รีเซต

ดร.สุรัตน์ จงดา หลงใหล ค้นคว้า แสวงหางานศิลป์ สู่เครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ใน ศรีอโยธยา

ดร.สุรัตน์ จงดา หลงใหล ค้นคว้า แสวงหางานศิลป์ สู่เครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ใน ศรีอโยธยา
Entertainment Report_1
5 กรกฎาคม 2560 ( 15:29 )
85.8K

ความสวยงามปราณีตของเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายของผู้แสดงเป็นพระมหากษัตริย์ เจ้าฟ้า เจ้าจอม และเหล่าขุนนางในภาพยนตร์ซีรีส์ศรีอโยธยา ทำให้เราเกิดความสนใจอยากรู้จักผู้ออกแบบและรับผิดชอบเครื่องแต่งกายของภาพยนตร์ซีรีส์เรื่องนี้

จุดเริ่มต้นความหลงใหล

ดร.สุรัตน์ จงดา หรือ ครูไก่ เป็นอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ผู้ร่วมสร้างสรรค์โขนพระราชทานให้มีมาตรฐานเท่ากับศิลปะการแสดงระดับโลก จุดเริ่มต้นของความหลงใหลในศิลปวัฒนธรรมของครูไก่ เริ่มตั้งแต่สมัยยังเด็ก ครูไก่เป็นคนขอนแก่น ที่คลุกคลีอยู่กับวัฒนธรรมพื้นบ้านมาตั้งแต่เกิด จึงมีความสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมอยู่ในสายเลือด “เราเห็นปู่ย่าตายาย ประเพณี วัฒนธรรม พาไปวัด เลยชอบไปวัด ไปดูโบสถ์ วิหาร ไปดูภาพเขียน ไปดูไปฟังพระเทศน์ หรืองานประเพณีในหมู่บ้าน งานแต่งงาน ทำให้เกิดการหล่อหลอมทางวัฒนธรรม และพอโตขึ้นมา เริ่มเป็นยุคที่มีสื่อทีวี ได้เห็นรายการทีวีที่เกี่ยวกับไทยๆ อย่างรายการชีพจรลงเท้า รายการกระจกหกด้าน เรารู้สึกชอบ เราเห็นหุ่นกระบอก เราเห็นโขน เราเห็นงานศิลปะไทย เรารู้สึกชอบ มันทำให้เกิดความรัก ความรักแล้วก็อยากจะเรียนอยากจะทำเป็น พออยากจะเรียนอยากจะทำเป็น มันก็ทำให้เกิดแสวงหา พอเกิดแสวงหา เราก็อยากจะเรียนช่างทุกอย่างเลยทำให้เรา มุ่งมาทางที่จะอยู่ในด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการแสดง”

 

ค้นคว้าด้วยใจรัก

พอมาเรียนต่อที่กรุงเทพ ครูไก่จึงตัดสินใจที่จะเลือกเรียนเอกโขน ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ และมุ่งมั่นค้นคว้าเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจเพิ่มเติมไม่หยุด “เอกโขนพระ คือการฟ้อนรำ การแสดง การรำไทย นั่นล่ะ ตัวผู้ชายเค้าให้ไปเรียนโขน ตัวผู้หญิงเค้าให้ไปเรียนละครรำ เราเรียนโขนแล้วเราชอบเรื่องงานเสื้อผ้าโขน อยากรู้ว่าเสื้อผ้าโขนทำอย่างไร เพราะว่าที่เราใส่ๆ โรงเรียนซื้อให้เราใส่ เราไปแสวงหาที่เค้าผลิต ไปขอเรียนปัก เราอยากทำหัวโขนเป็น เราก็แสวงหาไปดูที่เพาะช่างไปตีสนิทกับอาจารย์เพาะช่าง เราอยากเห็นทำหุ่นกระบอกเป็น เราอยากเรียนเชิดหุ่นกระบอก เพราะเราเห็นในทีวี เชิดหุ่นกระบอก อ.จักรพันธุ์ เชิดหุ่นก็ไปเรียนหุ่นกระบอกไปฝากตัวเป็นศิษย์กับ คุณครูบุญรอด ประกอบนิล ไปเรียนหุ่นกระบอกกับ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งเป็นสุดยอดของศิลปินแห่งชาติเป็นปรมาจารย์หุ่นไทย และเรานอกจากหุ่นกระบอกเรายังซึมซับความปราณีตงดงามของอาจารย์มาด้วย ได้เศษเสี้ยวนึงมาอย่างนี้ ทำให้เราเกิดมุมมองทางศิลปะเพิ่มเติม”

แสวงหาถึงรากเหง้า

ครูไก่ยังไม่หยุดแสวงหาไปจนถึงรากเหง้าของการทำโขนโบราณ จนถึงขั้นไปดูภาพถ่ายโบราณ และนำมาสร้างครื่องแต่งกายโบราณ โดยร่วมกับ อ.พีรมณฑ์ ชมธวัช ทำคณะละครอาภรณ์งาม “สมเด็จพระนางเจ้าท่านโปรดจะให้ฟื้นฟูโขนแบบโบราณอยู่แล้ว ก็ได้ข้อมูลส่วนนี้ไป ก็ทำงานกับ อ.สมิทธิ พอ อ.สมิทธิสิ้นชีวิตลงก็ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์มาดูแลต่อ แล้วก็ทำงานกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สร้างสรรค์เป็นโขนพระราชทานมาจนถึงทุกวันนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ครูไปทำโขนพระราชทาน ก็ทั้งเอาความรู้ที่เรามีไปช่วย ทั้งอบเครื่องแต่งกายวิธีการแสดง และมุมมองของครูอยากจะเห็นโขนเนี่ยมันมีมาตรฐานเท่ากับศิลปะการแสดงระดับโลก มันก็เลยต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้ามา ใช้มุมมองสมัยใหม่เข้ามาร่วมด้วยและสื่อให้คนรุ่นใหม่ดู คุณภาพของโขนพระราชทาน  เครื่องแต่งกายสวย ฉากสวย ไลท์ติ้งดี วิธีการแสดงดี การประชาสัมพันธ์ดี ก็ถูกใจสำหรับคนมิติใหม่”

