รีเซต

ย้อนรอยโปรเจกต์ "Superman: Flyby" ก้าวใหญ่ที่เกือบเปลี่ยนจักรวาลดีซีไปตลอดกาล

ย้อนรอยโปรเจกต์ "Superman: Flyby" ก้าวใหญ่ที่เกือบเปลี่ยนจักรวาลดีซีไปตลอดกาล
แบไต๋
1 กุมภาพันธ์ 2566 ( 12:00 )
430

ในปัจจุบันนี้ จักรวาล DC ก็เริ่มกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง ด้วยการคุมของเจมส์ กันน์ (James Gunn) และ ปีเตอร์ ซาฟราน (Peter Safran) ซึ่งครั้งนี้ก็นับเป็นอีกครั้ง (แม้จะเป็นครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้) ที่ Warner Bros. Pictures พยายามจะก่อร่างสร้างจักรวาล DC ให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย แม้ว่าตลอด 10 ปีมานี้ เราจะได้เห็นความพยายามในการสร้างจักรวาล DC อยู่ตลอด แต่ทว่ามันไม่ใช่ครั้งแรกที่ Warner Bros. พยายามจะสร้างจักรวาล DC หรอกนะ 

เจมส์ กันน์ และ ปีเตอร์ ซาฟราน

ย้อนไปต้นยุค 2000 ในช่วงนั้น Warner Bros. กำลังได้ดิบได้ดีกับ Batman เลยทีเดียว ซึ่งแน่นอน พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองกินบุญของแฟรนไชส์อัศวินรัตติกาลมานานเกินไปแล้ว ในที่สุด Warner Bros. ก็ลงความเห็นว่าจะสานต่อเรื่องราวของแฟรนไชส์บุรุษเหล็ก โดยในขณะนั้นก็มีอยู่ 2 โปรเจกต์ที่น่าจับตามอง และควรค่าแก่การพัฒนาไปพร้อมกัน นั่นคือโปรเจกต์ Superman Return ซึ่งภายหลังถูกสร้างโดยไบรอัน ซิงเกอร์ (Bryan Singer) กับโปรเจกต์ Superman: Flyby ของ เจ.เจ. แอบรัมส์ (J. J. Abrams) นั่นเอง

เจ.เจ. แอบรัมส์

หลังจากความล้มเหลวของหนัง Superman IV: The Quest for Peace (1987) แฟรนไชส์ของ บุรุษเหล็กก็หายจากจอหนังไปพักใหญ่ ซึ่ง Warner Bros. ได้เห็นแววของแอบรัมส์จากการทำซีรีส์ Alias และการเขียนบทหนัง Armageddon มาหมาด ๆ ในที่สุดพวกเขาก็ได้เลือกแอบรัมส์มาช่วยกำหนดทิศทางของ Superman ภาคใหม่นี้

แอบรัมส์วางแผนให้ Superman: Flyby เป็นจุดเริ่มต้นไตรภาคใหม่ของบุรุษเหล็ก ซึ่งจะกินเวลายาวไปหลายปี โดยได้ โจเซฟ แม็กกินตี้ (Joseph McGinty) มารับหน้าที่กำกับ และเรื่องราวของ Superman: Flyby จะเล่าถึงดาวคริปตันที่กำลังเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งมีศูนย์กลางของเหตุการณ์อยู่ที่ จอร์-เอล และน้องชายของเขา คาตา-ซอร์ 

คอนเสปต์อาร์ตของดาวคริปตันใน Superman: Flyby

ในขณะที่เกิดสงครามอยู่นั้น จอร์-เอล ได้ส่งลูกชายของตน คาร์ล-เอล มายังโลกมนุษย์ด้วยแคปซูลขนส่ง แต่ทว่าสิ่งที่ต่างออกไปจาก Superman ฉบับอื่นคือ ฉบับนี้ดาวคริปตันไม่ได้ระเบิด มันยังคงอยู่มาจนปัจจุบันของหนัง ซึ่งคาร์ล-เอลก็คือเจ้าชายน้อยที่ถูกส่งมาเพื่อลี้ภัยทางการเมืองนั่นแหละ

