เรื่อง THE TERROR LIVE (ชนวนล่ามหาประลัย) เพราะชนชั้นทำให้คนไร้ทางออกเขียนโดย PARICH ภาพยนตร์เรื่อง THE TERROR LIVE เป็นภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี แนวระทึกขวัญ ออกฉายในปี 2013 อย่างที่ทราบกันดี สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สื่อวงการภาพยนตร์ในบ้านเขา สามารถหยิบยกประเด็นทางการเมืองแทรกเข้ามาในภาพยนตร์อย่างตรงไปตรงมา สามารถกล่าวถึงผู้มีอำนาจ และสามารถวิจารณ์ชนชั้นนำที่กระทำต่อชนชั้นล่างได้หมดเปลือกเรื่อง THE TERROR LIVE เล่าเรื่องราวของผู้จัดรายการข่าวยามเช้า และมีประเด็นให้สายทางบ้าน ‘โทรเข้ามาถกเถียงพูดคุยเรื่องความเห็นของการปฏิรูปภาษี’ หากนำเรื่องดังกล่าวมาพูดถึงโดยให้แนวคิด พื้นที่สาธารณะ (public sphere) แนวคิดนี้ ฮาเบอร์มาส ให้ความหมายว่า พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่เกี่ยวกับ ‘ความรู้สึกมีส่วนร่วม’ และพื้นที่เช่นนี้มีความสำคัญมากสำหรับสังคมประชาธิปไตย เนื่องจากผู้ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นๆ จะเป็นผู้ที่สามารถกระทำหรือแสดงออกความเห็นอย่างเสมอภาคเท่าเทียมในการตัดสินใจ โดยผ่านการถกเถียง โต้แย้ง เสนอความเห็น จนนำมาสู่หนทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งไม่ใช่การตัดสินใจที่อยู่ภายใต้อำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง หรือตัดสินใจตามความคิด ขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมในช่วงสมัยศตวรรษที่ 17 การเกิดพื้นที่สาธารณะ ที่สามารถพูดเรื่องการเมือง การปกครอง กฎหมาย หรือรัฐบาล คือร้านชา ร้านกาแฟ หรือคนไทยสมัยก่อนมักจะเรียกพื้นที่นั้นว่า ‘สภากาแฟ’ นั่นเอง หากนำมาโยงกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ รายการวิทยุข่าวเช้า เป็นพื้นที่หนึ่งให้ผู้ฟังสามารถโทรเข้ามาเพื่อแสดงออกความคิดเห็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษี ซึ่งเป็นเรื่องราว ‘สาธารณะ’ ที่คนในประเทศสามารถตั้งคำถามและถกเถียงได้ หากเป็นเช่นนี้รายการวิทยุในภาพยนตร์ก็ถือว่าเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ เช่นกันแต่การดำเนินเรื่องกลับไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อมีผู้ฟังคนหนึ่งโทรเข้ามาในรายการและพูดว่า ‘ผมเป็นคนงานก่อสร้าง อยู่คนเดียว มีโทรทัศน์และตู้เย็นในบ้านเท่านั้น แต่ต้องจ่ายค่าไฟถึง 4700 บาท โทรไปหาการไฟฟ้าเพื่อต่อว่า แต่พวกเขาก็บอกว่าถ้าไม่จ่ายจะตัดไฟ เรื่องนี้มันก็เกี่ยวกับภาษี รัฐบาลทำไมถึงทำแบบนี้กับประชาชน’ แต่เรื่องราวของชายคนนี้กลับถูกนักจัดรายการปฏิเสธ โดยอ้างว่าสิ่งที่ชายคนนี้พูดไม่เกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปภาษีแต่อย่างใด