รีวิวหนัง Little Women สี่ดรุณี เพราะผู้หญิงไม่ได้มีไว้แค่ให้รัก by Kanin The Movie
รีวิวหนัง Little Women สี่ดรุณี
แม้ประเด็นเรื่องของ “เฟมินิสต์” จะถูกพูดถึงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกช่วงหลายปีมานี้อย่างต่อเนื่อง มีหนังจำนวนไม่น้อยที่นำเสนอหัวข้อนี้อย่างเข้มข้นและจริงจังเพื่อตั้งคำถามกับโครงสร้างของเพศหญิงในสังคมและแวดล้อมที่แตกต่างกันไป เราจึงได้เห็นทั้งภาพยนตร์ที่พูดถึงการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม การสำรวจความเหลื่อมล้ำที่ไม่ถูกต้อง ไปจนถึงหนังที่แสดงพลังของเพศหญิง ภาพยนตร์ Blockbuster จำนวนไม่น้อยนำเสนอประเด็นนี้ออกมาอย่างตรงไปตรงมา (หนึ่งในนั้นคือ Captain Marvel และประโยคติดหูอย่าง “แม่มาแล้ว”) เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
Little Women สี่ดรุณี
ที่เกริ่นแบบนี้มาไม่ได้ต้องการจะพูดถึงเรื่องของเฟมินิสต์อย่างจริงจังและเป็นวิชาการ แต่เพราะมันน่าสนใจมากๆที่โลกในปัจจุบันตอนนี้สอดรับกับเรื่องราวของ “Little Women” ที่ถูกเขียนเมื่อปี ค.ศ. 1868 อย่างน่าอัศจรรย์ แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องฟลุกหรือบังเอิญแต่เป็นความเก่งกาจของ ผู้กำกับ-มือเขียนบท อย่าง เกรต้า เกอร์วิค ที่สามารถถอดเรื่องราวของหญิงสาวพี่น้อง 4 คนในยุคสงครามกลางเมืองให้ร่วมสมัยอย่างแพรวพราวได้โดยที่บรรยากาศและเนื้อหาเดิมยังคงอยู่อย่างคารวะนับถือ และน่าจะทำให้ใครหลายคนที่หลงรักภาพยนตร์ คอมเมดี้-ดราม่า เรื่องก่อนของเธออย่าง Lady Bird (2017) อินได้ไม่ยากเลย (แม้บรรยากาศจะแตกต่างกันสักแค่ไหนก็ตาม)
Little Women เล่าเรื่องของพี่น้อง 4 คนกับชีวิตในช่วงหลายปีของพวกเธอ มันเป็นเรื่องง่ายๆที่ไม่ได้ซับซ้อนแต่เต็มไปด้วยความลุ่มลึกของเรื่องราวและความรู้สึก ส่วนตัวไม่ได้อ่านหนังสือต้นฉบับ และก็ไม่ได้ดูภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นก่อนๆ ดูจบจึงใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการนั่งรีเสิร์ชดูว่าฉบับของ เกรต้า นั้นแตกต่างจากโครงเรื่องเดิมมากแค่ไหน ก็เลยได้เห็นว่าเธอเปลี่ยน Narrative Structure (โครงสร้างการเล่าเรื่อง) ใหม่เกือบทั้งหมด แม้ว่าจะยังเป็นเรื่องเดิม ตัวละครเดิม และเส้นทางเดิม แต่เธอเลือกที่จะลำดับเรื่องใหม่ และพาไปสำรวจมุมมองที่แตกต่างออกไปผ่านการสวมแว่นตาที่มีชื่อว่าโลกปัจจุบัน
Little Women สี่ดรุณี
นั่นจึงทำให้ Little Women เป็นหนังที่ทันสมัย แม้ว่าเปลือกนอกของมันจะทำให้รู้สึกอีกแบบก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นมันไม่ใช่หนังที่หยิบยืมโลกปัจจุบันมาใช้งานเสียทั้งหมด แต่เป็นการหาเหลี่ยมและความลงตัวที่พอดีของสองช่วงเวลามากกว่า เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่การตีความที่พลิกเรื่องอย่างสุดขั้ว แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้เดินตามเส้นทางเดิมครบ 100% เช่นกัน
