จะเป็นอย่างไร หากว่าลูกของเราเกิดมาเป็นเด็กอัจฉริยะ... ถ้าเด็กน้อยสามารถเล่นเปียโนได้คล่องตั้งแต่สามขวบ เริ่มแต่งเพลงได้ตอนห้าขวบ ใช้ผ้าผูกตาเล่นโดยมองไม่เห็นคีย์เปียโนก็ได้ หูฟังเพลงอะไรครั้งเดียวก็นำมาเล่นได้เลย แถมยังฝึกเล่นไวโอลินได้เองโดยไม่ต้องมีครูสอน เราจะเลี้ยงดูเขาอย่างไร เราคิดว่าชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไรเด็กคนนี้จะมีความสุขในรูปแบบเดียวกับคนธรรมดาๆได้ไหม พรสวรรค์อันยิ่งใหญ่จะทำให้เขาพบความสุขล้นเหลือ หรือว่าทำให้เขาต้องเป็นทุกข์แสนสาหัสกันแน่?โมสาร์ท! มิวสิคัลสัญชาติออสเตรีย พยายามบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและครอบครัวของเด็กอัจฉริยะคนนั้น โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ท นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกชื่อเสียงโด่งดัง ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้ทิ้งงานประพันธ์ดนตรีไว้เป็นมรดกล้ำค่าแก่โลกมากกว่า 600 ชิ้น ซึ่งได้ขับเคลื่อนวงการเพลงคลาสสิค การแสดง ภาพยนตร์ และจรรโลงใจผู้คนมากกว่าสองร้อยปีแล้ว เป็นดนตรีที่ไม่ว่าใครได้ฟังก็ต้องอุทานชื่นชม เหมือนกับชื่อของมิวสิคัลนี้ที่ต้องมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ห้อยท้ายเสมอ ตั้งแต่เขาเกิด จนกระทั่งตายด้วยโรคที่ไม่มีผู้ใดระบุได้แน่ชัดตอนอายุเพียง 35 ปี ความเก่งที่ดูจะไร้ขีดจำกัดและเหนือมนุษย์เช่นนี้ ดูเผินๆคล้ายไม่น่าจะมีสิ่งใดมาข่มหรือเอาชนะได้เลยนะคะ แต่ในโลกของเรา แม้แต่คนที่เก่งที่สุดอย่างโมสาร์ทก็ต้องพบอุปสรรคเหมือนกับคนอื่นๆ ละครเรื่องโมสาร์ท!ได้แสดงให้เห็นอุปสรรคสำคัญของชีวิตเขาไว้สองประการ ประการแรก คืออำนาจของชนชั้นปกครอง และประการที่สอง คือความรักความชื่นชมจอมปลอมจากผู้คนรอบตัว เส้นทางการดิ้นรนต่อสู้อุปสรรคทั้งสองประการบนเวทียังประดับประดาด้วยโน้ตดนตรีเพลงโมสาร์ทตั้งแต่ต้นจนจบตามลำดับเวลา เป็นการแสดงถึงอิทธิพลของอุปสรรคต่างๆเหล่านี้ในผลงานของโมสาร์ทตามประวัติศาสตร์อีกด้วยดังนั้นจะขอรีวิวเพื่อเชิญชวนเพื่อน ๆ ผู้รักมิวสิคัลทุกคน มาสัมผัสชีวิตของอัจฉริยะไปด้วยกัน เรื่องนี้มีดีวีดีภาษาเยอรมัน ราคา 900 บาท https://www.amazon.de/Mozart-Das-Musical-Live-Raimundtheater/dp/B01F2KUWU0 หรือฟังฟรี เป็นภาษาอังกฤษ ที่นี่ค่ะ https://www.vbw-international.at/home/mozartขอบพระคุณภาพจากเพจมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท! https://www.facebook.com/MozartMusicalWien/ การต่อสู้ระหว่างความสามารถกับอำนาจฉากเปิดของเรื่องโมสาร์ท! คือพระราชวังที่กรุงเวียนนา เลโอโปลด์ โมสาร์ท พ่อของโวล์ฟกัง โมสาร์ท ผู้เล็งเห็นพรสวรรค์ของลูกชายตั้งแต่เล็ก ได้พาครอบครัวมาเข้าเฝ้าจักรพรรดินี เพื่อให้โวล์ฟกังน้อยแสดงความสามารถเฉพาะพระพักตร์ แน่นอนว่าเด็กอัจฉริยะเป็นที่สนใจและสรรเสริญอย่างมากในฐานะ “ปาฏิหาริย์จากพระเจ้า” ดังจะเห็นจากเพลง "ช่างเป็นเด็กที่น่าทึ่ง!" ครอบครัวโมสาร์ทจึงได้รางวัลจากราชสำนัก และได้เงินจากผู้ชมเมื่อตระเวนแสดงในที่ต่างๆ ก่อนกลับบ้านที่เมืองซาลส์บวร์ก จักรพรรดินียังได้พระราชทานฉลองพระองค์เก่าของพระราชโอรสให้นำไปใส่เล่นได้ นี่ถือเป็นคำชมอย่างสูงว่า ความเก่งกาจทางดนตรีนี้ทำให้เด็กน้อยมีฐานะเป็น “เจ้าชาย” คนหนึ่งเหมือนกันทว่าเมื่อโวล์ฟกังโตเป็นหนุ่ม กระแสความนิยมในตัวเขากลับจางหายไปอย่างรวดเร็ว เด็กอัจฉริยะคนนั้นกลายเป็นเพียงผู้ชายตัวผอมแห้งหน้าตาไม่ดีนัก ถึงจะแต่งเพลงเก่ง แต่ผู้ใหญ่ที่แต่งเพลงได้ก็มีถมไป โวล์ฟกังได้รับตำแหน่งนักดนตรีหลวงของพระราชวังแคว้นซาลส์บวร์ก ซึ่งปกครองโดยเจ้าชายโคลโลเรโด ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างยิ่งในสมัยนั้นก็จริง แต่เขาก็ได้รับเงินเดือนน้อย และต้องแต่งแต่บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ หรือเพลงในพระราชพิธีต่างๆ ตามคำสั่งของวังเท่านั้น เขาไม่มีสิทธิที่จะแต่งเพลงอะไรก็ได้มาโชว์รับเสียงปรบมือตามใจอย่างตอนเป็นเด็กอีกแล้ว นอกจากนี้ โคลโลเรโดยังเชื่อว่า นักดนตรีเป็นเพียงอาชีพไร้สาระ และดนตรีนั้นไร้ประโยชน์ที่แท้จริงในตัวเอง นอกจากรับใช้รัฐและพระเจ้า จึงไม่ให้เกียรติโวล์ฟกังสักเท่าไรเลโอโปลด์พยายามสอนลูกชายว่า “ปาฏิหาริย์น่ะมันจบลงไปแล้ว . . . ตอนนี้ลูกต้องอยู่ใต้กฎเกณฑ์ เหมือนกับทุกคนในชนชั้นเดียวกับเรา นั่นก็คือ ระวังปาก ก้มหัวลง และก็ทำตามที่เจ้าสั่ง” แต่ว่าโวล์ฟกังเป็นคนตรง คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เหมือนกับดนตรีของเขาที่แต่งอย่างบริสุทธิ์และถ่ายทอดอารมณ์อย่างละเอียดจริงใจ บวกกับเขาเคยชินกับคำสรรเสริญมาตั้งแต่เด็กและมั่นใจในตนเองสูง นับวันเขาจึงยิ่งอึดอัดและไม่พอใจชีวิตในราชสำนักซาลส์บวร์กมากขึ้น โวล์ฟกังรู้สึกว่าตนเองถูกจำกัดความสามารถเพราะโคลโลเรโด ผู้มีอารมณ์ร้ายและจ้องจะหาเรื่องเขาอยู่ตลอดเมื่อโวล์ฟกังขัดใจโคลโลเรโดในองก์ที่ 1 ฉากเตรียมงานเลี้ยง โคลโลเรโดก็โยนบันทึกโน้ตเพลงฟาดหน้าเขา และตะคอกเลโอโปลด์ต่อหน้าลูกชายว่า “ฉันเป็นเจ้าเหนือหัวของเขา และถ้าฉันหมดความอดทน พรสวรรค์ของเขา[ที่เขียนโน้ตเพลงมาถวาย]ก็จะเป็นแค่เศษกระดาษ!” โวล์ฟกังโกรธมากที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ และประกาศว่า “ในวิถีของฉัน ฉันก็เป็นเจ้าชายที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเหมือนกับท่าน ต้องมาคอยเป็นขี้ข้าแบบนี้มันลดตัวเกินไป” คำประกาศนี้ทำให้โวล์ฟกังถูกไล่ออกจากวัง พร้อมกับแม่ของเขาคือแอนนามาเรีย ส่วนเลโอโปลด์ยอมอ้อนวอนขอโทษและอยู่รับใช้โคลโลเรโดต่อแต่แม้หลังจากออกจากวังซาลส์บวร์กแล้ว โวล์ฟกังจะแทบไม่ได้พบกับโคลโลเรโดเลยก็ตาม การต่อสู้ของ “เจ้าชาย” ทั้งสองคนก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นตลอดเรื่องโมสาร์ท! คนหนึ่งยิ่งใหญ่ด้วยฐานันดรศักดิ์ เชื่อว่าตนเกิดมามีเทวสิทธิ์ (divine right) ที่ชนชั้นปกครองใช้เป็นข้ออ้างในการสืบทอดอำนาจเหนือชนชั้นใต้ปกครองมานับร้อยๆปี เป็นคนเจ้าระเบียบและยึดติดกับขนบธรรมเนียมดั้งเดิม อีกคนหนึ่งยิ่งใหญ่ด้วยความสามารถพิเศษทางดนตรีที่พระเจ้ามอบให้ เสริมด้วยความพยายามและการฝึกฝนนับร้อยๆชั่วโมงตั้งแต่เด็ก มีนิสัยรักอิสระและชอบความท้าทายเวลาได้แต่งเพลงรูปแบบแปลกใหม่ขอบพระคุณภาพจากเพจมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท! https://www.facebook.com/MozartMusicalWien/ เพื่อเป็นการลงโทษโวล์ฟกังที่กล้าถือดีต่อต้าน และแสดงให้เห็นว่าต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่มีวันชนะอำนาจของตนได้ โคลโลเรโดส่งสารไปยังเจ้าผู้ปกครองนครต่างๆในยุโรป ไม่ให้จ้างโวล์ฟกังเข้าทำงานเด็ดขาด เนื่องจากในสมัยนั้น ดนตรีและศิลปะคลาสสิคไม่ใช่ของที่ชาวบ้านทั่วไปจะสนใจหรือมีกำลังซื้อมากนักนะคะ ศิลปินจำเป็นต้องได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักแห่งใดแห่งหนึ่งถึงจะยังชีพอยู่ได้ ซาลส์บวร์กในขณะนั้นก็เป็นแคว้นสำคัญของออสเตรียที่อยู่ติดกับเยอรมนี แม้แต่จักรพรรดิที่กรุงเวียนนาก็ยังเกรงพระทัยโคลโลเรโด โวล์ฟกังจึงนับว่าตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากอย่างยิ่ง เขาพยายามไปเช่าห้องหรือร้านอาหารเพื่อเปิดคอนเสิร์ตเล่นในหลายๆเมือง แต่ก็แทบจะไม่มีชาวบ้านให้เงิน ชีวิตของเขาตกต่ำถึงขีดสุดเมื่อแอนนามาเรียป่วยตายที่ปารีส เพราะโวล์ฟกังไม่มีเงินพาไปหาหมอ ในยามนั้น พรสวรรค์ของโวล์ฟกังดูจะไม่มีค่าอะไรเลย ไม่สามารถสู้กับอิทธิพลของโคลโลเรโดจริงๆแต่แล้ว