และเรื่องราวก็เริ่มจาก... นักข่าว ‘ยองยุนฮวา’ ไม่ให้ความสนใจกับนาย ‘ปาร์ค โนคยู’ ทำให้ชายดังกล่าวขู่ว่าจะระเบิดสะพานมาโป (สะพานข้ามแม่น้ำฮัน) ซึ่งเขาก็ระเบิดจริงๆ โดยนักจัดรายการข่าวเช้าจึงใช้โอกาสนี้ ในการกลับเข้ามาเป็นนักข่าวประจำรายการข่าวโทรทัศน์ทันที รวมไปถึงบอกหัวหน้าของเขาว่านี่อาจจะเป็นการก่อการร้าย หากต้องการให้สำนักข่าวมีเรตติ้งสูงก็ต้องยอมให้ยองยุนฮวากลับเข้ามานั่งตำแหน่งผู้ประกาศข่าวแต่แล้วมันก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด ปาร์ค โนคยู เล่าว่าตนคือคนที่สร้างสะพานมาโป และซ่อมแซมสะพานเมื่อมีแขกมาเยือนประเทศ ขณะที่คนมีอำนาจใช้ก้อนเงินอย่างสำราญและบอกว่าจะเอาไปพัฒนาประเทศ แต่มือของตนกลับต้องสัมผัสปูนเพื่อซ่อมแซมสะพานจนพระอาทิตย์ขึ้น ทำงานบนรางรถไฟ เสี่ยงชีวิต เพื่อแลกกับเงิน 700 บาท ต่อมาคนงานที่ซ่อมแซมสะพานตกลงมาในแม่น้ำ พวกเขายังไม่ตาย แต่ตำรวจและกู้ภัยไม่มาช่วยเพราะห่วงการประชุมของประเทศ ซึ่งมีคนตาย 3 ชีวิต เพื่อแลกกับเงิน 700 บาท แม้ในภาพยนตร์จะไม่ได้แสดงถึงฉากความยากลำบากของคนชนชั้นล่าง ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของผู้เป็นใหญ่เป็นโตในประเทศ แต่วิธีการของภาพยนตร์คือการใช้ผู้ประกาศข่าวและสื่อ เป็นตัวละครหลักของเรื่อง ส่งผ่านความรู้สึกของตัวละครที่ชื่อ ปาร์ค โนคยูเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ1. “สื่อ” ควรเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลและให้ความเป็นธรรมกับประชาชน หรือจะทำตามเพราะอำนาจเงินเท่านั้น2. การก่อการร้ายและความยุติธรรมเลือกปฏิบัติต่อชนชั้น ประเด็นแรกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เล่าและเป็นสถานการณ์หลัก คือการใช้สื่อซ้อนสื่อ นั่นคือการถ่ายภาพยนตร์โดยที่สถานการณ์และตัวละครก็เป็นสื่อสาธารณะ ที่อ้างว่าผู้คนสามารถใช้พื้นที่รายการวิทยุหรือโทรทัศน์แสดงความคิดเห็น ตัวละคร ปาร์ค โนคยู บอกว่าที่ตนต้องโทรมาในรายการของ ยองยุนฮวา เพราะไม่มีใครฟังเขาเลยสักคน เพราะคนในประเทศนี้รู้จักยองยุนฮวา น่าเชื่อถือ และมีอิทธิพลในด้านสื่อ จึงสามารถช่วยโนคยูได้ และต้องการให้เป็นตัวกลางเพื่อบอกให้ประธานาธิบดีออกมาขอโทษเรื่องที่เกิดขึ้นและแล้วสื่อก็ได้ช่วยโนคยูจริงๆ แต่เพราะต้องการเรตติ้งเพียงเท่านั้น ไม่ได้เห็นใจโนคยูและมองว่าเขาคือผู้ก่อการร้าย ที่ทำลายคนนับสิบบนสะพานมาโป ภาพยนตร์พยายามพูดถึงอำนาจของสื่อว่ามีอิทธิพลแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดสื่อก็เลือกที่จะนำเสนอ และพยายามถามคำถามเพื่อทำให้ปาร์คโนคยู เป็นผู้ก่อการร้ายอย่างสมบูรณ์แบบ ประเด็นที่สองคือการก่อการร้ายมีจริงหรือไม่ หากมีจริงแล้วต้นต่อของการก่อการร้ายในเรื่อง มันเกิดมาจากการเลือกปฏิบัติต่อชนชั้น นำมาซึ่งไร้ความยุติธรรม ภาพยนตร์มีการแบ่งตัวละครเป็น 4 ตัวหลัก คือปาร์ค โนคยู (คนงานก่อนสร้าง) / ผู้ก่อการร้ายยองยุนฮวา นักจัดรายการวิทยุ/ผู้ประกาศข่าวหัวหน้าสำนักข่าวประธานาธิบดีการแบ่งชนชั้นของตัวละครเปรียบเสมือนชนชั้นในสังคมโดยแท้ ปาร์คโนคยู เป็นตัวแทนของคนชนชั้นล่าง ทำงานหนักเพื่อแลกกับเงิน ไม่มีอำนาจ ไม่มีปากเสียง หรือมีสิทธิ์เรียกร้องเพื่อตนเองยองยุนฮวา เป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง ที่ทำงานสื่อ เป็นที่รู้จักของคนในประเทศ มีอิทธิพล และเป็นคนหนึ่งที่ต้องการไต่เต้ายกระดับตัวเองกลับไปในจุดผู้ประกาศข่าวเหมือนเดิม แต่เขาเมินเฉยต่อปัญหาของคนชนชั้นล่าง และคิดว่าการยกระดับตัวเองคือสิ่งที่สำคัญที่สุดหัวหน้าสำนักข่าว ตัวแทนของกลุ่มนายทุน ผู้มีเงิน มีอิทธิพล สามารถออกคำสั่งให้นักข่าวพูดอย่างไรก็ได้ตามใจตนเอง แต่แสร้งมาในคราบที่ต้องการเห็นความเป็นธรรมในสังคม ต้องการนำเสนอข่าวแบบตรงไปตรงมา ทว่าการกระทำของเขาคือเห็นก้อนเงินสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ประธานาธิบดี ตัวแทนของกลุ่มคนมีอำนาจ มองไม่เห็นความเดือดร้อนของคนทุกข์ยาก เมื่อประชาชน (ปาร์ค โนคยู) ต้องการให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่สิ่งที่ทำคือส่งตัวแทน และยื่นขอเสนออื่นเพื่อไม่ได้การให้ตนเองเปื้อนมลทินหรือความผิดภาพยนตร์เรื่องนี้คงเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่อง ที่เราสามารถตั้งคำถามและเทียบกับสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าประชาชนจะประกอบอาชีพ กรรมกร ค้าขาย นักแสดง ผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือแม้กระทั่งนักการเมือง ก็ควรมีสิทธิ์ได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน มิใช่ถูกเลือกปฏิบัติโดยราคาเงินตรา ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกในตอนสุดท้าย ว่านายปาร์ค โนคยู(แท้จริงแล้วคือลูกชายที่ปลอมตัวเป็นพ่อตนเอง) ผู้ที่ต้องการความเป็นธรรม แต่กลับถูกรัฐเมินเฉยและทำให้สังคมรังเกียจว่าคือก่อการร้าย เช่นเดียวกับ ยองยุนฮวา ผู้ที่ต้องการดิ้นรนตนเองเพื่อเป็นผู้ประกาศข่าว และคิดว่าตนมีอิทธิพลมีสิทธิ์มีเสียงพอที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลให้ชายก่อสร้าง แต่ท้ายที่สุดเขาก็ต้องจบชีวิตลงท่ามกลางซากตึกสำนักงานที่ทล่มลงมาโดยผู้ชมคงไม่ทราบว่า ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอีกครั้งหรือไม่ ขอขอบคุณภาพจาก Lotte Entertainment (All)