ไรอัน จอห์นสัน อารมณ์เสีย! ไม่อยากแปะคำว่า ‘Knives Out’ ต่อท้ายชื่อหนัง "Glass Onion"
แม้ว่าโทนเรื่องและรูปแบบการนำเสนอของ ‘Glass Onion: A Knives Out Mystery‘ และหนังภาคแรก ‘Knives Out’ (2019) จะมีสิ่งที่มีความเหมือนกันในแง่ของกลิ่นอาย วิธีการนำเสนอ และธีมบางอย่างที่มีร่วมกัน รวมถึงตัวละคร เบอนัวต์ บลองก์ (Benoit Blanc) ที่รับบทโดย แดเนียล เครก (Daniel Craig) จะเป็นตัวละครเดียวที่ยังคงกลับมาเป็นตัวละครหลักในแฟรนไชส์ แต่ด้วยสีสัน เรื่องราว และวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยไม่ได้มีเนื้อเรื่องที่ต่อเนื่องกันเหมือนกับบรรดาหนังภาคต่อทั่ว ๆ ไป ซึ่งนั่นก็เป็นเจตนาของผู้กำกับอย่าง ไรอัน จอห์นสัน (Rian Johnson) ที่ตั้งใจและต้องการให้เป็นแบบนี้นั่นเอง
ล่าสุด จอห์นสันได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Atlantic เพื่อยืนยันถึงเรื่องนี้ โดยเขาได้เปิดเผยว่า เขาตั้งเป้าไว้ว่าต้องการจะทำให้บรรดาหนังในแฟรนไชส์ ‘Knives Out’ ทุกเรื่องมีทิศทางของเนื้อเรื่องเป็นของตัวเอง โดยมีตัวละคร เบอนัวต์ บลองก์ เป็นศูนย์กลาง และใช้วิธีเปลี่ยนเนื้อเรื่องและตัวละครสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปในแต่ละภาค และเขาเองก็ได้เปิดเผยว่า เขารู้สึกหัวเสียกับการนำเอาชื่อ ‘Knives Out’ มาเป็นชื่อรอง ห้อยท้ายชื่อหนังด้วยคำว่า ‘A Knives Out Mystery’ หลังคำว่า ‘Glass Onion‘ เพื่อจะสื่อให้คนดูรู้ว่านี่คือหนังในจักรวาลเดียวกัน
“ผมพยายามอย่างหนักมาก ที่จะทำให้หนัง (แต่ละภาค) อยู่ได้ด้วยตัวเอง (โดยไม่ต้องดูภาคอื่นมาก่อน) พูดตรง ๆ นะครับ ผมนี่โคตรโมโหเลยที่มีคำว่า ‘A Knives Out Mystery’ ในชื่อเรื่อง คุณรู้ไหม จริง ๆ ผมอยากให้ทุกคนเรียกหนัง (ภาคนี้) ว่า ‘Glass Onion’ มากกว่า”
“คือผมก็เข้าใจในมุมนั้นนะ และผมก็ยังอยากให้คนที่ชอบหนังภาคแรกรู้ว่า นี่คือหนังภาคต่อไปของแฟรนไชส์ แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น สิ่งที่น่าดึงดูดใจสำหรับผมก็คือ มันมีความเหมือนกับนิยายเล่มใหม่ที่เพิ่งวางแผง แต่มันก็ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายมหาศาลที่จะถูกเล่าออกมาอย่างต่อเนื่องกัน”
แม้ว่าจอห์นสันจะต้องการให้หนังภายใต้จักรวาล Knives Out แต่ละเรื่องมีเรื่องราวที่แตกต่างกัน แต่นอกจากธีมการเล่าเรื่องการไขคดีปริศนาฆาตกรรมแนว Whodunit การสอดแทรกประเด็นของสังคม และตัวละครนักสืบอัจฉริยะนามกระฉ่อน เบอนัวต์ บลองก์ แล้ว จุดร่วมที่เป็นธีมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหนังในจักรวาลนี้ก็คือการสะท้อนประเด็นเรื่องราวของการแย่งชิงความมั่งคั่ง ในภาคแรก ตัวหนังเล่าถึงประเด็นความมั่งคั่งของคนในตระกูลธรอมบีย์ (Thrombey) ที่นำไปสู่การตายของบุคคลสำคัญในตระกูล ส่วนในภาคนี้ตัวหนังเล่าถึงความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีคนดัง ที่นำไปสู่การฆาตกรรมเพื่อนผู้ล้วนแต่มีผลประโยชน์แอบแฝง