เราชอบความสุขในหนัง และเราก็ชอบความเศร้าในเรื่อง นอกเหนือจากนั้นเราอาจจะชอบรอยยิ้มของตัวเองระหว่างดูด้วยก็ได้ มันเป็นความรู้สึกคล้ายๆกับระหว่างดู Lady Bird ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และเรื่องจี๊ดๆชวนเสียน้ำตา หนังอาจจะไม่ได้เล่นงานเราถึงกับต้องร้องไห้ แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่าไหร่เมื่อเทียบกับความรู้สึกอื่นๆที่ถูกเติมเต็ม Little Women พาเราไปพบกับชีวิตประจำวันของพี่น้องในโลกยุคปลาย Civil War ผ่านสายตาของ โจ หญิงสาวที่ดูจะแตกต่างจากทุกคนในบ้านมากที่สุด เธออยากเป็นนักเขียน เธอมีพรสวรรค์ในด้านนี้ แต่โลกของผู้หญิงสำหรับตอนนั้นมันไม่ได้มีทางเลือกเยอะนัก พวกเธอถูกพร่ำบอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้แต่งงานกับผู้ชายที่รวย มีชีวิตมั่นคงและมั่งคั่ง มากไปกว่านั้นพวกเธอยังถูกคาดหวัง ถูกกรอบสังคมกดดันและตัดสินชีวิตพวกเธออยู่คลอด
Little Women สี่ดรุณี
“ถ้ายอดเยี่ยมไม่ได้ ก็ไร้ค่าไปเลย” ประโยคที่หนึ่งในพวกเธอพูดพอจะสรุปหัวข้อนี้ได้ดี เพราะผู้หญิงก็เหมือนกับผู้ชาย พวกเราต่างเป็นมนุษย์ที่งดงามบนความไม่เพอร์เฟ็ค การมีจิตวิญญาณ มีความสามารถ มีความฝัน มีเป้าหมาย และมีตัวตนของตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พวกเธอกลายเป็นคนสมบูรณ์แบบ แต่ทำให้พวกเธอเป็นเหมือนคนๆหนึ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย เป็นเจ้าของชีวิตและเส้นทางของตัวเอง หาใช่ใครคนหนึ่งที่มีไว้เพียงให้รัก
ระหว่างทางผู้ชมจะได้เห็นบริบทสังคมที่แทรกซึมอยู่บนวิถีชีวิตที่ปกติ สิ่งที่เราชอบใน Little Women คือการที่ เกรต้า เล่ามันออกมาอย่างอบอุ่น เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่น้ำเสียงที่โกรธแค้นหรือต้องการเอาคืน มันไม่ใช่เรื่องราวการต่อสู้ที่ดุเดือดของผู้ชายและผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องของการทวงคืนอิสรภาพและความเท่าเทียมที่ยิ่งใหญ่ชวนฮึกเหิม แต่เป็นเพียงเรื่องเล็กๆของหญิงตัวเล็กๆ ที่เสาะแสวงหาความลงตัวของชีวิต เติมเต็มความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง
Little Women สี่ดรุณี
