ลุดวิก โกแรนส์สัน กับท่วงทำนองของปรมาณู เบื้องหลังเพลงสะเทือนอวัยวะใน "Oppenheimer"
ลุดวิก โกแรนส์สัน (Ludwig Göransson) ไม่ใช่นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์หน้าใหม่สำหรับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ และไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับภาพยนตร์สุดทะเยอทะยานของคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan)
โกแรนส์สันเป็นนักแต่งเพลงที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง “Black Panther” ซึ่งนำเขาไปสู่รางวัลอันทรงเกียรติออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 2019 จากนั้นในปีถัดมาเขาได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ทริลเลอร์สายลับกับการเดินทางในห้วงอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลา’ ของคริสโตเฟอร์ โนแลนนั่นคือ “Tenet” ซึ่งงานดนตรีของโกแรนส์สันนั้นได้สะท้อนความยิ่งใหญ่ ลึกลับและลุ่มลึกให้กับเรื่องราวและภาพในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ตอนนี้โกแรนส์สันได้จับมือกับโนแลนอีกครั้งในผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ “Oppenheimer” มหากาพย์ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของบิดาแห่งระเบิดปรมาณูนาม ‘เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ (J. Robert Oppenheimer) (รับบทโดย คิลเลียน เมอร์ฟี – Cillian Murphy)
งานภาพยนตร์และดนตรีสุดทะเยอทะยาน
“บางครั้งผมก็ใช้แค่เครื่องดนตรีชิ้นเดียว และบางครั้งเราก็นำมาทั้งวง มันผันผวนไปมา”
โกแรนส์สันกล่าวถึงการทำงานดนตรีในภาพยนตร์ที่ทะเยอทะยานที่สุดของโนแลนเรื่องนี้ และจะว่าไปแล้วมันก็เป็นผลงานที่ทะเยอทะยานที่สุดของโกแรนส์สันด้วยเช่นกัน
เมื่อแรกเริ่มทำดนตรีประกอบสำหรับ “Oppenheimer” โกแรนส์สันรู้สึกหวาดกลัวกับขอบเขตของหนังเรื่องนี้ที่สุดจะทะเยอะทะยาน (และเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงอันหวือหวาตามสไตล์โนแลน) ในช่วงแรกของการผลิต โนแลนดูแลบทร่วมกันกับแอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson) ผู้ดูแลวิชวลเอฟเฟกต์ของเขา เนื่องจากเขาจำเป็นต้องถ่ายทอดปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น กลศาสตร์ควอนตัมและปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้ออกมาเป็นภาพให้ได้ ดังนั้นทีมวิชวลเอฟเฟกต์จึงเริ่มสร้างฟุตเทจการทดลองของอนุภาค คลื่น และปฏิกิริยาลูกโซ่ จากนั้นโนแลนก็แสดงภาพนี้ให้โกแรนส์สันดู ซึ่งเขาได้ใช้มันเป็นแรงบันดาลใจในการทำเพลงของเขา
การทำงานครั้งนี้แตกต่างออกไปจากธรรมเนียมการทำดนตรีประกอบส่วนใหญ่ที่มักเริ่มในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post-production) โกแรนส์สันเริ่มเข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์เป็นเวลา 3 เดือนก่อนเริ่มถ่ายทำ โดยเขียนเพลงให้โนแลน 10 นาทีต่อสัปดาห์ โกแรนส์สันอธิบายกระบวนการนี้ว่าเป็นการทำงานที่ “ทำงานร่วมกันและเปิดกว้าง” จากนั้นโนแลนจึงเริ่มถ่ายทำด้วย “เพลงประมาณ 2-3 ชั่วโมง” ที่โกแรนส์สันแต่งขึ้นและโนแลนสามารถใช้มันในการเชื่อมโยงไปสู่งานภาพได้ นอกจากนี้เมื่อเริ่มตัดต่อในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ โนแลนและนักตัดต่อ เจนนิเฟอร์ ลาม (Jennifer Lame) สามารถใช้งานดนตรีของโกแรนส์สันในการตัดต่อภาพยนตร์ดราฟต์แรกได้โดยไม่ต้องใช้ดนตรีอ้างอิงหรือที่เรียกว่า ‘temp score’ เลย
ดนตรีประกอบที่สะท้อนมุมมองภายในของออปเพนไฮเมอร์