29 ปีต่อมา คาร์ล-เอล ได้ใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์ในฐานะ คลาร์ก เค้นต์ เขาอยู่กับพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงอย่าง โจนาธานกับมาร์ธา เค้นต์ ซึ่งคลาร์กนั้นเติบโตมาได้อย่างยากลำบาก เพราะต้องคอยเก็บซ่อนพลังของตัวเองเอาไว้ นั่นทำให้เขารู้สึกผิดแผกจากสังคมอยู่ตลอดเวลา ในช่วงมหาลัยที่คลาร์กกำลังสับสนเพื่อเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง เขาก็พบเข้ากับ ลูอิส เลน หญิงสาวผู้ชี้เส้นทางสว่างให้กับเขา ในที่สุดคลาร์กก็ตัดสินใจเป็นนักข่าวพร้อม ๆ กับลูอิส 

คอนเสปต์อาร์ตของสำนักข่าว Daily Planet

หลังจากเป็นนักข่าวลูอิสก็พยายามเปิดโปง เล็กซ์ ลูเธอร์ เจ้าหน้าที่ CIA วัย 50 ที่หมกมุ่นอยู่กับการตามหามนุษย์ต่างดาว ในวันหนึ่งลูอิสโดยสารเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันมากับประธานาธิบดี อยู่ ๆ เครื่องบินก็เกิดขัดข้องและกำลังจะตก คลาร์กจึงต้องสวมชุดซูเปอร์แมนไปช่วยเธออย่างเลี่ยงไม่ได้ และนั่นทำให้โลกได้รู้จักการมีอยู่ของบุรุษเหล็ก

ขณะเดียวกัน คาตา-ซอร์ ก็พบว่าลูกของพี่ชายเขายังไม่ตาย เขาจึงส่ง ไท-ซอร์และเหล่าสมุนชาวคริปตันอีก 3 คนมาตามหาคลาร์กที่โลก โดยมีรายงานว่าดีไซน์ชุดของชาวคริปตันในฉบับนี้ จะให้ความรู้สึกเหมือนนินจา ซึ่งเป็นชุดเกราะลึกลับและคล่องแคล่ว

ไท-ซอร์ และเหล่าสมุนชาวคริปตัน ได้สู้กับซูเปอร์แมนบนตึกระฟ้าในเมือง ‘ก็อตแธม’ แม้ว่าซูเปอร์แมนจะพยายามอย่างไร เขาก็แพ้ และตายไปด้วยน้ำมือของชาวคริปตันในที่สุด (ใช่แล้วครับ หนังฉบับนี้ หยิบอีสเตอร์เอ้กของ Death Of Superman มาใช้ตั้งแต่เริ่มเลย )

ชุดที่ว่ากันว่าเป็นชุดของซูเปอร์แมน ใน Superman: Flyby

คลาร์กตื่นขึ้นมาในนิมิตหลังความตายของชาวคริปตัน เขาได้เจอกับ จอร์-เอลผู้เป็นพ่อ ซึ่งจอร์-เอลก็อธิบายว่าความจริงแล้ว คลาร์กคือเจ้าชาย ‘ผู้ถูกเลือก’ เขาถูกส่งให้ไปเติบโตในโลกอื่น เผชิญความท้าทายกับชีวิต และหากรอดกลับมาได้ นั่นหมายความว่าโชคชะตาจะพาเขากลับมาเจอดาวคริปตัน และปลดปล่อยผู้คนจากสงครามกลางเมือง โดยจอร์-เอลเรียกซูเปอร์แมนว่าเป็น ‘ผู้ปลดปล่อย’

คอนเสปต์อาร์ตซูเปอร์แมนใน Superman: Flyby

หลังจากนั้นบาดแผลของซูเปอร์แมนก็ได้รับการเยียวยาอย่างทันที ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นลูอิสก็เปิดเผย ถึงความลับของคริปโตไนต์ให้ชาวโลกได้รับรู้ ซึ่งฉากนี้แอบรัมส์ตั้งใจให้ผู้คนนึกถึงเหตุการณ์ 9/11 ที่รัฐบาลรวมตัวกัน เพื่อช่วยเหลือโลกจากผู้ก่อการร้าย 

