ผมเป็นคนหนึ่งที่หลงรักใน 'เรื่องเล่า' ศิลปะแห่งการถักทอเส้นใยแห่งการเดินทาง นำพาเราจมดิ่งหม่นเศร้า โลดโผนผาดแผลง ทว่าเส้นทางหฤหรรษ์ที่รอเราเบื้องหน้า จะไม่ใช่การเดินทางอันเปลี่ยวเหงา เพราะทุกเรื่องเล่าบนโลกใบนี้ ย่อมมี ตัวละคร ที่คอยร่วมปีนป่ายไปบนเส้นด้ายแห่งโชคชะตาพร้อม ๆ กับเรา เพื่อนำพาเราไปยังหมุดหมายสามัญเดียวของเรื่องเล่าทั่วทุกมุมโลก นั่นคือบทเรียนจากการเดินทางอันสุดแสนยาวนาน ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาส่องสำรวจศิลปะแห่ง ตัวละคร ซึ่งเป็นดั่งนาวาลอยล่องในมหาสมุทรแห่งเรื่องเล่า ผ่านชั้นเชิงตัวละครอันสลับซับซ้อน จนสะกดคนดูให้รักและผูกพันตั้งแต่แรกพบจนลาจาก กับซีรีส์เรื่อง The trainee ฝึกงานเทอมนี้ รักพี่ได้มั้ย แต่ก่อนที่เราจะไปวิเคราะห์ตัวละครภายในเรื่อง ผมคิดว่าเราควรมาทำความเข้าใจคำว่า ตัวละคร หรือ character กันเสียก่อน ว่าแท้จริงแล้วนั้น เรากำลังหมายถึงอะไรกันแน่ จินตนาการว่าเรามีหญิงสาวคนหนึ่ง เธอแต่งตัวด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาว เหน็บชายเสื้อเข้าในกระโปรงทรงสอบ เก็บเกล้าผมเผ้าเรียบร้อยดูสุภาพ ถึงตรงนี้ทุกคนคิดว่าเธอเป็นตัวละครหรือยัง? คำตอบคือยังครับ เธอยังเป็นเพียงใครก็ไม่รู้ และการบรรยายที่ยืดยาวข้างต้น ก็เป็นเพียงรูปลักษณ์ของเธอเท่านั้น แล้วเมื่อไรกันที่เธอจะกลายเป็นตัวละคร? งั้นเรามาเริ่มกันใหม่ครับ หญิงสาวคนเดิมในชุดสุภาพ เธอสืบเท้าอย่างร้อนรน งานที่เธอเฝ้าฝันกำลังจะเริ่มสัมภาษณ์ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า แต่เธอดูเหมือนจะห่างไกลจากคำว่าไปทันเวลาอยู่มากโข ดังนั้นเธอจึงเร่งฝีเท้าขึ้นอีก ทว่าจู่ ๆ ก็มีคุณยายหอบข้าวของพะรุงพะรังตัดหน้าเธอกะทันหัน และช่วยไม่ได้ที่เธอจะชนเข้ากับหญิงชราอย่างจัง ข้าวของหล่นกระจัดกระจายเต็มทางเท้า หญิงสาวคิดในหัวสะระตะ เธอจะเลือกปล่อยหญิงชรา แล้วรีบรุดไปให้ทันสัมภาษณ์ หรือจะช่วยเหลือคนตรงหน้า ทว่าต้องแลกกับโอกาสงานในฝัน ไม่ว่าหญิงสาวคนนี้จะเลือกทางใด ในสถานการณ์ที่บีบเค้นอยากสุดขีดให้ต้องเลือก มันคือเครื่องมือช่วยส่องสะท้อนจิตใจของ ตัวละคร ได้ดีที่สุด และถ้าผมสมมติให้เธอเลือกช่วยเหลือหญิงชรา มาถึงตรงนี้ผู้อ่านทุกคนก็คงพอจะเดาได้ ว่าเธอเป็นคนจิตใจเช่นไร ในตอนที่เธอเลือกตัดสินใจนี่เอง หญิงสาวของเราได้กลายเป็นตัวละคร ไม่ใช่เพียงหญิงสาวทั่วไปที่ไหน แต่เป็นหญิงสาวผู้คิดถึงผู้อื่นก่อนตัวเอง