การทำดนตรีประกอบให้กับ “Oppenheimer” นับว่าเป็นความท้าทายที่ไม่เหมือนใครสำหรับโกแรนส์สัน เนื่องจากเขาไม่เคยแต่งดนตรีประกอบที่แสดงถึงการทำงานและมุมมองภายในของตัวละครเพียงตัวเดียวมาก่อน แถมโนแลนก็ไม่ได้ให้แนวทางที่ชัดเจนว่าเขาต้องการให้สกอร์ออกมาเป็นอย่างไร คำแนะนำเดียวที่เขาให้กับโกแรนส์สันก็คือ ดนตรีประกอบจะต้องเป็นตัวแทนของตัวละครของออปเพนไฮเมอร์และธีมหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องบรรเลงด้วยไวโอลิน “มีเสียงที่ตึงเครียดในแบบที่ผมคิดว่าเข้ากับสติปัญญาและอารมณ์ของโรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ได้เป็นอย่างดี” โนแลนอธิบาย “กระบวนการคิดของเขาคือไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่มีเฟรต คุณสามารถเปลี่ยนจากโทนเสียงที่ไพเราะโรแมนติกที่สุดและคุณก็สามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเสียงที่สั่นประสาทและคลั่งได้ภายในเสี้ยววินาที” โกแรนส์สันอธิบาย ด้วยเหตุนี้การใช้ไวโอลินจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำเพลง โกแรนส์สันได้ชักชวนเซรีน่า (Serena) ภรรยาของเขาซึ่งเป็นนักไวโอลินมาทำงานร่วมกันด้วย ทั้งคู่ได้เริ่มทดลองการใช้เทคนิคต่าง ๆ กับการบรรเลงไวโอลิน โดยมุ่งถ่ายทอดความวิตกกังวลของออปเพนไฮเมอร์ผ่านศักยภาพของเสียงไวโอลินในการเปลี่ยนจากเสียงที่โรแมนติกและซาบซึ้งไปสู่เสียงที่ ‘ชวนขนลุกและน่าสยดสยอง’ “ไวโอลินถูกใช้มากในภาพยนตร์สยองขวัญ และผมกับเซรีน่าก็หาวิธีนำเทคนิคจากพวกหนังสยองขวัญเหล่านี้มาเปลี่ยนมันให้เป็นไวบราโตที่มีท่วงทำนองอันไพเราะ”
ดนตรีประกอบของโกแรนส์สันประกอบด้วยท่วงทำนองที่ครอบคลุม 3 ช่วงเวลา 3 แนวคิดหลัก เพื่อสะท้อนถึงช่วงต่าง ๆ ในชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ นั่นคือช่วงเวลาของการติดตามความรักในฟิสิกส์ของออปเพนไฮเมอร์ ช่วงเวลาของการสร้างระเบิดปรมาณูและการทดสอบทรินิตี้ (Trinity Test) ในลอสอาลามอส และอีกช่วงหนึ่งคือการไต่สวนของคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งถักทอข้ามเส้นเวลาต่าง ๆ และความรักของกับออปเพนไฮเมอร์กับคิตตี้ (เอมิลี่ บลันท์ – Emily Blunt) และความสัมพันธ์ระหว่างออปเพนไฮเมอร์กับชู้รักสาว จีน แทตล็อก (ฟลอเรนซ์ พิว – Florence Pugh)
โกแรนส์สันกล่าวถึงบทหนังที่กำหนดแนวทางในการแต่งดนตรีประกอบของเขาว่า “ผมไม่เคยอ่านบทแบบนี้มาก่อน ซึ่งเขาทำให้คุณนึกถึงออปเพนไฮเมอร์ในทันที คุณมองเห็นโลกผ่านสายตาของเขา ออปเพนไฮเมอร์เป็นอัจฉริยะ แต่เขาก็มีปีศาจซุกซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน” นั่นหมายความว่าในทางดนตรี โกแรนส์สันต้องสร้างสุ้มเสียงที่มีความไม่สงบซุกซ่อนอยู่ตั้งแต่เริ่มต้น “คุณจะรู้สึกไม่สบายใจในตัวละครนี้ และจากนั้นมันก็เปลี่ยนไป”
เปลี่ยนแปลงจังหวะ 21 ครั้งใน 2 นาที
หลังจากที่โกแรนส์สันอ่านบทภาพยนตร์เป็นครั้งแรก และก่อนที่เขาจะเริ่มทำงานในส่วนแรกของสกอร์นั้น โนแลนได้เชิญเขาไปที่โรงภาพยนตร์ IMAX เพื่อฉายการทดลองทางภาพบางส่วนที่เขากำลังทำอยู่ “ผมจำได้ว่าอยู่ในโรงหนังและโดนแสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ยิงเข้ามา นั่นทำให้ผมต้องอ้าปากค้าง และนี่คือสิ่งที่ผมอยากให้เพลงของผมเป็น” โกแรนส์สันกล่าว เขารู้ว่าเขาต้องการวงดนตรีเครื่องสายเล่นสด แต่ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือวิธีการถ่ายทอดพลังของภาพยนตร์ผ่านจังหวะ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในความท้าทายนี้คือเพลง “Can You Hear the Music” ซึ่งเกิดขึ้นในฉากที่นักฟิสิกส์ นีลส์ บอร์ (เคนเนธ บรานาห์ – Kenneth Branagh) ถามออปเพนไฮเมอร์ว่าเขาสามารถ “ได้ยินเสียงดนตรี” หรือไม่ โกแรนส์สันได้สร้างผลงานเพลงความยาว 2 นาทีที่มีการเปลี่ยนแปลงจังหวะเพลงถึง 21 ครั้ง ซึ่งเป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่ (และยากยิ่ง) สำหรับการบันทึกเสียงวงออร์เคสตร้าแบบแสดงสด “ตอนแรกผมคิดว่าเราต้องทำเป็นส่วน ๆ และบันทึกเสียงทีละห้อง ๆ” เขากล่าว “แต่เซรีน่าพูดว่า ‘พวกเขาเป็นนักดนตรีที่ยอดเยี่ยม ทำไมเราไม่ลองใช้เทคนิคการอัดเสียงแบบต่าง ๆ แล้วหาวิธีทำมันไปแบบต่อเนื่องเทคเดียวจบเลยล่ะ’ เราก็เลยหาวิธีที่จะทำแบบนั้นให้ได้ และนั่นคือเหตุผลที่คุณได้ยินพลังงานที่บ้าคลั่งนี้ที่ก่อให้เกิดโมเมนตัมนี้” โกแรนส์สันอธิบายถึงแนวคิดการแต่งเพลง “Can You Hear the Music” ที่นับได้ว่าเป็นการทดลองอะไรใหม่ ๆ และสุดทะเยอทะยานมาก ซึ่งผลที่ได้คือบทเพลงที่เปี่ยมไปด้วยพลังงานสูงและมีความสำคัญยิ่ง
เสียงเบสที่ดังกระหึ่มและเสียงโลหะกระทบกันเหมือนนาฬิกา เป็นตัวกำหนดจังหวะดนตรีในส่วนที่ 2 ในขณะที่หนังกำลังเล่าเรื่องการแข่งขันสร้างระเบิดปรมาณู เมื่อ Oppenheimer and Co. เปิดตัวการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ Trinity Test หนังก็ตัดไปสู่ความเงียบงัน “เมื่อเขากดปุ่ม มันจะไม่มีการหันหลังกลับไปอีกแล้ว” โกแรนส์สันกล่าวถึงช่วงเวลาสำคัญของหนังและตัวละคร ซึ่งบทเพลงจะต้องสื่อสารอารมณ์และความหมายของจุดนี้ออกมาให้ได้ “และนั่นคือการที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกถักทอขึ้นและจากนั้นมันก็ไปสู่ความเงียบงัน”
มีสิ่งหนึ่งที่โกแรนส์สันเพิ่งมาตระหนักได้ทีหลัง นั่นคือแม้ว่าเพลงของเขาจะมีองค์ประกอบที่ใช้เครื่องเคาะจังหวะ เช่น การย่ำเท้าและเสียงนาฬิกา เขากลับไม่ได้ใช้กลองในการสร้างจังหวะเลย แต่กลับเลือกที่จะให้อารมณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดผ่านเครื่องสาย เปียโน และฮาร์ปซึ่งเป็นแกนกลางทางอารมณ์ในดนตรีประกอบสำหรับหนังเรื่องนี้
งานดนตรีเหนือมนุษย์
สำหรับเรื่องราวในส่วนที่ 3 ซึ่งเน้นไปที่ผลพวงของระเบิดและการได้ยินของออปเพนไฮเมอร์ โนแลนขอให้โกแรนส์สันคิด “เพลงที่มีความยาว 20 นาทีที่มีแอ็คชันมากมายและเดิมพันสูง” เมื่อโนแลนเริ่มตัดต่อเขาก็ขอให้โกแรนส์สันคิดผลงานเพิ่มอีก 15 นาที ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานที่กระบวนการแต่งเพลงล้อไปกับการถ่ายทำนับว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจมาก ซึ่งดนตรีประกอบที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างท้าทายและมีรายละเอียดมากมายนี้กลับใช้เวลาบันทึกเสียงทั้งหมดเสร็จสิ้นภายเวลาเพียง 5 วัน
“มันเป็นเซสชันการอัดเสียงที่ยอดเยี่ยมและบ้าคลั่งมาก เรามีเพลงมากมายให้บันทึกในเวลาอันสั้น” โกแรนส์สันกล่าว “แต่เพราะเราได้ทำมันกับกลุ่มนักดนตรีที่น่าทึ่ง”
“ในท้ายที่สุด เราได้บันทึกเพลงที่เหนือกว่าสิ่งที่ผมเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถทำให้มันเป็นไปได้ ภาพอันน่างงงวยของอะตอมได้ทำให้ไวโอลิน 40 ตัวกลายเป็นความคลั่งอันน่าทึ่ง ในขณะที่ฉากในห้องพิจารณาคดีถูกขับกล่อมด้วยสกอร์แห่งความรุนแรงในสนามรบ การเปลี่ยนแปลงทางไดนามิกที่รุนแรงของดนตรี ซึ่งเดินทางจากส่วนลึกของการเดินทางส่วนตัวอย่างใกล้ชิดไปจนถึงจุดจบของการทำลายล้างนั้นรุนแรง สับสน และสะเทือนขวัญ”
สามารถชมภาพยนตร์ “Oppenheimer” จากคริสโตเฟอร์ โนแลนและสัมผัสงานดนตรีของลุดวิค โกแรนส์สันได้แล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์
ที่มา