สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ช่อง ThaiiDeoGraph นะคะ พบกับ พี่ออรี่ (@aorii8happy) เหมื่อนเดิม เพิ่มเติม คือ งานนี้เราพบกันผ่านตัวหนังสือ แม้ไม่ได้ยินเสียงกัน แต่เนื้อหายังสนุกสุดมันเหมือนเดิมน๊ะจ๊ะ ซึ่ง พี่ออรี่ ก็ขอประเดิมเบิกฤกษ์ด้วย ข้อมูลข้น ๆ ดีป ๆ เพิ่มความฟินให้กับติ่งน้องโคนัน กับ 10 อันดับ ความลับ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ที่โตมาป่านนี้ก็เพิ่งจะรู้!! มาดำดิ่งไปกับเรื่องราวทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังกว่าจะกลายมาเป็นยอดนักสืบจิ๋วโคนันแบบที่คุณ...อาจไม่เคยรู้มาก่อนอันดับ 10 เอโดงาวะ โคนัน ส่วนผสมของปรมาจารย์นักเขียนนิยายสืบสวนในตำนานใน โคนัน ปี 1 ตอนที่ 2 ยอดนักสืบย่อส่วน คดีลักพาตัวลูกสาวประธานบริษัท ถือเป็นการเปิดตัวยอดนักสืบจิ๋ว เอโดงาวะ โคนัน (Conan Edogawa) เลยก็ว่าได้ ซึ่งชื่อ เอโดงาวะ โคนัน ก็มาจากการเอาชื่อ เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) นักเขียนผู้ให้กำเนิด เชอร์ล็อก โฮล์มส นักสืบชื่อดังแห่งอังกฤษ มารวมเข้ากับ เอโดงาวะ รัมโป (Edogawa Ranpo) ซึ่งเป็นนามแฝงของ อาจารย์ ทาโร่ ฮิไร (Hirai Tarō) นักเขียนนิยายสืบสวนชื่อดังของญี่ปุ่น อันดับ 9 ที่มาของ โคโกโร่ และ ขบวนการนักสืบเยาวชนซึ่งงานเขียนของ อาจารย์ ทาโร่ ฮิไร ส่วนมากจะมีตัวเอกเป็นนักสืบที่ชื่อว่า อาเคจิ โคโกโร่ (Kogoro Akechi) ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าของกลุ่มนักสืบเด็กหนุ่มที่ใช้ชื่อว่า ขบวนการนักสืบเยาวชน คล้ายกับ เบเกอร์สตรีท อีเรกกูลาร์ (Baker Street Irregulars) เหล่าเด็กจรจัดที่คอยช่วยโฮล์มสสืบคดี จนได้รับฉายาว่าเป็น เชอร์ล็อค โฮล์มส แห่งญี่ปุ่น ซึ่งก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของ ขบวนการนักสืบเยาวชน และ ที่มาของชื่อ โมริ โคโกโร่ (Kogoro Mouri) อันดับ 8 บ้านชินอิจิ vs. บ้านเชอร์ล็อค โฮล์มส นอกจากนี้ บ้านของ คุโด้ ชินอิจิ (Shinichi Kudo) ยังตั้งอยู่ที่หมู่ 2 บล็อก 21 เมืองเบย์กะ เหมือนกับแฟลตของเชอร์ล็อก โฮล์มส ซึ่งตั้งอยู่ที่ 221B, Baker Street อีกด้วย อันดับ 7 ไขรหัสลับ APTX4869แม้ยาพิษอย่าง APTX 4869 แคปซูลเม็ดเล็ก ๆ ที่ทำให้ เชอร์ล็อก โฮล์มส แห่ง ยุคเฮย์เซ อย่าง คุโด้ ชินอิจิ ต้องกลายมาเป็น ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน นั้น อาจารย์ อาโอยามะ ก็ยังแฝงรหัสลับที่เกี่ยวข้องกับ เชอร์ล็อก โฮล์มส