และนี่เป็นข้อคิดเกี่ยวกับตัวละคร จากหนังสือคนเขียนบทที่ผมรักเคารพ อย่าง “เขียนบทหนัง ซัดคนดูให้อยู่หมัด” อารัมภบทน่าเบื่อยืดยาว มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่าครับ the trainee เป็นซีรีส์ว่าด้วยชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 5 คน ที่ล้วนมีพื้นเพนิสัยใจคอแตกต่างกัน ทว่าทั้งหมดต้องมาฝึกงานในบริษัทผู้ผลิตสื่อ หรือโปรดักชันเฮ้าส์ร่วมกัน ซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนทำงานเบื้องหลัง ผ่านมุมมองจากทีมงานหลากหลายแผนก ด้วยสุ้มเสียงแนวตลกคอมเมดี้ ทว่าติดกลิ่นอายแนว slice of life ที่พาเราไปทบทวน และตั้งคำถามกับชีวิต การทำงาน ความฝัน และอนาคตอันสุดแสนจะไม่แน่นอน ซีรีส์เล่นกับธีมข้างต้นอย่างชาญฉลาด โดยอาศัย 'ตัวละคร' ช่วยส่องสะท้อน และสอดแทรกธีมของซีรีส์อย่างแยบยล ทว่าซีรีส์ร้อยรัดตัวละครเข้ากับธีม และขยายขอบเขตของตัวละครเหล่านี้ ให้ทำงานและสร้างแรงกระเพื่อมจนจับจิตจับใจคนดู ในฐานะตัวดำเนินเรื่องได้อย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ จงสร้างโลกของหนัง ผ่านสายตาของตัวละคร ทุกครั้งที่คุณกำลังเขียนบท และมันจะกลายเป็นภาพยนตร์ในอนาคต ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า คนดูไม่ได้กำลังนั่งดูฉากเหตุการณ์แบบสุ่ม ๆ ที่ถูกนำมาเชื่อมติดกัน จนกลายเป็นหนังความยาวหลายชั่วโมงเท่านั้น ทว่าเหตุการณ์นั้นล้วนแล้วแต่ต้องถูกคิดผลิตสร้าง เพื่อพิสูจน์ธีมของเรื่องราว ผ่านสายตาของตัวละครให้ได้ ซีรีส์ the trainee เปิดเรื่องราวด้วยฉากวุ่นวายภายในร้านถ่ายเอกสาร ที่พ่วงติดงานปกิณกะอีกมากมาย โลกที่ซีรีส์นำเสนอให้เราเห็นนี้ เป็นโลกของตัวละครหลัก ไรอัน (กัน อรรถพันธ์) แม้มันจะดูยุ่งเหยิงในสายตาคนดู แต่มันกลับมีแบบแผนในตัวมันเองเมื่อเป็นมุมมองไรอัน ในฉากนี้เราได้เห็นไรอันหยิบจับงานในร้านคล่องแคล่ว คุ้นชินกับสภาวะวุ่นวาย แถมเจ้าตัวยังจัดระเบียบความสำคัญของงานได้ดีเสียด้วย คนดูอย่างเรา ๆ ก็พลันถอดรหัสได้ว่า นี่เป็นโลกที่ไรอันคุ้นเคย โลกที่ไรอันรู้ว่าตำแหน่งแห่งที่ของตนคือต้องทำอะไร ทว่าโลกของหนังไม่ได้มีประกอบขึ้นจากโลกเพียงใบเดียว ตัวละครของเราต้องพบเจอโลกอีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลกที่เขาไม่รู้จัก ในที่นี้ความหมายของ โลกที่ไม่รู้จัก คือ โปรดักชันเฮ้าส์ สถานที่ที่ไรอันจับพลัดจับผลูได้เข้ามาฝึกงาน