รีวิวหนัง “Poor Things” เส้นทางผจญภัยของเด็ก(หญิง)สาว อรรถรสอบอวลด้วยเครื่องเพศ
และนี่ก็คือหนังที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 2024 ได้มากถึง 11 สาขา กลายเป็นอีกหนึ่งดาวเด่นความยอดเยี่ยมประจำปีอีกชิ้นงาน “Poor Things” หนังผจญภัยจังหวะตลกร้ายที่แสบสันต์ด้วยการตีแผ่มุมมองการเติบโตแห่งวัยได้แบบสุดจึ้ง กับงานสร้างที่เหมาะเจาะกับราคาคุยและสมมงที่ได้มีโอกาสเข้าช่วงชิงในเวทีรางวัลต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยังเป็นหนังที่ไม่ต่างกับการเป็นดาบสองคมในการนำเสนอเช่นกัน
Poor Things เป็นเรื่องราวชีวิตสุดอัศจรรย์ของ เบลลา แบ็กซ์เตอร์ หญิงสาวที่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่อีกครั้ง จากความช่วยเหลือของด็อกเตอร์ปราดเปรี่ยง กูดวิน แบ็กซ์เตอร์ ที่เก็บร่างตายทั้งกลมของเธอมาผ่าตัดนำสมองของเด็กน้อยในครรภ์มาอยู่ในร่างเธอแทน กลายเป็นการเฝ้าดูการเจริญเติบโตและการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บนโลกที่ทั้งแปลกประหลาดและน่าลุ่มหลง ผ่านสายตาของผู้หญิงที่อยากจะสัมผัสกับความอิสระของโลกใบกว้าง
ซึ่งถ้าหากว่าคุณประทับใจในผลงานหนังตลกร้ายสไตล์ป่วง ๆ แบบ The Favourite หรือ The Lobster และ The Killing of a Scared Deer หนังเรื่องนี้ก็น่าจะตรงโจทย์และรสนิยมของคุณเลย เพราะเป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับชาวกรีซที่เต็มไปด้วยกิมมิก “ยอร์กอส แลนธิมอส” ที่กลับมารังสรรค์อันสุดแสนบรรเจิดให้กับวงการอีกครั้ง กับงานสร้างที่น่าจะเป็นความท้าทายใหม่อีกชิ้นของเขาเลย ด้วยสเกลที่ยิ่งใหญ่และจัดเต็ม
Poor Things คือหนังที่สร้างมาจากนิยายคลาสสิกของ อลาสแดร์ เกรย์ ที่เคยตีพิมพ์เอาไว้เมื่อราว ๆ 30 ปีที่แล้ว โดยได้ “โทนี แมคนามารา” กลับมาช่วยเขียนบทหนังให้ หลังจากที่นักเขียนกับผู้กำกับคู่นี้เคยร่วมงานกันมาแล้วใน The Favourite ที่งานเขียนบทครั้งนั้นก็ส่งให้เขาได้เข้าชิงออสการ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งงานบทในหนังเรื่องนี้ถือว่าอัศจรรย์ใจมาก มันเบียวได้ถึงกึ๋น เบียวได้สุดทาง และเป็นความเบียวที่เต็มไปด้วยอรรถรสความสนุก ที่ประคับประคองหนังตลอดทั้งเรื่องได้อย่างแข็งแกร่ง
ต้องรับว่าพื้นฐานเรื่องราวในเรื่องนี้ค่อนข้างท้าทายไม่น้อยเลย ว่าจะทำเช่นไรให้กลายออกมาเป็นหนังที่ไม่ดูคร่ำครึเกินไป แต่ก็ไม่ต้องโจ่งแจ้งเกินเหตุ มันจึงกลายออกมาเป็นบทหนังที่สุดโต่งและสุดติ่ง เต็มไปด้วยสีสันและความกล้าบ้าบิ่นที่จะใส่ไดอะล็อกและซีเควนท์ต่าง ๆ เข้าไปอย่างดีเดือด จนกลายออกมาเป็นหนังความยาว 2 ชั่วโมงนิด ๆ ที่ไม่ใช่แนวหนังแมส แต่เอ็นจอยและสนุกไปกับมันได้ดีตลอดทั้งเรื่อง
ส่วนทางด้านงานสร้างของ Poor Things บอกเลยว่าแทบจะหาจุดให้ติได้น้อยมาก ยอร์กอส แลนธิมอส ได้ก้าวข้ามมาตรฐานเดิม ๆ ของเขาอีกครั้ง สร้างบรรทัดฐานให้กับหนังตลกแฟนตาซีได้อย่างสุดโต่ง หนังทำประทับใจในหลาย ๆ องค์ประกอบ โดยเฉพาะงานโปรดักชั่นดีไซน์, อาร์ต ไดเรกเตอร์, งานตัดต่อ และงานถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยลูกเล่นและมิติจากฝีมือช่างภาพคู่บุญ อย่าง ร็อบบี้ ไรอัน
Poor Things เล่นกับเทคนิคงานสร้างได้อย่างแพรวพราว และทุก ๆ องค์ประกอบที่หนังดีไซน์ออกมา ก็ล้วนแฝงไปด้วยความหมายที่เชื่อมโยงกับพัฒนาของตัวละครแทบจะทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีงานดีไซน์การแต่งหน้า และออกแบบเสื้อผ้าประกอบฉาก ที่ค่อนข้างมีชั้นเชิงระดับชิงรางวัลได้สบาย ๆ เมื่อองค์ประกอบต่าง ๆ มารวมกันอยู่ในหนังเรื่องนี้แล้ว มันจึงออกมาเป็นงานสร้างคุณภาพที่ต้องยกนิ้วให้
