รีเซต

รีวิวหนัง Richard Jewell เมื่ออำนาจของสื่อทำลายชีวิตคน by Kanin The Movie

รีวิวหนัง Richard Jewell เมื่ออำนาจของสื่อทำลายชีวิตคน by Kanin The Movie
Jeaneration
1 พฤษภาคม 2563 ( 14:00 )
3.2K

วิจารณ์ รีวิวหนัง Richard Jewell

เป็นหนึ่งในหนังที่อยากดูตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตอนมีโอกาสได้ไปอเมริกา (หนังไม่เข้าโรงบ้านเรา) แต่สุดท้ายก็เลือกดู Uncut Gems (2019) แทน เพราะเป็นเรื่องที่เรารอคอยมากกว่า "Richard Jewell" เป็นงานกำกับล่าสุดของ "คลินท์ อีสต์วู้ด" และมือบท "บิลลี่ เรย์" ที่ดัดแปลงมาจากทั้งบทความและหนังสือที่เล่าเรื่องของ "ริชาร์ด จูลส์" เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ AT&T ที่ได้ช่วยชีวิตประชาชนจำนวนมากจากการลอบวางระเบิดในงานโอลิมปิกปี 1996 ที่แอตแลนตา ก่อนจะกลายมาเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งหลังจากนั้นเมื่อเอฟบีไอ และสื่อมวชนเริ่มตั้งคำถามถึงความผิดปกติในคดีดังกล่าว โดยหนังโฟกัสไปที่ชีวิตของ ริชาร์ด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีตั้งแต่แม่ ทนาย เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ และนักข่าวผู้จุดชนวนเรื่องราวทั้งหมด

ใครหลายคนอาจจะนึกถึงหนังทำนองเดียวกันของ อีสต์วู้ด อีกเรื่องนั่นคือ Sully (2016) ที่พูดถึงการสืบสวนกัปตัน เชสลีย์ ซัลลี่ ซัลเลนเบอร์เกอร์ ที่สร้างปาฏิหาริย์แห่งฮัดสันด้วยการนำเครื่องบินลงจอดกลางแม่น้ำ ทำให้ผู้โดยสารพร้อมลูกเรือทั้งหมดปลอดภัยจากอุบัติเหตุ

หนังทั้งสองเรื่องว่าด้วยอเมริกันฮีโร่ที่ถูกตรวจสอบจากภาครัฐและสื่อมวลชนว่าสิ่งที่พวกเขาทำไปถูกต้องจริง ๆ หรือไม่ แต่ในขณะที่ Sully เลือกจะลำดับเหตุการณ์ “ณ ตอนนั้น” แบ่งออกเป็นส่วนๆ ในมุมมองที่ต่างกันออกไป Richard Jewell เลือกจะให้ข้อมูลกับคนดูตั้งแต่เริ่มว่า ริชาร์ด ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายเลยสักนิด หรือง่ายๆ ก็คือ “เขาบริสุทธิ์” อย่างชัดเจน ไร้ความคลุมเครือ ไร้ข้อกังขา

แล้วอะไรกันที่สามารถทำร้ายคนบริสุทธิ์คนหนึ่งได้? หนังสลับไปโฟกัสที่สองตัวละครนั่นคือเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ และนักข่าวสาว คนแรกเริ่มตั้งข้อสงสัยกับประวัติของ ริชาร์ด ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เขาอาจเป็นผู้ลงมือเพื่อให้ตนกลายเป็นฮีโร่ในสายตาคนอื่น (ริชาร์ด อยากทำงานเป็นตำรวจ เคยมีประวัติไม่ดีตอนทำงานให้มหาวิทยาลัย) ส่วนคนหลังได้ตามสืบข้อมูลจนพบว่าเอฟบีไอกำลังเล็งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนดังกล่าว เธอจึงเขียนมันลงหนังสือพิมพ์ ก่อนที่ชีวิตของ ริชาร์ด จะเปลี่ยนจากขาวเป็นดำในทันที

ฟังดูทั้งหมดนี้ก็คือหน้าที่ของพวกเขาในอาชีพของตัวเอง แต่ด้วยน้ำเสียง และการนำเสนอ เราจะสามารถสังเกตได้ไม่ยากว่า อีสต์วู้ด กำลังมองทั้งสองคนในฐานะวายร้ายผู้อยู่ตรงข้ามกับความบริสุทธิ์ของ ริชาร์ด โดยเฉพาะนักข่าวสาวที่เป็นเหมือนฟันเฟืองสำคัญในการบดขยี้ชีวิตเขา ด้วยอำนาจและอิทธิพลของสื่อที่มีพลังทำลายล้างเหนือการควบคุม

เมื่อ ริชาร์ด ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีก่อการร้าย นอกจากภาพความเป็นฮีโร่ของเขาก่อนหน้าจะมลายหายไปจนหมดสิ้น มันยังกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้กล้องทุกตัวหันมาจับจ้องเขาได้รวดเร็วและรุนแรงด้วย “เรื่องของฮีโร่ที่ช่วยชีวิตทุกคน แท้จริงกลับเป็นผู้ก่อเหตุ” ไม่ว่าในมุมไหนก็ดูเป็นเรื่องเล่าที่สนุกน่าติดตาม ฉะนั้นนอกจาก ริชาร์ด จะต้องรับมือกับระบบยุติธรรมในขั้นตอนการสอบสวน เขายังถูกสื่อมวลชนเล่นงานอย่างแสนสาหัสนั่นคือ การสร้างตัวตนใหม่ให้กับเขา สร้างภาพจำให้กับผู้รับสื่อ นิยาม ริชาร์ด จูลส์ ขึ้นมาใหม่ เพราะมันเป็นสิ่งที่สื่อสามารถทำได้ ทำได้ในแบบเดียวกับที่พวกเขาสร้าง ริชาร์ด ให้เป็นฮีโร่ในตอนแรก

