สิ้นราชาเพลงพูด "เพลิน พรหมแดน" ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตแล้วในวัย 85 ปี
แฟนเพลงรุ่นใหญ่ต้องพบกับข่าวเศร้าอีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีไทยลูกทุ่ง ประจำปี 2525 เจ้าของฉายา "ราชาเพลงพูด" เพลิน พรหมแดน เสียชีวิตลงแล้วในวัย 85 ปี
โดยที่เฟซบุ๊ก "เพลิน พรหมแดน" ได้โพสต์แจ้งข่างเศร้าว่า "ขอแจ้งข่าวร้าย อ.เพลิน ได้จากเราไปแล้วเมื่อเวลาประมาณเที่ยง"
เปิดประวัติ เพลิน พรหมแดน
มีชื่อจริงว่า สมส่วน พรหมสว่าง มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านกิโลสอง อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 12 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นบุตรของนายปลื้มและนางตุ่น พรมสว่าง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน เป็นบุตรคนที่ 5 เริ่มศึกษาในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนศรีอรัญโญทัย หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาแล้ว ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นบรรพชาเป็นสามเณร และจำพรรษอยู่ ณ วัดเศวตฉัตร กรุงเทพฯ เมื่อสอบได้นักธรรมโท จึงลาสิกขาบทออกมาช่วยบิดามารดาทำนาอยู่ที่บ้านเกิด
เนื่องจากเป็นผู้มีนิสัยชื่นชอบการร้องเพลง เมื่ออายุประมาณเกือบ 20 ปี ได้สมัครเข้าประกวดร้องเพลงตามงานต่างๆ ที่รับสมัครประกวดร้องเพลง และได้เข้ามาร้องเพลงเชียร์รำวงในคณะรำวง "คณะตาเหมือน" เมื่อสถานีวิทยุยานเกราะประกาศรับสมัครประกวดร้องเพลง นายสมส่วนได้สมัครเข้าแข่งขัน และได้รับรางวัลชนะเลิศ ภายหลังได้ก้าวเข้าสู่วงการดนตรีโดยเข้าสังกัดในคณะวงดนตรีชุมนุมศิลปิน หัวหน้าวงดนตรี คือ จำรัส วิภาตะวัต ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนชื่อจากนายสมส่วน พรหมสว่าง มาเป็น เพลิน พรหมแดน จนได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิตเพลง "ทุ่งร้างนางลืม" ผลงานของ "นิยม มารยาท"
ภาพจาก : เพลิน พรหมแดน
ต่อมาได้แยกตัวออกมาตั้งวงดนตรี "เพลิน พรหมแดน" โดยเพลงส่วนใหญ่ "เพลิน พรหมแดน" จะเป็นผู้ประพันธ์เองและร้องเอง แนวเพลงที่ทำให้ประสบความสำเร็จจะเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและคำพูดในแนวตลกสนุกสนานจนได้รับสมญานามว่า "ราชาเพลงพูด" เพลงแรกที่ เพลิน พรหมแดน ได้ร้องแล้วพูดในเพลงคือ "สมัครด่วน"
ในปี พ.ศ. 2513 ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้ชักชวนให้แสดงภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือ ฝนใต้ ตามต่อเรื่อง ฝนเหนือ และ ระเริงชล และในปี พ.ศ. 2522 ได้แสดงเป็นพระเอกเรื่อง แค้นไอ้เพลิน คู่กับนางเอก วิยะดา อุมารินทร์
ภาพจาก : เพลิน พรหมแดน
สำหรับวงดนตรี เพลิน พรหมแดน ปัจจุบันได้ยุบวงดนตรีไปนานแล้วแต่ยังร้องเพลงตามงานต่างๆ ที่มาติดต่อให้ไปแสดง ผลงานที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาจังหวัดสระแก้ว ได้แก่ การบูรณะวัดกิโลสาม (วัดศรีอุทัย) ให้เป็นวัดธรรมยุติประจำอำเภออรัญประเทศ และได้ยกที่ดินบางส่วนให้กับเทศบาลอรัญประเทศเพื่อขยายโรงเรียนเทศบาลกิโลสอง
ทั้งนี้ เพลิน พรหมแดนได้รับโล่เกียรติยศพระราชทาน ในฐานะ ศิลปินตัวอย่าง สาขานักร้องลูกทุ่ง ประจำปี 2525 เนื่องในงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 5 ได้รับประกาศเกียรติคุณ ผู้ประพันธ์คำร้องทำนองเพลงลูกทุ่งดีเด่น และผู้ขับร้องเพลงลูกทุ่งดีเด่นเพลงอย่าลืมเมืองไทย งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย และ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีไทยลูกทุ่ง เมื่อปี 2525
ภาพจาก : เพลิน พรหมแดน
ภาพจาก :
เฟซบุ๊ก เพลิน พรหมแดน