“...ใช่! มันเป็นสัญชาตญาณมืด!! อารมณ์ของสัตว์ดิบที่เขาต้องพยายามฝืนกดมันเอาไว้ และเวลาแห่งการเก็บกลั้นนั้น มันเนิ่นนานเท่าใดแล้วหนอ? เขาบรรลุถึงความต้องการนั้นแล้ว ...ความปลื้มปิติฉีดพล่านไปทั่วร่าง เต็มตื้นและดื่มด่ำด้วยห้วงเวลาแห่งความสุขอันสมสา สุขเสียจนกระชากร่างให้ผงะลุกขึ้นจากเตียงนอนโดยอัตโนมัติด้วยอารมณ์เร่งเร้าแห่งความปิติสูงสุด เมื่อนั้น ... จึงเพิ่งพบว่าร่างกายส่วนกลางลำตัวเปียกแฉะไปด้วยคราบอสุจิเจิ่งนองและไหลลามลงไปอาบทั่วทั้งต้นขาจนเหนียวเหนอะ ...” (บางส่วนจาก พลับพลึงซ่อนพิษ หน้า ๒๑๔-๒๑๕) เมื่อเอ่ยถึงนามปากกา “หมอกมุงเมือง” นักอ่านหลายคนคงจะคุ้นหูกันดี เพราะว่านี่คือนามปากกาของนักเขียนรางวัลทมยันตี อะวอร์ด ผู้ซึ่งมีระยะเวลาการทำงานในฐานะนักเขียนมืออาชีพมาเกือบ 15 ปีเต็ม ผ่านผลงานนวนิยายรวมเล่มกว่า 20 เรื่อง ในสังกัดสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ซึ่งจัดว่าเป็นสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ชั้นแนวหน้าของตลาดนวนิยายไทย พลับพลึงซ่อนพิษ เป็นนวนิยายที่มีความน่าสนใจอีกผลงานหนึ่งของนักเขียนผู้นี้ เพราะนอกจากจะเป็นนวนิยายที่ ‘เล่น’ กับปฏิวาทะ องค์ความรู้ และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ สมกับที่มีตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์นักเทคนิคการแพทย์ ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติแล้ว พลับพลึงซ่อนพิษ ยังจัดได้ว่าเป็นนวนิยายแนวพิศวาสฆาตกรรมเรื่องเยี่ยมอีกเรื่องหนึ่งซึ่งข้นเข้มไปด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครฝ่ายชายทั้งหลายภายในเรื่อง ถึงแม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะมีตัวเดินเรื่องหลักเป็นตัวละครฝ่ายหญิง คือ วิรงรอง หรือ พลับพลึง นางเอกของเรื่องก็ตามที เนื้อเรื่องโดยสังเขปของ พลับพลึงซ่อนพิษ กล่าวถึงชีวิตอันพลิกผันของ วิรงรอง รัตนภาคิน ลูกสาวเพียงคนเดียวของ เจ้าสัวสุบิน รัตนภาคิน ซึ่งภายหลังจากที่เธอได้สมรสกับ อาตม์ ชายหนุ่มรูปงามเจ้าเสน่ห์ที่เธอพึงพอใจ เจ้าสัวสุบินผู้เป็นบิดาของเธอก็ได้จากเธอไป พร้อมกับการคืบคลานเข้ามาของแผนอันชั่วช้าอำมหิตจากการสมคบคิดกันระหว่างของ อาตม์ ชายผู้เป็นสามี กับ เพชรกะรัต เพื่อนสาวที่เธอรักและไว้ใจเป็นที่สุด เมื่อทั้งอาตม์และเพชรกะรัตได้ร่วมมือกันสั่งให้ คามิน และ สินธพ ลูกน้องคนสนิทวางแผนฆ่าเธออย่างเลือดเย็นอำมหิตผิดวิสัยของมนุษย์ ทว่าเมื่อเธอกลับรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์อันว่าด้วยการเปลี่ยนถ่ายสมอง โดยความช่วยเหลือจากนายแพทย์เลิศบุญ รัตนภาคิน บุตรบุญธรรมผู้เป็นที่รักยิ่งของเจ้าสัวสุบินผู้เป็นบิดาของเธอเอง วิรงรอง จึงได้วางแผนและกลับมาที่คฤหาสน์รัตนภาคินอีกครั้ง ในร่างใหม่ภายใต้นามใหม่ว่า พลับพลึง เพื่อกลับมาแก้แค้นทวงความยุติธรรมคืนจาก อาตม์ และ เพชรกะรัต ตลอดจนถึงผู้ที่รวมหัวกันวางแผนฆ่าเธออย่างเลือดเย็นนั่นเอง นวนิยายเรื่องนี้มีโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อนเท่าไรนัก เพราะการกลับมาแก้แค้นภายใต้บุคลิกที่แปลกใหม่ไปจากเดิมของตัวละครเอกก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในวรรณกรรมไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าพลอตเรื่องของ พลับพลึงซ่อนพิษ นอกเหนือไปจากประเด็นขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สอดแทรกเข้ามาแล้ว น่าจะเป็นประเด็นทางจิตวิทยาในการสร้างตัวละครฝ่ายชายของ หมอกมุงเมือง นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้จนจบ นักอ่านหลายคนอาจจะอดรู้สึกสนใจการสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครฝ่ายชายในนวนิยายเรื่องนี้ของ หมอกมุงเมือง ขึ้นมาไม่ได้ โดยเฉพาะปมหลังทางจิตวิทยาซึ่งส่งผลต่อความในใจอันเป็นความลับที่ตัวละครเหล่านั้นพยายามอย่างยิ่งที่จะเก็บซ่อนไว้เจ้าสัวสุบิน — ชายสูงอายุผู้มีบทบาทอยู่เพียงไม่กี่ฉากในนวนิยาย แต่กลับเป็นตัวละครที่มีความสำคัญต่อการวางรากฐานและพลิกปมต่าง ๆ ของเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ด้วยความรัก วิรงรอง — ลูกสาวคนเดียวจนสุดหัวใจ เจ้าสัวผู้ร่ำรวยระดับอภิมหาเศรษฐีจึงยินยอมให้เธอแต่งงานกับชายหนุ่มรูปงามที่เจ้าสัวเองพิจารณาและมองเห็นด้วยสายตาของผู้ชายด้วยกันแล้วว่าผู้ชายคนนั้นไม่น่าจะรักลูกสาวของตนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เมื่อ ‘รู้’ แต่ไม่สามารถที่จะ ‘พูด’ อะไรออกไปได้ เพราะกลัวว่าลูกสาวของตนเองจะเสียใจ เจ้าสัวจึงพยายามฝากฝังลูกสาวสุดที่รักไว้กับบุตรชายบุญธรรมอย่างนายแพทย์เลิศบุญ อีกทั้งพยายามส่งเสียให้เขาเรียนให้สูงที่สุดเพื่อที่วันหนึ่งผู้ชายที่ดี ๆ อย่างนายแพทย์เลิศบุญ จะได้กลับมาปกป้องดูแลลูกสาวอันเป็นที่รักของตนได้ โดยที่วิรงรองเองทำได้เพียงสงสัยว่าเพราะเหตุใดผู้เป็นบิดาถึงรักบุตรบุญธรรมได้มากถึงเพียงนั้นอาตม์ — ชายหนุ่มรูปงามที่หวังตกถังข้าวสารแลกกับการ ‘ขาย’ ศักดิ์ศรีความเป็นผู้ชายของตนด้วยการยินยอมแต่งงานกับวิรงรอง — ผู้หญิงที่เขาไม่ได้รู้สึกรักใคร่เลยแม้แต่น้อย ดังนั้นเมื่อเขาตัดสินใจยอมแต่งงานกับเธอ เขาจึงต้องมีมุมมืดอีกมุมหนึ่งเพื่อตอบสนองอารมณ์ทางเพศรสของเขา นั่นก็คือการแสดงออกซึ่งความรุนแรงทางเพศด้วยความบ้าคลั่งกับผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่วิรงรอง ผู้ซึ่งถือว่าเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยความซังกะตายจากเพศรสอันจืดชืดระหว่างเขากับภรรยาที่เขาไม่เคยรัก ตลอดจนความเก็บกดจากความยากจนและการถูกกดขี่ข่มเหงที่เขาเคยได้รับก่อนที่จะมาเจอกับวิรงรองคามิน — ชายหนุ่มมือสังหารที่เคยถูกผู้เป็นแม่ลวงไป ‘ขาย’ ให้กับชายสูงอายุในครั้งที่เขายังเยาว์วัย ความทรงจำอันโหดร้ายในครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่ศรัทธาในความรัก หวาดระแวง และมีรสนิยมทางเพศที่ชอบเป็นฝ่ายกระทำความรุนแรงกับเพศเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ในสายตาของคนทั่วไป บุคลิกภายนอกของเขาตรงกันข้ามกับรสนิยมทางเพศที่ว่านั้นอย่างสิ้นเชิง และตัวเขาเองก็จะพยายามจะกระทำทุกวิถีทางเพื่อปกปิดความลับส่วนตัวนี้ของเขา ความลับในเรื่องรสนิยมทางเพศที่ยิ่งปกปิดก็ยิ่งน่าค้นหา เฉกเช่นเดียวกันกับความลับในเรื่องเดียวกันกับอาตม์ ผู้เป็นเจ้านายของเขาสินธพ — ผู้ชายแท้ รูปร่างหน้าตาสมชายไทยที่พยายามจะเล่นบทบาทเป็น ‘ขุนแผน’ เสมอ ทั้ง ๆ ที่ตนเองมีฐานะเป็นเพียงลูกสมุนของ อาตม์ เท่านั้น ด้วยฐานะที่ไม่ได้เป็น ‘ขุน’ ดังเปลือกนอก เขาจึงต้องรักษาความลับของเขาเอาไว้และใช้ ‘ลิ้น’ ของตนเองให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับผู้หญิงแต่ละคนที่เขาพึงพอใจในรูปร่างหน้าตาชานนท์ — เด็กหนุ่มหน้าตาดีที่มอบหัวใจรักให้กับหญิงสาวคนหนึ่งที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน เฉกเช่นเด็กหนุ่มทั่ว ๆ ไป จนเมื่อในวันหนึ่งที่เขาจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลืออะไรบางอย่างแก่ผู้หญิงที่เขารัก เด็กหนุ่มอย่างเขาก็สามารถที่จะแสร้งทำเป็นรักเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งได้อย่างเงียบ ๆ โดยไม่ให้ใครได้ล่วงรู้ความสัมพันธ์ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างความเห็นแก่ตัวและระดับคุณธรรมจริยธรรมภายในจิตใจของเขาเองจุมพล — เด็กหนุ่มรูปร่างสะโอดสะอง หน้าตาดี ที่ดูเพียงผิวเผินก็เหมือนว่าเขาจะไม่มีเรื่องราวลับเร้นใด ๆ ซุกซ่อนอยู่ หากแต่ในชีวิตส่วนตัวห้วงลึก เขากลับซุกซ่อนรสนิยมทางเพศอันน่าสนใจเอาไว้ เมื่อเด็กหนุ่มค้นพบว่าตนเองคล้ายกับจะมีรสนิยมแบบ‘มาโซคิสม์’หลังจากที่เขาได้รู้จักกับผู้ชายที่มีชื่อว่าคามินจากการแนะนำของสาวใหญ่รุ่นพี่คนหนึ่งที่เขารู้จัก และในวันหนึ่งรสนิยมความพึงพอใจทางเพศเมื่อได้รับความเจ็บปวดที่ว่านั้น ก็เหมือนจะอ่อนกำลังลงไปทุกที เมื่อเขาได้พบกับชานนท์ เด็กหนุ่มหน้าตาดี ผู้มีแววตาอ่อนโยน เฉลียวฉลาด ที่ก้าวล่วงเข้ามาในชีวิตของจุมพลในวันที่เขาเริ่มรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดจากเพศรสว่าไม่ใช่ความสุขอีกต่อไปนายแพทย์เลิศบุญ — ผู้ชายที่มีความลับเป็นสีพาสเทลขาวโทนชมพูมากที่สุดในเรื่อง เพราะความลับที่อยู่ในห้วงหัวใจของเขา คือความรักความห่วงใยที่เขามีต่อ “คุณวิ” หรือ นางสาววิรงรอง รัตนภาคิน ผู้หญิงที่เขารักและเป็นห่วงเสมอมานับตั้งแต่เล็กจนโต ทั้ง ๆ ที่เขาเองก็รู้อยู่เต็มอก ว่าคุณวิรงรองคือลูกสาวสุดที่รักเพียงคนเดียวของเจ้าสัวสุบิน บิดาบุญธรรมผู้มีพระคุณยิ่งของเขาเอง และเธอเองก็ไม่เคยชายตามองเขาหรือผู้ชายคนไหนในฐานะยอดชายในดวงใจเลย นอกจากชายหนุ่มรูปงามเจ้าเสน่ห์ที่มีชื่อว่า อาตม์ เท่านั้น หมอกมุงเมือง นำความลับที่ซ่อนลึกอยู่ภายในจิตใจของผู้ชายเหล่านี้ ออกมาเชือดเฉือนประชันความเข้มข้นกันผ่านการกระทำอันรองรับด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา จนกลายเป็น นัยพลิกผัน (Irony) ในตัวบทของนวนิยายเอง เพราะเมื่อเราอ่านนวนิยายเรื่องนี้ไปจนจบ เราก็จะพบว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ “พลับพลึง” (ผู้หญิง) หรอกนะ ที่ ‘ซ่อนพิษ’ อันร้ายกาจเอาไว้ หากแต่เป็นผู้ชายทั้งหลายในเรื่องต่างหาก พลับพลึงซ่อนพิษ มีฉากวาบหวิวอยู่ไม่น้อยตามลักษณะของนวนิยายแนวพิศวาสฆาตกรรม แต่ก็เป็นความวาบหวิวที่ หมอกมุงเมือง ตั้งใจใส่เข้ามาเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงลักษณะอันเป็นไปโดยธรรมชาติตามสัญชาตญาณดิบของปุถุชน มากกว่าจะปลุกอารมณ์ปรารถนาของผู้อ่านเพื่อนำไปสู่ปีติสังวาส อีกทั้งยังได้พยายามกลบความคาวคลุ้งเหล่านั้นโดยความละมุนของลีลาทางวรรณศิลป์ สมกับที่เป็นนักเขียนรางวัลทมยันตี อะวอร์ด ยิ่งผนวกกับประเด็นเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนถ่ายสมอง’ ที่สามารถสร้างความสมจริงให้นวนิยายได้ด้วยข้อมูลรองรับทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ พลับพลึงซ่อนพิษ เป็นจิตนวนิยายแนวไซไฟ-พิศวาสฆาตกรรมอีกเรื่องหนึ่งที่นักอ่านสายดาร์คและสายพาฝันไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงภาพประกอบ : ก.ไกรศิรกานท์