ตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มประกอบสร้างภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของเราเอง ไม่มีวันไหนที่เราหยุดตั้งคำถามกับธรรมชาติและความเป็นไปรอบตัว ประวัติศาสตร์มหานทีแห่งความสงสัยใคร่รู้ของมนุษยชาติ มีเรื่องราวของ "กาลเวลา" ไหลเวียนเปลี่ยนผ่านคู่กันมาเสมอ แนวคิดหารือเกี่ยวกับ เวลา ผ่านมุมมองศาสตร์สาขาต่าง ๆ ได้ให้กำเนิดทรรศนะที่มีต่อเวลาอย่างหลากหลาย ซึ่งในวันนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเวลา ผ่านเรื่องเล่าจากซีรีส์ บทกวีของปีแสง (Be My favorite) ว่ามันถูกใช้เป็นแก่นแกน เพื่อนำไปสู่บทสรุป และแนวคิดของชีวิตได้อย่างไร โครงเรื่องว่าด้วย “บทกวี” (คริส พีรวัส) ในวัย 30 ปี เหนื่อยหน่ายกับชีวิตและหมดสิ้นซึ่งแรงบันดาลใจ ได้ค้นพบว่าหญิงสาวที่ตนเองเคยตกหลุมรักในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยอย่าง “แพรไหม” (อ้าย สรัลชนา) กำลังจะแต่งงานกับ “ปีแสง” (กวิน แคสกี้) สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำชีวิตกะปลกกะเปลี้ยและอดีตอันขมใจ ที่บทกวีไร้ความกล้าหาญพอจะสารภาพรักแพรไหมอย่างซื่อตรง ทว่าลูกแก้วดนตรีที่บทกวีเคยจะมอบให้แพรไหมเป็นมั่นเหมาะในวัยเรียน กลับมอบอำนาจวิเศษในการเดินทางข้ามกาลเวลากลับไปยังอดีต ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอีกครั้ง เรื่องราวคร่าว ๆ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เรามาเริ่มพูดถึงประเด็นสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้กันดีกว่าครับ *** มีการเปิดเผยเนื้อหารวมถึงตอนจบของเรื่อง ให้ผู้อ่านคิดเสียว่าเรากำลังนั่งอยู่ในชั้นเรียนปรัชญาและวรรณกรรม ต่อจากนี้เรากำลังจะถอดรหัสสารัตถะของซีรีส์ ว่าด้วยเรื่องของเวลา สำนักคิดเกี่ยวกับเวลาทางปรัชญามีไพศาล แต่ที่เลื่องชื่อที่สุดคือแนวคิดของ เฮลาคริตุส (Helaclitus) ผู้เชื่อว่าธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และคำกล่าวที่ทำให้เขามีชื่อเสียงอย่าง "เราไม่สามารถย่างก้าวลงแม่น้ำสายเดิมได้ถึงสองครั้ง" ได้ทำให้คติพจน์แห่งการเวลานี้เป็นที่พบเจอในงานวรรณกรรมมากมาย สิ่งนี้บอกอะไรกับเรา? ที่แน่ ๆ แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นถึงการไหลเวียนไปข้างหน้าของเวลา เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงอันไร้ที่สิ้นสุดในเอกภพ และการเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่แน่นอน แล้วซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จจากการหยิบยืมแนวคิดของ เวลา และ การเปลี่ยนแปลง ยังไง? ขั้นแรกซีรี่ส์กลับตาลปัตรแนวคิดของเวลาที่เดินหน้าและสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ไร้จุดสิ้นสุด