คอนเสปต์อาร์ตของเมืองเมโทโพลิสใน Superman: Flyby

โดยฉากไคลแมกซ์ในตอนท้าย จะเกิดขึ้นที่ปล่องภูเขาไฟในกรีนแลนด์ ซึ่งแอบรัมส์อธิบายว่ามันจะเป็น ‘สุดยอดสังเวียนมวย’ และไท-ซอร์ถูกจะฆ่าตายด้วยขีปนาวุธผสมคริปโตไนต์จากรัฐบาล นั่นทำให้ซูเปอร์แมนฉบับนี้ชนะเหล่าร้ายด้วยการร่วมมือกับมนุษย์ (ซึ่งถือว่าพี่ซุปไม่ได้ฆ่าตัวร้ายด้วยนะ) 

ท้ายที่สุด เลกซ์ ลูเธอร์จะเปิดเผยความจริงว่า เขาคือชาวคริปตันที่แฝงตัวอยู่บนโลกมานานแล้ว โดยในตอนจบซูเปอร์แมนก็กำลังเตรียมตัวเพื่อเดินทางไปยังดาวคริปตัน และเผชิญกับคาตา-ซอร์ ในฐานะผู้ปลดปล่อยดังเช่นที่พ่อเขาว่าไว้ 

ใช่ครับ แค่บทนั้นก็ถือว่ายิ่งใหญ่มากแล้ว มันกลายเป็นอภิมหาโปรเจกต์ที่นักแสดงมากหน้าหลายตา ตบเท้าเข้ามาคัดเลือก รวมถึงแบรนดอน เราธ์ (Brandon Routh) และ เฮนรี แควิลล์ (Henry Cavill) ผู้ที่ได้บทซูเปอร์แมนในภายหลัง ก็เคยมาคัดเลือกในโปรเจกต์ Superman: Flyby ด้วย 

แบรนดอน เราธ์ และ เฮนรี แควิลล์ สมัยที่มาออดิชันบทซูเปอร์แมน

ในขณะที่โปรเจกต์กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี มีบทที่ลงตัว มีผู้กำกับ มีนักแสดงและพร้อมจะเปิดกล้องถ่ายทำแล้ว แต่ทว่า Warner Bros. ก็รู้สึกว่าหนัง Superman: Flyby นั้นใช้งบประมาณมหาศาลเกินไป รวมถึงตอนนั้นผู้กำกับอย่างแม็กกินตี้ ก็มีปัญหากับ Warner Bros. จนถูกถอดออกจากโปรเจกต์ไป แม้ว่าแอบรัมส์ จะเดินเข้าไปหา Warner Bros. เพื่อขอกำกับด้วยตัวเอง แต่ท้ายที่สุด Warner Bros. ก็ตัดสินใจยุติโปรเจกต์ Superman: Flyby และเลือกบท Superman Returns มาสานต่อ โดยได้ไบรอัน ซิงเกอร์มากำกับ

Superman Returns เป็นหนึ่งในหนังยักษ์ล้มแห่งปี 2006 นอกจากจะไม่ทำเงินเท่าที่ควร หนังยังโดนวิจารณ์ในแง่ความน่าเบื่อของหนัง โดยฉากแอ็กชันที่ได้รับคำวิจารณ์ที่ดี อย่างฉากเครื่องบินนั้น ก็เป็นการหยิบบทดั้งเดิมของ Flyby มาใช้

หากวันนั้น Warner Bros. ไม่ตัดสินใจยกเลิกโปรเจกต์ Superman: Flyby ล่ะก็ มันอาจเป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้างจักรวาล DCEU เลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อมองไปที่บท เราจะเห็นว่าแอบรัมส์ได้ใส่เมืองก็อตแธมลงไปในหนังแล้ว นั่นหมายความว่าถ้า Superman: Flyby ประสบความสำเร็จ เราอาจได้เห็นการร่วมจอครั้งแรกของ Superman กับ Batman เร็วกว่านี้ ดังที่เคยมีอีสเตอร์เอ้กใน I am Legend (ซึ่งตอนนั้น Warner ได้วางแผนให้ Superman มาเจอกับ Batman เรียบร้อย) และหาก Superman: Flyby ได้เกิดขึ้นจริง ในวันนี้ DCEU อาจสร้างจักรวาลสำเร็จแล้วก็ได้นะครับ

อีสเตอร์เอ้กของ Superman กับ Batman ใน I am Legend

ที่มา: screenrant, cbr, wegotthiscovered, screenrant