สวัสดีค่ะวันนี้จะมารีวิว "RedLife" | "เรดไลฟ์" หนังไทยแนวดรามา-ระทึกขวัญ ที่หยิบยกเรื่อจริงของกลุ่มคนจนเมืองในชุมชนย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม มาสะท้อนและถ่ายทอดให้เห็นว่าภายใต้กรุงเทพ เมืองหลวงแดนศิวิไลซ์ยังมีกลุ่มคนชายขอบที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนแบบปากกัดตีนถีบ พร้อมแล้วไปติดตามกันได้เลยค่ะผู้ผลิต : BrandThink Cinemaกำกับโดย : เอกลักญ กรรณศรณ์ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เรื่องย่อhttps://youtu.be/rvujlzCb7y4?si=8ZHsY0y7b3N6BrnP เนื้อเรื่องเล่าผ่านชีวิตของ 2 ตัวละครวัยรุ่น ในย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม ที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน"ส้ม" เด็กสาววัยเรียนมัธยมที่โตมากับแม่อย่าง "อ้อย" ที่มีอาชีพเป็นโสเภณี ขายบริการเพื่อเอาเงินมาส่งเสียให้เธอเรียนโรงเรียนดี ๆ แต่เงินที่ได้ก็ยังไม่พอจ่ายค่าเทอม เธอไม่เคยพอใจและโอเคกับชีวิตเช่นนี้ ส้มโหยหาความรักและชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้จนการเข้ามาของ "พีช" รุ่นพี่ในโรงเรียนฟีลเน็ตไอดอลสาว ที่สนใจในตัวเธอ พาส้มเข้าสังคมคนรวย รวมทั้งมอบความรัก ความอบอุ่น จนส้มให้พีชไปทั้งตัว หัวใจ และเงินก้อนที่แม่ให้เอามาจ่ายค่าเทอม กว่าเธอจะไหวตัวทันและรู้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงมันโหดร้ายแค่ไหนก็สายไปเสียแล้ว"เต๋อ" โจรฉกชิงวิ่งราว ผู้แสนกระจอกและอ่อนหัด เขาเป็นผัวที่ต้องพึ่งพาเมีย อย่าง "มายด์" โสเภณีสาว จนผู้คนตีตราว่าเขาเป็นแมงดา หลังการไปเยี่ยมพ่อตาในคุก ทำให้เขามีแรงฮึดสู้ เสพยาเพื่อให้กล้าขึ้น ออกปล้นรัว ๆ เพราะอยากเลี้ยงดูเมียให้ได้ กลัวว่ามายด์เจอแขกรวย ๆ แล้วจะทิ้งเขาไป ในขณะที่มายด์เองก็กลัวเต๋อติดคุกทิ้งเธอไปเหมือนกัน แต่ เต๋อ ก็ได้เรียนรู้ว่าเงินทองที่ปล้นคนอื่นเขามา ยังไม่มากพอจนสามารถทำให้มายด์เลิกอาชีพนี้ได้ ซึ่งกว่าที่เขาจะรู้ตัวชีวิตของตัวเองก็จมดิ่ง มืดมืด จนยากจะกลับไปปกติสุขเรื่องราวความรักแบบฉบับแบด ๆ และความสัมพังทั้งหลายเหล่านี้จะลงเอยอย่างไรรับชมได้ในหนังนะคะ พล็อตสะท้อนเรื่องความรักของกลุ่มคนชายขอบของสังคม ในที่นี้ Red Life สื่อถึง ชีวิตของกลุ่มคนที่ดูมีสีแดงหรือสัญญาณเตือนตลอดเวลา เป็นกลุ่มคนที่ไม่น่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีความสัมพันธ์ด้วย ซึ่งสะท้อนผ่านเรื่องราวของตัวละครเหล่านี้ความรักของโจรและโสเภณี เต๋อและมายด์ต่างเติบโตมาแบบแคระแกร็น การศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องไกลตัว ดั้งนั้นพวกเขาจึงต้องดิ้นรนเอาเอง โดยใช้สิ่งที่ติดตัว หากินเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ความรักแบบฉบับพัง ๆ ของโสเภณีที่มีลูกสาว อ้อยพยายามซื้อสังคมที่ดีให้ลูกสาว โดยใช้เงินจากการขายตัว เพื่อให้ส้มไม่ต้องมีสภาพเหมือนตัวเองความรักครั้งแรกของลูกสาวโสเภณี ที่ดูยากกว่าการขายบริการครั้งแรกเสียอีก เมื่อส้มเจอพีช ส้มต้องเสียอะไรหลายอย่างเพื่อหวังหลุดพ้น แต่สังคมมันโหดร้ายกว่าที่เธอคิด จากความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า กว่าที่คนจนเมืองจะลืมตาอ้าปาก หรือมีชีวิตที่ดีได้มันยากเหมือนกันนะคะ เขาเหล่านี้มีต้นทุนชีวิตที่ติดลบ ไร้การเหลียวแล จึงต้องดิ้นรนมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคม พวกเขาต้องจ่ายแพงแค่ไหนกันถึงจะได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี นักแสดงนำแบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์ รับบทเป็น "เต๋อ" หนุ่มวัยรุ่นที่มีอาชีพเป็นโจรฉกชิงวิ่งราว เขาพยายามทำทุกทางเพื่อรักษามายด์คนรักของตนเอาไว้ให้ได้ บทนี้มีพัฒนาการจากโจรกระจอก มีเปลี่ยนไปทำงานสุจริต แต่ก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องปล้นต่อไปแบบโหดกว่าเดิม เรียกได้ว่ายอมเลวเพราะคลั่งรักจนขาดสติเลยสำหรับตัวละครนี้ ซิดนีย์-สุพิชชา สังขจินดา รับบทเป็น "ส้ม" เด็กสาววัยมัธยมที่ขาดความอบอุ่น โตมากับแม่ที่เป็นโสเภณี มีชีวิตสุดซอมซ่อ และน่าเกลียดมาก ๆ ในสายของเธอ พอส้มได้เจอกับพีช ชีวิตของเธอเริ่มมีความหวังและทางออกที่จะหนีไปจากชีวิตบัดซบและเอาแม่ออกไปจากชีวิตเธอได้ปู-กรองทอง รัชตะวรรณ รับบทเป็น "อ้อย" โสเภณีรุ่นใหญ่ เธอเป็นแม่ของส้มที่ตัดสินใจเลี้ยงลูกสาวคนนี้เองคนเดียวอ้อยดิ้นรนขายบริการ เพื่อหาเงินซื้อชีวิตและสังคมดี ๆ ให้กับลูกสาว เธอไม่เคยให้ลูกต้องทำงานหนัก ให้เรียนอย่างเดียว ถึงแม้จะมีแขกชวนเธอไปอยู่ด้วย แต่อ้อยก็ทิ้งลูกไม่ลง ในขณะที่แม่พยายามทุกอย่างแต่ส้มกลับไม่เคยพอใจ ฝ้าย-สุมิตตา ดวงแก้ว รับบทเป็น "พีช" รุ่นพี่สาวในโรงเรียนที่ส้มเรียนอยู่ บุคลิกของพีชเป็นสาวสังคมคนดังของโรงเรียน คบแต่กลุ่มเพื่อนรวย ๆ เธอสามารถตกส้มได้ เพราะการเสแสร้งเป็นคนขี้เหงา โหยหาความรัก แต่แท้จริงเธอซ่อนอะไรเอาไว้ข้างในใจมากมาย ที่ทำไปเพราะหวังผลประโยชน์ล้วน ๆ จ๋อมแจ๋ม-กานต์สินี พงษ์พานิช รับบบทเป็น "มายด์" โสเภณีสาว เธอเป็นเมียของเต๋อ ที่ยอมทำอาชีพนี้ เพราะอยากมีบ้านสักหลัง กับที่ดินเอาไว้ปลูกผัก รวมทั้งได้อยู่กับเต๋อตลอดไป ตัวมายด์มีภูมิหลังคือกลัวการถูกทิ้ง เพราะพ่อของเธอติดคุกทำให้เธอต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ภาพรวมของหนังบทภาพยนตร์ สะท้อนสังคมคนชายขอบและคนจนเมืองได้ดี ทำให้เห็นมุมดาร์กของสังคมเมืองหลวงที่ซุกซ้อนเอาไว้มากมายเรื่องนี้ตัวละครหลักเจอแต่เรื่องร้าย ๆ ด้านดี ๆ แทบไม่ปรากฏ ตอนจบเป็นแบบปลายเปิด ชวนให้คนดูคิดวิเคราะห์และตัดสินใจว่าชีวิตของตัวละครที่เจอแต่เรื่องดาร์ก ๆ นั้นควรจะลงเอยแบบใดเราจะได้เห็นสภาพสังคมจริงซึ่งการกำกับและงานโปรดักชันถ่ายทอดออกมาได้สมจริงมาก ๆ ยิ่งผสมกับงานภาพที่ดูหม่น ๆ อึมครึมคือเสริมอารมณ์ในการดูมากค่ะตัวละครที่ชอบมากที่สุด คือ ลุงกั๊ก (แสดงโดย มานพ มีจำรัส) อดีตนางโชว์ที่ปัจจุบันหมดสภาพต้องมารับจ้างเข็นขยะ อาศัยอยู่ในโรงแรมเก่า ๆ ย่านวงเวียน 22 ที่เดียวกับส้ม เขาคือแสงสว่าง ความสุข มหรสพ ท่ามกลางซากปรักหักพังของความสัมพันธ์ที่ชำรุดและสภาพสังคมที่มีแต่มุมมืด ทีมนักแสดง แคสติ้งมาได้เขากับบท ทุกคนแสดงทำให้เชื่อและอินตามได้ แต่ละบทของนักแสดงหลักมีซีนให้ได้ปล่อยของ ซึ่งทุกคนรับส่งกันดี ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ โดยรวมแล้วหนังเรื่องนี้คือ หนังรักแบบฉบับแบด ๆ ที่แหวกขนบจากความรักปกติทั่วไปของวัยรุ่นวัยใส ที่ความดาร์กของสังคมทำให้พวกเขาต้องมีสภาพชีวิตกันเช่นนี้ สำหรับใครที่มองหาหนังรักไทยที่พล็อตแปลกใหม่ รสชาติสุดขม หรือชอบแนวดาร์ก ๆ หม่น ผู้เขียนขอแนะนำ RedLife เลยค่ะสะท้อนสังคมขั้นสุด ให้คะแนนภาพรวมของหนัง 8/10 คะแนนสตรีมมิ่งได้ทาง Netflix เครดิตภาพหน้าปกออกแบบใน canvaภาพประกอบหน้าปก brandthink.cinema : ภาพที่ 1 / 2 - 5 / 6 - 7ภาพประกอบเนื้อหา brandthink.cinema : ภาพที่ 1 / 2 / 3-4,6-7 / 5 / 8ลิงก์คลิปวีดีโอประกอบเนื้อหา BrandThink Cinema : คลิปที่ 1 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !