อ่านหนังสือเรื่อง คำพิพากษา งานรางวัลซีไรต์ที่ยังคงให้แง่คิดทุกยุคทุกสมัย นิยายไทยเรื่องคำพิพากษาของอาจารย์ชาติ กอบจิตตินั้น สะท้อนสังคมแห่งการตัดสินคนจาก ‘ปาก’ และ ‘เปลือก’ อันฉาบฉวยอย่างแท้จริง ตัวละครทั้ง ฟักและสมทรงนั้นตกเป็นเหยื่อคำนินทาว่าร้ายเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันผิดบาปที่คนรอบข้างเข้าใจว่าเกิดขึ้น ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้ยินคำพูดทำนองดูถูกเหยียดหยาม สายตาที่มองมาในเชิงว่ารู้ทันของทุกคนรอบตัวฟัก ว่าฟักนั้น ‘เอาแม่เลี้ยงสติไม่สมประกอบทำเมีย’ เรื่องเข้าใจผิดต่าง ๆ นานา ของฟักได้เปลี่ยนชายหนุ่มที่เคยเป็นตัวอย่างที่ดีของคนในหมู่บ้านให้กลายเป็นเพียงแค่สัตว์เดรัจฉานตัวหนึ่งที่ทุกต่างพากันรังเกียจ ฟักกลายเป็นคนไร้เพื่อนไร้อนาคตไม่มีใครหรือผู้ใดในหมู่บ้านที่อยากจะคบหาหรือรับฟังคำอุทธรณ์ใด ๆ จากชายหนุ่มผู้นี้ คำพิพากษาจากคนในสังคมเกี่ยวกับตัวฟักนั้น สุดท้ายได้นำพาฟักผู้สิ้นหวังไปสู่จุดจบที่น่าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งขอบคุณภาพจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%... นิยายเรื่องคำพิพากษา ถือได้ว่าชื่อเรื่องนั้นตอบโจทย์ของเนื้อหาได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ เพราะทั้งเนื้อหาของเรื่องนั้นเน้นหนักไปที่ถ้อยคำหรือคำพูดของทุก ๆ คนในหมู่บ้านของฟักที่มีต่อตัวฟักและสมทรง บรรดาถ้อยคำและคำพูดของทุกคนรอบข้างแน่นอนว่าไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงในสิ่งที่ดี ๆ อันจะเกิดประโยชน์กับตัวฟักและสมทรง แน่นอนว่าสมทรงที่เป็นคนไม่สมประกอบย่อมไม่นำพาหรือยินดียินร้ายในถ้อยคำว่ากล่าวนั้น ผิดกับฟักที่เก็บทุกน้ำเสียงและถ้อยคำที่พิพากษาตัวเขามาใส่ใจและเป็นทุกข์จนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต นิยายเรื่องคำพิพากษาจึงทำให้เราได้กลับมาขบคิดประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งว่าที่จริงแล้ว ใครกันแน่ที่มีสิทธิ์ตัดสินพิพากษาว่าตัวเราเป็นคนแบบไหน ตัวของคนรอบข้าง...หรือว่าตัวของเราเองกันแน่ ? แล้วถ้าหากฟักสามารถก้าวผ่านบรรดาถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามเขาเหล่านั้น เส้นทางสุดท้ายของฟักจะไม่ใช่หนทางสู่ความตายหรือเปล่า ? มีอีกประเด็นที่น่าขบคิดเกี่ยวกับนิยายเรื่องคำพิพากษานี้ จะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องทั้งหมดบรรยายผ่านการเล่าของฟัก ทุกการกระทำ ทุกคำพูดของคนรอบตัวถูกส่งผ่านโดยการบอกเล่าของฟัก ดังนั้น หากแนวคิดและคำสอนของนิยายเรื่องคำพิพากษาต้องการชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมของสังคมที่ตัดสินคนจากสิ่งที่เห็นอย่างฉาบฉวยและใช้ถ้อยคำพิพากษาผู้คนให้ไปพบจุดจบได้ เราก็น่าจะนำคำพูดและมุมมองของฟักมาพิจารณาให้ลึกซึ้งได้เช่นเดียวกัน บางทีฟักอาจจะบิดเบือนความจริงหรือใส่ร้ายคนรอบข้างเกินความจำเป็นผ่านมุมมองและถ้อยคำของตัวเองอยู่หรือเปล่า เราจะเชื่อฟัก คนที่เป็นผู้ส่งสารเพียงคนเดียวในเรื่องได้มากน้อยแค่ไหนในเมื่อนิยายเรื่องคำพิพากษาได้ชี้ให้เห็นความโหดร้ายของ ‘ปาก’ ที่พ่นออกมาจากความนึกคิดโดยอคติ และ ‘เปลือก’ อันเป็นสิ่งห่อหุ้ม ที่ไม่ได้แสดงถึงสิ่งที่แท้จริงภายในแต่กลับถูกนำมาตัดสินว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ผ่านเปลือกที่เห็นอยู่ภายนอกขอบคุณภาพจาก : https://www.se-ed.com/product/%E0%B8%... อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริงเท็จของข้อมูลผ่านมุมมองผู้เล่าเพียงคนเดียวอย่างฟักทำให้ไม่ค่อยเชื่อถือในชะตากรรมของฟักสักเท่าไหร่ แต่นิยายเรื่องคำพิพากษาก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่น่าอ่านมาก ๆ หากใครชอบถ้อยคำภาษาที่ดูจริง มีความดิบเถื่อนในถ้อยคำ สื่อสารผ่านภาษาง่าย ๆ แม้ไม่ต้องบรรยายพรรณนาโวหารให้มากความแต่กลับมีความลึกซึ้งและแฝงปรัชญาซ่อนอยู่ตามสไตล์อาจารย์ชาติ กอบจิตติ ก็ขอแนะนำให้ลองอ่านดูสักครั้งเพราะโดยส่วนตัวไม่ชอบนิยายที่มีภาษาเวิ่นเว้อหรือให้ภาพเกินจริง วิธีการเล่าเรื่องของอาจารย์ชาติถือว่าชนะขาดเรื่องความชอบในด้านนี้ ภาษาง่าย ๆ ติดจะหยาบคายสไตล์บ้าน ๆ เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ทำให้เนื้อเรื่องคำพิพากษาน่าติดตามไม่แพ้นิยายภาษาสวย ๆ เลยทีเดียวภาพปก : https://hobbitonsite.wordpress.com/...