มิตรภาพในตรอกซอย : ความงามของภาษาและการค้าแบบทุนนิยม มิตรภาพในตรอกซอย เป็นหนึ่งในบทกวีนิพนธ์จากหนังสือรวมเล่มกวีนิพนธ์ “บ้านเก่า” ของคุณโชคชัย บัณฑิต กวีซีไรต์ปี 2544 โดยในเล่มจะประกอบด้วยบทกวี 41 เรื่อง สร้างสรรค์โดยใช้คำประเภทกลอนเป็นส่วนใหญ่ เนื้อหาในเล่มจะมุ่งสะท้อนสภาพสังคมเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสบริโภคนิยมหรือระบบทุนนิยมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงถึงชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรมของมนุษย์ สาเหตุที่คุณโชคชัย บัณฑิต ได้สอดแทรกเรื่องระบบทุนนิยมในกวีนิพนธ์เล่มนี้ เนื่องจากในช่วงปี 2540 – 2542 ได้เกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียหรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศไทยภาพถ่ายโดย พรปรภา เนื้อหาเฉพาะในเรื่อง “มิตรภาพในซอยเดียวกัน” จะนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องร้านขายของชำ และร้านมินิมาร์ทที่เกิดขึ้นในตรอกซอยของชุมชนต่าง ๆ แต่เดิมในชุมชนมีแค่ร้านขายของชำเวลาผ่านไปมีร้านมินิมาร์ทเกิดขึ้น ตามกระแสบริโภคนิยมหรือระบบทุนนิยม โดยมีการกล่าวเปรียบเทียบว่ามินิมาร์ทมีความสะดวกสบาย มีแอร์ที่ช่วยดับร้อน มีบัตรสมาชิกให้สะสม และมีกลยุทธการค้าที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ดีกว่าร้านขายของชำ โดยมีจุดประสงค์เพียงต้องการให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงมิตรภาพและน้ำใจไมตรีของร้านขายของชำ เพราะบางร้านมีการเปิดขายมานานย่อมมีความผูกพันอย่างยิ่งกับคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้ร้านขายของชำสามารถพ้นจากกระแสบริโภคนิยมและสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ส่วนด้านการใช้ภาษาในบทกวีก็มีความโดดเด่นด้วยเช่นกัน โดยมีการเล่คำเพื่อให้เกิดความไพเราะ “ขลุกขลิกขลุกขลักไร้ศักด์ดา” และมีการใช้คำจินตภาพ คือการใช้คำเพื่อเกิดภาพ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตามได้อย่างชัดเจน ในข้อความ “อาจจะเป็นขาจรร้อนเหงื่อซิก” ทำให้เห็นภาพอากาศที่ร้อนจนเหงื่อไหลหยด นอกจากนี้ยังพบการใช้โวหารหลายรูปแบบ รูปแบบที่หนึ่งการใช้บุคลาธิษฐาน คือ การเปรียบสิ่งไม่มีชีวิตให้มีชีวิต “ฉกขาประจำของชำเรา” คือการเปรียบร้านสะดวกซื้อหรือมินิมาร์ทที่ไม่มีชีวิตว่ามาแย่งลูกค้าประจำของร้านขายของชำไป “เสนอตัวปากออกชอกอับเฉา” และ “ร้านขายของชำแสนชำชอก” คือการเปรียบให้ร้านขายของชำมีชีวิตและความรู้สึกเหมือนมนุษย์ รูปแบบที่สองพบการใช้โวหารอุปลักษณ์ คือการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง “เป็นไม้ต่อยอดย่อมรอดง่าย ไม้ชำต่อใต้ใบงอหงิก” เป็นการเปรียบเทียบร้านมินิมาร์ทว่าเป็นต้นไม้ที่มีการแตกยอดย่อมมีโอกาสรอดง่าย และเปรียบร้านขายของชำเป้นไม้ปักชำที่มีใบงอหงิก ย่อมมีโอกาสรอดได้ยากตามกระแสบริโภคนิยมเช่นนี้ รูปแบบสุดท้ายการใช้โวหารอติพจน์ คือ การกล่าวเกินจริง “เดินออกปากซอยแทบสิ้นขา” จะเห็นได้ว่าทั้งการเล่นคำและการใช้โวหารเพื่อทำให้เกิดภาพลักษณ์ต่าง ๆ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจน และเกิดความรู้สึกร่วมไปกับบทกวีด้วย บทกวีนิพนธ์ “มิตรภาพในตรอกซอย” นอกจากจะให้คุณค่าด้านภาษาแก่ผู้อ่านแล้วยังให้ข้อคิดในเรื่องรักษามิตรภาพและการมีน้ำใจต่อผู้อื่น ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินกับความงามของภาษา พร้อมทั้งได้รับความรู้และข้อคิดดี ๆ ด้วยเช่นกันภาพถ่ายโดย pexels.comภาพถ่ายโดย pexels.comภาพถ่ายโดย pexels.comภาพถ่ายโดย พรประภา