ก็มีแสงสว่างส่องเข้ามาในชีวิตของโวล์ฟกัง เมื่อเขาบังเอิญได้พบกับเอมานูเอล ชิคาเนเดอร์ นักเขียนบทละครและนักแสดงที่กำลังประสบความสำเร็จในหมู่ชาวบ้านขณะนั้น ชิคาเนเดอร์ช่วยสอนวิธีการต่างๆแก่โวล์ฟกังว่า ทำอย่างไรชาวบ้านถึงจะชอบดนตรีของเขา และชวนให้มาร่วมงานกัน “ศิลปะของฉันใฝ่หาเสียงปรบมือ ฉันมุ่งจะทำให้คนพอใจ ความทะเยอทะยานของฉันก็คือโรงละครที่มีคนเต็มทุกที่นั่ง ฉันสนใจผู้ชมเป็นหลัก” อุดมการณ์ของชิคาเนเดอร์แม้จะขัดกับความคิดของสมัยนั้นที่ว่า ศิลปะที่ดีงามต้องไม่ใช่ของตลาดมวลชน (mass) และควรมุ่งจรรโลงใจให้สูงส่งหรือรับใช้พระเจ้า ไม่ใช่มุ่งให้ความบันเทิงหรือมอมเมาผู้คนทางอารมณ์ แต่โวล์ฟกังก็ยินดีรับฟังและปรับเปลี่ยนดนตรีของตน หลังจากนั้น อุปรากรของเขากับชิคาเนเดอร์ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเราเห็นว่า การตัดสินใจของโวล์ฟกังในครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องที่ทำให้เขากลายเป็นอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นปกครองอย่างแท้จริง ก่อนหน้านี้ โวล์ฟกังพยายามเดินทางไปหลายเมืองเพื่อแสดงความสามารถให้เจ้าผู้ครองนครต่างๆชม และไม่ค่อยพอใจนักที่ต้อง “ตกต่ำ” มาเล่นเปียโนตามห้องเช่าให้คนทั่วไปที่ไม่ค่อยสนใจดนตรีคลาสสิคฟัง ดนตรีแบบที่โวล์ฟกังชอบและชำนาญนั้นเป็นเพลงยากและยาว มีจำนวนโน้ตเยอะซับซ้อน และไม่มีการร้องประกอบ เป็นการแสดงฝีมือและอัจฉริยภาพที่นักดนตรีน้อยคนในโลกจะมีได้ ทว่าเพลงลักษณะดังกล่าวจะมีก็แต่คนชั้นสูงมีการศึกษาเท่านั้นที่ชื่นชมและสนใจ ถ้าหากว่าโวล์ฟกังดึงดันจะแต่งเพลงเช่นนี้ อย่างไรเสียเขาก็ต้องยอมอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ “เป็นขี้ข้า” ของราชสำนักแห่งใดแห่งหนึ่ง ต่อให้ไม่ใช่ซาลส์บวร์กของโคลโลเรโดก็ตาม ความต้องการที่จะใช้ความสามารถทางดนตรีเป็นเครื่องปลดปล่อยตนเองจากกฎเกณฑ์และมุ่งสู่ความยิ่งใหญ่ก็จะกลายเป็นเรื่องย้อนแย้ง เพราะเขาไม่สามารถหนีจากการสยบยอมต่ออำนาจไปได้ดังนั้น การพยายามสร้างสรรค์ดนตรีที่ฟังง่าย และมุ่งให้ความบันเทิงแก่ชาวบ้าน แม้จะไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มที่และไม่นับเป็นดนตรีรูปแบบสูงส่ง แต่ก็มีความ “ยิ่งใหญ่” ในแง่ที่โวล์ฟกังสามารถเป็นนายของตัวเองมากขึ้น และรับรายได้จากชาวบ้านซึ่งเป็นสามัญชนเหมือนกับเขา ไม่ใช่รายได้ที่อภิสิทธิ์ชนเก็บจากภาษีมาใช้จ้างเขาถูกๆอีกต่อไป นี่คือความสำเร็จจากความสามารถตนเองแบบที่โวล์ฟกังขอเลือก ทำให้เขากลายเป็น “เจ้าชาย” ที่ผู้คนสมัครใจสนับสนุน ต่างกับเจ้าชายตัวจริงอย่างโคลโลเรโด ที่ต้องบังคับให้คนมาโค้งคำนับตนด้วยอำนาจกฎหมายและศาสนาค่ะในองก์ที่ 2 ฉากหลังเวทีอุปรากรของชิคาเนเดอร์ โคลโลเรโดจำใจมาหาโวล์ฟกัง เพราะยอมรับแล้วว่า โวล์ฟกังเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถเหนือกว่าทุกๆคน และยิ่งใหญ่เกินกว่าที่อำนาจของเขาจะข่มได้ เขาจึงอยากจะอุปถัมภ์โวล์ฟกังให้กลับมาเป็นนักดนตรีประจำราชสำนักอีกครั้ง แคว้นซาลส์บวร์กจะได้เป็นที่อิจฉาของแคว้นอื่นๆในยุโรป “ในเมื่อพระเจ้าอำนวยพรแก่เธอ ฉันก็ไม่อาจสาปส่งเธอได้ แต่ว่าเธอให้ความบันเทิงกับพวกคนชั้นต่ำนานพอแล้ว ถึงเวลาที่ฉันจะช่วยเหลือ . . . ฉันจะยอมให้โอกาสเธอเริ่มต้นใหม่ ฉันจะอุปถัมภ์เธออีกครั้ง . . . คิดดูว่าจะมีเพลงดีๆมากมายเพียงใดที่เธอไม่มีวันได้แต่ง ถ้าเธอไม่ตกลงกับฉัน” โวล์ฟกังปฏิเสธทันทีว่า “ดนตรีไม่รังเกียจใครทั้งนั้น . . . ของขวัญที่พระเจ้ามอบให้ฉันมีไว้สำหรับมนุษย์ทุกคน และเพลงของฉันตอนนี้ ผู้คนก็ร้องได้กันทั้งเมือง . . . เสียงปรบมือจากคนเหล่านี้มีความหมายกับฉันมาก ฉันไม่ต้องการโอกาสเริ่มต้นใหม่จากท่าน