[รีวิวหนัง] "The Big 4" สมองโล่งดูเอามัน ในยุคที่อินโดเป็นเจ้าหนังบู๊อาเซียน
เรื่องย่อ: เด็กกำพร้า 4 คนถูกเก็บมาฝึกเพื่อเป็นนักฆ่าเหล่าคนชั่วโดยชายที่พวกเขาเรียกว่าพ่อ แต่แล้วเมื่อพ่อต้องการวางมือและถูกสั่งเก็บ อันตรายก็คืบคลานมาสู่พวกเขาโดยทีมนักฆ่าอีกกลุ่มที่เต็มไปด้วยสรรพาวุธและความเหี้ยมโหด
แม้เรื่องย่อจะดูเป็นหนังเครียดโหดเลือดสาดจนชวนนึกถึงภาพครั้งที่ผู้กำกับ ทิโม ทจาห์ยานโต (Timo Tjahjanto) เคยทำไว้ในหนัง ‘The Night Comes for Us’ (2018) ที่ลงทางเน็ตฟลิกซ์เช่นกัน โดยยังไม่ต้องไม่นับถึงผลงานก่อนหน้าที่เป็นหนังบู๊สายโหดแทบทั้งสิ้นจนถึงขนาดเคยร่วมงานกับ กาเรธ อีแวนส์ (Gareth Evans) ผู้กำกับ ‘The Raid: Redemption’ (2011) และนักแสดงสายบู๊ระดับโลกชาวอินโดอย่าง อิโก อูไวส์ (Iko Uwais) มาแล้ว
แต่เอาเข้าจริงครั้งนี้ทจาห์ยานโตได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ อย่างน่าสนใจใน ‘The Big 4’ นั่นคือปรับมู้ดหนังบู๊ของเขาให้ดูซีเรียสน้อยลง มีความอมยิ้มและเต็มไปด้วยตัวละครที่เอกลักษณ์จัดจ้านเกินจริง จนชวนนึกถึงครั้งที่ไทยมีหนังอย่าง ‘7 ประจัญบาน’ (2545) หรืออย่าง ‘มือปืน/โลก/พระ/จัน’ (2554) ที่ออกแฟนตาซีนิด ๆ รวมถึงหนังบู๊ไทยเรื่องอื่นที่ออกมาโลดแล่นแสดงความเป็นหนึ่งของเจ้าหนังบู๊อาเซียนนับจาก ‘องก์บาก’ (2546) ได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ไว้
หนังเล่าเรื่องราวของ โตปัน เจงโก้ อัลฟ่า และเปลอร์ ที่เปิดตัวด้วยปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งค้าอวัยวะมนุษย์ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นฉากที่ให้เห็นคาแรกเตอร์ของแต่ละตัวละครได้อย่างชัดเจน โตปันเป็นหัวหน้าทีมที่เก่งและมีมุมกวนบาทา เจงโก้เป็นพลซุ่มยิงที่เชื่อในพลังจักระ อัลฟ่าสาวหนึ่งเดียวในทีมเป็นพวกสวยขาโหด และเปลอร์น้องเล็กของทีมที่ดูอ่อนแอสุดและกวนสุดทำหน้าที่สายลับลอบเข้าไปสืบข้อมูล
ฉากเปิดนี้น่าสนใจมากเพราะทจาห์ยานโตได้ทำให้เห็นถึงฝีมือในการผนวกการออกแบบการต่อสู้ที่ไม่ด้อยไปกว่าหนังฮอลลีวูด การกำกับภาพที่ไปด้วยกันกับการต่อสู้ และการเล่าเรื่องที่มีลูกล่อลูกชนสนุกสนานไม่น่าเบื่อ แถมโปรดักชันรวมถึงซีจีก็จัดหนักจัดโหดสะใจทั้งหัวกระเด็น เลือดสาด เกินเบอร์หนังบู๊ตลกไปมาก แต่ผู้ชมก็ยังรู้สึกผูกพันกับทีมนักฆ่านี้ได้อย่างรวดเร็วด้วยบุคลิกพวกเขาที่ขบขันเข้าถึงง่ายนั่นเอง
