"Saving Private Ryan" ย้อนรอยภารกิจ 8 ชีวิตเพื่อคนคนเดียว by Kanin The Movie
ดูหนังออนไลน์ Saving Private Ryan
ช่วงต้นปีมีโอกาสได้ดู 1917 หนังดราม่าสงครามของ แซม เมนเดส ที่กวาดรางวัลออสการ์ไป 3 ตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวสมรภูมิรบออกมาน่าสนใจ ไม่ว่าจะในด้านเนื้อเรื่อง หรือวิธีการนำเสนอ (ที่น่าจะตราตรึงใจใครหลายคนจากเทคนิคงานภาพแบบ One Shot ของ โรเจอร์ ดีกินส์) และพอเนื้อเรื่องมันว่าด้วยชีวิตของทหารหนุ่ม 2 นายที่ต้องเดินทางส่งสารหยุดการรบเพื่อช่วยชีวิตกองทัพนับพัน ก็ชวนให้นึกถึงงานสงครามคลาสสิค "Saving Private Ryan" ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ที่พูดในมุมกลับกัน เพราะมันว่าด้วยทหาร 8 นายที่ถูกส่งไปทำภารกิจเพื่อช่วยชีวิตคนคนเดียว - เลยถือว่าโอกาสหยิบมาดูอีกรอบเสียหน่อย เผื่อจะได้มุมมองใหม่ๆ จากหนังมากขึ้น
คลิกเลย! คุณสามารถรับชมหนังคุณภาพ Saving Private Ryan แบบเต็มเรื่อง ได้แล้ววันนี้ที่ TrueID
หากตัดฉากยกพลขึ้นบกในตอนต้น และช่วงท้ายสุดทรงพลัง ลำพังแค่พล็อตมันก็น่าสนใจมาก ๆ และชวนให้ตั้งคำถามในหลาย ๆ มิติกับมัน เรื่องของเรื่องคือพี่น้องไรอันถูกเกณฑ์ไปรบแล้วตายกันเกือบหมด (แม้จะมีการส่งพี่น้องทุกคนแยกไปประจำการในที่ต่างกันแล้วก็ตาม) เมื่อคนในระดับสูงรู้เข้า จึงมอบภารกิจให้มีการออกเดินทางตามหาพลทหาร เจมส์ ไรอัน คนสุดท้ายของตระกูลออกจากสมรภูมิ และกลับบ้านเกิดไปหาแม่ โดยผู้ได้รับมอบหมายคือทหารจำนวน 8 คน ที่ต้องฝ่าดงศัตรูเข้าไปยังพื้นที่ที่พวกเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่านายไรอันยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
คอนฟลิกต์แรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของเรื่องคือการตั้งคำถามถึง “คุณค่าของชีวิต” ความสำคัญของมนุษย์ที่มีบริบทแตกต่างกัน การที่ทหาร 8 คนถูกส่งไปช่วยชีวิตคนคนเดียว ในแง่หนึ่ง เราอาจเข้าใจในเหตุผลได้ดี (เพราะหนังเองก็โน้มน้าวให้เรารู้สึกแบบนั้น) แต่ในแง่อีก มันก็ชวนน่าขันไม่น้อย ชีวิตคนคนเดียวแลกกับชีวิตคน 8 คน ฟังดูยังไงก็ไม่เท่ากัน คิดยังไงก็ไม่คุ้มค่า นายไรอันคือโอกาสเดียวที่แม่เขาจะไม่สูญเสียลูกทุกคนไปในสงคราม แต่ในเวลาเดียวกัน ทหารทั้ง 8 นายต่างก็มีชีวิต และคนเบื้องหลังของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก หรือใครก็ตาม ความขัดแย้งนี้คือคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตลอดเรื่อง และยิ่งเข้มข้นเมื่อเวลาดำเนินไปถึงบทสรุป
Saving Private Ryan มีประเด็นที่พูดถึง “การมองเห็นมนุษย์ด้วยกัน” อยู่ตลอดเรื่อง ผ่านเรื่องของการสูญเสีย เสียสละ และการชั่งน้ำหนักชีวิต ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันต้องใช้อะไรเป็นหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ท้ายที่สุดชีวิตของมนุษย์อาจไม่สามารถพิสูจน์ได้ และพิสูจน์ได้ในเวลาเดียวกัน แล้วแต่ว่าเรามองเห็นชีวิตในแบบไหน มองคนโดยใช้อะไรวัด
ฉากหนึ่งที่ชอบมากๆ คือซีนที่ มิลเลอร์ พูดถึงทหารในหน่วยของตัวเองที่เสียชีวิตตลอดการรบ มิลเลอร์ บอกว่าเขาเสียคนในหน่วยไป 90 กว่าคน แต่ที่ได้กลับมาคือการช่วยชีวิตคนอีกมหาศาล การมองแบบนั้นทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับตัวเขา ประเด็นนี้พูดถึงมุมมองการเป็นผู้นำอย่างน่าสนใจ และถูกขยี้อย่างรุนแรงในช่วงต่อมาเมื่อเชาสั่งให้คนในหน่วยบุกโจมตีป้อมปราการที่แม้จะไม่ใช่ภารกิจตัวเอง แต่ก็เพื่อรักษาชีวิตของหน่วยคนอื่น ๆ ที่อาจผ่านมาทางนี้ แน่นอนว่าพวกเขาทำภารกิจสำเร็จ แต่ก็ต้องสูญเสียคนไป และนั่นคือราคาที่เขาต้องได้รับ เป็นสมการชีวิตที่เขาก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาเอง
พอหนังมันพูดถึงความเป็นมนุษย์มาก ๆ เราก็เลยยิ่งรู้สึกว่าทุกความตายใน Saving Private Ryan คือความโหดร้ายอย่างถึงที่สุด ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาตั้งแต่เปิดเรื่องในฉากยกพลขึ้นฝั่งหาดโอมาฮาความยาวนับครึ่งชั่วโมง นอกเหนือจากการถ่ายทอดออกมาอย่างสมจริง ด้วยศักยภาพทางภาพยนตร์ที่ สปีลเบิร์ก ขับเน้นอย่างถึงที่สุด
หนังยังฉายภาพความตายออกมาได้น่ากลัว ทั้งความตายอย่างฉับพลัน และความตายที่แสนทรมาน สลับกันไปมาระหว่างที่กองทัพกำลังขึ้นฝั่ง ซึ่งต้องยอมรับว่า “ติดต่อทุกช็อต” แม้ว่าเราจะดูหนังสงครามมาเยอะหลายเรื่อง แต่ความรุนแรงของ สปีลเบิร์ก ในเรื่องนี้มันต่างกันออกไป และหลาย ๆ ครั้งมันกลายเป็นเรื่องน่าขันที่ขำไม่ออกด้วย (หนังมีฉากตลกร้าย ตลกแสบๆ เยอะมาก เล่าผ่านสถานการณ์ รวมถึงภาษาภาพที่ร้ายกาจมาก ๆ โดยเฉพาะการนำเสนอแบบ Long Take)
อีกประเด็นที่ชอบมากๆ คือการพูดถึงตัวตน ไดอะล็อกหนึ่งของมิลเลอร์กล่าวว่า “ฉันได้รู้ว่าทุกคนที่ฉันฆ่าทำให้ฉันรู้สึกไกลห่างจากบ้านขึ้นทุกที” อธิบายตัวตนของเขาได้ดีมากๆ ในแง่ของการพยายามรักษาความเป็นมนุษย์ พยุงชีวิตของตัวเองให้คงเดิม บ้านสำหรับมิลเลอร์คือตัวตนที่เขาจากมา ยิ่งเขาต้องฆ่าใครมากเท่าไหร่ มันยิ่งทำลายตัวตนของเขามากขึ้น ซึ่งหมายถึงตัวตนที่ภรรยาของเขารู้จักด้วย การได้กลับบ้านจึงไม่ใช่แค่การมีชีวิตรอดและเดินทางกลับไป - ทั้งนี้ทั้งนั้น สงครามคือการเอาชนะ คือความอยู่รอด คือการปกป้องตัวเอง ปกป้องประเทศชาติ ด้วยการต่อสู้รบราฆ่าฟันกับอีกฝ่าย มิลเลอร์ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ อย่างน้อย ๆ ก็ในฐานะที่เขาเป็นอาจารย์ของโรงเรียน
และสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้จริง ๆ คือฉากรบในตอนท้ายเรื่อง ที่ทั้งยิ่งใหญ่ และทรงพลังทางความรู้สึกมาก ๆ ชอบที่หนังใช้เวลาบิวต์มาอย่างยาวนาน ทั้งการเตรียมพร้อมสู่สนามรบ รวมถึงการได้เข้าใจตัวละครอย่างถึงแก่นตลอด 2 ชั่วโมงก่อนหน้า นี่จึงเป็นการต่อสู้ที่เปี่ยมไปด้วยความมนุษย์
จากทั้งบทภาพยนตร์ และการกำกับ ดูกี่ครั้งก็รู้สึกว่ามันถึงใจมาก ๆ ชอบตั้งแต่เซ็ทซากเมืองที่ดูใหญ่โตมโหฬารมากๆ ไปจนถึงองค์ประกอบยิบย่อย ที่ทำให้หนังออกมาจริงได้ คือทั้งฉากเปิด และฉากปิดอยู่ในระดับท็อปฟอร์มเท่าๆ กัน จนแอบคิดไปด้วยซ้ำว่าภาพสงครามโลกครั้งที่ 2 ของใครหลายคนถูกภาพของ Saving Private Ryan เป็นตัวแทนไปแล้วเรียบร้อย
Saving Private Ryan เป็นหนึ่งในหนังสงครามที่เราชอบมากๆ แม้ไอเดีย วิธีคิด หรือมุมมองอาจจะไม่ได้ต่อติดกับเราโดยรวมทั้งหมด (มาดูในยุคที่ภาพความเป็นฮีโร่มันเริ่มถูกตรวจสอบแล้วบริบทหนังก็เปลี่ยนไปพอควร) แต่การกำกับของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นตัวแทนหนึ่งในหนังสงครามที่น่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่ฉากสงครามช่วงแรก หรือการต่อสู้ตอนท้าย แต่รวมไปถึงระหว่างทางก็งดงาม และดีมากๆ ด้วยเช่นกัน เรารักงานภาพของเรื่อง รักสกอร์ของเรื่องนี้ รวมถึงการแสดงของ ทอม แฮงก์ ที่น่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่ง
ประโยค “Earn this, Earn it” สำหรับเรามันดีมากๆ ชอบที่มันสั้นแค่นั้นแต่กลับคงอยู่ในชีวิตของคนได้ฟังตลอดมา ซึ่งก็วกกลับมาสู่ประเด็นของเรื่อง “ความคุ้มค่า” ซึ่งก็ยังเป็นคำถามที่เราไม่สามารถให้คำตอบได้เช่นกันว่าราคาของมนุษย์ หรือการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ามันวัดกันที่ตรงไหน คงขึ้นอยู่กับมุมมองของคุณว่าความคุ้มค่าเหล่านั้นถูกวางไว้บนไหน
ดูหนัง Saving Private Ryan แบบเต็มเรื่อง ได้ที่นี่
----------------------------------------------------