ฉันถึงเป้าหมายของฉันแล้ว” หลังจากนั้น โคลโลเรโดจึงยอมจากไปอย่างเสียหน้า และไม่ปรากฏตัวในละครเรื่องนี้อีก ถือเป็นการปิดฉากชัยชนะแห่งอิสรภาพจากชนชั้นปกครองของโวล์ฟกังอย่างถาวรขอบพระคุณภาพจากเพจมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท! https://www.facebook.com/MozartMusicalWien/ เราประทับใจฉากการปะทะความคิดระหว่างโคลโลเรโดกับโวล์ฟกังทุกๆฉาก โดยเฉพาะเพลงแดร์ ไอน์ฟาคเคอ เวก (หนทางที่ง่าย) ที่ตัวละครทั้งสองร้องเพลงคู่กัน ในฉากสุดท้ายที่พบกันดังกล่าว เพลงนี้เล่นสองความหมายได้อย่างแยบยล ทั้งโวล์ฟกังและโคลโลเรโดประสานเสียงกันว่า “ทางที่ง่ายนั้นเป็นทางที่ผิดเสมอ” ไม่มีคำอธิบาย แต่ผู้ชมสามารถเข้าใจได้จากเนื้อเรื่องที่ผ่านมาตลอดก่อนหน้านี้ว่า ในใจทั้งสองกำลังคิดตรงข้ามกัน สำหรับโคลโลเรโด ทางที่ง่ายคือ การที่โวล์ฟกังแต่งเพลงสร้างความบันเทิงแก่ชาวบ้าน แทนที่จะสร้างสรรค์ดนตรีชั้นสูงแบบซับซ้อนให้สุดความสามารถที่พระเจ้ามอบให้ ทว่าสำหรับโวล์ฟกัง ทางที่ง่ายคือ การสยบยอมต่ออำนาจของโคลโลเรโด เพื่อแลกกับเงินเดือนที่มั่นคงตลอดชีวิต สรุปแล้ว ทั้งคู่จึงเป็นเสมือนตัวแทนของแนวคิดที่ไม่มีวันมีความเห็นลงรอยกันได้ว่า มาตรวัด “ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์” คืออะไร ระหว่างการให้คุณค่าในระบบอภิชนาธิปไตย (aristocracy) หรือระบบทักษะความสามารถและคุณธรรมนิยม (meritocracy) และมนุษย์ควรเลือกทำอย่างไรกับพรสวรรค์ของตนจึงจะเหมาะสมที่สุดความเป็นขั้วตรงข้ามของตัวละครทั้งสองจะสังเกตได้ผ่านเสื้อผ้าและตำแหน่งบนเวที ซึ่งทีมงานแฟไรนิเกอ บูเนอ วีน วางแผนและทำได้อย่างชัดเจนงดงาม โคลโลเรโดจะแต่งกายสีเข้ม ใช้สีโทนแดงและดำเป็นหลัก เป็นเสื้อผ้าแบบราชสำนักโบราณที่มีการประดับตกแต่งหนาหนักละเอียดลออ และมักมีสัญลักษณ์ไม้กางเขนแทนคริสต์ศาสนาที่ช่วยค้ำจุนอำนาจเทวสิทธิ์ของตน ส่วนโวล์ฟกังจะสวมเสื้อผ้าบางเบาสีขาวล้วนทั้งตัว เขาเป็นคนเดียวในเรื่องโมสาร์ท!ที่ใส่เสื้อผ้าแบบสมัยปัจจุบัน ไม่ถูกยึดโยงไว้กับสถานภาพและกฎเกณฑ์ของยุคเก่า รวมถึงไม่ผลัดเปลี่ยนชุดไปตามกาลเทศะ ทว่าคงความเป็น “ตัวเอง” ที่แท้จริงอยู่เสมอเวลาเข้าออกฉากหรือยืนร้องเพลงบนเวที โคลโลเรโดจะอยู่ด้านขวาเป็นหลัก ในขณะที่โวล์ฟกังจะอยู่ด้านซ้าย แสดงถึงการแบ่งฝ่ายที่ตรงข้ามกันแต่ก็มีความสำคัญพอๆกัน(ไม่มีใครอยู่สูงต่ำกว่าใคร) เราเห็นว่า การจัดตำแหน่งเช่นนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาหมายถึงกลุ่มแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม สนับสนุนระเบียบวินัย หน้าที่ ชนชั้น การรักษาขนบธรรมเนียมและความคิดชาตินิยม โดยทั่วไปจะเป็นการส่งเสริมชนชั้นที่มีอำนาจอยู่แล้วในสังคมในขณะนั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้น ฝ่ายซ้ายหมายถึงกลุ่มแนวคิดแบบเสรีนิยม สนับสนุนสิทธิความเท่าเทียม ความก้าวหน้า และการเข้าร่วมสังคมนานาชาติ เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์มากกว่าฐานะจากการสืบสายเลือด จึงมุ่งกระจายอำนาจและโอกาสทางเศรษฐกิจลงมาสู่ชนชั้นที่โดนกดขี่ เฉพาะในองก์ที่ 2 ฉากห้องสมุด ที่โคลโลเรโดยอมรับว่าความสามารถของโวล์ฟกังยิ่งใหญ่กว่าอำนาจของเขาจริงๆเป็นครั้งแรกเท่านั้น เขาถึงเปลี่ยนมายืนฝั่งซ้ายค่ะ ขอรักตัวเองในโลกที่เสแสร้งนอกจากงานประพันธ์ดนตรีอันยอดเยี่ยมมากมายแล้ว ผลประโยชน์หลักที่พรสวรรค์ก่อแก่ชีวิตของโวล์ฟกังก็คือ ความรักความชื่นชมจากบุคคลต่างๆรอบตัวเขา ทว่าอนิจจา ความรักความชื่นชมเหล่านั้นดูเหมือนจะตั้งอยู่บนเงื่อนไขบางอย่างอยู่เสมอ และไม่ใช่ “ของจริง” สำหรับโวล์ฟกัง ทั้งจากพ่อ ภรรยา และชิคาเนเดอร์กับเพื่อนฝูงในเวียนนาขอบพระคุณภาพจากเพจมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท! https://www.facebook.com/MozartMusicalWien/ พ่อ คือเลโอโปลด์ เป็นตัวละครหลักที่มีบทพูดและร้องในเรื่องโมสาร์ท!เยอะรองจากโวล์ฟกัง เขาบอกลูกชายบ่อยๆว่ารักมาก เห็นได้จากเพลง "ไม่มีใครรักลูกเท่าพ่อ" ที่ร้องซ้ำไปมาตลอดเรื่อง ตั้งแต่โวล์ฟกังยังเด็ก เลโอโปลด์เป็นคนฝึกสอนด้านดนตรีและมารยาทในราชสำนักต่างๆให้ รวมถึงพาไปตระเวนแสดงไม่หยุด แม้ว่าตอนเป็นเด็กเล็ก โวล์ฟกังจะแสดงจนเหนื่อยมากและมักหลับคาเปียโนก็ตาม เพราะเลโอโปลด์รู้ดีว่า เวลาแห่งการเป็นเด็กอัจฉริยะของลูกชายนั้นแสนสั้น และครอบครัวโมสาร์ทต้องรีบตักตวงให้มากที่สุด เลโอโปลด์กล่าวว่า “ตอนนี้ลูกเป็นเด็กเล็ก จึงมีเสน่ห์ให้คนมารุมดู แต่ไม่นานลูกจะโตขึ้น และกลายเป็นเพียงนักดนตรีผู้ใหญ่ธรรมดาๆคนหนึ่ง ท่ามกลางนักดนตรีเก่งๆอีกหลายคน พ่อล่ะอยากให้ลูกคงเป็นเด็กเสียตลอดไปเลยก็ดี!”จะเห็นว่า ความรักความชื่นชมของเลโอโปลด์ต่อโวล์ฟกัง จึงมีพื้นฐานจากสถานะของเด็กอัจฉริยะที่เป็น “ตัวหารายได้” ของครอบครัว ความสามารถพิเศษของโวล์ฟกังมีมูลค่าไม่น้อย เป็นเหตุผลทำให้เลโอโปลด์ทั้งรัก ห่วง คาดหวัง และพยายามทำให้ลูกชายดูเป็นเด็กกว่าอายุจริงเพื่อยืดเวลาหาเงินให้นานที่สุด ส่งผลให้โวล์ฟกังตอนเริ่มเป็นหนุ่มจะเป็นคนไม่มีวุฒิภาวะ และเชื่อฟังคำชักจูงของคนรอบตัวอย่างง่ายๆเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตอนที่โวล์ฟกังออกจากวังซาลส์บวร์กและแอนนามาเรียป่วยตาย เลโอโปลด์โกรธและเสียใจมาก เขาวางแผนมาตั้งแต่ลูกชายยังเด็กให้เป็นนักดนตรีหลวงของโคลโลเรโด และคิดว่าโวล์ฟกังไม่ควรเสี่ยงทำอะไรทั้งนั้น นอกจากกลับไปขอโทษโคลโลเรโดด้วยกัน บารอนเนสแห่งวาล์ดชเต็ทเทน หนึ่งในผู้ชื่นชมความสามารถของโวล์ฟกัง ได้เข้ามาขัด และแนะนำให้โวล์ฟกังไปเวียนนาบารอนเนสเล่านิทานเปรียบเทียบว่า แม้เลโอโปลด์จะเป็นเหมือนกับกษัตริย์ที่แก่และผิดหวังกับโลก จึงสอนเจ้าชายซึ่งเป็นลูกของตนว่า “ข้างนอกนั่นลูกจะล้มเหลวแน่ เหมือนกับที่พ่อเคยเป็น พ่อสร้างกำแพงไว้สูงและลงกลอนประตูสวนไว้เสมอก็เพื่อปกป้องลูกนะ . . . แต่ความโหยหาในตัวเจ้าชายร้องบอกว่า เขาต้องไป! เพราะบางครั้งในยามค่ำคืน ทองคำก็โปรยปรายลงมาจากดวงดาว เธอจะพบมันได้ข้างนอกนั่น ในที่ที่ไม่มีใครเคยไปถึง” นางคิดว่า เลโอโปลด์จำเป็นต้องปล่อยโวล์ฟกังไปมีชีวิตแบบที่เลือกเอง และเผชิญอันตรายด้วยตัวเองคนเดียวบ้าง โวล์ฟกังจะได้วัดฝีมือกับยอดนักดนตรีคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เลโอโปลด์ยังคงปฏิเสธขอบพระคุณภาพจากเพจมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท! https://www.facebook.com/MozartMusicalWien/ โวล์ฟกังยอมอยู่ในเมืองใกล้พ่อไม่นาน ก็หนีไปเวียนนา ความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกยิ่งมึนตึง เมื่อโวล์ฟกังแต่งงานและประสบความสำเร็จในเวียนนากับคณะละครของชิคาเนเดอร์ จนได้แสดงเฉพาะพระพักตร์จักรพรรดิ บารอนเนสได้เชิญเลโอโปลด์มาเวียนนาเพื่อชมการแสดงของโวล์ฟกังกับนาง แต่เลโอโปลด์กลับยิ่งโกรธและขมขื่นมากขึ้น ที่ไม่เห็นโวล์ฟกังล้มเหลวและเจ็บปวดอย่างที่ตนเตือนไว้ ตอนนี้ลูกชายสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีพ่อคอยนำทางอย่างเก่า เขากล่าวว่า “ฉันอุตส่าห์กลืนศักดิ์ศรีมาหาลูกถึงเวียนนา เพราะคิดว่าเขาจะหลงทางถ้าไม่มีฉัน แต่ปรากฏว่าเขาเจิดจรัสอยู่ในแสงไฟเวที ในขณะที่ฉัน ผู้เป็นพ่อและครู กลับอยู่ในเงามืด” แสดงให้เห็นว่า ความ “ปีกกล้าขาแข็ง” ของโวล์ฟกังไม่ทำให้เลโอโปลด์พอใจเลย เขารักลูกชายก็แต่เมื่อลูกทำตามแผนที่เขาหวัง เชื่อฟังคำสั่งอย่างตอนเป็นเด็ก และเขาสามารถอ้างบุญคุณหรือความภาคภูมิใจที่ทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้เท่านั้น เลโอโปลด์ดุด่าโวล์ฟกังอย่างแรงและจากไป เขาไม่ยอมเจอหน้าลูกชายอีกเลยจนตลอดชีวิตที่เหลือความเจ็บปวดของโวล์ฟกังสื่อออกมาดีที่สุดผ่านเพลง "ทำไมพ่อถึงรักผมไม่ได้" เขาบอกพ่อในจินตนาการของตัวเองว่า “ผมเป็นของผมอย่างนี้ ผมหิวโหยความสุข ผมเอื้อมออกไปคว้าทุกโอกาสทุกช่วงเวลา ผมเสียสละการใช้ชีวิต[ให้เป็นตามที่พ่อสั่ง]ไม่ได้ และผมก็ไม่อยากทำอย่างนั้น เด็กน้อยที่ผมเคยเป็นยังคงมีชีวิตอยู่ในตัวผมเสมอ แล้วเขาก็ถาม เหมือนกับที่ผมถาม ว่าทำไม...