเติมเข้ามา ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ทรัมป์ดูดีหรือแย่ลงก็ตาม หลายฉากก็ชวนให้คิดว่าทรัมป์อาจจะไม่ได้ทำจริงหรอก แต่เป็นการแสดงนัยแห่งอำนาจที่ทรัมป์พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาต่างหาก ยิ่งพอหนังพูดถึงตอนที่เขากำลังให้สัมภาษณ์กับ โทนี ชวาร์ตซ์ (Tony Schwartz) เพื่อเขียนหนังสือชีวประวัติ ‘Trump: The Art of the Deal’ ก็ยิ่งชวนให้การรับรู้ข้อเท็จจริงในหนังยิ่งพร่าเลือนเข้าไปอีก

ส่วนในแง่การแสดง แน่นอนว่าการแสดงของเซบาสเตียน สแตน คือไฮไลต์สำคัญของหนังเรื่องนี้ และเขาเองก็ทำออกมาได้เรียกว่าหมดจด ค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบ แม้ตอนแรกจะแอบรู้สึกว่ายังไม่ค่อยจะทรัมป์เท่าไหร่แฮะ แต่สิ่งที่หนังแอบเอาไว้ได้แนบเนียนมากก็คือพัฒนาการความเป็นทรัมป์ที่แสดงออกผ่านพฤติกรรม การพูดจา ลึกจนไปถึงเนื้อตัวร่างกายและเสื้อผ้าหน้าผม รวมทั้งการแสดงของพี่สแตนที่เก็บท่าทางและการพูดของทรัมป์ได้อย่างหมดจด เนรมิตให้ทรัมป์ในตอนท้ายเรื่องกลายเป็น ‘ลุง’ อย่างที่เราคุ้นเคยจริง ๆ

แต่คนที่ต้องขอยก MVP ให้ก็คือ เจเรมี สตรอง ที่สามารถรับบททนายจอมซีเรียสที่แข็งกร้าวในทุกมิติ และถ่ายทอดความอ่อนแอผ่านสายตาที่ยังคงรักษาความแข็งกร้าวในยามที่สูญเสียซึ่งอำนาจในมือ ซึ่งก็ซับซ้อนมาก แต่กลับแสดงออกมาได้อย่างน่าประทับใจจนมีลุ้นว่า ถ้าสตูดิโอทำแคมเปญดี ๆ เราอาจได้เห็นชื่อของสตรองเข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายตามเวทีรางวัลต่าง ๆ ในปีหน้าก็เป็นได้

ถึงที่สุดแล้ว ความบันเทิงของการรับชมหนังเรื่องนี้คงไม่ใช่แค่การมานั่งคิดว่าจะอวยหรือด่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่คงเป็นเรื่องของการเข้าไปสังเกตและสำรวจชีวิตของคนที่ก้าวสู่ความสำเร็จในระดับโลกที่แผ้วถางทางด้วยเล่ห์เหลี่ยม การเจรจาต่อรอง และกดดันด้วยฝีปากอันแสบสัน การหักเหลี่ยมเฉือนคมตามสไตล์พล็อตแนวศิษย์คิดล้างครู หรือแนวไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร รวมทั้งการได้เห็นการแสดงอันยอดเยี่ยมของ 2 นักแสดงนำที่ทำให้หนังเข้มข้นน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ

แต่เหนืออื่นใด หนังเรื่องนี้อาจเป็นได้ทั้งหนังที่เล่าถึงคัมภีร์สู่ความสำเร็จในแบบวิถีของทรัมป์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในขณะที่หลายคนอาจรู้สึกขำขัน หมั่นไส้ และขยะแขยงไปกับความสุดโต่งอีโก้จัดของลุง เป็นหนังที่ต่อให้ชอบหรือไม่ชอบทรัมป์ แต่ถ้าสนใจชีวิตของเขา หนังเรื่องนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่ควรดู ก่อนจะฟันธงว่าจะ ‘เชื่อ’ หรือ ‘ไม่เชื่อ’ สิ่งที่หนังเล่า กับสิ่งที่ลุงเป็นด้วยตัวเอง เพราะขนาดลุงเองก็ยังเกลียดหนังเรื่องนี้เลย

โดย ประภาส อยู่เย็น