หนังเข้าเส้นเรื่องหลักอย่างรวดเร็ว แต่ต้องบอกว่าเนื้อเรื่องมันนั้นค่อนข้างจืดและเชยเอาพอสมควร เรียกได้ว่าแทบไม่มีอะไรใหม่น่าสนใจเลย คือพ่อที่รับเลี้ยงพวกทีมนักฆ่าถูกสั่งเก็บและพวกเขาก็สลายทีมไปกบดานซ่อนตัวนานกว่า 3 ปี จนกระทั่งลูกสาวแท้ ๆ ของพ่อที่เป็นตำรวจอย่าง ดีนา ระแคะระคายการตายของพ่อแล้วออกตามหาพวกเด็ก 4 คนในภาพถ่ายเก่าว่าเชื่อมโยงอย่างไรกับความลับของพ่อ และโตปันคือคนแรกที่เธอพบพร้อมกับที่มีกลุ่มนักฆ่าออกตามล่าเธอ ทำให้ทั้งโตปันและดีนาต้องออกตามหาสมาชิกคนที่เหลือเพื่อสู้กลับ
คือเนื้อเรื่องเดาได้แทบหมดแต่ก็เพียงพอกับการเดินเรื่องให้ใส่ฉากแอ็กชันขนาดใหญ่หลายฉากลงไป ในขณะเดียวกันก็หยอดมุกในรายละเอียดลงไปให้อมยิ้มได้เรื่อย ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าถึงจุดหนึ่งผู้กำกับก็เริ่มคุมคุณภาพของหนังให้เฉียบขาดเท่าฉากเปิดตัวไม่ได้ หลายฉากฝั่งตัวร้ายโผล่มาไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยแบบอยู่ดี ๆ ก็โผล่มาจากหลังเก้าอี้ชายหาดที่ปกติคนก็คงไม่ซ่อนตัวอยู่ หรือตัวร้ายมาตายแบบโง่ ๆ หรือยืนดูรถพระเอกวิ่งเข้ามาถึงหน้าบ้านถึงค่อยยิงทั้งที่เห็นมาแต่ไกลเป็นร้อยเมตร เป็นต้น
นอกจากนี้ที่เคยตื่นตากับการออกแบบการต่อสู้และมุมกล้องก็เริ่มจืดลง เฉยชามากขึ้น เหมือนคนทำก็หมดไอเดียแล้วเหมือนกันเอาแค่สถานการณ์ดันตัวละครไปให้ถึงฉากใหญ่สุดท้ายให้ได้ และว่ากันตามตรงฉากสุดท้ายก็ไม่ได้กระชากอารมณ์ร่วมผู้ชมให้พุ่งสูงขึ้นได้อย่างที่ควรเป็น มีที่ดีบ้างเช่นฉากสไนเปอร์สู้กับบาซูก้าที่ครบรสทั้งเซอร์ไพรส์ ตลก สะใจ และภาพโหด ๆ แต่โดยรวมนี่ก็เป็นหนังที่ระดมฉากบู๊มาได้สะใจมากเรื่องหนึ่ง แค่ยังคุมมาตรฐานการดึงอารมณ์ได้ไม่เท่ากันนักตลอดเรื่อง
ดู ‘The Big 4’ แล้วก็เข้าใจได้ถ้าคนไทยจะชอบ เพราะมันคือหนังแบบที่บ้านเราเคยนิยมทำออกมาได้ดีช่วงหนึ่ง แต่ก็หยุดพัฒนาการไปดื้อ ๆ หลังยุคของหนังปรัชญา ปิ่นแก้วและพันนา ฤทธิไกรจบลงแล้วขาดทายาทรวมถึงนายทุนที่มีบารมีพอ แถมฉากและวิถีชีวิตคนอินโดหลายอย่างก็ไม่ต่างจากบ้านเราเลย คล้ายขนาดที่ว่าเอานักแสดงไทยไปแทนนักแสดงอินโดได้แบบคัดลอกแล้ววางเลย เช่น แบงค์ ปวริศร์ มงคลพิสิฐเป็นโตปัน น้าค่อมหรือยัดชัยโสโรเป็นเจงโก้ ติชา กันติชา ชุมมะเป็นอัลฟ่า เบสท์ ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์เป็นเปลอร์ และมิกซ์ เพทาย วงษ์คำเหลาเป็นนักฆ่าตัวร้าย
ว่ากันตามตรงดูหนังเรื่องนี้ยิ่งเสียดายพัฒนาการวงการหนังบู๊ไทยจริง ๆ ครับ