พ่อถึงรักผมอย่างที่ผมเป็นไม่ได้” เราคิดว่าการแสดงของอูโด คาร์พุช เล่นออกมาได้กดดันและน่าสงสารมาก ๆ ผ่านสีหน้าท่าทางขณะคลานลงไปกับพื้น และการหนีไปพิงเปียโนของตัวเองที่ใช้ในโรงละครชิคาเนเดอร์ แสดงให้เห็นว่าการแสดงฝีมือทางดนตรีเป็นตัวตนของเขา มันสำคัญกับเขามากเกินกว่าจะแลกกับความรักของพ่อ แต่ความจริงแล้ว เขาในฐานะลูกไม่ควรจะถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างสองอย่างนี้ความรักแบบมีเงื่อนไขที่ทำให้โวล์ฟกังรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองหรือไม่เป็นอิสระ ปรากฏอีกในความสัมพันธ์ของเขากับภรรยา คอนสตานเซอ เวเบอร์ ซึ่งมาจากครอบครัวที่ยากจนและชอบคดโกง ในตอนแรก ครอบครัวเวเบอร์ซึ่งเป็นนักร้องยิปซีบังเอิญเจอกับโวล์ฟกังที่เมืองมันไฮม์ และเข้าใจว่าเขามีเงินมาก จึงพยายามเสนอลูกสาวหนึ่งในสี่คนให้แต่งงานด้วย โวล์ฟกังเลือกคบหากับลูกสาวคนที่สามคือคอนสตานเซอ แต่ก็ไม่ขอเธอแต่งงานสักที แม่ของเธอคือ เซซิเลีย จึงจัดการวางแผนให้คอนสตานเซอไปนอนบนเตียงของโวล์ฟกัง และขู่เขาว่าจะแจ้งตำรวจมาจับข้อหาล่อลวงลูกสาวของนางไปข่มขืน ถ้าหากโวล์ฟกังไม่ยอมแต่งงานด้วย ละครไทยไปอีก!เซซิเลียบังคับให้โวล์ฟกังเซ็นสัญญาแต่งงานกับคอนสตานเซอ และจ่ายค่าเลี้ยงดูเป็นรายปีให้กับครอบครัวเวเบอร์ค่ะ โวล์ฟกังจำใจยอมเพราะรักคอนสตานเซอมาก แต่ถึงแม้ว่าคอนสตานเซอจะรักเขาเช่นกัน และแอบฉีกสัญญาค่าเลี้ยงดูนั้นเพราะเธอไม่ได้หวังเงินของเขามากเท่าเซซิเลีย ทว่าคอนสตานเซอก็ไม่สามารถห้ามแม่มาขอเงินโวล์ฟกังเป็นระยะๆได้ ยิ่งไปกว่านั้น คอนสตานเซอเป็นผู้หญิงยิปซีที่ไม่ยอมทำงาน เธอผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อพบว่าสามีของเธอไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ดีนัก อีกทั้งชอบเที่ยวกลางคืนและเล่นพนันกับเพื่อนๆในเวียนนา บางครั้งก็หมกมุ่นกับการแต่งเพลงจนไม่ได้ใส่ใจเธอขอบพระคุณภาพจากเพจมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท! https://www.facebook.com/MozartMusicalWien/ แทนที่จะเตือนสติสามีและปรับปรุงตัวเองไปด้วย คอนสตานเซอกลับคิดว่า “ฉันชอบที่จะโยกย้าย โบยบิน และผจญภัย . . . ถ้าหากวันหนึ่งสามีฉันตาย ฉันก็จะไว้อาลัยให้เขาในแบบของฉันเอง แต่อย่าหวังเลยว่าฉันจะไปยืนร้องไห้ที่หน้าหลุมศพของเขา! เพราะที่ไหนสักแห่ง มีใครบางคนกำลังเต้นรำอยู่เสมอ คงโง่มากหากจะพลาดความสนุกนั้นไป” คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าหญิงสาวคิดต่างจากชาวคาทอลิกในยุคนั้น เธอพร้อมจะทิ้งโวล์ฟกังไปมากกว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาของชีวิตแต่งงาน หากว่ามีที่อื่นหรือคนอื่นที่ดีกว่า และสุดท้ายเธอก็ทำเช่นนั้นจริงๆ เมื่อพบว่าโวล์ฟกังหลับนอนกับผู้หญิงคนอื่นในเวลาทำงานที่โรงละคร โวล์ฟกังรู้สึกผิดแต่ก็เป็นอิสระจากครอบครัวเวเบอร์ไปพร้อมๆกันผู้ที่สนับสนุนให้โวล์ฟกังนอกใจคอนสตานเซอ คือ ชิคาเนเดอร์ เขาได้ช่วยโวล์ฟกังมาตลอดและดูเหมือนจะเป็นเพื่อนที่ดี แต่ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ชิคาเนเดอร์มีให้ชายหนุ่มก็ตั้งอยู่บนเงื่อนไข นั่นคือก็ผลงานและเงินรายได้ที่มาตรงเวลาและสม่ำเสมอ เพื่อนๆคนอื่นในเวียนนาของโวล์ฟกังก็เช่นเดียวกัน