ตัวซีรีส์ฉายภาพความยุ่งเหยิงวุ่นวาย เหมือนกับที่ร้านถ่ายเอกสารในตอนแรก ทว่าครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน เรารับรู้ได้ถึงสภาวะไร้ตัวตนของไรอัน โลกใบใหม่ที่เขาก้าวเข้ามา เป็นโลกที่ไรอันไม่รู้ว่าจะต้องวางตัวเอง ณ ตำแหน่งใด ไม่แม้แต่จะสามารถหยิบจับงานใดเป็นชิ้นเป็นอัน ซีรีส์ได้หยิบใช้หลักของการสร้างโลกผ่านสายตาตัวละคร นั่นคือทำให้เรารับรู้ว่าโลกใบใหม่ แตกต่างจากที่ตัวละครเรารู้จักมากเพียงใด พูดง่าย ๆ ว่าซีรีส์กำลังเล่นกับธีม ‘ปลาผิดน้ำ’ และพลังของความเชื่อเรื่องปลาอยู่ผิดน้ำ คือเราในฐานะคนดู จะลุ้นและเอาใจช่วย ให้ตัวละครที่ดูเหมือนจะอยู่ผิดที่ผิดทางของเรา ให้ค้นพบศักยภาพที่หลบซ่อนในตัวเอง และเมื่อใดที่ตัวละครค้นพบมัน มุมมองที่ตัวละครมีต่อโลกใบที่เขาคิดว่าไม่รู้จัก ก็จะเปลี่ยนทั้งตัวละครและคนดูอย่างเราไปตลอดกาล ตัวละครต้องมีแรงใจเปี่ยมล้น มันจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ ที่ตัวละครของเราจะต้องมีพลังใจ? คำตอบคือ ใช่ครับ พวกเขาต้องมีแรงใจ แม้แต่ไรอันที่หลักลอย และไร้ความฝัน ก็ยังมีแรงใจเปี่ยมล้น และพยายามค้นหาเป้าหมายของชีวิต แรงใจใช่เพียงขับเคลื่อนตัวละครของเราเท่านั้น แต่แรงใจยังขับเคลื่อนเรื่องราวที่เราจะเล่าอีกด้วย เพราะหากตัวเอกของเราเอาแต่นั่งซึมกะทือ ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จุดเริ่มต้นของการเดินทางก็ย่อมไม่เกิดเสียที เช่นเดียวกับไรอัน ที่ไม่เข้าใจว่าตัวเองมีความสำคัญอย่างไรต่อโปรดักชันเฮ้าส์ และถ้าหากไรอันลาออกเสียแต่เนิ่น ๆ การเดินทางก็คงจะจบลงตั้งแต่ตรงนั้น ทว่าเขากลับพยายามทุ่มสุดตัวด้วยแรงใจล้นเปี่ยม และสามารถพิสูจน์ตัวเองกับ พี่เจน (ออฟ จุมพล) ว่าถึงแม้เขาจะไม่ได้เรียนมาตรงสายงาน แต่เขาก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับโปรดักชันเฮ้าส์ได้เช่นกัน ทว่าการมีพลังใจ จะเป็นประโยชน์กับตัวละครเสมอไปอย่างนั้นหรือ? คำตอบก็ยังคงเป็น ใช่ครับ ต่อให้แรงใจนั้นจะขับเคลื่อนให้ตัวละครของเราทำเรื่องผิดพลาด แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ตัวละครของเราจะได้เรียนรู้ อย่างเช่นตัวละคร พาย (วิว เบญญาภา) ที่เข้ามาฝึกงานในฝ่ายโปรดักชัน พายเป็นคนมั่นใจ ด้วยดีกรีนักศึกษาเอกภาพยนตร์ พ่วงตำแหน่งเจ้าของรางวัลจากการทำหนังส่งประกวดนับไม่ถ้วน พายจึงเป็นตัวละครที่มีเป้าหมายชัดเจนที่สุดในช่วงแรงของซีรีส์ เธอมีแรงใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เธอยังขาด ทว่าการทำงานในสนามจริงกลับไม่เป็นดั่งที่เธอคิด เมื่อพายตัดสินใจปล่อยนักแสดงประกอบกลับบ้าน โดยไม่ตรวจทานตารางเวลาให้ถี่ถ้วนดีเสียก่อน จนกองถ่ายเสียหาย เพราะลำดับเวลาที่เคลื่อนจากกำหนด แม้ว่าพายจะมีแรงใจมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ เพื่อเป็นผู้กำกับหญิงมากฝีมือในอนาคต อย่างไรก็ดี แรงใจเหล่านั้นก็ยังสามารถย้อนกลับมาทำร้ายจิตใจของตัวละครได้เช่นกัน พายเสียใจที่ไม่ตรวจทานกับพี่เจนให้ดีเสียก่อน เธอผิดหวังจนต้องกร่นด่าตัวเองให้ไรอันฟัง ซีรีส์ได้สร้างพายเพื่อตอบคำถามที่ว่า แรงใจอันมุ่งมั่น หากถูกสั่นคลอนจากความล้มเหลวผิดพลาด เราจะยังกอบกู้มันกลับคืนมาได้อีกครั้งไหม สำหรับพาย เธอยอมรับความผิดพลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรียนรู้ที่จะพึ่งพาคนอื่นให้มากขึ้น พร้อม ๆ ไปกับกอบกู้พลังใจในการทำงานที่เธอรักกลับมาอีกครั้ง คนดูต้องเห็นความปรารถนาของตัวละคร แม้ว่าตัวละครจะไม่เห็นมันก็ตาม หัวข้อชวนงง ถ้าตัวละครไม่เห็นความปรารถนาของตัวเอง แล้วคนดูแบบเราจะไปเห็นได้ยังไง? แท้จริงแล้วในชีวิตจริง พวกเราก็ล้วนมีความปรารถนาลึก ๆ ในใจทั้งสิ้น แต่ด้วยภาระหน้าที่ เหตุการณ์เงื่อนไขของชีวิต จึงทำให้เราต้องฝังกลบเก็บมันไป แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังมีคนใกล้ชิดที่สามารถมองความปรารถนาในตัวเราได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ตัวละครก็เช่นกันครับ เขามีความต้องการที่ตัวเขารู้ดี ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการในใจลึก ๆ ที่เขาหลงลืมในตัว และเป็นหน้าที่ของคนเขียนบท ที่ต้องทำให้คนดูในฐานะคนใกล้ชิดตัวละคร มองเห็นความปรารถนาที่แท้จริง ว่าตัวละครต้องการสิ่งใด เจน ถูกนำเสนอในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับมากประสบการณ์ ด้วยบุคลิกมุ่งมั่นจริงจัง วางแผนงานเป็นระบบระเบียบ รวมทั้งเป็นคนที่สามารถเอ็ดดุได้อย่างตรงไปตรงมา เจนจึงเป็นตัวละครหนึ่งที่ถึงพร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ทว่าเมื่อเราสังเกตตัวละครนี้ไปสักระยะ เราจะเริ่มตั้งคำถามขึ้นในใจ ว่าด้วยศักยภาพและวิสัยทัศน์ที่เพียบพร้อมเช่นนี้ ทำไมเจนถึงยังไม่ก้าวไปสู่บทบาทใหม่อีกขั้นของชีวิต นั้นคือการเป็นผู้กำกับเต็มตัวเสียที