ให้ทวนย้อนกลับไปสู่อดีต ความสำเร็จขั้นแรกคือการเลือกใช้ วัตถุ เป็นสัญญะของเวลา ใช่แล้วครับ เรากำลังพูดถึงลูกแก้วดนตรี หนึ่งในหัวใจของการท่องกาลเวลาย้อนอดีตคืออะไร? ไทม์แมชชีนสักเครื่อง หรือประตูทะลุมิติ? อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นทั้งสองอย่าง หรือไม่ใช่ ลูกแก้วดนตรีจะเล่นบรรเลงเพลงก็ต่อเมื่อเราหมุนบิดมัน การหมุนย้อนนี้เป็นสัญญะของการย้อนกลับ นอกจากนี้ลูกแก้วยังให้ความรู้สักเปราะบาง แตกหักง่าย เหมือนกับเวลาอันไม่เสถียรหากถูกรบกวนหรือบิดเบือน ลูกแก้วดนตรีที่ถูกใช้เป็นสื่อกลางของการย้อนเวลา ทำงานกับการรับรู้ของคนดูจำนวนหนึ่งทันทีที่เห็น เราแทบจะบอกได้ทันทีว่า "ลูกแก้วดนตรี" ในที่นี้ คือ ไทม์แมชชีน จะเรียกว่าเป็นความชาญฉลาดของซีรีส์ที่เลือกใช้วัตถุชิ้นนี้ก็คงไม่เกินจริง มาถึงเนื้อหาภายในซีรีส์กันบ้าง หลังจากบทกวีค้นพบอำนาจในการเดินทางข้ามเวลาด้วยลูกแก้วดนตรี หนึ่งในสิ่งที่เจ้าตัวพยายามแก้ไข คือเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ บทกวีสูญเสียพ่อด้วยโรคหัวใจ นั่นจึงเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของการเดินทางย้อนเวลาแก้ไขอดีต แต่บทสรุปของเรื่องราวกลับลงเอยที่ความตายเช่นเดิม ไม่ว่าบทกวีจะพยายามเพียงใด เขาก็ยังคงสูญเสียพ่ออันเป็นที่รักให้โรคร้ายเหมือนอย่างเคย คำถามคือการนำเสนอโศกนาฏกรรมเช่นนี้ให้อะไรกับเรา? จะมีความหมายอะไรหากย้อนเวลากลับไปแล้วช่วยเหลือคนที่รักไม่ได้? แน่นอนว่าเวลาที่เดินไปข้างหน้า เป็นภาพแทนนำเสนอความอ่อนแอ ชราภาพ และความตาย ซีรีส์หยิบยื่นความตายให้กับพ่อของบทกวี เพื่อขับแน้นคุณค่าของเวลาให้เด่นชัด เพื่อให้บทกวีได้ทำในสิ่งที่ตนละเลยมาตลอด นั่นคือการหันหน้าพูดคุยกับผู้เป็นพ่อ บอกเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดภาระหนักอึ้ง ที่ต่างฝ่ายรังแต่จะแบกเอาไว้คนเดียว ลูกแก้วดนตรีไม่อาจมอบชีวิตใหม่ให้กับผู้เป็นพ่อ แต่มันได้มอบโอกาสให้บทกวีและพ่อได้ใช้ช่วงเวลาทุกวินาทีอย่างคุ้มค่า กลับมาที่เป้าประสงค์หลักที่บทกวี (เคย) เชื่อว่าจะเป็นจุดพลิกผันของชีวิต นั่นคือการสานสัมพันธ์กับแพรไหมในฐานะคนรัก แต่บทสรุปกลับยุ่งเหยิงชวนหัวไห้ราวกับหนังคนละม้วน เมื่อบทกวีพบว่าชีวิตรักที่ลงเอยกับแพรไหมไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ความน่าสนใจสำหรับผู้เขียนในส่วนนี้ไม่ใช่บทกวีและปีแสงเปิดใจในความสัมพันธ์ของทั้งสอง แต่เป็นตัวละครหญิงสาวอย่างแพรไหมต่างหาก ทำไมนะเหรอ? หลังจากที่บทกวีเลือกประคับประคองความสัมพันธ์กับแพรไหมในฐานะเพื่อน ซีรีส์นำเสนอเส้นทางที่แพรไหมเลือกแต่งงานกับน็อต (กีรติ พวงมาลี) ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวเองก็ทราบวีรกรรมของน๊อตดี ประเด็นน่าสนใจที่แพรไหมให้เหตุผลไว้ คือ เธอล้มเหลว และยอมรับว่าไม่อาจพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ดีกว่านี้ได้อีกแล้ว ซีรีส์เลือกจะให้แพรไหมพูดสิ่งนี้ในงานแต่งงาน ในชุดเจ้าสาว ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ ในทรรศนะของผู้เขียน มันชี้ชัดว่าชีวิตที่ดีกว่านี้ของแพรไหมคือการแต่งงาน เธอยอมจำนนต่อโชคชะตาและเข้าพิธีวิวาห์กับน็อต ทั้ง ๆ ที่ตัวเธอเองก็ทราบวีรกรรมของเจ้าบ่าวดี ทว่าผลพวงของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอดีตของบทกวี ส่งผลให้ภาพชีวิตของแพรไหมเปลี่ยนแปลงไปในอีกรูปแบบ ครั้งนี้ไม่มีน็อต ไม่มีพิธีวิวาห์ มีเพียงแพรไหม สิ่งหนึ่งที่เราสกัดแก่นสารสำคัญของตัวละครหญิงที่ทรงพลังนี้คืออะไร? แน่นอนว่าซีรีส์นำเสนอความเป็นไปได้ของสถานการณ์ และไม่ว่าชีวิตของแพรไหมจะลงเอยในพิธีวิวาห์หรือไม่ก็ตาม เธอก็เป็นแพรไหมที่สมบูรณ์เสมอมา บทสรุปสุดท้ายของเรื่องราวการเดินทางย้อนอดีตเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด ตลอดเส้นทางการหมุนทวนย้อนอดีต ผู้เขียนเห็นหัวใจของเรื่องที่เต้นเร่าในแก่นกลางของซีรีส์มาโดยตลอด มันคือโอกาสครั้งที่สอง (second chance)? อาจจะใช่ แต่มากกว่านั้น มันคือการยอมรับสภาวะจริงแท้ของกาลเวลา หมุนเปลี่ยนเวียนไหลไปตลอด และไม่มีใครรู้ว่ามันจะพาเราไปพบเจอกับอะไร อย่างในบทสรุปของเรื่องที่บทกวีและปีแสงเลือกจะไม่พึ่งพาอำนาจวิเศษของลูกแก้วอีกต่อไป พวกเขาทั้งสองตัดสินใจที่จะพำนักในกาลปัจจุบัน ใช้ชีวิตทุกวินาทีให้คุ้มค่า ไม่เสียเวลาตีตนกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง และสุดท้าย ซีรีส์นำพาให้เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่ล้วนเคยผิดพลาด ล้มเหลว และไม่สมหวังในอดีต จบไปแล้วกับการวิเคราะห์เรื่องราวซีรีส์น้ำดีอีกเรื่อง ต้องบอกตรงนี้ก่อนว่านี่เป็นเพียงมุมมอง และทัศนะส่วนบุคคลล้วน ๆ จากการดูจบเพียงรอบเดียว ไม่แน่หากผู้อ่านได้มีโอกาสดูซีรีส์บทกวีของปีแสงอีกสักรอบ หรือ สอง หรืออาจะสาม คงจะได้แนวคิดจากซีรีส์เพิ่มทุกครั้งที่ดูแน่นอน (เพราะอัดแน่นเหลือเกิน ฮ่า ๆ) แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้า จะเป็นภาพยนต์ หรือซีรีส์อะไร ฝากติดตามด้วยครับ เครดิตภาพหน้าปกจาก บทกวีของปีแสง | Be My Favoriteภาพที่ 1 จาก บทกวีของปีแสง | Be My Favoriteภาพที่ 2 จาก บทกวีของปีแสง | Be My Favoriteภาพที่ 3 จาก บทกวีของปีแสง | Be My Favoriteภาพที่ 4 จาก บทกวีของปีแสง | Be My Favorite จะฟังเพลงหรือดูหนัง ซีรีส์ใหม่สุดปัง โหลดเลยที่ App TrueID โหลดฟรี !