หากท่านเป็นผู้ที่ชื่นชอบในเสียงเพลงพื้นบ้าน คงพลาดไม่ได้กับบทความที่ผมกำลังจะเขียนต่อไปนี้ครับ วันนี้ผมจะขอนำเสนอเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยพบเห็นมากนัก หรือแทบจะสูญหายไปเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ “พิณเปี๊ยะ” หลายท่านยังไม่รู้จักว่าพิณเปี๊ยะคืออะไร เป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะอย่างไร ผู้เขียนขออธิบายให้คร่าวๆ ดังนี้ครับลักษณะของพิณเปี๊ยะ คือเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ 75 ซม.- 90 ซม. พิณเปี๊ยะแต่ละคันยาวไม่เท่ากันครับแล้วแต่ช่างแต่ละคนจะประดิษฐิ์ออกมาให้ยาวเท่าไร่ มีกล่องเสียงที่ทำจากกะลามะพร้าวกว้างประมาณ 5-6 นิ้วและมีหัวพิณที่ทำจากสำริด หรือทองเหลือง ขนาดไม่เท่ากัน มักทำเป็นรูปนกหัสดิลิงค์ หรือ ช้าง เอาไว้สำหรับพาดสาย มีลูกบิดไว้สำหรับปรับเสียง โดยจำนวนลูกบิดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนสายที่ผู้เล่นจะเล่น โดยทั่วไปที่พบเห็นพิณเปี๊ยะนั้นมีตั้งแต่ 1-7 สายครับ แต่ในปัจจุบันนิยมเล่นพิณเปี๊ยะที่มี 2-4 สาย เพราะเล่นง่ายกว่า ในสมัยก่อนพิณเปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่คนโบราณเอาไว้จีบสาวกันด้วยนะครับ ครูดนตรีรวมไปถึงผู้สูงอายุมักเล่าเป็นทำนองเดียวกันว่าพิณเปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก และมีความเท่ห์มาก หากสาวๆ ได้เห็นชายหนุ่มคนไหนเล่นพิณเปี๊ยะมา มักจะได้ใจสาวๆไปมากกว่าการที่ชายหนุ่มหยิบเครื่องดนตรีอื่นมาจีบ สงสัยสมัยนั้นคงเป็นที่นิยมกันมากเลยนะครับมาพูดถึงวิธีการเล่นพิณเปี๊ยะกันบ้างครับ พิณเปี๊ยะมีวิธีการดีดแบบพิเศษที่เรียกว่าการป๊อก คือการใช้โคนนิ้วชี้ทาบ แล้วใช้ปลายนิ้วนางดีดแล้วปล่ายพร้อมกัน เสียงที่ได้เป็นเสียงพิเศษที่เรียกตามศัพท์ทางดนตรีว่า Harmonic จึงเป็นเครื่องดนตรีที่หาผู้เล่นได้น้อยมาก เพราะเล่นได้ยาก จนทำให้มีคำกล่าติดปากในหมู่นักดนตรีพิณเปี๊ยะว่า “หัดเปี๊ยะสามปี๋ หัดปี่สามเดือน” และโดยปรกติแล้ว ผู้เล่นพิณเปี๊ยะต้องถอดเสื้อเล่นเพื่อความกังวานของเสียงเพราะต้องแนบกะลามะพร้าวไว้ที่หน้าอก หากใส่เสื้อเล่นเสียงที่ออกมาจะถูกซับโดยเสื้อผ้าที่สวมใส่ ทำให้ไม่ค่อยกังวานเท่าที่ควร อีกทั้งสุภาพสตรีก็ไม่ค่อยนิยมเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ด้วย จึงทำให้ผู้เล่นพิณเปี๊ยะลดน้อยถอยลง ส่งผลให้ปัจจุบันเราพบเห็นคนเล่นพิณเปี๊ยะไม่ค่อยมากเท่าไหร่นัก หรือบางท่านก็ไม่เคยเห็นเลยด้วยซ้ำครับ เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดนตรีพิณเปี๊ยะที่ผู้เขียนนำเสนอไป สร้างแรงจูงใจให้คุณผู้ชมอยากเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้บ้างไหมครับ หากสนใจฝึกเล่นผู้เขียนมีเพจ facebook แนะนำสำหรับเรียนพิณเปี๊ยะครับผม ชื่อเพจ “หนังสือเรียนพิณเปี๊ยะสองสาย” ครับ และเอาไว้ครั้งหน้าผู้เขียนจะเขียบบทความนำเสนอวิธีการเล่นพิณเปี๊ยะให้ผู้อ่านทุกท่านได้เรียนรู้ร่วมกันครับ รอติดตามเลยนะครับ ปล.ที่มาภาพถ่ายจากผู้เขียนเองครับ^^