พวกเขาช่วยกันโน้มน้าวให้โวล์ฟกังใช้เงินสังสรรค์และช่วยเหลือพวกเขาแทนที่จะส่งไปให้พี่สาวที่ซาลส์บวร์ก ในองก์ที่ 2 เพลง "ดนตรีแห่งมิตรภาพ" และขอให้โวล์ฟกังอยู่กับพวกเขาแทนที่จะกลับไปหาคอนสตานเซอที่บ้าน ชิคาเนเดอร์ยังส่งนักแสดงสาวสวยสองคนไป “สร้างแรงบันดาลใจ” แก่โวล์ฟกัง ทำให้คอนสตานเซอโกรธจัดและจากเขาไป เขาพยายามจะตามไปขอคืนดี แต่ชิคาเนเดอร์กลับขวางไว้ พร้อมกับสอนว่า “ศิลปินอย่างเราจะถูกล่ามไว้ด้วยสายผ้ากันเปื้อนของผู้หญิงคนเดียวไม่ได้ ทำงานเถอะพ่อหนุ่มที่รัก”จะเห็นได้ว่า โวล์ฟกังเปลี่ยนฐานะจากตัวทำเงินของพ่อ มาเป็นตัวทำเงินของครอบครัวเวเบอร์ และตัวทำเงินของคณะละครชิคาเนเดอร์ ความสัมพันธ์กับผู้คนทั้งหลายในชีวิตของเขาล้วนแต่โคจรอยู่รอบผลประโยชน์ที่พึงหาได้จากอัจฉริยภาพทางดนตรี พรสวรรค์นี้ส่งผลให้ไม่มีใครรักเขาจริงๆเลย มันดึงดูดแต่ความจอมปลอม โวล์ฟกังพูดกับตัวเองอย่างเจ็บปวดในปารีสว่า “เธอหลงคิดว่าความรักคงจะมีอยู่จริงที่ไหนสักแห่ง ทีแรกเธอก็ร้องไห้ด้วยความสิ้นหวัง จากนั้นเธอก็พยายามเชื่อคำพูดโกหก[ว่ารัก]เหล่านั้น แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็โดดเดี่ยว โดดเดี่ยวอย่างอัปรีย์!”นอกจากความรักความชื่นชมที่มีเงื่อนไขจากบุคคลรอบข้างเหล่านี้แล้ว ในช่วงท้ายของชีวิตโวล์ฟกัง เขายังได้พบความรักอันเสแสร้งแบบใหม่เพิ่มมาอีกค่ะ ผ่านชื่อเสียงในสังคมเวียนนา เพราะเมื่อประสบความสำเร็จกับอุปรากร ชื่อของโวล์ฟกัง โมสาร์ท ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วเมืองทันที ทีแรกโวล์ฟกังมีความสุขกับเสียงปรบมือและ “ความรัก” ที่ได้รับจากผู้ชมอย่างมาก แต่ไม่นานนักก็รู้สึกกดดัน เพราะความรักจากผู้ชมนั้นมีเงื่อนไขอีกเหมือนกัน คือต้องการผลงานที่ยอดเยี่ยมและมาใหม่อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งเขาสร้างเพลงที่ไพเราะไว้มากเท่าไร ความคาดหวังของสังคมก็ยิ่งสูงขึ้น เพลงต่อไปก็ยิ่งจะต้องน่าตื่นตะลึงขึ้นไปอีก ความกดดันทั้งหมดนี้ทำให้โวล์ฟกังมีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ และหวาดระแวง แทบจะกลายเป็นบ้าไปช่วงหนึ่งชื่อเสียงในสังคมยังนำมาซึ่งความอิจฉาริษยาจากชนชั้นสูงของเวียนนาหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่ก่อน โดยเฉพาะพวกนักดนตรีด้วยกัน คนส่วนใหญ่เสแสร้งเป็นมิตรกับเขา แต่ในใจก็กำลัง “ลุ้นให้พลาด” เพื่อจะได้หัวเราะเยาะ นินทากันอย่างสนุกปาก หรือแกล้งทำเป็นสงสารให้คนเห็นว่าตนมีเมตตา จากนั้นไม่นานก็จะลืมเขาไป และสอดส่ายสายตาหาข่าวนินทาที่น่าสนใจเรื่องใหม่ ในเพลง "ที่นี่ ณ กรุงเวียนนา" บารอนเนสแห่งวาล์ดชเต็ทเทนและคนในโรงละครได้อธิบายว่า “ที่นี่ ณ กรุงเวียนนา ที่ซึ่งผู้คนปลาบปลื้มปรีดาเมื่อคนยิ่งใหญ่ล้มลง . . . มารยาทสูงสุดก็คือความเสแสร้ง . . . คนจะจุมพิตมือกันก่อน จากนั้นก็แทงข้างหลัง . . . พวกเขารักก็แต่เฉพาะสิ่งที่ตายไปแล้ว” นั่นก็เพราะความสำเร็จเป็นที่น่าอิจฉาอยู่เสมอ ยกเว้นว่าเจ้าของความสำเร็จจะไม่มีตัวตนอยู่แล้วก็เท่านั้น การที่โวล์ฟกังพยายามคงไว้ซึ่งความรักความชื่นชมจากผู้ชมและสังคมเวียนนาจึงเป็นไปไม่ได้ และจะสร้างศัตรูให้ตัวเอง ตราบที่เขามีชีวิตอยู่ขอบพระคุณภาพจากเพจมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท! https://www.facebook.com/MozartMusicalWien/ โวล์ฟกังตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ในครึ่งหลังขององก์ที่ 2 ว่า ความรักที่เขาได้รับจากผู้ชมและสังคมก็ไม่ใช่ของแท้อีกเหมือนกัน และดำดิ่งสู่ความหดหู่ซึมเศร้า เพราะชายหนุ่มเข้าใจแล้วว่าคงจะไม่มีความรักแบบที่เขาตามหาอยู่บนโลกนี้จริงๆ ทว่าในขณะเดียวกันเขาก็ได้บทเรียนที่มีค่า คือ “แทนที่จะพยายามทำให้โลกพอใจ ฉันควรเป็นตัวเอง” หลังจากประกาศเช่นนี้แล้ว โวล์ฟกังถอดเสื้อสูทสีขาวเนื้อบางออก เหลือแต่เสื้อแขนยาวสีขาวตัวในที่บางยิ่งกว่า เนื่องจากสูทเป็นเครื่องแต่งกายแบบทางการ ใช้สวมใส่เมื่อเข้าสถานที่ของชนชั้นสูง รวมถึงขึ้นเวทีอุปรากรเพื่อรับเสียงปรบมือ การถอดสูทออกจึงเป็นเสมือนการลอกเปลือกพรสวรรค์ทางดนตรีที่ผู้คนมองเห็นและยอมรับในสังคมออกไป เหลือแต่ตัวตนของโวล์ฟกัง ผู้ซึ่งบัดนี้พยายามจะพึ่งพาความรักแท้จากตัวเองเท่านั้นโมสาร์ท!