หลายครั้งที่เราเห็นเจนมีความสุขกับหน้าที่ที่ตนได้รับ และดูไม่ยี่หระกับตำแหน่งผู้กำกับเต็มตัวสักเท่าไรนัก ทว่าลึก ๆ เขาเองก็มีปมปัญหาภายในใจ อันเนื่องจากไอเดียในสมัยที่เจนเป็นเด็กฝึกงานไม่ถูกเลือก นับตั้งแต่เหตุการณ์วันนั้น เจนที่สูญเสียความมั่นใจ จึงคิดว่าตนเองคงไม่มีความสามารถมากพอที่จะเป็นผู้กำกับ นานวันผ่านเลย ด้วยพลังใจอันมุ่งมั่นที่แตกสลาย เจนเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน เป็นดั่งเงาตามตัวผู้กำกับอยู่นานหลายปี และหลงลืมความปรารถนาที่จะเป็นผู้กำกับในที่สุด อย่างไรก็ตาม ความต้องการของเจนก็ไม่อาจเล็ดลอดสายตาคนดูไปได้ เรารู้สึกได้อยู่ในที ว่าเจนไม่ได้อยากอยู่ภายใต้ร่มเงาของคนอื่นตลอดไป ซึ่งความปรารถนาที่ซ่อนแฝงในตัวละครเช่นนี้ จะนำพาไปสู่การต่อสู้ดิ้นรน เพื่อควานค้นหาความปรารถนาจากก้นบึ้งภายในจิตใจ และเพิ่มพูนมุมมองอันแสนรุ่มรวยให้กับตัวละครอย่างเจนนั่นเอง ตัวละครต้องทำให้เห็น มากกว่าพูด ทุกคนคงเคยได้ยิน ‘show but not tell’ อันเป็นหัวใจหลักของการเขียนเรื่องเล่า โดยหลักใหญ่ใจความของมันคือ คุณต้องไม่เอาแต่บอกทุกอย่างออกไปโต้ง ๆ เพราะในเรื่องเล่า ไม่มีใครเชื่อว่าคนสองคนรักกัน เพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกรัก แต่ถ้าหากคุณเปิดเรื่องมา แล้วพบคำบรรยายที่ว่า ‘หนุ่มสาวสองคนวิ่งเปียกปอนกลางสายฝน ด้วยเกรงว่าถนนเปียกลื่นจะทำใครสักคนพลาดล้ม มือทั้งคู่จึงกอบกุมกันแน่น เม็ดฝนไล้ชโลมทั่วตัว แต่แปลกที่กายสองเราไม่สั่นสะท้าน กลับกัน มันรุ่มร้อนอย่างน่าอัศจรรย์’ ไม่แม้จะเอ่ยคำว่ารัก แต่เราก็รู้สึกได้ว่าทั้งสองชอบพอกัน ภายในซีรีส์ the trainee ก็มีตัวละครคู่รักเช่นกัน นั่นคือ บะหมี่ (พิพลอย กัญญรัตน์) ฝ่าย AE และแฟนหนุ่มอย่างเต้ (ซี ทวินันท์) ฝ่ายตัดต่อ เราได้เห็นทั้งสองในสมการความรักเหมือน ๆ กับคู่รักทั่วไป ทว่าความรักความทุ่มเทในช่วงแรก กลับแลดูเหมือนจะมาจากความพยายามของบะหมี่เสียส่วนใหญ่ รอยร้าวเล็กจ้อยที่เต้ไม่แม้แต่จะทันได้สังเกต กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองต้องเลิกรากัน แล้วซีรีส์กำลังจะทำให้เราเชื่อว่าคนสองคนรักกันจริงได้อย่างไร? ในเมื่อทั้งสองพึ่งจะเลิกกันไป คุณค่าของความรักไม่ใช่เพียง มีทุกข์ร่วมอยู่ มีสุขร่วมเสพเท่านั้น แต่สำหรับผม การให้อภัยซึ่งกันและกัน เพื่อประคับประคองชีวิตรักให้ยืนยาว ก็เป็นหัวใจหลักสำคัญไม่แพ้กัน