รีเซต

[รีวิวซีรีส์] "Delete" ตีแผ่เรื่องซ่อน/หา(ย) สุดดาร์กในสังคมไทยได้ชวนติดตาม

[รีวิวซีรีส์] "Delete" ตีแผ่เรื่องซ่อน/หา(ย) สุดดาร์กในสังคมไทยได้ชวนติดตาม
แบไต๋
1 กรกฎาคม 2566 ( 09:00 )
291

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ ‘ทีไทย ทีมันส์’ ของ Netflix ที่หลายคนเฝ้าจับตาสำหรับซีรีส์ ‘Delete’ ที่หยิบจับพลอตแนวแฟนตาซีดาร์ก ๆ ที่เราไม่ค่อยได้เห็นในคอนเทนต์ไทยมาผูกโยงเรื่องราวเกี่ยวกับโทรศัพท์เครื่องหนึ่งที่สามารถลบคนคนหนึ่งได้จริง ๆ ผ่านงานกำกับของ โอ๋ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ที่มีงานหนังสยองขวัญทั้ง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” รวมถึงหนังสั้น “ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง” ในโครงการคีตะราชันย์

การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ ลิลลี (ษริกา สารทศิลป์ศุภา) ทำให้ เอม (ณัฏฐ์ กิจจริต) นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คและพิธีกรรายการชื่อดัง-ชายชู้ และ ทู (ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) สามีเจ้าของฟาร์มผู้ทรงอิทธิพลของลิลลีต่างออกตามหาเธอ โดยมีเบาะแสสำคัญคือโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งที่ลิลลี ได้เคยใช้มันลบเด็กสาวในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างไม่ตั้งใจ โดยมี ยุทธชัย (นพชัย ชัยนาม) สายสืบที่หมกมุ่นกับคดีคนหายอย่างไร้ร่องรอยคอยตามสืบและต่อจิ๊กซอเหตุการณ์นี้ทีละชิ้น ๆ จนได้คำตอบที่เกินใครจะคาดคิด

จุดแข็งที่ดีมาก ๆ ของซีรีส์ ‘Delete’ คือบทของซีรีส์ที่มีการวางปมแต่ละปมยั่วล้อไปกับสารทางการเมืองที่มันต้องการสื่อสารออกมา โดยเฉพาะคดี “อุ้มหาย” ที่ถูกแทนภาพเปรียบเปรย (Allergory) ด้วยโทรศัพท์ที่สามารถลบคนให้หายไปได้ ทำให้ปมเรื่องที่ดูเหมือนแฟนตาซีสุดกู่กลับฉายภาพและบรรยากาศคุ้นเคยในสังคมไทยผ่านเสียงข่าวในทีวีทั้งกรณีการอุ้มหายของนักเรียงร้องสิทธิพลเมืองอย่างทนาย สมชาย นีลไพจิตร และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงคดีฆาตกรรมมากมายที่หนังเอามาอ้างอิงถูกนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ “การหายไป” ถูกใช้เพื่อสร้างความสยดสยองในความรู้สึกผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่เท่านั้นบทหนังที่โอ๋ ภาคภูมิ เขียนร่วมกับ จิรัสยา วงศ์สุทิน และทศพร เหรียญทอง ยังละเอียดละออในการเล่นกับปมเรื่องทั้งส่วนที่เป็นโมทีฟอย่าง มือถือลบคนได้ ที่ไปสัมพันธ์กับพ็อคเก็ตบุ๊ค ‘Lost and Found’ การวางตัวละครผู้มีอิทธิพลที่ปรากฎตัวพร้อมเสียงดังปังของปืนพก หรือกระทั่งความน่ากลัวของตำรวจสอบสวนให้ภาพเดจาวูของผู้มีส่วนร่วมในการอุ้มหายได้อย่างน่าขนลุก

อีกส่วนที่โดดเด่นมาก ๆ คืองานถ่ายภาพของ สีบาน นฤพล โชคคณาพิทักษ์ ที่เรียกได้ว่าโดดเด่นไปอีกขั้นทั้งการวางเฟรมในฉากไล่ล่า การเล่นกับตำแหน่งตัวละครกับสถานที่ที่สามารถเล่าเรื่องได้ในตัวของมัน หรือกระทั่งฉากง่าย ๆ อย่างคู่รักและชู้อยู่ด้วยกันก็ยังจัดแสงให้อุ่นไอและความเย็นชาที่ต่างกัน จนเรียกได้ว่าสมค่ากับงานอินเตอร์ที่จะลงแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลกอย่าง Netflix จริง ๆ

ในส่วนการถ่ายทอดบทบาทที่ได้นักแสดงระดับหัว ๆ ของวงการหนังไทยทั้ง ณัฏฐ์ กิจจริต, ไอซ์ซึ ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ และ ปีเตอร์ นพชัย ชัยนาม นั้นแทบจะกลายเป็นสนามปล่อยพลังการแสดงระดับอัลติเพราะทั้งความผิดบาปของณัฏฐ์ ความคลั่งที่รอปะทุของไอซ์ซึ รวมไปถึงความเยือกเย็นของปีเตอร์ล้วนมีส่วนช่วยให้ ‘Delete’ กลายเป็นงานที่แทบละสายตาจากจอไม่ได้เลยทีเดียว

จะมีติดจริง ๆ เห็นจะเป็น ฟ้า ษริกา สารทศิลป์ศุภ และเจ้านาย จินเจษฏ์ วรรธนะสิน ที่รู้สึกว่าพวกเขายังดึงการแสดงออกมาจากเสน่ห์เฉพาะตัวไม่ได้จนผู้ชมไม่อาจรู้สึกเห็นใจหรือร่วมลุ้นกับชะตากรรมของตัวละครได้เท่าใดนัก แต่เซอร์ไพร์สในส่วนนักแสดงจริง ๆ ขอยกให้ ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนา ในบทจูนน้องสาวของทูที่มีปมบางอย่างกับลิลลีที่สามารถดึงปมทางจิตวิทยาของตัวละครมาถ่ายทอดได้อย่างละเอียดละออและสร้างความเห็นอกเห็นใจให้ตัวละครของเธอได้แม้การกระทำของจูนจะห่างไกลจากเด็กน่ารักในสายตาผู้ใหญ่ก็ตาม

กระนั้นแล้วตัวซีรีส์ก็ยังอุตส่าห์มีแผลใหญ่ในตัวเองอยู่ดี เมื่อตอนท้าย ๆ มันเริ่มเล่นใหญ่ขยายปมของเรื่องให้ซับซ้อนขึ้นแต่บางคาแรกเตอร์ผู้ชมกลับรู้จักหรือซึมซับข้อมูลบางอย่างน้อยเกินไปหรือกระทั่งการเปลี่ยนบทบาทพลิกไปพลิกมาในเวลาแค่ 8 ตอนก็ส่งผลกับความน่าเชื่อถือและแอบทำให้ผู้ชมคาดเดาเหตุการณ์ต่อไปได้ไม่ยากนัก ยังดีที่ตอนจบซีรีส์หาทางแลนดิ้งได้ไม่น่าเกลียดนักเลยทำให้ ‘Delete’ เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ไทยบน Netflix ที่ลบคำสบประมาทได้สำเร็จไปอีกชิ้นหนึ่งนั่นเอง