รีเซต

[รีวิวหนัง] "Ghostbusters: Frozen Empire" โดนใจไม่เท่าภาคก่อนแต่รอดได้เพราะแฟนเซอร์วิส

[รีวิวหนัง] "Ghostbusters: Frozen Empire" โดนใจไม่เท่าภาคก่อนแต่รอดได้เพราะแฟนเซอร์วิส
แบไต๋
14 เมษายน 2567 ( 11:30 )
745

หลังจาก ‘Ghostbusters: Afterlife’ กลับมาปลุกแฟรนไชส์บริษัทกำจัดผีที่หลับใหลมานาน (รวมถึงสถานการณ์โรงหนังหลังวิกฤติโควิด19) ในปี 2021 จนยอดรายรับสองร้อยล้านเหรียญทั่วโลกน่าจะเป็นเหตุผลที่ดีในการสานต่อแฟรนไชส์พร้อมการกลับมาของดาราเรียกแขกเจนซีทั้งฟินน์ วูลฟ์ฮาร์ด (Finn Wolfhard) และ แม็กเคนนา เกรซ (Mckenna Grace) ที่รายหลังแจ้งเกิดไปเต็ม ๆ และการันตีรายรับจากเจนวายและสายซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลด้วย พอล รัดด์ (Paul Rudd) รวมถึงการนำทีมออริจินัลทั้ง บิล เมอร์เรย์ (Bill Murray) เออร์นีย์ ฮัดสัน (Ernie Hudson) แดน แอครอยด์ (Dan Aykroyd) และเจนีน เมลนิตซ์ ที่รับบทโดยแอนนี พอตส์ (Annie Potts)

สำหรับเรื่องราวใน ‘Ghostbusters: Frozen Empire’ จะกล่าวถึงมหันตภัยครั้งใหม่เมื่อเจ้าปีศาจ การาก้า ที่เคยก่อความสยองเย็นยะเยือกให้เมืองนิวยอร์คเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วคิดจะกลับมาเพื่อสร้างกองทัพผียึดครองโลกโดยเป้าหมายของมันคือที่ทำการของบริษัทกำจัดผี ที่ในขณะนี้กำลังเกิดวิกฤติครอบครัวสแปงค์เลอร์เมื่อ ฟีบี (รับบทโดยแม็กเคนนา เกรซ) ถูกโดดเดี่ยวจากกรูเบอร์สัน (รับบทโดยพอล รัดด์) ครูวิชาฟิสิกส์ที่มาเดตกับ แคลลี (รับบทโดยแครี คูน, Carrie Coon) แม่ของเธอกับเทรเวอร์ (รับบทโดยฟินน์ วูลฟ์ฮาร์ด) หลังเกิดความเสียหายจากภารกิจตามจับผีมังกรท่อระบายน้ำ จนเธอต้องไปผูกสัมพันธ์กับ เมโลดี้ (รับบทโดยเอมิลี อไลน์ ลินด์, Emily Alyn Lind) ผีสาวที่มาเล่นหมากรุกกับเธอที่สวนสาธารณะ

ว่ากันถึงงานกำกับที่การส่งไม้ต่อครั้งนี้จากเจสัน ไรต์แมน (Jason Reitman) ทายาทสายตรงของไอวาน ไรต์แมน (Ivan Reitman) ผู้กำกับหนังต้นฉบับมาเป็น กิล คีแนน (Gil Kenan) ครั้งนี้ถือเป็นการรับเผือกร้อนไม่น้อยเลยทีเดียว ความต่างของไรต์แมนคนลูกที่มารับช่วงกำกับ ‘Ghostbusters: Afterlife’ ได้อานิสงค์จากอารมณ์ถวิลหาอดีต (Nostalgia) และเรื่องราวเบื้องหลังความเป็นพ่อลูก ที่ลามไปจนถึงพลอตเรื่องที่เน้นอุทิศให้ ฮาโรลด์ รามิส (Harold Ramis) ผู้รับบทอีกอน สแปงค์เลอร์ ที่ล่วงลับไปตั้งแต่ปี 2014 แต่กับ ‘Ghostbusters: Frozen Empire’ เมื่ออารมณ์ถวิลหาอดีตและการกลับมาสานต่อตำนานผ่านพ้นบทหนังภาคนี้ที่คีแนนกลับมาร่วมเขียนบทและกำกับเองก็เลยต้องหาปมอื่นให้มาเกาะเพื่อเล่าเรื่องแทน

