"เดนเซล วอชิงตัน" ยอมรับเล่นหนังห่วยหลายเรื่อง หลังแจ้งเกิดใน Malcolm X เพราะต้องการเงิน
ขึ้นชื่อว่าเป็น เดนเซล วอชิงตัน (Denzel Washington) ย่อมต้องนึกถึงผลงานยอดเยี่ยมในโปรไฟล์ของเขาตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ จากฝีมือการแสดงหลากหลายบทบาท โดยเฉพาะการรับบทพระเอกผู้ผดุงความยุติธรรมได้อย่างเอาชนะใจผู้ชม รวมทั้งความตั้งใจในการเลือกรับบทบาทที่เขาจะทำ และทุ่มเทความใส่ใจทั้งหมดลงไปในงานที่เขาเลือกแล้วอย่างเต็มที่
แต่ความเป็นจริงก็คือ ไม่ได้แปลว่าผลงานของนักแสดงรุ่นใหญ่วัยเกือบเข้าหลัก 7 นั้นจะมีแต่ผลงานที่ดีสมบูรณ์แบบ วอชิงตันได้เปิดใจเล่ากับ The Times ว่าครั้งหนึ่งเขาเองก็เคยยุคมืดในด้านการแสดงอยู่เหมือนกัน เพราะหลังจากที่เขาโด่งดังจากรับบทใน ‘Malcolm X’ เขาก็ยอมรับแสดงในหนังห่วยหลายเรื่อง โดยเฉพาะช่วงยุค 90s จุดประสงค์ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว
“หลังจาก ‘Malcolm X’ ผมเเองเคยแสดงหนังห่วย ๆ มาหลายเรื่องเหมือนกัน ผมไม่อยากจะบอกชื่อนะ ลองไปหาดูเอาเองแล้วกัน แต่มันอยู่ในช่วงยุค 90s ทั้งนั้นแหละ เพราะว่าตอนนั้นผมมีภาระหน้าที่ ตอนนั้นผมกำลังต้องการหาเงิน”
จากอดีตเด็กวัยรุ่นไม่เอาไหนที่มีผลการเรียนย่ำแย่จนถูกไล่ออก วอชิงตันกลับมาตั้งหลักใหม่จากการเป็นนักแสดงละครเวที และค่อย ๆ มีผลงานในภาพยนตร์ในช่วงต้นยุค 80s ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกใน ‘Cry Freedom’ (1987) ก่อนจะคว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จใน ‘Glory’ (1989) ก่อนจะได้รับบทเป็น มัลคอล์ม เอ็กซ์ รัฐบุรุษนักต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวดำ ในหนัง Biopic เรื่อง ‘Malcolm X’ (1992) ผลงานกำกับของ สไปก์ ลี (Spike Lee) ซึ่งเขาก็รับบทสุดเข้มข้นนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม จนได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก
และยุค 90s คือยุคแห่งการรักษาสถานะดาราดาวรุ่ง ไปพร้อมกับการให้ความสำคัญในชีวิตส่วนตัวและครอบครัวในวัย 39 ปี จนทำให้งานของเขาช่วงนี้ส่วนหนึ่งเต็มไปด้วยหนังที่ล้มเหลวทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ตั้งแต่การรับบทเป็นอดีตตำรวจที่ไล่ล่าล้างแค้นหุ่นยนต์ฆาตกรในหนังไซไฟ ‘Virtuosity’ (1995), หนังดราม่าผู้ก่อการร้าย ‘The Siege’ (1998), หนังทริลเลอร์ไล่ล่าฆาตกรต่อเนื่องนักสะสมกระดูกใน ‘The Bone Collector’ (1999) รวมทั้ง ‘The Pelican Brief’ (1993) และ ‘The Preacher’s Wife’ (1996) ซึ่งคำวิจารณ์แทบทุกเรื่องมักจะชื่นชมการแสดงของวอชิงตัน แต่ตัวหนังโดยรวมกลับได้รับเสียงตอบรับในทางลบเป็นส่วนใหญ่
แต่หลังจากที่เขาสามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากการพลิกบทบาทมารับบทร้ายใน ‘Training Day’ (2001) ในวัยเกือบ 50 ปี วอชิงตันก็ถูกเลื่อนสถานะเป็นนักแสดงแถวหน้าที่ไม่จำเป็นต้องรับทุกงานเพื่อหาเลี้ยงชีพอีกต่อไป ผลงานส่วนใหญ่ของเขายุคหลังปี 2000 คือผลงานที่ได้รับการยกย่องในฝีมือที่ถ่ายทอดหัวใจลงไปในตัวละครได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่เว้นแม้แต่บทบาท โรเบิร์ต แม็คคอล นักฆ่าจากหนังแอ็กชันสุดแมส ‘The Equalizer’ ซึ่งวอชิงตันอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างเห็นภาพ
“ในชีวิตคนเรา คุณต้องเรียนรู้ หาเงิน แล้วก็ตอบแทนสังคม ถ้าคุณอายุยืนสัก 90 ปี ช่วงก่อนอายุ 30 คือช่วงที่คุณจะได้เรียนรู้ และหลังจากอายุ 30 ถึง 60 ปี คุณต้องหาเงิน… ฉะนั้น ในช่วงอายุนี้ คุณจะต้องหาเงิน ด้วยตัวแทนที่ยอดเยี่ยมของผม อาชีพของผมจึงก้าวเข้าสู่ช่วงของการทำงานหาเงิน และหลังจากนั้นก็เริ่มมีชีวิตส่วนตัวเข้ามาเกี่ยว ทั้งลูก 4 คน, ภาระค่าใช้จ่าย และบ้านอีก 1 หลัง”