จากความสนใจเรื่องโขนโบราณ ทำให้ครูไก่สนใจในยุคสมัยอยุธยามาเป็นพิเศษ “คนพูดกันว่าอยุธยาเป็นต้นกำเนิดโขน เป็นต้นกำเนิดละคร แต่รูปแบบละครอยุธยาเป็นยังไงไม่มีใครอธิบาย มีภาพเขียนท่ารำรัชกาลที่ 1 อยู่ตำรารำลายเส้นเนี่ย คือ ภาพเขียนสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วคนรัชกาลที่ 1 คือ คนอยุธยามั้ย ก็เอานั้นมาทำเป็นละครบรรยายเรื่อง ละครอยุธยาก่อน บรรยายที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เสร็จปุ๊บก็มีหนังเรื่องพิษสวาท เค้าจะขอเช่าชุดให้นุ่น นุ่นเป็นลูกศิษย์ครูพอดี เป็นนางเอก ครูก็บอกมานี่เลย เดี๋ยวจะจับไอ้นุ่นมาซ้อมรำ รำมันไม่เหมือนรำปัจจุบันนี้ จะต้องมาโพลีโอกราฟท่าใหม่ เส้นมันจะต้องไม่เหมือนกับทุกวันนี้ เส้นมันจะต้องเป็นเหลี่ยมเป็นวงยังไงเหมือนภาพจิตรกรรม เหมือนภาพเขียน”

หลังจากนั้น หม่อมน้อย (ม.ล.พันธ์เทวนพ เทวกุล) ได้ติดต่อทาบทามมา เพราะอยากจะได้โขนอยุธยาไปประกอบภาพยนตร์ซีรีส์ศรีอโยธยา ซึ่งโขนที่เล่นกันอยู่ในปัจจุบันคือโขนรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่โขนอยุธยา “ก็คุยเรื่องโขนกันก่อน ทีนี้พอไปโขน เราก็ขยายไปเรื่องชุดคอสตูมว่าใครทำ มันจะไปด้วยกันมั้ย เขาก็เลยชวนเราทำ ยินดีเลย เพราะอยากจะทำอยู่แล้ว ครูซื้อผ้า ชอบศึกษาเรื่องผ้าด้วย ก่อนหน้านี้ลูกศิษย์ครูก็ทำภาพพิมพ์อยุธยากันอยู่ แพทเทิร์นเสื้อต่างๆที่ครูใส่อยู่เนี่ยส่วนใหญ่ก็เป็นแพทเทิร์นเสื้อตั้งแต่สมัยอยุธยา ครูก็รับผิดชอบเรื่องราชสำนักอยุธยา ครูตุ้ยรับผิดชอบเรื่องชุดนานาชาติกับชุดชาวบ้าน พี่เหวารับผิดชอบเรื่องชุดปัจจุบัน ก็แบ่งกันไปเพราะว่าคนเดียวไม่ไหวอ่ะ ทุกคนมีความชำนาญคนละอย่าง”

 

ครูไก่เชื่อมั่นว่าคนไทยยังแสวงหาความเป็นอดีตอยู่ คนไทยยังรักความเป็นไทย “สังเกตุมั้ยถ้าเราไปเที่ยวสวนรถไฟเนี่ย วัยรุ่นจะไปซื้อของแอนทีคมือ 2 เยอะ ทำไมมันเกิดตลาดน้ำย้อนยุคกันขึ้นมาเยอะ เกิดขนมครกโบราณ เกิดกาแฟโบราณกันขึ้นมาเยอะ เพราะว่าคนไทยแสวงหาอดีต คนไทยเรายังผูกพันกับอดีตอยู่ แต่เราจะเอาอดีตมารับใช้กับสังคมปัจจุบันได้อย่างไร”

ครูไก่ยืนยันว่าภาพยนตร์ซีรีส์ศรีอโยธยานี้ ผู้ชมจะไม่ผิดหวังกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ประกอบฉาก ที่ทีมงานทุกคนทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ อย่างแน่นอน “บอกเลยว่าไม่เคยเห็นภาพยนต์ซีรีส์เรื่องไหนที่ภาพจะสวยขนาดนี้ มันเหมือนกับเป็นงานอาร์ตงานศิลปะมาเรียงต่อกันเลย อยากจะให้ผู้ชมได้ชมมากเลย”

ติดตามชมภาพยนตร์ซีรีส์ศรีอโยธยาได้ วันที่ 5 ธันวาคมนี้
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก TrueLakorn

ชมทีวีออนไลน์ช่องทรูโฟร์ยู ดิจิตอล ฟรีทีวี แบบสดๆ ได้ที่นี่

อัพเดทชีวิตคนดัง ครบครันเรื่องบันเทิง เพลิดเพลินไปกับบทละคร

ติดตาม Dara.trueid.net ได้อีกช่องทางที่

 


และ แอพพลิเคชั่น 


TrueID Application

Add friend ที่ ID : @TrueID