สำนักพิมพ์ : มติชนโดย : วีรพร นิติประภาชื่อหนังสืออาจจะดูยาวแต่บอกเล่าเนื้อหาโดยรวมของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี การันตีด้วยรางวัลซีไรต์ปี 2558 ก่อนเข้าเรื่อง AuntyMeow ถามทุกคนหน่อย ย้อนกลับไปสมัยเรียน ม.ต้น วิชาวิทยาศาสตร์ที่มีการทดลองโดยใช้ไส้เดือนกับกล่องที่ด้านหนึ่งมีทางออก อีกสองด้านจะเป็นทางตัน แล้วให้ไส้เดือนคลานไปหาทางออก ผลการทดลองปรากฏว่าไส้เดือนความจำสั้นมาก! ความจำสั้นอย่างไรล่ะ! นั่นก็เพราะกว่าไส้เดือนจะหาทางออกเจอ ไส้เดือนจะคลานวนอยู่ที่เดิม คลานไปชนทางตันครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าจะรู้ว่าทางนี้เป็นตันก็กินเวลานานแสนนานเหลือเกิน แต่ไส้เดือนตาบอดและเป็นสิ่งมีชีวิตที่ระบบชีววิทยาไม่ซับซ้อน ก็ไม่แปลกที่จะดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ซับซ้อนได้ยากนักสอดคล้องกับหนังสือเล่มนี้ ที่เปรียบเทียบชีวิตตัวละครเหมือนไส้เดือนตาบอด แถมยังเข้าไปอยู่ในเขาวงกตอีก ธรรมดาแค่พื้นที่โล่ง ๆ ก็หาทางออกยากแล้ว นี่จะออกมายังไงกัน บทความนี้ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ เป็นเพียงการบอกเล่าความประทับใจส่วนตัวเท่านั้น เพราะทุกคนต่างมีมุมมองของตัวเองรู้จักงานเขียนนี้ครั้งแรกบอกตรง ๆ AuntyMeow ยอมรับเลยว่าไม่เคยรู้จักนักเขียนท่านมาก่อนเลย รู้จักผลงานของคุณวีรพรครั้งแรกจากผลงานเขียนอันดับที่สอง! ฟังไม่ผิดหรอกค่ะ เรามารู้จักไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตในภายหลัง แถมมาทราบทีหลังอีกว่าผลงานเขียนชิ้นนี้ได้รางวัลซีไรต์ด้วย ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่เลยงานนี้ AuntyMeow ไม่ลังเลที่จะซื้อมาอ่าน (อยากซื้อก็ซื้อเลยไม่ดูรีวิวใด ๆ ทั้งสิ้น เดี๋ยวไม่ตื่นเต้น) ตอนแรกก็ยังสงสัยว่าเนื้อหาจะออกมาในรูปแบบไหน จะเป็นรวมเรื่องสั้นหรือนวนิยายตอนยาว เพราะขนาดหนังสือเล่มไม่ใหญ่และไม่หนาเหมาะแก่การพกพาติดกระเป๋าไปอ่านอะไรทำนองนี้ความรู้สึกขณะอ่านนวนิยายต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้...เดี๋ยวก่อน! เรื่องแรกคือสำนวนที่เป็นเอกลักษณ์ ความแปลกแหวกแนว มีกลิ่นอายความเป็นบทกวีสูงมากเหมือนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนในรูปแบบของนวนิยาย (ดังนั้นใครที่ชอบอ่านนวนิยายมาอ่านผลงานชิ้นนี้อาจต้องทำความเข้าใจสักนิด) เหมือนงานศิลปะ เหมือนปรัชญาชีวิตอีกแขนงหนึ่ง (บรรยายไม่ถูกจริง ๆ) สังเกตได้จากชื่อตอนแต่และตอนที่นำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง บางคนอาจจะมองว่าพรรณนาเยิ่นเย้อ ใช้คำฟุ่มเฟือย อ่านต้องอาศัยการตีความมากกว่าหนังสือเล่มอื่น แต่ AuntyMeow รู้สึกชอบค่ะ พออ่านแล้วจะพบว่าผู้เขียนได้บรรยายเปรียบเทียบโลกแห่งความจริงกับโลกที่ตัวละครใฝ่ฝันอยากจะมี แต่ท้ายสุด...ฝันก็สลายไปในพริบตาอยู่ร่ำไปความรู้สึกหลังอ่านบางคนก็เลือกที่จะเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต แต่บางคนกลับไม่เรียนรู้อะไรเลยและยังคงทำผิดพลาดซ้ำซากจนถึงจุดที่เรียกว่า 'ไม่อาจกลับได้อีกต่อไป' หรือ 'Point of No Return' จะเรียกว่าเวรกรรมก็น่าจะได้ กรรมที่แปลว่าการกระทำของตัวเอง เหมือนตัวละครที่หว่านเม็ดพันธุ์ชนิดใดก็ได้พืชเช่นนั้น แต่มีบทหนึ่งที่ AuntyMeow อ่านแล้วชอบมาก บทนั้นกล่าวถึงภาวะความอ่อนแอของจิตใจมนุษย์ได้เป็นอย่างดี การโหยหาความรักจนต้องไปบนบานให้สมหวังในความรักกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์! โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่ากำลังขอความรักจากคนที่ผิดหวังในความรักและตรอมใจตายเพราะความรักอีกต่างหาก มันย้อนแย้งใช่มั้ยล่ะ ค่อนข้างจะสะท้อนสังคมได้ในระดับหนึ่งเลย AuntyMeow มีความคิดเห็นว่าตัวละครหลักของเรื่องเป็นตัวอย่างของคนที่เรียกว่า 'ใช้โอกาสสิ้นเปลือง' พวกเขาได้โอกาสเริ่มต้นใหม่หลายต่อหลายครั้งแต่ก็กลับทำพลาดอีก เหมือนคนที่เจอทางออกจากเขาวงกตอันซับซ้อนแล้ว ก็ยังจะเดินกลับไปหลงทางในเขาวงกตอีก เรียกว่าทำตัวเองก็ไม่ผิดค่ะ...