ซึ่งว่ากันตามตรงเส้นเรื่องรองอย่างความสัมพันธ์ระหว่างฟีบีกับเมโลดี้ก็ถือว่าไม่เลวเลยนะครับที่จะหยิบยกมาใช้เป็นปมดราม่าสำคัญของหนังภาคนี้ แต่ช่องโหว่สำคัญคือมันดันเป็นปมที่ต่อเนื่องมาจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เป็นปมใหญ่กว่า เพราะแทนที่หนังจะไปเคลียร์ปมพ่อเลี้ยงลูกเลี้ยงระหว่างฟีบีกับกรูเบอร์สัน หรือไปเคลียร์ปมแม่ลูกระหว่างเธอกับแคลลี หนังกลับไปสร้างตัวละครอย่างเมโลดี้แทนซึ่งก็ดันมีปมการตายที่น่าสนใจแต่หนังก็ไม่ได้เล่าต่ออีกเพียงแต่ใช้เธอเพื่อนำไปสู่จุดไคลแม็กซ์ของหนังเท่านั้นเอง จนอดเสียดายเสน่ห์บนจอระหว่างแม็กเคนนา เกรซ กับ เอมิลี อไลน์ ลินด์ ที่เปล่งประกายมาก ๆ ตอนพวกเขาอยู่ด้วยกัน

อีกจุดที่ยอมรับว่าเสียดายไม่น้อยคึอในขณะที่มันมีวัตถุดิบเจ๋ง ๆ ดังที่กล่าวไปในย่อหน้าแรกของรีวิวเรื่องนี้แล้ว แต่หนังกลับจุดประเด็นที่นำไปสู่การาก้าผีบอสหลักของหนังภาคนี้ช้ามาก ทั้งที่อุตส่าห์ปูพื้นความน่ากลัวไปตั้งแต่ช่วงอารัมภบท (Prologue) เปิดเรื่องที่ทำคนดูง้างรอว่ามันมาแน่ มันโหดแน่ แต่กว่าการาก้าจะออกโรงก็ปาไปท้ายองก์สองของหนังที่ส่วนตัวคิดว่ามันมาช้าเกินไปหน่อย และในขณะที่ก็ต้องยอมรับว่าคีแนนก็ยังปรุงหนังให้ออกมาอร่อยและแฟนเซอร์วิสเหล่าสาวกบริษัทกำจัดผีอย่างเต็มเหนี่ยว แต่การปรากฎตัวของนักแสดงต้นฉบับหรือการเล่นซ้ำมุกเดิมกับหนังภาคแรกกลับไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่ มิหนำซ้ำบทบาทเทรเวอร์ของฟินน์ วูลฟ์ฮาร์ดในหนังภาคนี้ยิ่งไม่เป็นชิ้นเป็นอันและมีประโยชน์ต่อทีมบริษัทกำจัดผีน้อยเกินไป

แต่ยังดีที่ฉากแอ็กชันแฟนตาซีของหนังทำออกมาได้ดีนะครับ วิช่วลเอฟเฟกต์น่าจะเป็นพระเอกของหนังเลยที่ทำให้การตีตั๋วชมบริษัทกำจัดผีครั้งนี้ยังพอคุ้มค่าบ้าง ทั้งฉากที่ชายหาดเปลี่ยนเป็นน้ำแข็งหรือฉากที่เหยื่อการาก้าค่อย ๆ เปลี่ยนสถานะกลายเป็นน้ำแข็งก็ทำได้ดี อีกอย่างหนังภาคนี้ได้ คูเมล นานเจียนี (Kumail Nanjiani) ที่มารับบท นาดีม เรียกเสียงฮาให้หนังไม่กร่อยจนเกินไป และแน่นอนว่าหนุ่ม ๆ คงชื่นใจทุกครั้งที่ได้เห็น แม็กเคนนา เกรซ กับ เอมิลี อไลน์ ลินด์ บนจอเพราะพวกเธอเปล่งประกายจริง ๆ