โดยวิธีการนำเสนอแบบนี้ จอห์นสันเผยว่าเขาได้แรงบันดาลใจโดยตรงจากนวนิยายแนวรหัสคดีชุด แอร์กูล ปัวโรต์ (Hercule Poirot) ผลงานของ อกาธา คริสตี (Agatha Christie) ที่จะมีนักสีบปัวโรต์เป็นศูนย์กลาง และหมุนเวียนสับเปลี่ยนเรื่องราว สถานการณ์ และตัวละครไปเรื่อย ๆ รวมทั้งหนัง Whodunnit คลาสสิกเรื่อง ‘The Last Of Sheila’ (1973) ที่ สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ (Stephen Sondheim) นักประพันธ์เพลงชื่อดังเป็นผู้เขียนบท (และได้มาเป็น Cameo ใน ‘Glass Onion’ ด้วย) โดยจอห์นสันได้กล่าวถึงนวนิยายของคริสตีว่า
“ผมคิดว่ามีคนเข้าใจผิดว่า หนังสือของเธอ (คริสตี) ใช้แต่สูตรสำเร็จเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่แฟน ๆ จะรู้ดีว่ามันตรงกันข้ามเลย มันไม่ใช่แค่ฉากหรือวิธีการฆากรรมเท่านั้น แต่ในร่มเงาของแนวสืบสวนสอบสวน เธอยังเขียนเรื่องแนวสายลับระทึกขวัญ หนังสยองขวัญ การตามล่าฆาตกรต่อเนื่อง รักโรแมนติก การศึกษาตัวละครในเชิงจิตวิทยา และความเป็นไกด์บุ๊กท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจ”
ส่วนที่มาของชื่อเรื่อง ‘Glass Onion’ จอห์นสันได้เผยว่า เขานำเอามาจากชื่อเพลง “Glass Onion” ที่บรรจุอยู่ในอัลบั้มที่ 9 (‘The Beatles’) อัลบั้มคู่ของวงร็อกในตำนาน ‘The Beatles’ นั่นเอง โดย จอห์น เลนนอน (John Lennon) ผู้แต่งและขับร้องเพลงนี้ (โดยใช้เครดิต ‘Lennon –McCartney’) แต่งขึ้นโดยใช้ ‘หัวหอมแก้ว’ เป็นอุปมาอุปไมยสื่อถึงคนที่พยายามจะลอกชั้นของหัวหอมเพื่อเข้าไปหาแก่นแกนภายใน แต่สุดท้ายก็ตระหนักได้ว่าจริง ๆ แล้วภายในตัวมันเองก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าที่เห็นผ่านเปลือกใส ๆ นั้น ซึ่งเลนนอนแต่งขึ้นเพื่อปั่นหัวคนฟังส่วนหนึ่งที่มักเอาเนื้อเพลงของวงไปตีความ หาความหมายนัยแฝง เพื่อสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดที่มีต่อวงมากจนเกินเหตุ
โดยจอห์นสันได้เล่าเกี่ยวกับไอเดียการนำเอาชื่อ ‘Glass Onion’ นี้มาตั้งเป็นชื่อหนังว่า “มันเป็นความตั้งใจของผมแต่แรกครับ ผมมีไอเดียเกี่ยวกับแก้วและอะไรก็ตามที่ใส ๆ ผมเลยเอา iPhone ออกมาค้นหาเพลงที่มีคำว่าแก้ว ตอนนั้นผมคิดว่า ‘เฮ้ย มันต้องมีเพลงเจ๋ง ๆ ที่มีคำว่าแก้วสิ เช่นปราสาทแก้ว บุรุษแก้ว’ แต่สิ่งที่ขึ้นมาอันแรกคือ หัวหอมแก้ว (Glass Onion) เพราะว่าผมเป็นแฟนตัวยงของวง ‘The Beatles’ ครับ”
ที่มา: The Atlantic, Screen Rant, Rolling Stone, Wikipedia, GQ, TUDUM