"หลังหักอีกแล้ว!!" เป็นคำพูดที่ผู้อ่านทุกคนน่าจะได้เห็นจากเหล่าเกมเมอร์สายเล่นเกมจาก STEAM หรือเกม Console พูดกันบ่อยมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีเกมลดราคาเป็นจำนวนมาก จะได้ยินคำนี้บ่อยมากเป็นพิเศษ เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมพวกเขาต้องหลังหักกัน? หลังหักในความหมายของเกมเมอร์คืออะไรกันแน่? แล้วเราจะเอาคำนี้ไปใช้เมื่อไรได้บ้าง? วันนี้ผมจะมาไขปริศนาทุกอย่างให้กระจ่างเองครับ!!"หลังหัก" ไม่ใช่อาการกระดูกสันหลังหักเนื่องจากอุบัติเหตุใด ๆ แต่อย่างใด แต่เป็นคำศัพท์ที่หมายถึงเหตุการณ์ที่เกม ๆ หนึ่งลดราคาหลังจากที่เราเพิ่งซื้อไปเมื่อไม่นานมานี้ ยกตัวอย่างเช่นเกม A ราคาเต็มคือ 2,000 บาท ผมซื้อไปวันที่ 12 เมษายน วันต่อมามีการลดราคาเทศกาลสงกรานต์ขึ้นทำให้ราคาเกมลดลงเหลือเพียง 990 บาท!! นี่แหละครับคือการหลังหัก เพราะเกมที่เราซื้อมาสด ๆ ร้อน ๆ ในราคาเต็มดันมาลดราคาต่อหน้าต่อตา!!แหล่งอ้างอิงรูปภาพประกอบบทความ : ภาพจากหน้าร้านค้า CDKeys Store ถ่ายภาพโดย PDEsterคำว่าหลังหักนี้ไม่ได้ถูกระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไร อาจจะเป็นสถานการณ์ที่เราซื้อเกม B ที่ลดราคาไป 80% และคิดว่าดีที่สุดแล้ว แต่วันดีคืนดีกลับแจกฟรีเสียอย่างนั้นก็ถือว่าหลังหักเหมือนกัน จะหลังหักมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่าเราเล่นเกมที่ซื้อไปได้ขนาดไหนแล้ว ถ้าเราเล่นเกมนั้นจนจบแล้วเกมเพิ่งมาลดราคาก็ถือว่าไม่หลังหัก เพราะเราเล่นจนคุ้มราคาไปแล้ว ทว่าหากซื้อมานานมากแล้วยังไม่ได้เล่นเลยแม้แต่นิดเดียว แล้วจู่ ๆ เกมก็กลับมาลดราคา ก็อาจจะถือว่าหลังหักได้เช่นกัน ถึงกระนั้นเราก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าการลดราคาเกมแต่ละครั้งนั้นทำให้ผู้ซื้อหลังหักหรือไม่ ขึ้นกับความรู้สึกของผู้ซื้อด้วยเป็นสำคัญแหล่งอ้างอิงรูปภาพประกอบบทความ : ภาพจากหน้าร้านค้า Epic Games Store ส่วนของ Spring Sale 2020 ถ่ายภาพโดย PDEsterที่มาของคำว่าหลังหักนั้นไม่ชัดเจน แต่ข้อมูลที่ตรงกันคือมาจากการเล่นคำของคำว่า "หักหลัง" โดนผู้ซื้อมองว่าผู้ขายหักหลังด้วยการลดราคาของให้ต่ำกว่าที่เขาเคยซื้อไป นอกจากในวงการเกมแล้วเรายังสามารถพบเจอคำว่าหลังหักได้อีกในหลายวงการ ยกตัวอย่างเช่นวงการกันพลา โดยจะใช้คำว่าหลังหักเมื่อมีการผลิตโมเดลตัวเก่าขึ้นมาใหม่ด้วยวัสดุหรือรายละเอียดที่ดีกว่าเดิม ถ้าราคาต่ำกว่าเดิมด้วยก็จะหลังหักหนักเข้าไปอีก ดังนั้นหากสรุปคำว่าหลังหักให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือของที่เราซื้อลดราคาต่ำกว่าราคาที่เราซื้อไป หรือของที่เราซื้อมาถูกนำมาผลิตใหม่ให้ดีกว่าเดิมในราคาเท่าเดิมหรือถูกลงแหล่งอ้างอิงรูปภาพประกอบบทความ : ภาพ โดย Gerd Altmann จาก Pixabay ดังนั้นเราสามารถนำคำว่าหลังหักไปใช้ง่ายมาก ๆ ไม่จำกัดแค่ในวงการเกมเท่านั้น ขอแค่ของที่เราเคยซื้อมาลดราคาและขายในราคาที่ต่ำกว่าก็จะถือว่าหลังหักโดยทันที แต่ถ้าหากเรารู้สึกว่าเราใช้ของชิ้นนั้นจนคุ้มค่าแล้ว และไม่รู้สึกเสียใจหรือเสียดายใด ๆ ก็จะไม่ถือว่าเป็นการหลังหักครับ เพราะฉะนั้นหากเห็นคำว่า Sale เมื่อไร เตรียมตัวเตรียมใจได้เลยว่าอาจจะมีการหลังหักกันบ้างนะครับ ฮ่า ๆ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเข้าใจคำว่าหลังหักกันมากขึ้นนะครับ สำหรับวันนี้ผมขอตัวลาไปก่อนแล้ว สวัสดีครับกด Follow เพื่อติดตามบทความใหม่ ๆ และอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่ : https://creators.trueid.net/@9081Facebook Fanpage ของผู้เขียนบทความ : https://www.facebook.com/PDEsterTheCreator/แหล่งอ้างอิงรูปภาพปกบทความ : Photo by Artem Beliaikin from Pexels