ได้แสดงด้านลบของความเป็นอัจฉริยะให้ผู้ชมเข้าใจได้อย่างน่าอึดอัด หดหู่ และหงอยเหงาวังเวง ด้วยการแสดงด้านของความเป็นคนธรรมดาๆของโวล์ฟกังที่ต้องการความรัก ความสัมพันธ์จริงใจกับคนรอบข้างอยู่ตลอด แต่เพราะพรสวรรค์ทางดนตรีเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาล ทำให้ทุกคนในชีวิตของโวล์ฟกังติดกับดักแห่งความโลภโดยอัตโนมัติ หรือไม่ก็จับจ้องเขาเขม็งราวกับจะพิสูจน์ว่าเขาเป็นเทพหรือของขวัญมหัศจรรย์จากพระเจ้าจริงหรือไม่ ทว่าไม่มีใครเลยมองเห็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่มีจิตใจและเลือดเนื้อ ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวละครอัจฉริยะกลับกลายเป็นเหยื่อผู้น่าสงสารที่สุดในเรื่องเลยค่ะ เราคิดว่า นี่เป็นเครื่องเตือนสติผู้ชมให้ปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยความเข้าใจและเมตตาในฐานะมนุษย์เสมอ ไม่ว่าจะเก่งกล้าสามารถเพียงใด คนทุกคนก็ปรารถนาความรัก... ขอแค่รักจริงๆอย่างที่เขาเป็นส่วนด้านดนตรี เนื่องจากเรื่องนี้เป็นมิวสิคัลเนอะ ความเห็นเราคือ ฝีมือประพันธ์และกำกับดนตรีของเลอเวย์ในโมสาร์ท!สมบูรณ์พร้อมจริง ๆ ด้วยความกล้าหาญที่ใช้สไตล์ทันสมัย มาผสมผสานกับบทเพลงอมตะจากคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของโมสาร์ท ทำให้ผู้ชมรู้สึกเข้าถึงตัวละครประวัติศาสตร์เช่นโวล์ฟกังในฐานะมนุษย์ (คือมันไม่ได้โบราณไปหมด สไตล์ดนตรีหรือเครื่องดนตรีที่ดูผิดยุคผิดวัฒนธรรมมากๆ กลายเป็นสิ่งที่มาดึงความเป็นมนุษย์อันคงอยู่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าเกิดชาติไหน ศักราชไหน ให้กระเด้งออกมาจากตัวละคร) และด้วยความลุ่มลึกที่คัดสรรเล่นเพลงโมสาร์ทตามช่วงชีวิตจริงตอนประพันธ์ ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดจนตาย ลอกเปลือกที่สวยงามไพเราะซึ่งโลกยกย่องมานานออกไป เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นบริบทชีวิตที่น่าเวทนาและไร้รักแท้ของอัจฉริยะทางดนตรีผู้นี้ เราพูดได้อย่างเต็มปากว่า นี่เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งของเลอเวย์ เป็นการพบกันของดนตรีแบบเก่าและใหม่ที่ทรงพลังจับใจขอบพระคุณภาพจากเพจมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท! https://www.facebook.com/MozartMusicalWien/ เราขอแนะนำมิวสิคัลเรื่องโมสาร์ท!กับใครก็ตามที่หมายมั่นปั้นมือว่า จะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะ เพื่อจะได้เห็นแง่มุมชีวิตที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง และลองชั่งน้ำหนักว่า พรสวรรค์อันยิ่งใหญ่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาหรือไม่ ลาภยศสรรเสริญและหนทางสู่การมีชื่ออมตะก้องโลกนั้นอาจจะมีข้อควรระวังอย่างไร ศิลปะการแสดงที่ดีทำให้เราทั้งหลายสามารถเข้าใจเรื่องราวของมนุษย์ที่มีชีวิตแตกต่างออกไปได้ลึกซึ้งนะคะ ดีใจไปพร้อมกัน เจ็บปวดไปพร้อมกัน ยิ่งเมื่อเป็นละครเวทีที่เล่นสดเช่นนี้ ยิ่งสมจริงราวกับว่าเราได้ประสบเหตุการณ์บนเวทีเองก็ไม่ปาน แล้วผู้ชมแต่ละคนก็ขบคิดตีความแตกต่างกันไป โมสาร์ท!จะทำให้ดีใจหรือเจ็บปวด หรือว่าสอนอะไรบ้าง เพื่อน ๆ ทุกคนต้องไปรับชมและค้นพบคำตอบด้วยตนเองค่ะ