หากคุณต้องการเขียนบทเพื่อพิสูจน์ความรักของตัวละคร คุณก็ต้องท้าทายแนวคิดเรื่องความรักในตัวละคร บะหมี่ที่คอยดูแลเต้ในความสัมพันธ์อันยาวนาน วันหนึ่งเธอหมดพลังใจกับความรักที่ต้องพยายามอยู่ฝ่ายเดียว และได้ค้นพบว่า ความปรารถนาลึก ๆ ในใจไม่ใช่แค่เพียงได้เป็นแฟนกับเต้ แต่การได้มีตัวตนในความสัมพันธ์ คือสิ่งที่เธอต้องการมาตลอด และนี่คือเหตุผลที่ทำไมบะหมี่ถึงเริ่มหวั่นไหว เมื่อพี่จูดี้ (กระปุก พลอยนิรา) เข้ามาคอยดูแล ในฝั่งของเต้เองก็ค้นพบว่าลึก ๆ ตนขาดบะหมี่ไม่ได้ และในวันที่บะหมี่หมดแรงใจในความสัมพันธ์ ตัวบทจึงเลือกให้เต้กลับมามีแรงใจเต็มเปี่ยมอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ความรักที่ทั้งสองมีให้กัน ความรักนั้นซับซ้อน และหัวข้อนี้ก็ไม่ได้พยายามชี้ว่าใครถูกผิดในความสัมพันธ์ แต่พยายามชี้ให้เห็นว่า ถ้าคุณเชื่อว่าความรักมันคือเรื่องของการยอมถอยกันคนละก้าว เพื่อหาจุดตรงกลางที่พอดีให้กันและกัน ก็จงเนรมิตตัวละครที่รักใครสักคน แม้ในวันที่ความสัมพันธ์จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทั้งคู่ก็จะยังคงไม่ปล่อยมือจากกัน ถ้าคุณเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ทำให้เราได้เห็น เหมือนที่บะหมี่และเต้ทำให้เราได้เข้าใจมุมมองความรักอีกรูปแบบ อย่าสร้างตัวละครที่ธรรมดาไร้ความสามารถจนเกินไป มีประโยคจากหนังสือที่ผมชอบมากอยู่ประโยคหนึ่ง นั่นคือ ‘แท้จริงแล้วไม่มีใครธรรมดาจนเกินไป ทุกคนล้วนมีด้านพิเศษ’ ตัวละครก็เช่นกันครับ พวกเขามีด้านพิเศษ และในฐานะคนเขียนบท จำเป็นอย่างยิ่งที่จะดึงความพิเศษของพวกเขาเหล่านั้น ออกมาสู่สายตาคนดู/อ่านให้ได้ เพราะตัวละครที่ธรรมดาเสียจนหยิบจับอะไรก็ไม่สำเร็จ ก็ยากที่จะกลายเป็นตัวละครในเรื่องเล่าอันทรงพลังได้ เราได้เห็นไรอันที่รู้สึกไร้ตัวตนในวันแรกที่เขาเข้าฝึกงาน แต่สภาวะปลาผิดน้ำของไรอันไม่ได้ถูกทำให้สิ้นหวังจนเกินไป แม้ในช่วงแรกไรอันจะหยิบจับอะไรก็แลดูจะผิดไปเสียหมด ทว่าทุกครั้งที่ไรอันล้ม ไม่มีครั้งไหนที่เขาจะทดท้อถอดใจ ไรอันจึงไม่ใช่ตัวละครมืดบอด ที่เอาแต่ถล่มทับถมตัวเองทุกครั้งที่พลาด แต่ไรอันกลับเป็นตัวละครที่รู้ว่าตนเองไม่ได้เก่งพร้อมสมบูรณ์ ไรอันจึงพยายามที่จะฝึกฝนเรียนรู้อย่างทะเยอทะยาน หลายคนคงคิดว่าความทะเยอทะยานมันพิเศษตรงไหน ผมขอให้ทุกคนลองกลับไปย้อนดู ไรอันตั้งแต่ตอนแรกจนถึงปัจจุบัน ถ้าความทะเยอทะยานไม่พิเศษจริง เราคงไม่รู้สึกผูกพัน และคอยลุ้นเอาใจช่วย