"ผู้ประพันธ์ได้จากไปแล้ว แต่ผลงานยังอยู่ และยืนอยู่ได้ด้วยความทระนงในโลกวรรณกรรม ดังนั้น สูญสิ้นความเป็นคน จึงมิใช่ "หนังสือแห่งความตาย" ที่เมื่อใครได้อ่านแล้วเหมือนได้ดื่มยาพิษที่พร้อมจะตายตกตามไป แต่คือยาขมที่ปลุกให้เราตื่นตระหนักต่างหาก" คำนิยมของ อุทิศ เหมาะมูล ที่ปรากฏอยู่บนปกหลังของหนังสือเล่มนี้ ได้ไปจุดประกายความอยากอ่านของผมที่มีอยู่แล้วจากคำกล่าวขานที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเล่มนี้ ในเรื่องของเนื้อหาที่หม่นหมองและเสียดสีสังคมอย่างรุนแรงของนักเขียนที่ขึ้นชื่อในเรื่องผลงานแนวแบบนี้อย่าง ดาไซ โอซามุ มันทำให้ผมหยิบขึ้นมาจากชั้นหนังสือในร้าน SE-ED แล้วซื้อมันกลับบ้านเพื่อมาอ่าน แล้วในวันนี้ผมก็ได้อ่านมันจบแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมสามารถกล่าวพรรณนาต่อหนังสือเล่มนี้ก็คือ "ดีงาม"หน้าปกหนังสือ สูญสิ้นความเป็นคน (ภาพถ่ายโดยผู้เขียนเอง) "สูญสิ้นความเป็นคน" หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่า 人間失格 (Ningen Shikkaku) เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาที่พรรณนากล่าวถึงความทุกข์ทรมานและความสิ้นหวังต่อความเป็นมนุษย์ โดยในตัวเรื่องจะค่อย ๆ ให้เราเห็นในส่วนนี้จนถึงขีดสุดของความสิ้นหวังที่แสดงออกผ่านทางตัวละคร วรรณกรรมญี่ปุ่นเรื่องนี้ เขียนโดย ดาไซ โอซามุ (太宰治) นักเขียนคนสำคัญต่อวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 โดยมีผลงานชื่อดังอยู่มากมาย อันได้แก่ อาทิตย์สิ้นแสง เมียชายชั่ว และอีกหลาย ๆ เรื่อง จนได้รับการยกย่องเป็นวรรณกรรมคลาสสิกยุคใหม่ของญี่ปุ่น และตัวเขานั้นยังชื่นชอบนักเขียนญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง อะคุตางาวะ เรียวโนะซุเกะ (ผู้เขียนเรื่อง ราโชมอน) อีกด้วยชีวิตของนักเขียนท่านนี้นั้น เรียกได้ว่าโชกโชนมาก โดยทุกอย่างเริ่มขึ้นจากตอนที่ ไอดอลของเขาอย่าง อะคุตางาวะ เรียวโนะซุเกะ ได้จบชีวิตลงด้วยการกระทำอัตวินิวาตกรรม ทำให้ตัวเขารู้สึกเสียใจอย่างมาก จนทำให้ชีวิตของเขาเริ่มเหลวแหลกลง เริ่มติดสุราและเหล่านารี และยังเคยเข้าร่วมสมาชิกคอมมิวนิสต์ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในสมัยนั้น จนทุกอย่างก็มาถึงจุดที่หนักสุดและยากเกินกว่าจะถอนตัว นั่นก็คือ การที่เขาเริ่มใช้ยาเสพติด จนทำให้เขาจำต้องเข้าโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อรักษาตัวในที่สุด แล้วหลังจากนั้น เขาก็ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักเขียน โดยผลงานส่วนใหญ่ของเขา มักจะใส่สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาใส่เข้าในผลงานอีกด้วย แล้วสุดท้าย เขาก็กระทำอัตวินิวาตกรรมพร้อมภรรยาของเขาด้วยวัยเพียง 38 ปี นั่นเป็นการจบชีวิตนักเขียนชื่อดังที่มีอิทธิพลอย่างนึงต่อวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นคำนิยม โดย อุทิศ เหมาะมูล (ภาพถ่ายโดยผู้เขียนเอง) ในส่วนเริ่มเรื่องของวรรณกรรมเรื่องนี้ จะเริ่มเล่าจากชายคนหนึ่งที่ได้รับสมุดบันทึกความทรงจำและรูปถ่าย 3 ใบที่มีการปรากฏรูปของชายหนุ่มคนเดียวกันในวัยที่ต่างกันออกไป ซึ่งในแต่ละรูปก็แสดงออกสีหน้าที่น่ากลัวแบบแปลก ๆ ไม่ต่างจากรูปภาพ Expressionism ที่เป็นรูปคนจริง ๆ โดยตัวเขานั้นได้รับจากมาดาม เจ้าของบาร์แห่งนั้น และตัวเขาก็เริ่มอ่านบันทึกของเขาที่มาพร้อมรูปภาพนั้น จึงทำให้เขาได้รับรู้ว่า ชายผู้ที่อยู่ในรูปกับเป็นเจ้าของสมุดบันทึกนั้น เป็นคนเดียวกัน โดยตัวเขามีชื่อว่า "โอบะ โยโซ" โดยในเรื่องราวที่จะปรากฏในหนังสือนั้น เป็นเรื่องราวที่เล่าผ่าน โอบะ โยโซ ทั้งหมดเลย จนทำให้ตัวผู้อ่านเหมือนได้ติดตามชีวิตของชายผู้นี้ไปด้วยนั่นเอง โอบะ โยโซ คือชายหนุ่มผู้เกิดมาจากตระกูลอันพอมีพอกิน ไม่มีสิ่งใดที่ขัดสนมากเกินไป สมาชิกภายในครอบครั้ง ประกอบไปด้วยพ่อแม่ และพี่น้องที่มีอยู่มากมาย ซึ่งมันก็คงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับโยโซนั้น มันคือความอึดอัดสุดจะทน เพราะตัวเขานั้นไม่ชอบวิถีชีวิตที่เขาต้องอยู่เลย ทั้งความกดดันจากพ่อแม่และคนอื่น ๆ ในบ้านที่เขารับรู้ได้ที่มากระทบต่อตัวเขาอย่างรุนแรง ร่วมถึงการที่เขาเคยถูกทำร้ายในวัยเด็ก ทำให้ตัวโยโซ เกิดความหวาดกลัวต่อมนุษย์ในที่สุด แต่แล้วเขาก็ใช้วิธีหนึ่ง ที่สามารถกลบเกลื่อนความกลัวเหล่านั้นได้ นั่นก็คือ การทำให้ตัวเองเป็น "ตัวตลก" นั่นเอง จนกระทั่ง เมื่อโยโซกลายเป็นหนุ่ม เขาคิดที่จะไปเรียนในโรงเรียนศิลปะ นั่นทำให้เขาได้พบกับ โฮริกิ เพื่อนร่วมโรงเรียนที่นำพาเขาให้เขาสู่ชีวิตกลางคืนที่เต็มไปด้วยสุราและโสเภณี รวมถึงการชักจูงพาเขาไปร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เป็นเรื่องผิดกฏหมายในสมัยนั้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกรื่นรมย์มากนัก ซึ่งมันอาจจะเกิดจากความหวาดกลัวและความอึดอัดที่เขามีอยู่ จนทำให้เขารู้สึกชินชาต่อสิ่งที่เข้ามาในชีวิต จนกระทั่ง จุดเปลี่ยนของเขาก็เกิดขึ้น เมื่อสิ่งที่เรียกว่า "สตรี" เข้ามาหาเขา ชีวิตของโยโซนั้น เคยถูกทำนายไว้หลายอย่าง ทั้งพรสวรรค์ในด้านศิลปะและความมีเสน่ห์ที่จะดึงดูดสตรีมากหน้าหลายตาให้เข้ามาหาเขาอย่างมากมาย แต่การทำนายเหล่านั้น กลับทำให้เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องตลก แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกหวาดกลัวกับคำพูดเหล่านั้นเช่นกัน โดยเฉพาะกับเรื่อง "สตรี" แล้วมันก็เป็นจริง... ความมีเสน่ห์ของโยโซ ทำให้มีผู้หญิงมากหน้าหลายตาอยากเข้ามารุมล้อมไม่ต่างจากผึ้งเห็นดอกไม้ แต่นั่นก็ไม่ได้มีผลต่อเขามากมาย เพราะเขาก็มองพวกเธอเหล่านั้นเป็นเพียงผู้คนที่เข้ามาในชีวิต และสักวันก็จะปล่อยผ่านไป จนกระทั่งการที่เขาไปมีความรู้สึกต่อสาวที่ทำงานในบาร์ ซึ่งสามีของเธอติดคุกอยู่ นั่นทำให้เธอรู้สึกเปลี่ยวเหงาอย่างมาก จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีต่อการลักลอบมีความสัมพันธ์กันระหว่างคนทั้งสองคนนี้ แต่สิ่งที่โยโซไม่คาดคิด จนทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาก็คือ เขาเกิดตกหลุมรักเธอคนนั้นขึ้นมา