เอาไว้ โดยที่ APTX เป็นคำย่อของ อาโพท็อกซิน (Apotoxin) ตัวยาที่กระตุ้นให้เกิด อะพอพโทซิส (Apoptosis) ขึ้นหรือที่เรียกว่า โปรแกรมการทำลายตัวเองของเซลล์ ส่วน 4869 ก็คือรหัสลับของคำว่า เชอร์ล็อก โฮล์มส นั่นเอง ซึ่งวิธีการไขรหัสลับแบบนี้ก็มีอยู่ใน โคนัน ปี 9 ตอนที่ 434 สิ่งที่รันคาใจ ด้วยเช่นกัน เป็นการไขรหัสลับจากตัวเลขในภาษาญี่ปุ่นให้พ้องเสียงกับคำอ่านภาษาญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า "เชอร์ล็อก" ในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า เชีย-รก-กุ (ญี่ปุ่น: シャーロック โรมาจิ: Shyārokku) ถ้าอ่านแบบออกเสียงทีละตัวจะได้ シ(ชิ)ャ(ยะ)ーロ(โระ)ック(คุ) ซึ่งตัวเลขในภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงได้หลายแบบ โดยที่ เลข 1 อ่านออกเสียง อิจิ หรือ ฮิ เลข 2 อ่านออกเสียง นิ หรือ ฟุเลข 3 อ่านออกเสียง ซัน หรือ มิเลข 4 อ่านออกเสียง ชิ หรือ ย่ง หรือ โยะเลข 5 อ่านออกเสียง โกะ หรือ อิซึเลข 6 อ่านออกเสียง โรคุ หรือ โระ หรือ มุเลข 7 อ่านออกเสียง นานะ หรือ นะ หรือ ชิจิเลข 8 อ่านออกเสียง ฮาจิ หรือ ยะเลข 9 อ่านออกเสียง คิว หรือ คุ หรือ โคะดังนั้น 4869 อ่านออกเสียง ชิ ยะ โระ คุ หรือก็คือ เชอร์ล็อก นั่นเอง อันดับ 6 ไฮบาระ ไอ ก็มีที่มาจาก เชอร์ล็อก โฮล์มสอาจารย์ อาโอยามะ เจ้าของผลงานยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เคยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ใน Da Vinci Magazine ฉบับประจำเดือน พฤษภาคม ปี ค.ศ. 2014 ไว้ว่า "Ai" (哀) ในชื่อของ ไฮบาระ ไอ (Ai Haibara) มาจากตัวละครชื่อ ไอรีน แอดเลอร์ (Irene Adler) ในเรื่อง เชอร์ล็อก โฮล์มส ตอน เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย (A Scandal in Belgravia) ไอรีน แอดเลอร์ เป็นผู้หญิงคนเดียวที่โฮล์มสยอมรับ เมื่อโฮส์มสเห็นรูปเธอก็มักจะเรียกเธอว่า "คุณผู้หญิง" อยู่เสมอ ซึ่ง อาจารย์ อาโอยามะ ก็น่าจะตั้งใจวางคาร์แรคเตอร์ของ ไอจัง ให้คล้าย ไอรีน แอดเลอร์ ด้วยก็เป็นได้ เพราะ โคนัน ก็ดูเหมือนว่าจะแพ้ทาง ไอจัง อยู่เหมือนกันน๊ะ เห็นได้จากตั้งแต่เริ่มเปิดตัว ไฮบาระ ไอ ใน โคนัน ปี 3 ตอนที่ 136 ผู้หญิงที่มาจากองค์กรชุดดำ กับคดีฆาตกรรมอาจารย์มหาวิทยาลัย (ตอนพิเศษ 2 ชั่วโมง) ไอจัง ก็ปั่นหัว โคนัน ซะป่วนไปหมดเลยทีเดียว อันดับ 5 ไฮบาระ ไอ กับ ความเสียใจ และความรักนอกจากนี้ ใน โคนัน ปี 3 ตอนที่ 138 ผู้หญิงที่มาจากองค์กรชุดดำ กับคดีฆาตกรรมอาจารย์มหาวิทยาลัย (ตอนพิเศษ 2 ชั่วโมง) ยังได้มีการอธิบายความหมายของชื่อ ไอจัง เพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า "ไอ" มีวิธีเขียนได้สองแบบ แบบหนึ่งมีความหมายว่า ความเสียใจ (哀) และอีกแบบหนึ่งมีความหมายว่า ความรัก (愛) แต่ ไฮบาระเลือกที่จะใช้ตัวอักษรที่หมายถึงความเสียใจ ก็ไม่แน่ว่า เริ่มต้นอาจจะใช้ ไอ ที่แปลว่า ความเสียใจ แต่สุดท้าย อาจลงเอยด้วยคำว่า ไอ ที่แปลว่า ความรัก ก็เป็นได้ อันดับ 4 คุโด้ ผู้โปรดปรานเหล้าเชอร์รี่ความลับข้อนี้เป็นความลับข้อแรกที่เราจะออกมาจากความเป็น เชอร์ล็อก โฮล์มส กันซะที เป็นความลับที่ซ่อนอยู่ในความหมายของชื่อ คุโด้ ชินอิจิ ที่แม้จะได้ฉายาว่า เชอร์ล็อก โฮล์มส แห่ง ยุคเฮย์เซ แต่ที่มาของชื่อ คุโด้ ชินอิจิ กลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับเชอร์ล็อก โฮล์มสซะงั้น โดยนามสกุล คุโด้ (Kudo) ของ ชินอิจิ นั้น อาจารย์ อาโอยามะ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละครในซีรีย์แนวสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นเรื่อง Tantei Monogatari ที่มีตัวละครเอกชื่อ คุโด้ ชุนซาคุ (Shunsaku Kudo) นำแสดงโดยนักแสดงมาดกวนอย่าง มัตสึดะ ยูซะกุ (Yūsaku Matsuda) ซึ่งในเรื่อง Tantei Monogatari นั้น เครื่องดื่มที่โปรดปรานมากที่สุดของ คุโด้ ก็คือ เหล้าเชอร์รี่ (Sherry) หรือก็คือ โค้ดเนม ของ ไฮบาระ ไอ หรือ มิยาโนะ ชิโฮะ ในสมัยที่เธอยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรชุดดำนั่นเอง แฮร่ สำหรับสาวก #โคไอ ก็ฟินอยู่นะข้อนี้ อันดับ 3 ตะวันตกต้องฮัตโตริ ตะวันออกต้องคุโด้นอกจากนี้ อุปนิสัยของ คุโด้ ในเรื่อง Tantei Monogatari นั้น เมื่อรับทำคดีใดแล้วจะทุ่มสุดตัว ไม่เคยยอมแพ้แม้ในสถานการณ์คับขัน เขาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับตำรวจ ยกเว้นกับมือหนึ่งของกองสืบสวนกลาง หัวหน้านักสืบฮัตโตริ ที่สนิทสนมกันเป็นพิเศษ จนเป็นที่มาของวลีที่ว่า ตะวันตกต้องฮัตโตริ ตะวันออกต้องคุโด้ ซึ่ง อาจารย์ อาโอยามะ ก็ได้สร้างตัวละคร ฮัตโตริ มาเป็นคู่หูนักสืบให้กับทั้ง คุโด้ และ โคนัน และก็ได้สืบสานตำนานของวลีเด็ดนี้ต่อไปด้วย อย่างที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ ในเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ว่า ตะวันตกต้องฮัตโตริ ตะวันออกต้องคุโด้ เช่นเดียวกัน อันดับ 2 โมริ รัน ผู้เป็นปฏิปักษ์กับ เชอร์ล็อก โฮล์มสในขณะที่ คุโด้ ชินอิจิ ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น เชอร์ล็อก โฮล์มส แห่ง ยุคเฮย์เซ นั้น แต่ความลับที่ซ่อนอยู่ในชื่อของ โมริ รัน เมื่อถูกเปิดเผยขึ้นมาอาจทำให้เราอึ้งไปตาม ๆ กัน เพราะ ที่มาของชื่อ โมริ รัน (Ran Mouri) ทั้งชื่อและนามสกุลมาจากชื่อของนักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวฝรั่งเศส มอริส เลอบล็อง (Maurice Leblanc) ที่อ่านออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นว่า Mouri-su Rubu-ran ผู้แต่งเรื่อง อาร์แซน ลูแปง (Arsène Lupin) ผู้เป็นปฏิปักษ์กับ เชอร์ล็อก โฮล์มส ซะงั้น ก็น่าลุ้นว่าที่มาของชื่อ โมริ รัน จะส่งผลยังไงกับบทสรุปของยอดนักสืบจิ๋วโคนันกันแน่!! อันดับ 1 ไขปริศนาทรงผม โคนัน / ชินอิจิทรงผมชินอิจิเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างคาร์แรคเตอร์การ์ตูนที่ อาจารย์ อาโอยามะ ชื่นชอบถึง 3 ตัวด้วยกัน โดย อาจารย์ อาโอยามะ เริ่มต้นออกแบบทรงผมชินอิจิจาก คุโรงาเนะ ไยบะ ซามูไรวัยกระเตาะจากเรื่อง ไยบะ เจ้าหนูซามูไร ผลงานขึ้นชื่ออีกเรื่องหนึ่งของ อาจารย์ อาโอยามะ โดยทำให้ทรงผมของ ไยบะ เป็นทรงผมแบบเรียบ ๆ ก่อน จากนั้นก็ผสมผสานกับทรงผมของ คาบู (Kabu) ตัวการ์ตูนในเรื่อง แม่มดแซลลี่ (Sally the Witch) ที่มีเอกลักษณ์คือปอยผมแหลม ๆ ตรงท้ายทอย สุดท้ายก็สร้างความแตกต่างให้กับทรงผมของชินอิจิ ด้วยปอยผมด้านบน ซึ่ง อาจารย์ อาโอยามะ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคาร์แรคเตอร์ของ สิจิมิ (Shichimi) ในเรื่อง พริกขี้หนูสีรุ้ง (Niji Iro Tōgarashi) และเมื่อเอกลักษณ์ของคาร์แรคเตอร์ทั้ง 3 ตัวรวมกัน จึงได้มาซึ่งทรงผมที่แตกต่างไม่เหมือนใครของชินอิจิแบบนี้นี่เอง เป็นยังไงบ้างคะ สำหรับ 10 อันดับ ความลับ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน แบบคัดมาเน้น ๆ ใครชอบความลับข้อไหนกันบ้าง ก็อย่าลืมคอมเม้นท์มาคุยกันน๊ะ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป มาดูกันว่า พี่ออรี่ จะล้วงลึกความลับของการ์ตูนเรื่องไหนมาเพิ่มความฟินให้สายโอตาคุอีกบ้าง ฝากติดตามผลงานด้วยนะคะ บ๊าย บาย ค่ะ YouTube: ThaiiDeoGraphFacebook: ThaiiDeoGraphInstagram: @aorii8happyเครดิตรูปภาพ:ภาพปก, รูปภาพที่ 1, รูปภาพที่ 2, รูปภาพที่ 3, รูปภาพที่ 4, รูปภาพที่ 5, รูปภาพที่ 6, รูปภาพที่ 7, รูปภาพที่ 8 : ไยบะ เจ้าหนูซามูไร, รูปภาพที่ 8 : คาบู (Kabu), รูปภาพที่ 8 : สิจิมิ (Shichimi), รูปภาพที่ 8 : โคนัน