ให้กับเรื่องราวของเจ้าปลาอยู่ผิดน้ำตัวนี้ตลอดทั้งเรื่องหรอก จริงไหมครับ อีกหนึ่งตัวละครธรรมดาแสนพิเศษคงต้องยกให้ ป๋า (ปูน มิตรภักดี) ที่ฝึกงานในแผนกอาร์ต ด้วยบุคลิกเด็กต่างจังหวัดอัธยาศัยไมตรีดี ทำให้ป๋าเป็นที่รู้จักของพี่ ๆ ทุกแผนกภายในโปรดักชันเฮ้าส์ ทว่าความธรรมดาง่าย ๆ ของตัวละครป๋า กลับเป็นหนึ่งในตัวละครที่ผมชอบมากที่สุด เนื่องด้วยป๋ามีปมภายในใจเรื่องการเป็นเด็กต่างจังหวัด ทำให้ในหลาย ๆ สถานการณ์ที่เขาทำผิดพลาด สมองก็พลันโทษเรื่องที่เขาเป็นเด็กต่างจังหวัดขึ้นมาเสียดื้อ ๆ ทว่าหลังจากได้ปรับทุกข์กับพี่โจ้ ป๋าก็ได้ทำให้เราได้เห็นว่า เขามีฝันที่อยากจะสร้างหนังแบบ สตีเฟ่น สปิวเบิร์ก ตัวละครเด็กต่างจังหวัดช่างฝันคนนี้ ทำให้เราเห็นความมุ่งมั่นทะเยอทะยานที่จะทำหนังนอกให้สำเร็จ ป๋าไม่ได้เอาความเป็นเด็กต่างจังหวัดมาโบยตีตนเอง จนดูเป็นตัวละครจนมุมมืดบอดเสียจนเกินไป กลับกัน ป๋าได้แสดงความกล้าที่จะขานรับความฝันอย่างไม่เขินอาย พร้อมสลัดมายาคติบิดเบี้ยวของการเป็นเด็กต่างจังหวัดไปหมดสิ้น ป๋าอาจไม่ใช่ปลาอยู่ผิดน้ำอย่างเช่นไรอัน ทว่าสภาวะที่เราเชื่อมั่นบางสิ่งภายในตัวละครธรรมดา เราเชื่อว่าเขาจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าบางสิ่งที่เราเห็นนั้นจะเป็นอะไร มันก็ทำให้ตัวละครธรรมดาตัวนี้ สุดแสนจะพิเศษไม่แพ้ตัวละครอื่น ๆ เช่นกัน ก่อนจะบอกลา ทำให้คนดูได้เห็นว่าตัวละครที่พวกเขารัก “เติบโต” เราเดินทางมาถึงตอนท้ายของบทความ ที่ซึ่งม่านสีชาดแห่งโรงละครกำลังจะถูกปลดลง อันเป็นสัญญาณสิ้นสุดการเดินทางอันแสนยาวนาน และเราคงต้องบอกลาตัวละครที่เรารักเสียที แต่แล้วทันใดนั้น! คุณผู้ชมก็สังเกตเห็นบางสิ่งบางอย่าง ในวินาทีที่ม่านกำลังเคลื่อนตัวปิดบังตัวละครของเรา เรารู้สึกได้ทันที ว่าตัวละครที่กำลังล่ำลาเราในตอนนี้ ไม่ใช่คนเดิมกับเมื่อตอนต้นเรื่องอีกต่อไป ตัวละครจำเป็นต้องมีพัฒนาการ ใครสักคนอาจเริ่มต้นเป็นเพียงคนไร้ฝันแสนธรรมดา แต่เขาจะต้องไม่ไร้ฝันจนวินาทีสุดท้ายที่หนังจบ ซีรีส์ the trainee ได้นำเสนอให้เราได้เห็นทุกจังหวะชีวิต ผ่านมุมมองแนวคิดที่สอดผสานเข้ากับศิลปะแห่งตัวละครอย่างมีชั้นเชิง และที่น่ายกย่องที่สุด คือเมื่อซีรีส์จบลง เรากลับไม่ได้รู้สึกตกหลุมรักแค่แก๊งเด็กฝึกงานเท่านั้น ทว่าสถานที่ฝึกงานกลับมีความหมายต่อเราเช่นเดียวกัน ซีรีส์ประสบความสำเร็จในการทำให้เรารู้สึกเติบโตไปพร้อมตัวละคร