จนนำไปสู่การพากันไปฆ่าตัวตายครั้งแรกของโยโซและตัวเธอในที่สุด แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะตัวโยโซไม่ได้ตายไปพร้อมกับเธอ หากแต่รอดชีวิตกลับมาได้ แล้วนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ทรมานที่มีต่อ "ความเป็นมนุษย์" ที่โยโซได้รับจากสังคมหลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่รุมเร้าเขาเข้ามา จนนำไปสู่จุดจบอันเจ็บปวด1 ในข้อความจากปกหลังของหนังสือ (ภาพโดยผู้เขียนเอง) หลังจากที่ผมอ่านจบแล้ว ความรู้สึกที่ผมได้มาอย่างแรกก็คือ "มันจุกจริง ๆ นะ" มันเป็นความรู้สึกหมองหม่นอย่างหนัก บางอย่างที่หนังสือเล่มนี้บรรยายออกมานั่นมันเข้มข้น มันประกอบไปด้วยความเครียด ความกังวล ความชิงชัง และสิ้นหวังในตัวมนุษย์อย่างแท้จริง โดยค่อย ๆ ใช้คำพูด ภาษา การพรรณนาถึงความรู้สึก เพื่อให้ตัวผู้อ่านทั้งหลายรู้สึกได้ถึงความทรมานของตัวละครนี้ ซึ่งตัวผมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เรื่องนี้บรรยายนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเราจริง ๆ เพียงแต่เรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ก็เท่านั้นเอง และมีความรู้สึกแปลก ๆ เกิดขึ้นกับผมอยู่ครั้งหนึ่ง ในช่วงระหว่างที่ผมอ่านอยู่นั้น มันได้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า โยโซนั้น แท้จริงแล้วคือ ดาไซ โอซามุ หรือไม่ เพราะตอนที่ผมอ่านไปเรื่อย ๆ มันกลับให้ความรู้สึกว่า นี่เรากำลังอ่านชีวิตของ โอบะ โยโซ หรือตัวนักเขียนอย่าง ดาไซ โอซามุ กันแน่ จนกระทั่งผมได้ไปอ่านประวัติของเขา นั่นทำให้ผมรู้สึกสงสารในโชคชะตาของเขาที่ประสบพบเจอมา พอผมได้วางหนังสือลง ผมได้แต่เฝ้านึกคำถามที่ว่า " เราได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้ ? " จนทำให้ผมต้องย้อนไปนึกถึงคำนิยมของ อุทิศ เหมาะมูล จึงทำให้ผมเข้าใจในทันที หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้ให้เรารู้หดหู่และสงสารตัวละครอย่าง โอบะ โยโซ นี้เพียงอย่างเดียว มันกำลังทำให้เราเข้าใจถึงห่วงความรู้สึกนึกคิดอันทุกข์ทรมานของผู้ที่หวาดกลัวต่อมนุษย์ ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นอาการทางจิตก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันนั้น นับว่าโชคดีที่มีผู้คนต่างหันมาสนใจในข้อมูลอาการทางจิตเป็นอย่างมาก แต่ในอดีต เรื่องพวกนี้ถูกสรุปย่อ ๆ มาเป็นเพียงคำ 2 พยางค์ที่ใช้ตัดสินคนที่มีอาการเหล่านี้ว่า "คนบ้า" และหนังสือเล่มนี้คือทางผ่านที่ทำให้เราตระหนักถูกสิ่งที่อันตรายและทุกข์ทรมานเหล่านี้นั่นเอง และสิ่งสำคัญที่มากกว่านั้น มันทำให้เราตระหนักรู้ข้อมูลอย่างนึง นั้นก็คือ สังคมมนุษย์มีความโหดร้ายที่ทั้งแอบแฝงและเปิดเผยอยู่จริง ๆ สิ่งที่จะช่วยให้พวกเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ก็คือ พยายามแสวงหาวิธีเอาตัวรอดก็เท่านั้นเอง1 ในฉากในภาพยนตร์เรื่อง "สูญสิ้นความเป็นคน" ซึ่งเข้าฉายในปี 2019 *ภาพและข้อมูลในบทความนี้ ถูกเขียน,ถ่ายและตกแต่งโดยผู้เขียนเอง มิได้นำมาจากแหล่งเว็บอื่นแต่อย่างใด*