ผู้ชายในเรื่องไม่ใช่เพศที่ชั่วร้าย หลายๆ ครั้งพวกเขาก็ซัพพอร์ทชีวิตของเธออย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก เรื่องราวอันว่าด้วยเฟมินิสต์ในหนังจึงไม่ใช่การผลักความผิดทั้งหมดไปที่ตัวละครเพศตรงข้ามด้วยความแค้น แต่เป็นการเอาชนะสังคมที่ตนอาศัย ทลายกำแพงและกรอบความคิดด้วยการมีความสุขกับชีวิตที่ตัวเองเลือก ชีวิตที่อยู่เหนือเรื่องของกฎเกณฑ์ ประเพณี หรือสิ่งใดก็ตามที่ถูกพูดต่อๆกันมา ซึ่งมันงดงามและยากเหลือเกินที่จะไม่รู้สึกดีกับพวกเธอได้
อีกประเด็นที่ชอบมากๆคือการพูดถึง “เรื่องเล่า” ชีวิตของหญิงสาวใน Little Women ก็ไม่ต่างจากชีวิตของตัวละครผู้หญิงในนิยายที่บรรณาธิการกล่าวกับ โจ ไม่ว่าเส้นทางชีวิตของพวกเธอจะเริ่มต้น และเดินทางอย่างไร บทสรุปมีได้เพียง 2 แบบนั่นคือ แต่งงาน ไม่ก็ตายไปซะ อาจจะฟังดูใจร้าย แต่นี่คือสูตรสำเร็จที่สอดรับกับบริบทสังคมในเรื่องของเพศได้เป็นอย่างดี เป็นตอนจบที่ผู้อ่านจะชื่นชอบและประทับใจ มีกำไรเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรื่องเล่าจำเป็นต้องจบแบบนี้ ซึ่งหนังอธิบายประเด็นออกมาได้อย่างแสบสันต์ ผ่านการปะทะทางความคิดระหว่างนักเขียนสาวกับบรรณาธิการ เธอต้องการหาจุดที่ลงตัวให้กับเรื่องเล่าของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันเธอก็จำเป็นที่จะต้องยอมรับเงื่อนไขบางอย่างของโลกด้วย
เราจึงชอบความเป็นเรื่องเล่าในตอนท้ายเรื่องมากๆ
การร้อยเรียงกันระหว่างนิยายที่โจเขียน, ชีวิตจริงๆของเธอ และเรื่องเล่าที่ถูกกำกับโดย เกรต้า มีจุดร่วมกันอย่างน่าสนใจ และมันมีผลลัพธ์ที่แทบไม่ต่างจาก Lady Bird เองด้วย (ซึ่งถ้าใครดูแล้วก็คงจะจำได้ว่าหนังมีตอนจบเป็นอย่างไร การปะทะกันระหว่างลูกสาวกับแม่ โลกเก่า-โลกใหม่ พื้นที่ในฝันและบ้านเกิดที่กังขังเธอ) บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามันเป็นความรู้สึกแบบไหน อาจจะคล้ายๆกับชีวิตทั่วไปของเราที่สุขนิดๆปนเศร้าหน่อยๆ แต่ก็งดงามด้วยตัวของมันเอง
โดยรวม Little Women คือภาพยนตร์อบอุ่นหัวใจที่จะมอบความรู้สึกอันหลากหลายแก่ผู้ชม มันเป็นเรื่องเล่าที่ทั้งสุข เศร้า โรแมนติกหวานชื่น และก็เจ็บปวดสาหัสในบางจังหวะ การค่อยๆให้ผู้ชมผูกพันกับชีวิตของพี่น้องสี่คน ได้เห็นชีวิตประจำวัน บุคลิก ความต้องการ และความขัดแย้ง เกรต้า เกอร์วิค ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม มันอาจจะไม่ใช่ชีวิตที่รีเลทคล้ายคลึงกับเล่า แต่มันเป็นการผจญภัยที่เราพร้อมจะเปิดใจรับรู้สึกทุกอย่างในแบบที่พวกเธอรู้สึกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งนอกจากจะต้องชมทั้งตัวนิยาย และผู้กำกับแล้ว ทีมนักแสดงของเรื่องก็งดงามน่าประทับใจมากๆด้วย โดยเฉพาะ เซอร์ชา โรแนน และ ฟลอเรนซ์ พิวจ์ ที่เรื่องนี้แพรวพราวชวนหลงรักที่สุด
ใครที่ต้องการความงดงามและรอยยิ้มเปิดปี 2020 นี่คือโปรแกรมที่ไม่ควรพลาดครับ
----------------------------------------------------