เราดูหนังหลาย ๆ เรื่องที่มันเล่าผ่านสื่อมวลชน คนข่าว การสืบสวนหาความจริงเพื่อนำข้อมูลมาตีแผ่แบบ Spotlight (2015) จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นใน Richard Jewell ก็เหมือนๆ กัน ต่างตรงที่คนทำมีสายตาที่ต่างออกไป มีเป้าหมายที่ต่างออกไป และที่สำคัญนักข่าวในเรื่องช่างดูน่ารังเกียจ กลวงเปล่า และอยู่ห่างไกลจากความถูกต้อง ทั้งที่พวกเขาควรมีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงให้กับพวกเรา (หนังหยิบคำว่า Fact และ Truth มาปะทะกัน) ยังไม่นับวิธีการทำงานที่อยู่เหนือจรรยาบรรณทั้งปวง (นำแสดงโดย โอลิเวีย ไวลด์ ที่เล่นได้น่ารังเกียจสุดๆ ตั้งแต่เปิดตัวเลย)

Richard Jewell เล่าเรื่องส่วนใหญ่ภายในบ้านของ ริชาร์ด และ แม่ ที่ถูกล้อมรอบด้วยนักข่าวและเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่เข้ามาสอบสวน อีสต์วู้ด ดีไซน์ฉากที่เราเคยเห็นในหนังสอบสวนบ่อยๆ ให้มีมิติและเมสเสจที่น่าสนใจมากขึ้น อาทิ ฉากถูกนักข่าวห้อมล้อมที่นอกจากเราจะรู้สึกถึงความอึดอัดและวุ่นวาย มันยังกลายเป็นการคุกคามตัวละครเอกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากจุดเริ่มต้นที่หนังเผยให้เห็นว่าชีวิตของ ริชาร์ด ตกอยู่ในสถานะดังกล่าวเพราะอะไร

รวมถึงเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่มาในสถานะผู้บุกรุก มีการทำงานที่คลุมเครือในขั้นตอนปฏิบัติ ฉากหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือการหลอก ริชาร์ด ไปที่สำนักงานเพื่อสอบสวน มีการจับเซ็นต์สัญญา (ที่เจ้าหน้าที่หลอกอีกทีว่าเป็นการเซ็นต์ปลอมๆ) เอฟบีไอในหนังจึงไม่น่าไว้วางใจ กล่าวก็คือทั้งระบบยุติธรรม และความเป็นสื่อมวลชนคือวายร้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งมีสิ่งที่เหมือนๆ กันนั่นคือพวกเขาไม่น่าไว้วางใจ ทำงานเหนือจรรยาบรรณของตัวเอง

เราชอบที่ “ความจริง” กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญให้กับทิศทางของตัวละคร โดยเฉพาะนักข่าวสาวที่ได้พบว่าแท้จริงแล้ว ริชาร์ด ไม่ได้ผิด และเธอเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำลายชีวิตของเขา อำนาจของสื่อใน Richard Jewell นั้นแสนน่ากลัว เพราะมันเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้อย่างง่ายดาย

ฉากหนึ่งที่ชอบมากๆ คือตอนที่ แม่ของริชาร์ด ร้องไห้สติแตกและบอกกับลูกว่าเธอไม่รู้จะปกป้องเขาจากสิ่งที่กำลังเผชิญได้อย่างไร เพราะนั่นคือเรื่องจริง อำนาจของสื่อ อำนาจของระบบยุติธรรม ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะสามารถคัดง้างกับมันได้ แม้ว่าเราจะมีความจริงของเราอยู่ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ในสายตาของคนอื่น หนังหยิบยื่นการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ให้เราได้เห็น แม้จะมีหลักฐานที่ชัดเจนอยู่ตรงหน้าก็สามารถบิดไปเป็นความจริงอื่นได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราแต่อย่างใดเลย

Richard Jewell ไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่หวือหวามาก ซึ่งก็เหมือนๆ กับงานอื่นของ คลินต์ อีสต์วู้ด แต่นั่นไม่ได้แปลว่าหนังจะไม่น่าสนใจ แม้เรื่องราวในเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในยุค 90s แต่จุดยืนของคนทำ คนเล่าเรื่องนั้นชัดเจนว่าสามารถสะท้อนถึงปัจจุบัน ณ ตอนนี้ได้ อำนาจของสื่อมวลชนเป็นสิ่งที่ดีในการนำเสนอความจริง

แต่ในขณะเดียวกันก็แสนเปราะบางจนสามารถพลิกผันชีวิตคนคนหนึ่งให้เปลี่ยนไปตลอดกาลได้ด้วย ใครที่กำลังสนใจเรื่องของ เฟคนิวส์ (Fake News) นี่คือตัวอย่างที่ดี และใครที่สนใจหนังว่าด้วยความเคลือบแคลงของการสอบสวน ก็เป็นหนังที่น่าชมเช่นกัน หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องเราเคยเห็นในผลงานอื่น ๆ มาแล้ว แต่เราไม่ได้รู้สึกถึงความคลุมเครือของมันเพราะเราเชื่อในตัวละครเอก (Protagonist) ของเราว่าเขาคือความจริง แต่เมื่อตัวละครเหล่านี้กลายเป็นผู้ต่อต้าน (Antagonist) มันเลยมีความหมายที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจริงๆ

คุณสามารถรับชมหนัง "Richard Jewell" เต็มเรื่อง ได้แล้ววันนี้ที่ TrueID

----------------------------------------------------

>> ดูหนัง ดูซีรีส์ออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<