สวัสดีค่ะพบกับญาณาราในบทความหัวข้อใหม่ที่จะพาทุกคนไปท่องโลกวรรณคดีและวรรณกรรมกับ “ว้าว! วรรณคดี” ซึ่งหัวข้อในตอนนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณี นิทานคำกลอนของกวีเอกแห่งสยามประเทศนั่นคือท่านสุนทรภู่ค่ะ แต่เพื่อน ๆ เคยลองคิดเล่น ๆ ไหมคะว่าทำไมนางเงือกพูดกับพระอภัยมณีได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เผ่าพันธุ์เดียวกัน เรามาหาคำตอบของประเด็นนี้กันเลยค่ะ พอพูดถึง “เงือก” เด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ ลงมาหน่อยก็จะนึกถึงเจ้าหญิงแอเรียลจาก Little Mermaid เจ้าหญิงเงือกตัวน้อยที่มีผมสีแดงและหางสีเขียวจากค่ายดิสนีย์ แต่พอโตขึ้นมาหลายคนก็จะได้รู้จักเงือกจากวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณีและรามเกียรติ์ จากแบบเรียนภาษาไทยที่กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกบางช่วงบางตอนมาให้อ่าน ซึ่งเงือกจากพระอภัยมณีก็ที่แน่ ๆ เลยคือ นางเงือก ภรรยาของพระอภัยมณีและแม่ของสุนทรภู่ และครอบครัวเงือกของเธอ ส่วนรามเกียรติ์ก็จะเป็นนางสุวรรณมัจฉา ลูกของฝั่งตัวร้ายคือ ทศกัณฑ์กับนางปลา และนางก็เป็นภรรยาของหนุมานและแม่ของมัจฉานุ ลูกครึ่งลิงและปลา ความว้าว! ของ “เงือก”ฉบับท่านสุนทรภู่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถของตัวละครที่เป็นเงือกได้ละเอียดระดับหนึ่งเลย ในตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร ที่หลายคนไม่ทันสังเกตว่าท่านสุนทรภู่ได้ระบุความสามารถในการสื่อสารของเงือกตัวละครหลักกับเงือกทั่วไปเอาไว้ และนี่ก็ได้กลายเป็นประเด็นที่เราจะมาวิเคราะห์กันค่ะ ตอนที่สินสมุทรจับเอาเงือกตัวหนึ่งขึ้นมาให้พระอภัยมณีดู พระอภัยมณีจึงได้พูดคุยกับคุณเงือกตนนั้นเพื่อปรึกษาเรื่องจะหนีจากนางผีเสื้อสมุทร เพราะคิดว่าคุณเงือกน่าจะคุ้นชินกับที่ท้องทะเลนี้เป็นอย่างดี แล้วคุณเงือกก็เล่าถึงเรื่องทะเลให้ฟังและในระหว่างที่เล่าเรื่องทะเลนี่ล่ะค่ะก็มีช่วงหนึ่งที่กล่าวว่า “ ไปกลางย่านบ้านเรือนหามีไม่ สมุทรไทซึ้งซึกลึกหนักหนาแต่สำเภาชาวเกาะเมืองลังกา เขาแล่นมามีบ้างอยู่บางปี ถ้าเสียเรือเหลือคนแล้วนางเงือก ขึ้นมาเลือกเอาไปชมประสมศรีเหมือนพวกพ้องของข้ารู้พาที ด้วยเดิมทีปู่ย่าเป็นมนุษย์” กลอนบาทสุดท้ายนี่แหละค่ะที่ให้คำตอบได้ว่าทำไมเงือกตนนี้และครอบครัวของเขาจึงสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ ซึ่งนั่นแสดงว่าเงือกอาจจะเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเลแต่ไม่สามารถพูดภาษามนุษย์ได้ แต่พอมีเหตุให้เรือสำเภาของมนุษย์แตก เงือกบางตัวก็ได้มนุษย์มาเป็นคู่ชีวิตจากเหตุการณ์สำเภาแตก ทำให้ลูกที่ออกมาลืมตาดูโลกได้รับการสั่งสอนเรื่องภาษาจากมนุษย์ไปด้วย และเท่าที่คุณเงือกคนนี้เล่าคือแกมีอายุ 500 กว่าปีแล้ว แสดงว่าก็ต้องมีเงือกหลายตนที่มีบรรพบุรุษเป็นมนุษย์ ใช้ภาษามนุษย์ในการสื่อสารจนอาจจะขยายเป็นวงกว้าง และอย่างที่แกบอกคือ “เหมือนพวกพ้องของข้ารู้พาที” ก็คือมีแค่เงือกบางส่วนเท่านั้นที่รู้ภาษามนุษย์ อย่างนางเงือกภรรยาของพระอภัยมณีลูกในสายเลือดของคุณเงือกอายุ 500 ปีที่คุยกับพระอภัยมณีที่ญาเล่าในช่วงแรก ท่านสุนทรภู่ก็ได้บรรยายว่า “นางเงือกน้ำคำนับอภิวาท เชิงฉลาดเหมือนมนุษย์นั้นสุดเหมือนจึงตอบคำทำกระบวนแกล้งแชเชือน พระมาเยือนเยี่ยมนี้น้องดีใจ” โดยส่วนตัวญาคิดว่า “เงือก” น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่คนคิดว่าเป็นสัตว์ทั่ว ๆ ไป เหมือนปลาสายพันธุ์หนึ่งในทะเล แต่เพราะกระบวนการข้ามสายพันธุ์ของสองเผ่าพันธุ์คือมนุษย์และเงือก ทำให้กลายเป็น “เงือก” ที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถพูดคุยภาษาของมนุษย์ได้ และอาจจะเรียกได้ว่าการเรียนรู้ภาษาและความคิดจากมนุษย์นี้ ทำให้เงือกที่เป็นสัตว์ธรรมดาได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตอีก Level หนึ่งที่ไม่ได้ทำตามแค่สันชาตญาณดิบเท่านั้น แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความคิด ภาษา และสามารถฝึกฝนตนได้เทียบเท่ามนุษย์ อย่างเช่นตอนที่กล่าวถึงนางเงือกในตอนสุดท้ายว่านางนั้นหลังจากที่ลูกและสามีจากไป ก็บำเพ็ญศีลภาวนาโดยได้รับการสั่งสอนจากฤาษี เรียกได้ว่าเธอคนนี้คือขั้นสุดของการวิวัฒนาการทางสติปัญญาของสัตว์เลยก็ว่าได้ และนี่คือความพิเศษของเงือกในเรื่องพระอภัยมณีและที่มาของปริศนาทำไมเงือกถึงพูดภาษามนุษย์ได้ ประเด็นนี้ทำให้ญาเคารพความสามารถของท่านสุนทรภู่มากขึ้น ที่ถึงแม้จะเป็นนิทานคำกลอนแต่ท่านก็ได้ให้รายละเอียดของตัวละครที่ท่านสร้างขึ้น จนทำให้ผู้อ่านได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของตัวละคร และที่สำคัญคือทำให้ญาคิดต่อไปอีกว่า ท่านได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละคร “เงือก” มาจากไหน นี่ก็คงเป็นอีกปริศนาหนึ่งที่ญาอาจจะเอามาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังในโอกาสต่อไป สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ เนื้อหา : ญาณาราภาพ : Freepikข้อมูลอ้างอิงตัวบท : https://vajirayana.org/