ขณะที่ฝั่งการแสดงก็คงจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นี่คืออีกหนึ่งบทบาทการแสดงที่ดีที่สุด และน่าจะเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ “เอ็มมา สโตน” นับตั้งแต่เข้าวงการมาด้วยซ้ำ แทบไม่มีอะไรต้องคัดค้านได้เลย หากว่าเธอจะซิวรางวัลนักแสดงนำหญิงได้ในทุก ๆ สถาบันอันทรงเกียรติ นี่คือการแสดงที่ทรงพลังของเอ็มมาจริง ๆ ใส่เต็ม จัดเต็ม และสุดจัดแบบคมคาย แต่ก็ยังแฝงไปด้วยพลังที่นุ่มลึก เหมาะเจาะกับคาแรกเตอร์ที่ได้รับ
เชื่อว่าเอ็มมาก็น่าจะสนุกกับการได้สวมวิญญาณในบทบาทนี้ไม่น้อย แล้วก็ยังทีมนักแสดงสมทบที่มาช่วยส่งเสริมพลังได้ดี ไม่ว่าจะเป็น “มาร์ค รัฟฟาโล”, “วิลเลม เดโฟ”, “แคทริน ฮันเตอร์” และ “รามี ยุสเซฟ” ที่มอบการแสดงส่วนเสริมที่เข้าขากับบทเด่นนำหญิงของเรื่องได้อย่างลงตัว และการได้ทีมนักแสดงระดับมืออาชีพมาได้ขนาดนี้ ถึงจะไม่เด่นเท่าเอ็มมา แต่ทุก ๆ ตัวละครก็ถ่ายทอดออกได้สำคัญ
งานประพันธ์เพลงประกอบหนัง Poor Things ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เต็มไปด้วยอรรถรสมาก นี่คือผลงานสร้างเพลงสุดจึ้งในหนังใหญ่เป็นครั้งแรกของนักประพันธ์รุ่นใหม่ “เยอร์สกิน เฟนดริซ” ที่มาพร้อมกับการดีไซน์จังหวะเพลงในอารมณ์ชวนฉงนที่ลงตัวอย่างบังเอิญกับหลาย ๆ ฉากของหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะการใช้เทคนิคเล่นกับจังหวะของเครื่องสายขนาดใหญ่ต่าง ๆ กลายเป็นเสน่ห์และความแปลกใหม่เสนาะหูอย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ถึงจะงดงามเยี่ยมยอดขนาดนั้น แต่กลับพบว่าเป็นที่น่าเสียดายหน่อย ๆ ตรงที่ Poor Things เป็นหนังที่ยังขับเคลื่อนไปด้วยการส่อเสียดและหยอกล้อกับแนวคิดเชิง Feminist ที่ปะปนไปตลอดทั้งเรื่อง อาจจะด้วยมุมมองในนักสร้างหนังที่เป็นผู้ชายนั่นเอง ทำให้วิสัยทัศน์ของหนังที่ออกมานั้น ก็ยังไม่พ้นกับการบดขยี้ประเด็นเรื่องเพศ ที่ไม่ต่างกับการมองผู้หญิงเป็นวัตถุชวนให้ความรู้สึกอึดอัดไปเสียหน่อย เชื่อว่าหากหนังเรื่องนี้มีนักสร้างเป็นผู้หญิง ทิศทางน่าจะปรับออกมาอีกทางหนึ่งเลยก็เป็นไปได้
แม้ว่าจะเป็นหนังที่ยังค่อนข้างรู้สึกระอักกระอ่วนใจเบา ๆ กับแง่มุมในการนำเสนอบางจุดเกี่ยวกับเครื่องเพศในเรื่องนี้ แต่ด้วยองค์ประกอบงานสร้างหลาย ๆ อย่างที่มันลงตัวและเหมาะเจาะ ก็พอที่จะมองข้ามและพอจะคิดว่าเป็นเจตนาที่ดีในการเลือกทิศทางเหล่านี้ในการนำเสนอ นี่จัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในหนังรางวัลที่มอบผลลัพธ์ออกมาได้ดีกว่าที่คาดคิดเอาไว้ไม่น้อย และยิ่งได้การแสดงระดับมหากาฬเสริมเข้าไปด้วย มันจึงทรงพลังไม่เบาเลย
ทั้งนี้ Poor Things มีกำหนดเข้าฉายในเมืองไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ต้อนรับความเข้มข้นของเวทีรางวัลออสการ์ที่จะเกิดขึ้น โดยบทความรีวิวนี้ผู้เขียนได้บรรยายมาจากประสบการณ์ที่มีโอกาสรับชมหนังเรื่องนี้จากในต่างประเทศ และได้ถ่ายทอดให้ผู้ชมรับรู้ในอีกหนึ่งมุมมองที่มีต่อตัวหนังเรื่องนี้นั่นเอง
ข้อมูลเกี่ยวกับหนัง: Poor Things
- ประเภท: ตลก / ผจญภัย / ดรามา
- ผู้กำกับ: ยอร์กอส แลนธิมอส
- นำแสดงโดย: เอ็มมา สโตน, มาร์ค รัฟฟาโล, วิลเลม เดโฟ, รามี ยุสเซฟ
- ความยาว: 141 นาที
- กำหนดฉายในไทย: 22 กุมภาพันธ์ 2024 (ในโรงภาพยนตร์)
Movie.TrueID METRIC: Poor Things
- ภาพรวม
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰ (8/10) - การเล่าเรื่อง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰ (9/10) - การแสดง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐ (10/10) - เทคนิคงานสร้าง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰ (9/10) - บทภาพยนตร์
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰ (8/10)
-------------------------------------
>> ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย >> https://bit.ly/3xEgdAa