ด้วยการวางหัวใจหลักของเรื่องไว้อย่างชาญฉลาด นั่นคือ ‘โปรดักชันเฮ้าส์’ ที่เปรียบเสมือนสัญญะแห่งการบ่มเพาะประสบการณ์ ผ่านตัวละครพี่เลี้ยง ที่คอยอบรมสอนสั่ง ผนวกกับการผสมผสานบรรยากาศภายในโปรดักชันเฮ้า ไม่ว่าจะเป็นผู้คน วิถีชีวิต ปรัชญา ความรัก ได้อย่างแยบยล ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้โปรดักชันเฮ้าส์ เป็นสารัตถะหลักของเรื่อง มันอ้าแขนโอบรับตัวละครอ่อนเดียงสาในตอนแรก เคี่ยวกรำตัวละครให้เติบใหญ่ และร่วมส่งอำลาตัวละครในตอนท้ายไปพร้อมกับคนดูอย่างเรา ตอนนี้ตัวละครของเรา ไม่ใช่เด็กฝึกงานกะปลกกะเปลี้ยเหมือนในตอนแรกอีกต่อไปแล้ว พวกเขาได้กลายเป็นพี่เลี้ยงของใครสักคน ได้มอบความรู้ และความช่วยเหลือเฉกเช่นที่พวกเขาเคยได้รับ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสามัญหลักของตัวละครทั่วทุกมุมโลก ที่เป็นดั่งเพื่อร่วมเดินทาง ทำให้ในทุกหน้ากระดาษของเรื่องเล่าไม่เปลี่ยวเหงา มันสะท้อนบางอย่างในตัวเรา และฉายทับบางสิ่งลงบนตัวเรา ราวกับกำลังชี้นำบางสิ่งให้เราเห็น และเมื่อตัวละครค้นพบ เราเองก็พบเจอด้วยเช่นกัน บางสิ่งที่ตกตะกอนนอนนิ่งหลังการเดินทางสิ้นสุด สิ่งละอันพันละน้อยใน ‘ตัวละคร’ เหล่านี้เอง ที่กอปรสร้าง และเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าสุดแสนอัศจรรย์ ในซีรีส์ the trainee ซีรีส์ the trainee เป็นซีรีส์อีกเรื่องของปีที่ผมประทับใจ ตัวซีรีส์ไม่ได้นำเสนอประเด็นใหญ่โตมากมาย ทว่าเรื่องเล่าที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับประเด็นแหลมคม หน้าที่ของมันคือถ่ายทอดสิ่งที่ผู้เล่าศรัทธา ผมจึงเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นเรื่องเล่าที่ดีได้ ขอเพียงแค่คุณเชื่อในสิ่งที่คุณกำลังจะเล่า ถ้าคุณเชื่อว่าไม่มีใครรู้ไปเสียทุกสิ่ง และเราทุกคนก็ขอเพียงโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพิสูจน์ตัวตน ก็จงถักทอเรื่องราวที่คุณเชื่อนั้นขึ้นมา อย่างที่ซีรีส์ the trainee ได้แสดงให้เราเห็นนั่นเองครับ ขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาอ่านบทความแสนยืดยาวมาจนถึงบรรทัดนี้ แล้วพบกันใหม่ในอีกไม่ช้าไม่นาน เครดิต ภาพปก GMMTV ภาพที่ 1 GMMTV ภาพที่ 2 GMMTV ภาพที่ 3 GMMTV ภาพที่ 4 GMMTV ภาพที่ 5 GMMTV ภาพที่ 6 GMMTV ภาพที่ 7 GMMTV ภาพที่ 8 ภาพดีทวีสุข จะฟังเพลงหรือดูหนัง ซีรีส์ใหม่สุดปัง โหลดเลยที่ App TrueID โหลดฟรี !